การสูญเสีย ความตาย สอนลูกรับมือกับมันอย่างไร
ในชีวิตของมนุษย์เรา “การสูญเสีย” เป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในคนวัยผู้ใหญ่แบบเราๆที่ผ่านโลกมาพอสมควรอาจจะรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้แล้ว ซึ่งความจริงก็ไม่ใช่ว่าพวกเราทุกคนจะรับมือกับมันได้ดีเสมอไป แล้วมนุษย์ตัวเล็กๆแบบลูกของเราละ หากเขาต้องพบเจอกับเรื่องราวความสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นญาติผู้ใหญ่เสียชีวิต หรือแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยงตาย เขาจะรับมือกับความจริงของชีวิตได้ไหม เมื่อลูกต้องพบเจอเรื่องราวเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่จะมีวิธีการอย่างไรในการสอนเขาให้รู้จักเรื่องความตาย และทำใจยอมรับการสูญเสียได้ มาติดตามกันนะคะ
อย่าทำให้ความตายเป็นเรื่องต้องห้าม
หลายครั้งที่คำพูดของผู้ใหญ่ทำให้เด็กๆมองว่าความตายเป็นเรื่องต้องห้ามและเป็นเรื่องน่ากลัวได้ อย่างเช่น เวลาที่ลูกดื้อ คุณแม่อาจจะพูดกับเขาว่า “ทำไมหนูดื้อแบบนี้ อยากให้แม่ตายเร็วๆ ใช่ไหม” หรือเวลาที่ลูกได้แผลมา แล้วคุณแม่ใส่ยาให้แรงไปนิด เขาก็ร้องโอดโอยและบอกว่า “เจ็บจนจะตายอยู่แล้ว” คุณแม่ก็ปรามทันทีว่าพูดเรื่องตายได้ยังไง มันไม่ดี เขาไม่ให้พูดกัน เลยกลายเป็นว่าเด็กๆโดนข่มขู่ให้กลัวความตายไปเลย เหล่านี้นี่คือตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงและพบเจอได้ไม่ยากเวลาที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่พูดเรื่องความตายกับเด็ก ทำให้เด็กรู้สึกแปลกแยกจากการสนทนาหรือคิดถึงเรื่องความตาย ความตายกลายเป็นเรื่องต้องห้าม เรื่องที่ไม่ควรนึกถึงหรือแตะต้อง ไม่เหมือนการกิน การเล่น การไปเที่ยว เหมือนกับว่าความตายไม่ใช่เรื่องของชีวิตปกติ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดผลดีกับเด็กแต่อย่างใด
เข้าใจความตาย ไม่ใช่เรื่องไกลตัว
หากจะต้องพูดถึงเรื่องความตายกับลูก คุณพ่อคุณแม่อาจมีความรู้สึกไม่ค่อยดีนักเกิดขึ้น บางคนรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ เพราะไม่รู้ว่าจะพูดแบบไหนให้เหมาะสม และให้เข้าใจ บางคนคิดว่าไม่จำเป็นต้องบอกต้องสอนลูก เพราะลูกยังไม่โตพอ พูดไปลูกก็คงไม่เข้าใจ เด็กวัยนี้จำเป็นต้องรู้เรื่องพวกนี้ด้วยหรือ รอให้โตกว่านี้เขาน่าจะเข้าใจได้เอง บางคนกลับมีความรู้สึกกลัว กังวลใจว่าลูกจะคิดมากกับความตายหรือการสูญเสียพลัดพรากจนกลายเป็นมีผลกระทบทางจิตใจ บางคนคิดอย่างโบราณว่าเป็นเรื่องอัปมงคลถ้าพูดเรื่องความตายกับลูก พ่อแม่หลายคนจึงเลี่ยงที่จะไม่ตอบกับคำถามของลูกเกี่ยวกับเรื่องนี้
แต่อย่าลืมว่าความตายเป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้น รวมทั้งมนุษย์เราที่มีวงจรชีวิตแบบ เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ไม่มีใครในโลกที่หลีกเลี่ยงมันได้ ภาพของการเกิด ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความแก่ชรา แทรกซึมอยู่ในชีวิตของเราอย่างไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ เพราะมันคือสิ่งที่เราและคนรอบข้างล้วนแต่ประสบในชีวิตทั้งสิ้น ทำไมพ่อแม่กลับลดทอนภาพของความตาย หรือเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องความตาย เพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยาก เป็นเรื่องน่ากลัว สำหรับเด็กๆ เขามีสิทธิ์ที่จะรับรู้เพราะมันคือเรื่องที่เขามีโอกาสสัมผัสในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ถูกพ่อแม่ทำให้มองเรื่องความตายเป็นเรื่องไกลตัว
เพราะความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ
แท้จริงแล้วการพูดกับเด็กเรื่องความตายไม่ได้เป็นเรื่องยากอย่างที่คิดกัน ถ้าคุณพ่อคุณแม่เรียนรู้ที่จะสื่อสารเรื่องความตายด้วยใจที่ยอมรับ และถ่ายทอดเรื่องราวอย่างซื่อตรงและเป็นจริง ที่สำคัญอย่างยิ่งคือควรเรียนรู้วิธีการสื่อสารเรื่องความตายกับเด็กอย่างเหมาะสมตามวัย ความสามารถ และธรรมชาติของเด็ก
ความสามารถของเด็กในการเข้าใจเรื่องการตายนั้นมีแตกต่างไปตามอายุ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายความตายในลักษณะที่เหมาะสมกับอายุของลูก
- เด็กอายุไม่เกิน 2 ปี เด็กเล็กขนาดนี้จะไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่า “ตาย” คืออะไร ความคิดเกี่ยวข้องกับความตายในวัยนี้เป็นเพียงการหายไปเท่านั้น
- เด็กวัยอนุบาล (2-6 ปี) แม้ว่าเด็กบางคนจะเริ่มใช้คำว่า “ตาย” หรือ ตั้งคำถามเกี่ยวกับความตายแล้ว แต่ก็ไม่สามารถเข้าใจความตายได้ตรงตามความจริง เด็กคิดว่าความตายเป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราว ไม่เข้าใจว่าตายแล้วจะไม่ฟื้น ไม่เข้าใจว่าทำไมคนเราต้องตาย และไม่เข้าใจว่าเกิดขึ้นกับทุกคน เด็กวัยนี้กลัวถูกแยกจากพ่อแม่ หรือกลัวว่าคนสำคัญจะตายแล้วทิ้งไป
- เด็กวัยประถม (7-12 ปี) เด็กในวัยนี้จะเข้าใจได้ว่าตายแล้วตายเลย ไม่กลับมาอีก และค่อยๆพัฒนาความเข้าใจว่าสิ่งมีชีวิตทุกสิ่งต้องตายในวันหนึ่ง รวมทั้งตัวเอง และกล้าถามเรื่องความตายมากขึ้น
- เด็กวัยรุ่น (อายุ 12 ปีขึ้นไป) วัยรุ่นจะเข้าใจความตายได้ใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ เห็นถึงธรรมชาติของคนที่เปราะบางต่อความตาย และอาจเริ่มคิดเกี่ยวกับความหมายของชีวิต
ความเข้าใจเรื่องการตาย มีอยู่ 4 องค์ประกอบด้วยกัน
- ความตายคือการไปไม่กลับ สิ่งมีชีวิตที่ตายแล้วไม่สามารถฟื้นมาเหมือนเดิมได้ ต่างกับของเล่นหรือของใช้ ที่เมื่อเสียหรือผุพังเรายังพอจะซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้
- ความตายคือวาระสุดท้ายของชีวิต สำหรับสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้ว การใช้ชีวิตและการทำงานต่างๆจะสิ้นสุดลงอย่างถาวร
- ความตายเป็นสิ่งสากล เพราะมันจะต้องเกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน ไม่ใครในโลกที่สามารถหลีกเลี่ยงได้
- ความตายย่อมมีสาเหตุ เมื่อมีความตายเกิดขึ้น จะต้องมีสาเหตุและที่มาที่ไปเสมอ
สำหรับเด็กในช่วงวัย 3-6 ปี จะยังไม่สามารถเข้าใจหลักการข้างต้นได้ชัดเจน ต้องรอจนกว่าเขาจะอายุประมาณ 9-10 ปี เพราะเด็กเล็กจะยังเต็มไปด้วยความคิดเชิงจินตนาการ เลยยังไม่สามารถแยกแยะโลกแห่งความเป็นจริงกับจินตนาการได้ทั้งหมด
ยิ่งปกปิด ยิ่งอ้อมค้อม ยิ่งก่อความสับสน
เมื่อมีสมาชิกในครอบครัวที่ใกล้ชิดเสียชีวิตลง ผู้ใหญ่หลายๆคนจะคุยถึงเรื่องนั้นอย่างกระซิบกระซาบกันเบาๆ เหมือนไม่อยากให้เด็กๆได้ยิน บางครั้งเมื่อเด็กถามในสิ่งที่ตัวเองสงสัย ผู้ใหญ่กลับตอบว่า “ไม่มีอะไรจ้ะ” เด็กจึงไม่ทราบว่าญาติผู้ใกล้ชิดกับเขาเพิ่งเสียชีวิตไป เด็กจะยิ่งเกิดความสงสัย และคิดว่าตัวเองอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ใหญ่เป็นเช่นนั้น อาจเพราะตัวเองดื้อ ซนอย่างที่พ่อแม่เคยดุ จนวันรุ่งขึ้น มีผู้ใหญ่แจ้งแก่เด็กๆว่า ญาติคนนั้นไปสวรรค์แล้ว แค่นอนหลับไป แล้วจะไม่ตื่นขึ้นมาอีก ในคืนนั้น เด็กจึงไม่ยอมเข้านอน เมื่อถูกบังคับให้เข้านอน งอแงอยู่นานกว่าจะหลับได้ ผู้ใหญ่ถึงมารู้ทีหลังว่า เป็นเพราะเด็กกลัวว่าถ้านอนแล้วจะไม่ตื่นแบบญาติคนนั้น
จากตัวอย่างเหตุการณ์ จะเห็นได้ว่ายิ่งพ่อแม่พยายามปกปิด หรือใช้คำพูดที่อ้อมค้อม จะยิ่งทำให้ลูกสงสัย และเข้าใจไปเองแบบผิดๆได้ ดังนั้น พ่อแม่ควรคุยกับลูกเรื่องนี้ด้วยท่าทีปกติ ทำให้เหมือนเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนเวลาเราสอนลูกเรื่องอื่นๆ ผู้ใหญ่มักจะเลี่ยงใช้คำอื่นๆแทนการใช้คำว่า “ตาย” เพื่อความนุ่มนวล เช่น ไปสวรรค์ ขึ้นไปบนฟ้า ไปเป็นนางฟ้า สิ้นใจ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดอะไรมากมาย แต่ควรระวังว่ายิ่งใช้คำอ้อมๆมากเท่าไหร่ อาจทำให้เด็กเกิดความสับสนมากขึ้นเท่านั้น
รู้จักการสูญเสียตั้งแต่ยังเล็ก ยิ่งปรับตัวได้ง่ายขึ้น
เมื่อสัตว์เลี้ยงแสนรักจากไป เด็กมักจะเกิดคำถามมากมาย เป็นโอกาสดีที่พ่อแม่จะสอนลูกเรื่องความตายได้ชัดเจนขึ้น เช่น น้องหมาของลูกป่วยจนเสียชีวิต มันไม่สามารถกลับมาขยับตัวหรือมาวิ่งเล่นกับลูกได้อีกแล้ว ทำให้ลูกได้เรียนรู้เกี่ยวกับองค์ประกอบของความตาย แต่พ่อแม่ควรเว้นช่วงเวลาไว้ให้ลูกได้รู้จักการจัดการกับความสูญเสียด้วยตัวเองบ้าง เช่น ให้เขามีเวลาไว้อาลัย จัดพิธีฝัง หรือทำอะไรบางอย่างเพื่อเป็นการระลึกถึงสิ่งที่จากไป พ่อแม่หลายคนมักกังวลว่าลูกจะสะเทือนใจ ตรอมใจ จึงมักรีบหาสัตว์เลี้ยงตัวใหม่มาทดแทนแบบทันทีทันใด ทำให้เขาขาดการฝึกทักษะในส่วนนี้ไป
เมื่อต้องแจ้งข่าวร้าย ใช้คำพูดอย่างไรดี?
สำหรับเด็กเล็ก พ่อแม่ควรเลือกใช้คำสั้นๆและง่ายที่สุด เพราะเด็กยังไม่สามารถเข้าใจความเป็นเหตุและผลได้ เช่น บอกว่า “คุณตาของหนูตายแล้ว จะไม่หายใจ ไม่ตื่นขึ้นมาอีก” ส่วนเด็กประถมที่จะกล้าซักถามเรื่องความตายมากขึ้น พ่อแม่หรือคนรอบข้างไม่ควรห้ามปรามหรือปฎิเสธ เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกผิด และเข้าใจว่าความตายเป็นเรื่องต้องห้าม แม้จะมีความสงสัยก็จะไม่พูดถึงเรื่องนี้ อีก ในขณะเดียวกัน เด็กบางคนอาจไม่ชอบเรื่องความตาย หรือฝันร้ายเกี่ยวกับความตายก็ได้ พ่อแม่จึงควรอธิบายความตายง่ายๆ เป็นรูปธรรม และค่อยๆชี้ให้เด็กเห็นว่าความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ได้น่าเกรงกลัว และไม่จำเป็นต้องเจ็บปวด
เมื่อเด็กๆซักถามเกี่ยวกับเรื่องความตาย สิ่งที่พวกเขาต้องการคือการได้รับคำตอบที่พอใจสำหรับเขาในขณะนั้นๆ ผู้ใหญ่ต้องให้โอกาสเด็กตั้งคำถามและพูดคุยเรื่องความตายได้ และควรตอบคำถามอย่างจริงใจ ตรงไปตรงมา ใช้คำง่ายๆ เหมาะสมกับวัยของเด็ก และอดทนที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากเด็กถามคำถามที่ไม่สามารถตอบได้ในขณะนั้น ไม่ควรเลี่ยงคำถาม แต่ควรตอบไปตามตรงว่า “ไม่รู้” “ไม่แน่ใจ” หรือ “เรื่องนี้ผู้ใหญ่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน” ไม่จำเป็นต้องตอบได้ทุกคำถาม เพราะการสื่อสารเรื่องความตายไม่ได้มีคำตอบแบบสำเร็จรูปที่จะนำไปตอบให้กับเด็กได้เหมือนกันทุกๆคน
เรื่องความตายจะเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับลูกหรือไม่ ก็อยู่ที่ท่าทีและคำพูดของพ่อแม่นี่ละค่ะ การสอนให้เด็กๆเข้าใจเรื่องความตายตั้งแต่ยังเล็กจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้เขาเข้มแข็งขึ้น เมื่อวันที่เขาต้องประสบกับการสูญเสียมาถึง เขาจะได้เข้มแข็งพอที่จะเผชิญความจริงค่ะ
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th