Site icon Motherhood.co.th Blog

“ของเล่นพลาสติก” ปนเปื้อนสารทาเลทกำลังระบาด

ของเล่นพลาสติกมีสารปนเปื้อน

ตรวจพบสารพาเลตปนเปื้อนในของเล่นพลาสติกหลายชนิด

“ของเล่นพลาสติก” ปนเปื้อนสารทาเลทกำลังระบาด

การจะเลือกของเล่นให้ลูกนั้น ไม่ได้จบที่การพิจารณาว่าของเล่นชิ้นนั้นๆจะให้ประโยชน์กับลูกเราได้อย่างไรบ้าง เพราะตอนนี้ “ของเล่นพลาสติก” ก็ยังปนเปื้อนไปด้วยสารอันตราย คุณพ่อคุณแม่เลยยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังยิ่งกว่าเดิมในการเลือกของเล่นให้ลูกรัก มาติดตามข่าวการปนเปื้อนในของเล่นพลาสติกสำหรับเด็กกันค่ะ

ผลทดสอบของเล่นเด็กที่ผลิตจากพลาสติก PVC พบว่ามีการปนเปื้อนของสารทาเลท (Phthalate) ที่เกินค่ามาตรฐานสากลถึง 300 เท่า แพทย์ออกมาเตือนว่าสารดังกล่าสอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนเพศทั้งในเด็กชายและเด็กหญิง

มีของเล่น 7 อย่างที่พบสารพาเลตเกินมาตรฐานที่กำหนด

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เปิดเผยผลทดสอบผลิตภัณฑ์ของเล่นเด็ก ซึ่งทาง รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์  ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายถึงผลการทดสอบครั้งนี้ว่า ค้นพบพสารทาเลทที่ถูกใช้เป็นส่วนผสมในของเล่นพลาสติกชนิด PVC เพื่อให้เกิดสัมผัสที่อ่อนนุ่ม ทำให้เด็กๆรู้สึกสนุกสนานที่ได้สัมผัส

พฤติกรรมของเด็กในการเล่นองเล่น ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัส การบีบ การนำของเล่นเข้าปาก การกัด การเคี้ยว รวมถึงการระเหยของสาร ล้วนมีส่วนทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารทาเลทเข้าสู่ร่างกาย โดยของเล่นที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อน ได้แก่ ของเล่นที่มีลักษณะอ่อนนุ่ม ตุ๊กตารูปสัตว์ชนิดต่างๆ ห่วงยาง เสื้อกันฝน เป็นต้น

“จากการศึกษาผลกระทบต่อร่างกายในสัตว์ทดลอง พบว่า หากได้รับสารทาเลทในปริมาณสูงจะเกิดอันตรายต่อตับ ไต แต่หากได้รับในปริมาณต่ำเป็นระยะเวลานานจะส่งผลต่อการสร้างสเปิร์ม การทำงานของอวัยวะสืบพันธุ์ และฮอร์โมนเพศ หากเป็นสัตว์ทดลองเพศเมียจะมีผลต่อภาวะการตกไข่ เนื่องจากสารทาเลทจะรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ และหากกำลังตั้งครรภ์ ลูกที่ออกมาจะมีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด นอกจากนี้อาจมีผลทำให้เกิดมะเร็งในตับหากได้รับสารเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน” รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ระบุเพิ่มเติมว่า แม้ตอนนี้จะยังไม่มีการศึกษาทดลองกับมนุษย์โดยตรง แต่มีการตรวจสอบสารทาเลทที่อยู่ในร่างกายเด็ก พบว่ามีผลกระทบอย่างยิ่งต่อฮอร์โมนเพศชาย โดยอาจทำให้ลักษณะอวัยวะเพศมีความกำกวมตั้งแต่กำเนิด ลูกอัณฑะไม่ลงถุง มีความผิดปกติในการสร้างเสปิร์ม ทำให้เมื่อเด็กโตขึ้นจะมีโอกาสเป็นหมันได้

ในไทยยังไม่มีมาตรการควบคุมปริมาณสารทาเลทในการผลิต

“เป็นเวลาสิบกว่าปีมาแล้วที่ประเทศสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น มีการควบคุมสารทาเลทอย่างน้อย 6 ชนิด โดยไม่ให้เกิน 0.1 เปอร์เซ็นต์ของส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ และมีแนวโน้มว่าจะมีการควบคุมสารทาเลทชนิดอื่นๆเพิ่มเติมอีก ขณะที่มาตรฐานอุตสาหกรรมในบ้านเรายังไม่มีข้อกำหนดที่ครอบคลุมถึงสารดังกล่าว”

โดยในการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ของเล่นเด็ก 51 ตัวอย่าง ทั้งจากร้านค้าในห้างสรรพสินค้า ตามท้องตลาดทั่วไป หน้าโรงเรียน และบนร้านค้าออนไลน์ พบว่ามีสารทาเลทปนเปื้อนมากถึง 18 ตัวอย่าง และสูงเกินค่ามาตรฐานสากล (EU) กว่า 300 เท่า ซึ่งของเล่นที่ตรวจพบส่วนใหญ่เป็นตุ๊กตายางสำหรับบีบและไม่มีเครื่องหมาย มอก. จำนวน 11 ตัวอย่าง ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมายมอก. และตรวจพบสารทาเลทเกิน 0.1 เปอร์เซ็นต์ มีอยู่จำนวน 7 ตัวอย่าง

ทำความรู้จักทาเลทให้มากขึ้น

ทาเลท หรือที่เรียกในชื่อเต็มว่าพาทาเลท (Pthalate) เป็นสารเคมีทีใช้มากในผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทพีวีซี (PVC) โดยใช้เป็น  สารเสริมที่ทําให้เกิดความความอ่อนตัวในเนื้อพลาสติก (Plasticzers) ดังนั้น ผลิตภัณฑ์พลาสติกพีวีซีที่มีความยืดหยุ่นหรืออ่อนตัวได้ (Soft vinyl products) มักจะมีสารทาเลทผสมอยู่ในเนื้อพลาสติกประมาณ 40% โดยพลาสติกประเภทนี้เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายใน

สารทาเลทมีอยู่ด้วยกันหลากหลายชนิดที่ใช้ในปัจจุบัน แต่จะมีอยู่ 2 ชนิดที่นิยมนำมาใช้กันมากในการผลิตของเล่นเด็ก คือ DEHP หรือ Di (2-ethylhexyl) Phthalate ที่ถูกใช้ผสมในพลาสติกพีวีซี เพื่อทําให้เนื้อพลาสติกอ่อนตัวลงหรือนุ่มขึ้น และ DINP หรือ Diisononyl Phthalate ที่ใช้กันมากเช่นกัน

พ่อแม่ต้องระมัดระวังหากลูกนำของเล่นที่ทำจากพลาสติกชนิดนิ่มเข้าปาก

อันตรายของสารทาเลท

1. ผลต่อระบบผิวหนัง

จากการทดลอง เมื่อสัมผัสถูกผิวหนังที่ความเข้มข้น 2% หรือ 5% ในผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่อผิวหนังมนุษย์ ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองภายใน 48 ชั่วโมง การสัมผัสถูกตา จะทําให้เกิดการระคายเคืองต่อตาเล็กน้อย ปวดตา น้ำตาไหล

2. ผลต่อระบบทางเดินอาหาร

การกลืนหรือกินเข้าไปจะทําให้เกิดอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลวัตถุอันตรายและเคมีภัณฑ์ ระบุว่าสารนี้ไม่เป็นสารก่อมะเร็ง ไม่มีผลกระทบต่อการพัฒนาของทารกในครรภ์ แต่มีผลทําลายไต ท่อไต กระเพาะปสสาวะ และทางเดินอาหาร

ต่อจากนี้ไปคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเลือกซื้อของเล่นให้ลูกมากขึ้นแล้วนะคะ โดยเฉพาะของเล่นที่ทำจากวัสดุประเภทพลาสติกแบบเนื้อสัมผัสนิ่ม เพราะมีการปนเปื้อนของสารทาเลทได้ง่าย ลองพิจารณาเป็นของเล่นที่ทำจากไม้หรือของเล่นพลาสติกเนื้อแข็งทนทานจะปลอดภัยกว่าค่ะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th