“ขวดนม” เลือกอย่างไรถึงจะดี พ่อแม่ควรรู้
ของใช้สำหรับทารกที่สำคัญและขาดไม่ได้ก็คือ “ขวดนม” ซึ่งในท้องตลาดก็มีจำหน่ายกันมากมายหลายรูปแบบ และราคาก็มีตั้งแต่ไม่กี่สิบบาทไปจนถึงหลายร้อยบาท แบบราคาถูกและราคาแพงแตกต่างกันตรงไหนบ้าง และยังมีเรื่องของพลาสติกแบบ BPA Free อีกด้วย ที่หลายคนคิดว่ามันคือสิ่งจำเป็น แล้วควรจะซื้อติดบ้านไว้มากน้อยแค่ไหน และยังมีเรื่องของขนาดความจุของขวดนมอีก คุณพ่อคุณแม่อาจจะสับสนได้ว่แบบไหนจะดีที่สุดกันแน่ วันนี้เรามีคำตอบมาให้ค่ะ
การเลือกขวดนมพลาสติก
ขวดนมพลาสติกเป็นขวดนมที่หาซื้อได้ง่ายและเป็นที่นิยมมาก เนื่องจากมีน้ำหนักเบา ตกไม่แตก หาซื้อได้ง่าย และมีให้เลือกหลายราคาตามงบ สีของขวดมีหลายแบบทั้งแบบเนื้อใส เนื้อสีขาวขุ่น และสีชา ซึ่งขวดนมที่ผลิตจากพลาสติกต่างชนิดกันจะมีสี การทนทานต่อความร้อน และอายุการใช้งานที่แตกต่างกันตามไปด้วย
- ขวดนมแบบ PP
ขวดนมประเภทนี้ผลิตจากวัสดุ Polypropylene ทำให้เนื้อพลาสติกจะมีสีกึ่งโปร่งใสหรือสีขาวขุ่น สามารถทนอุณหภูมิได้ในช่วง -20 – 110 ˚C ขวดนมชนิดนี้มีอายุการใช้งานเฉลี่ย 6 เดือน และอาจเหลือเพียง 3 เดือน หากมีการนำไปนึ่งหรือต้มบ่อยเกินไป
- ขวดนมแบบ PES
ขวดนมประเภทนี้ผลิตจากวัสดุ Polyethersulfone เนื้อพลาสติกของขวดนมประเภทนี้จะออกเป็นสีน้ำผึ้งหรือสีชา สามารถทนอุณหภูมิได้ -50 – 180 ˚C โดยมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 6 เดือน ถึง 1 ปี ขึ้นกับการดูแลรักษาและความถี่ในการต้มหรือการนึ่งฆ่าเชื้อ
- ขวดนมแบบ PPSU
ขวดนมประเภทนี้ผลิตจากวัสดุ Polyphenylsulfone เนื้อพลาสติกชนิดนี้มีสีน้ำตาลอ่อน สามารถทนอุณหภูมิได้ -50 – 180 ˚C อายุการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 8 เดือน ถึง 2 ปี ขึ้นกับการดูแลรักษาและความถี่ในการต้มหรือการนึ่งฆ่าเชื้อ
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นพลาสติกชนิดเดียวกันแต่คุณภาพคนละเกรด ก็ทำให้ขวดนมมีความแตกต่างกันอีกด้วย เช่น ขวด PP ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกคุณภาพสูงไม่ผสมเศษ มักจะมีเนื้อขวดที่ใสกว่า
BPA Free คืออะไร?
BPA มาจากคำว่า Bisphenol A ซึ่งเป็นสารเคมีอุตสาหกรรมที่นำมาใช้ในการผลิตพลาสติกใส สำหรับใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหาร หรือขวดน้ำ ซึ่งขวดนมของเด็กก็เป็นหนึ่งในนั้น
คุณพ่อคุณแม่อาจจะเคยได้ยินมาบ้างว่าหากจะเลือกซื้อขวดนมหรือภาชนะสำหรับลูกให้เลือกที่เป็น BPA Free เพราะเวลาที่เราล้างทำความสะอาดขวดนมบ่อยๆ ก็จะเกิดรอยขีดข่วน เกิดคราบขุ่น รวมถึงเมื่อขวดนมสัมผัสความร้อนบ่อย สาร BPA ที่อยู่ในขวดนมพลาสติกอาจปนเปื้อนลงไปในน้ำนม และหากสะสมเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสมอง เซลล์ประสาท พฤติกรรม การเรียนรู้ และส่งผลต่อความผิดปกติทางพันธุกรรมของเซลล์ในร่างกายได้
ขวดนมที่มีสาร BPA มักเป็นขวดนมรุ่นเก่า ที่ผลิตจากวัสดุ Polycarnonate (PC) ซึ่งมีความแข็งใสและทนทาน แต่ในปัจจุบันขวดนมรุ่นใหม่ส่วนมากผลิตจาก Polypropylene (PP) Polyethersulfone (PES) Polyphenylsulfone (PPSU) ซึ่งไม่มีสาร BPA ในกระบวนการผลิตอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมองหาคำว่า BPA Free เป็นพิเศษ แต่ควรเลือกจากชนิดของพลาสติกที่ใช้ผลิตขวดนม ซึ่งจะระบุไว้ที่ข้างกล่องหรือก้นขวดอยู่แล้ว
การเลือกขวดนมแบบขวดแก้ว
ขวดนมแบบที่ทำจากแก้วนั้นมีข้อดีคือ ลดความเสี่ยงจากสาร BPA ในพลาสติกเมื่อถูกความร้อน และเกิดรอยขีดข่วนยากกว่าขวดนมพลาสติก ขวดนมแก้วมีอายุการใช้งานไม่จำกัด สามารถใช้ได้เรื่อยๆจนกว่าขวดนมจะแตก หรือมีรอยขีดข่วนในเนื้อขวดมาก แต่ก็มีข้อเสียคือ มีน้ำหนักมากกว่าขวดนมแบบพลาสติก และตกแตกได้ง่าย อีกทั้งยังมีราคาที่แพงกว่า และมีไม่กี่ยี่ห้อให้เลือกซื้อ
มีขวดนมที่ลดอาการโคลิคได้จริงหรือ?
อาการงอแงรุนแรงในช่วง 3 เดือนแรกของทารก โดยจะร้องต่อเนื่องกันนานเป็นชั่วโมง และมักจะร้องในเวลาเดิมๆ เมื่อพ่อแม่มาอุ้มก็ไม่หยุดร้อง หรือเมื่อให้ดูดนมก็ไม่ยอมกินนม เราเรียกอาการนี้ว่า โคลิค คุณพ่อคุณแม่อาจเลือกใช้ขวดนมลดอาการโคลิค ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อให้ลมเข้าท้องทารกขณะดูดนมน้อยลง อย่างไรก็ตาม ไม่มีขวดนมแบบไหนที่สามารถป้องกันอาการโคลิคได้ 100% มีแต่ช่วยลดอาการโคลิคให้น้อยลงเท่านั้น วิธีที่ดีที่สุดคือการไล่ลมออกจากท้องลูกด้วยการจับให้เขาเรอเป็นระยะระหว่างกินนม
ซื้อขวดนมขนาดเท่าไหร่ดี?
สำหรับทารกแรกเกิดกระเพาะอาหารของเขาจะยังเล็กมาก จึงไม่สามารถกินนมต่อครั้งได้เยอะมากนัก ปกติจะกินได้ประมาณ 1.5 – 2 ออนซ์ แต่ทารกก็จะกินนม 1-2 ออนซ์แค่ในเดือนแรกเท่านั้น หรืออาจจะไม่ถึงเดือนในบางคน จึงไม่จำเป็นต้องซื้อขวดนมขนาด 2 ออนซ์ไว้เยอะมากนัก ในช่วงสามเดือนแรกขนาดของขวดนมที่เหมาะสมที่สุดควรจะเป็น ขวดนมขนาด 4-5 ออนซ์ ซึ่งตามปกติจะมาพร้อมกับจุกนมสำหรับเด็กแรกเกิด ส่วนขวดนมขนาด 9 ออนซ์ จะเหมาะสำหรับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย ประมาณ 3 เดือน หรือมากกว่านั้น
ควรซื้อขวดนมกี่ขวด?
การตัดสินใจว่าควรซื้อขวดนมไว้ใช้กี่ขวดมีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง อันดับแรกคือต้องดูว่าเราจะเลี้ยงด้วยนมแม่หรือเปล่า คุณแม่เกือบทุกคนก็ตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่แล้ว แต่อาจจะไม่ได้เป็นคุณแม่เต็มเวลาที่จะอยู่กับบ้าน ให้ลูกเข้าเต้าได้ทุกครั้ง เลยทำให้การกะจำนวนขวดนมที่จะต้องใช้นั้นแปรผันไปตามความจำเป็นของแต่ละบ้าน เริ่มที่ 3-4 ขวดโดยประมาณ หากคุณแม่คนไหนเลี้ยงลูกอยู่บ้านได้เต็มเวลา ก็แทบจะไม่ต้องใช้ขวดนมเลย จนกว่าจะถึงวัยที่เริ่มให้นมผงเสริม เพราะสามารถนำลูกเข้าเต้าได้ตลลอด แต่ก็ควรมีขวดนมไว้บ้างอย่างน้อย 2-3 ขวด ในคุณแม่รายที่ไม่มีน้ำนมเลยหรือมีน้อยมาก หรือลูกน้อยมีปัญหาไม่ยอมเข้าเต้า ก็ต้องพึ่งพาการใช้ขวดนมทั้งวันทั้งคืน แบบนี้ก็จำเป็นต้องมีขวดเยอะหน่อย ประมาณ 4-6 ขวด
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th