ครรภ์ไข่ปลาอุก สาเหตุคืออะไร อันตรายมากหรือไม่
มีคุณแม่ตั้งครรภ์บางรายที่ต้องประสบกับปัญหาแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ที่เรียกว่า “ครรภ์ไข่ปลาอุก” ส่วนผู้หญิงที่กำลังวางแผนเป็นคุณแม่ก็คงจะเคยได้ยินชื่ออาการนี้มาบ้างและอาจจะรู้สึกกลัว เพราะไม่รู้ว่ามันอันตรายมากน้อยอย่างไร และจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นกับตัวเองได้หรือไม่ วันนี้ Motherhood มีข้อมูลที่น่าสนใจมาฝากค่ะ
ครรภ์ไข่ปลาอุกคืออะไร
ครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar Pregnancy/Hydatidiform Mole) คือภาวะที่การตั้งครรภ์ไม่สมบูรณ์ โดยตัวอ่อนและรกไม่เจริญเติบโตไปตามปกติ เนื้อเยื่อของตัวอ่อนกลายเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงในมดลูกแทน ตามปกติแล้วรกจะมีหน้าที่ลำเลียงเอาสารอาหารไปเลี้ยงทารกในครรภ์ รวมทั้งกำจัดของเสียออกไป หากเซลล์ที่สร้างรกเกิดทำงานผิดปกติขึ้นมาหลังจากที่ไข่และอสุจิปฏิสนธิกันแล้ว จะทำให้เกิดถุงน้ำรังไข่หรือซีสต์ซึ่งมีลักษณะคล้ายพวงองุ่นสีขาวหรือไข่ปลา เซลล์พวกนี้จะเจริญเติบโตภายในมดลูกอย่างรวดเร็วแทนที่จะเจริญเป็นทารก
ถึงแม้ครรภ์ไข่ปลาอุกจะเป็นเนื้องอกชนิดที่ไม่ร้ายแรง แต่ก็ถือเป็นภาวะก่อนมะเร็งของโรคมะเร็งไข่ปลาอุกหรือมะเร็งเนื้อรก (Gestational Trophoblastic Disease) และครรภ์ไข่ปลาอุกยังมีลักษณะที่แตกต่างกัน โดยจะขึ้นอยู่กับความสมดุลของโครโมโซมในไข่ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้ดังนี้
- ครรภ์ไข่ปลาอุกอย่างเดียว (Complete Molar Pregnancy) คือภาวะที่เซลล์โตมาผิดปกติทั้งหมด ไม่มีการเติบโตของตัวอ่อน
- ครรภ์ไข่ปลาอุกร่วมกับการมีทารก (Partial Molar Pregnancy) คือภาวะที่เซลล์โตมาผิดปกติพร้อมกับทารกที่มีความผิดปกติ ส่งผลให้ตัวอ่อนไม่สามารถเติบโตได้ นอกจากนี้ผู้ที่ตั้งครรภ์เป็นฝาแฝดก็อาจจะพบอาการนี้ได้ แม้ไม่บ่อยนัก ซึ่งจะมีตัวอ่อนตัวหนึ่งที่เจริญเติบโตได้ตามปกติ และตัวอ่อนอีกตัวกลายเป็นเนื้องอกที่เจริญเติบโตขึ้นมาเพื่อทำลายตัวอ่อนทารกอีกตัวอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ดี ภาวะครรภ์ไข่ปลาอุกก็ไม่ใช่เรื่องที่พบได้บ่อยนัก โดยจะพบในหญิงตั้งครรภ์จำนวน 1-3 คนจาก 1,000 คน ผู้ที่ประสบภาวะดังกล่าวต้องรีบเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน เรื่องจากสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิตได้
อาการครรภ์ไข่ปลาอุก
อาการที่ปรากฏจะเหมือนการตั้งครรภ์ทั่วไป แต่ก็จะมีอาการคล้ายภาวะแท้งผสมด้วย หลายคนจึงเข้าใจว่าตัวเองแท้ง โดยผู้ที่มีภาวะครรภ์ไข่ปลาอุกจะมีอาการดังนี้
- เลือดออกจากช่องคลอดในช่วงเริ่มตั้งครรภ์ มักเริ่มเมื่อมีอายุครรภ์ได้ 4 สัปดาห์ โดยเลือดจะมีสีน้ำตาลเข้มไปถึงแดงอ่อน บางครั้งอาจมีเนื้อเยื่อคล้ายองุ่นออกมาด้วย
- มีอาการปวดท้องกระทันหัน และมดลูกขยายใหญ่กว่าปกติ ทำให้เกิดอาการปวดบีบบริเวณอุ้งเชิงกราน และท้องบวมโตกว่าอายุครรภ์จริงจนเหมือนท้องแฝด
- คลื่นไส้และอาเจียนอย่างรุนแรง
- อ่อนเพลียเนื่องจากมีเลือดออกที่ช่องคลอดมาก
- ปรากฏอาการของโรคไทรอยด์เป็นพิษ เช่น เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ เหงื่อออกมาก ผิวซีด
- เกิดอาการครรภ์เป็นพิษ ทำให้ความดันโลหิตสูง และมีโปรตีนปนในปัสสาวะ
- ถ้ากลายเป็นมะเร็งไข่ปลาอุกจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น หายใจไม่สุด ไอเป็นเลือด เนื่องจากมะเร็งลุกลามไปถึงปอดก่อนที่จะได้รับการวินิจฉัย
ว่าที่คุณแม่คนไหนพบว่ามีเลือดออกจากช่องคลอดต้องรีบไปพบแพทย์ เนื่องจากอาการนี้ยังเกี่ยวกับภาวะอันตรายอย่างอื่นอีก จึงควรเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติ
สาเหตุของครรภ์ไข่ปลาอุก
มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของโครโมโซมในไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิ ทำให้ไข่เจริญขึ้นมาโดยไม่มีตัวอ่อนของทารก หรือตัวอ่อนของทารกมีความผิดปกติ โดยทั่วไปแล้วไข่ที่ได้ปฏิสนธิกับอสุจิจะมีจำนวนโครโมโซม 23 โครโมโซมที่ได้รับมาจากทั้งพ่อและแม่เท่ากัน ทำให้ตั้งครรภ์และเจริญเป็นทารกตามปกติ ส่วนความผิดปกติของโครโมโซมในผู้ที่ทีภาวะครรภ์ไข่ปลาอุกจะแบ่งได้ตามประเภทของครรภ์ปลาอุก ดังนี้
- ครรภ์ไข่ปลาอุกอย่างเดียว ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิได้โครโมโซมจากพ่อทั้งหมด ส่งผลให้ไม่มีตัวอ่อน ถุงน้ำคร่ำ หรือเนื้อรกเจริญขึ้นภายในไข่ แต่จะถุงน้ำรังไข่จำนวนมากคล้ายพวงองุ่นเจริญขึ้นมาแทน
- ครรภ์ไข่ปลาอุกร่วมกับการมีทารก ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิได้โครโมโซมจากแม่ 23 โครโมโซม แต่กลับได้จากพ่ออีกเป็นสองเท่าคือ 46 โครโมโซม ทำให้มีทั้งหมด 69 โครโมโซม คือมีอสุจิสองตัวที่ปฏิสนธิพร้อมกันในไข่ใบเดียว ทารกที่เจริญขึ้นมาจึงมีความผิดปกติหรืออยู่ไม่รอด
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยความเสี่ยงอื่นๆที่จะให้มีแนวโน้มเกิดภาวะครรภ์ไข่ปลาอุกได้ เช่น
- อายุมากกว่า 35 ปีจะทำให้เสี่ยงต่อครรภ์ไข่ปลาอุกอย่างเดียวได้สูง
- มีประวัติประสบภาวะครรภ์ไข่ปลาอุก โดยเฉพาะผู้ที่ประสบมาแล้วหลายครั้งก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น
- มีประวัติแท้งบุตร
- รับประทานอาหารที่มีกรดโฟลิคหรือแคโรทีนน้อย ทำให้ได้รับวิตามินไม่เพียงพอ
- ดูแลสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ไม่ดีพอ เช่น ดื่มจัดหรือสูบบุหรี่จัด
- คนในครอบครัวคุณแม่มีประวัติภาวะครรภ์ไข่ปลาอุก
การวินิจฉัยครรภ์ไข่ปลาอุก
แพทย์จะวินิจฉัยอาการโดยพิจารณาจากอาการที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ขนาดของมดลูก และระดับฮอร์โมนเฮชซีจี ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ วิธีการตรวจหามีดังนี้
- ตรวจเลือด แพทย์จะเจาะเลือดมาเพื่อนำไปตรวจระดับฮอร์โมนเฮชซีจี ถ้ามีระดับฮอร์โมนนี้สูงแสดงว่าจะไม่เกิดภาวะครรภ์ไข่ปลาอุก แต่ก็มีบางรายที่มีระดับฮอร์โมนสูงตามปกติ
- อัลตราซาวด์ แพทย์จะอัลตราซาวด์ดูเนื้อเยื่อภายในท้องและบริเวณอุ้งเชิงกราน โดยภาวะครรภ์ไข่ปลาอุกแต่ละแบบจะแสดงผลอัลตราซาวด์ที่ต่างกัน คือ
- ครรภ์ไข่ปลาอุกอย่างเดียว จะไม่เห็นเป็นตัวอ่อนในถุงน้ำคร่ำ แต่จะพบเนื้อรกที่ผิดปกติใกล้มดลูก และมีถุงน้ำรังไข่
- ครรภ์ไข่ปลาอุกร่วมกับการมีทารก จะเห็นมีตัวอ่อนทารก และมีเนื้อรกที่ผิดปกติอยู่ด้วยกัน น้ำคร่ำจะน้อย แพทย์มักตรวจพบในผู้ที่มีภาวะแท้งไม่สมบูรณ์
- ตรวจอุ้งเชิงกราน แพทย์จะตรวจอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานทั้งหมด เพื่อดูขนาดและตำแหน่งของ ปากช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก และรังไข่
- ตรวจด้วยภาพสแกน เป็นการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน หรือทำเอ็กซ์เรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอ เพื่อตรวจหาภาวะครรภ์ไข่ปลาอุก และแนวโน้มที่จะเกิดครรภ์ไข่ปลาอุกนอกมดลูก โดยทำการสแกนบริเวณอก หน้าท้อง อุ้งเชิงกราน และสมอง
นอกจากนี้แพทย์ยังจะตรวจปัญหาสุขภาพครรภ์อื่นๆด้วย รวมทั้งการเอ็กซเรย์หน้าอกเพื่อดูว่าเซลล์ที่ทำงานผิดปกติเพราะภาวะครรภ์ไข่ปลาอุกมีการลุกลามไปที่ปอดหรือไม่ ถึงแม้จะพบได้ไม่บ่อย แต่ปอดคือบริเวณที่พบว่ามีเซลล์ลุกลามไปได้มากที่สุด
วิธีการรักษา
ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการ จะตั้งครรภ์ต่อไปไม่ได้ ควรเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้
- ขูดมดลูก แพทย์จะขูดมดลูกเพื่อเอาเนื้องอกออกไป โดยจะฉีดยาชาเพื่อระงับความรู้สึก และให้ขึ้นขาหยั่งเพื่อเตรียมขูดมดลูก จากนั้นจะสอดอุปกรณ์เข้าไปขูดมดลูก รวมทั้งดูดเนื้อเยื่อก็มดลูกออกมา วิธีนี้ใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที
- ผ่าตัดมดลูก วิธีนี้ไม่ค่อยใช้กันมากนัก แต่แพทย์จะผ่าตัดมดลูกออกเพราะอาการลุกลามมากจนเสี่ยงเป็นมะเร็ง และไม่ต้องการมีุตรอีกในอนาคต
- ทำเคมีบำบัด แพทย์จะใช้วิธีนี้กับผู้ที่มีเนื้องอกไข่ปลาอุกที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็ง หรือผู้ที่ผ่าตัดเอาเนื้องอกออกไปแล้วแต่ฮอร์โมนเอชซีจียังไม่ลดลง
- ฉายรังสี ผู้ที่มีเนื้องอกกระจายไปยังสมองจะได้รับการฉายรังสีเอ็กซ์เรย์กำลังแรงสูงโดยแพทย์ เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง
- ติดตามระดับฮอร์โมน แพทย์จะตรวจวัดระดับฮอร์โมนเอชซีจีอีกครั้งหลังจากน้ำเนื้องอกออกไปแล้ว โดยจะติดตามวัดระดับสัปดาห์ละครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าฮอร์โมนลดลงและไม่มีภาวะครรภ์ไข่ปลาอุกหลงเหลืออยู่ และเมื่อฮอร์โมนเอชซีจีลดลงแล้ว ยังต้องเข้ารับการตรวจอีกทุกเดือนหรือสองเดือนเพื่อให้มั่นใจว่าหายเป็นปกติ
- คุมกำเนิด ต้องคุมกำเนิดในระหว่างที่ติดตามระดับฮอร์โมน เนื่องจากต้องใช้เวลา 1 ปีเพื่อให้ปัญหาของระดับฮอร์โมนเอชซีจีหายไป หากตั้งครรภ์ขึ้นมาอีกก่อนครบกำหนด จะส่งผลให้วินิจฉัยยากว่าจะเกิดภาวะครรภ์ไข่ปลาอุกขึ้นอีกหรือไม่
การดูแลสภาพจิตใจก็จำเป็นมากเช่นกัน เพราะผู้ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกจะรู้สึกไม่ดีที่สูญเสียทารกไป และยังต้องเครียดกับความเสี่ยงที่จะเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งอีก ควรคุยกันในครอบครัวและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยลดความเครียด
จะป้องกันได้หรือไม่?
การป้องกันที่ดีที่สุดคือเข้ารับการตรวจครรภ์ตามนัดหมายฝากครรภ์อย่างเคร่งครัด ส่วนผู้ที่เคยประสบภาวะครรภ์ไข่ปลาอุกก็ควรพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปเพื่อไม่ให้เกิดภาวะดังกล่าวซ้ำอีก โดยแพทย์มักแนะนำให้รอไปอีก 6 เดือน ถึง 1 ปี ก่อนจะตั้งครรภ์ครั้งใหม่ ซึ่งแพทย์จะติดตามการรักษาและตรวจสุขภาพโดยรวมว่าไม่มีอาการผิดปกติอื่นใดอีก
สำหรับผู้หญิงที่เตรียมตัวเป็นคุณแม่ ขอให้ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ด้วย และต้องรักษาสุขภาพให้ดีเสมอ เมื่อตั้งครรภ์แล้วก็ต้องไปตรวจตามนัดอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะครรภ์ไข่ปลาอุกและความเสี่ยงต่อสุขภาพของทั้งแม่และลูกด้านอื่นๆด้วย
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th