Site icon Motherhood.co.th Blog

คุยกับ “คุณแม่ต่างแดน” ที่ตัดสินใจเลี้ยงลูกสองภาษา

สนทนากับคุณแม่ต่างแดน

ชีวิตของแม่ไทยในมาเลเซียจะเป็นอย่างไร ติดตามอ่านได้

คุยกับ “คุณแม่ต่างแดน” ที่ตัดสินใจเลี้ยงลูกสองภาษา

ลำพังการเป็นแม่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก แล้วชีวิตการเป็น “คุณแม่ต่างแดน” จะยิ่งต้องพบเจอความท้าทายมากแค่ไหน วันนี้ Motherhood จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับแม่ไทยในต่างแดนกันค่ะ และเนื่องจากเธอคนนี้มีสามีต่างชาติ ทำให้เธอและสามีตัดสินใจที่จะเลี้ยงลูกแบบสองภาษา รวมทั้งจะมาแชร์เรื่องราวในการคลอดที่ต่างแดนด้วย ติดตามอ่านเรื่องราวของเธอได้ในบทสัมภาษณ์ฉบับนี้เลยค่ะ

Motherhood: แนะนำตัวเองให้ผู้อ่านรู้จักมากขึ้นหน่อยค่ะ

แม่โดนัท: ค่ะ ชื่อพัชรนันท์ สัตยไพศาลศิริ หรือจะเรียกว่าโดนัทก็ได้ค่ะ

Motherhood: ตอนนี้ทำงานอยู่ที่ประเทศไหนคะ

แม่โดนัท: ตอนนี้โดนัททำงานบริษัทอยู่ที่ประเทศมาเลเซียค่ะ ส่วนลูกชายก็อายุ 4 เดือนกว่าได้แล้ว ชื่อน้องเฉินฟงค่ะ

Motherhood: การตั้งครรภ์ต่างแดนเป็นอย่างไรบ้างคะ ช่วยเล่าให้เราฟังหน่อย

แม่โดนัท: ที่มาเลเซียนะคะ เวลาที่เรารู้ตัวว่าเราท้อง เราก็จะต้องรีบไปโรงพยาบาลเพื่อฝากครรภ์เลยค่ะ แล้วเขาก็จะทำสมุดฝากครรภ์เล่มสีชมพูให้เราค่ะ อย่างของโดนัทก็ไปฝากครรภ์ที่คลินิกแถวบ้านสามี อันนี้ก็แล้วแต่ว่าทะเบียนบ้านใครอยู่ไหนค่ะ ถ้าสามีอยู่กัวลาลัมเปอร์ เราก็ต้องไปฝากครรภ์ที่นั่น แบบนี้ค่ะ ส่วนของโดนัทอยู่ที่เมืองเบ็นตง ก็เลยต้องไปฝากครรภ์ที่นั่นค่ะ แต่เราก็วางแผนกันไว้ว่าจะคลอดธรรมชาติที่โรงพยาบาลรัฐ ซึ่งเราจำเป็นต้องมีสมุดฝากครรภ์เล่มชมพูก่อน ถึงจะคลอดที่โรงพยาบาลรัฐได้ค่ะ แต่กับโรงพยาบาลเอกชนก็ไม่จำเป็น สามารถไปที่เขาได้เลย แต่ก็จะมีค่าใช้จ่ายสูงมากค่ะ

Motherhood: การเป็นแม่ในต่างแดนมีข้อดีหรือข้อเสียอะไรบ้าง ช่วยเปรียบเทียบให้เราฟังหน่อยค่ะ

แม่โดนัท: ข้อดีอย่างแรกเลยก็คือ ลูกเราจะพูดได้หลายภาษาค่ะ สามีของโดนัทเป็นต่างชาติ เป็นชาวจีนมาเลเซีย เขาจะพูดจีนกลาง จีนกวางตุ้ง อังกฤษ แล้วก็มลายูค่ะ อันนี้ก็จะเป็นข้อได้เปรียบสำหรับลูกของเรา เราวางแผนกันไว้แล้วว่าจะพูดภาษาพวกนี้กับลูก ตอนนี้เราก็พูดจีนกลาง ไทย และอังกฤษกับเขาแค่นี้ก่อน เพราะเด็กๆเรียนรู้ได้ไวค่ะ

Motherhood: ที่มาเลเซียมีความเชื่อในการเลี้ยงเด็กอะไรที่แตกต่างจากไทยบ้างคะ

แม่โดนัท: ครอบครัวสามีโดนัทเป็นคนจีน อย่างคุณแม่เขาก็ 70 กว่าแล้วค่ะ แล้วเขาจะมีความเชื่อแบบโบราณเยอะมาก ไม่เอาไม่สนใจอะไรที่เป็นวิทยาศาสตร์เลย อย่างเรื่องของการดูแลตัวเองก่อนและหลังคลอดเนี่ย สำหรับเขาก็จะเป็นอะไรที่สำคัญมาก โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน น้ำเย็นนี่ห้ามดื่มเลย อาหารทะเลก็กินไม่ได้ อย่างพวกหอย กุ้ง ปู อย่างนี้ค่ะ เพราะเขาเชื่อกันว่ามันไม่ค่อยสะอาด มันเป็นพิษสำหรับคนท้อง เขาก็เลยกลัวว่ามันจะส่งผ่านไปให้เด็กในท้องได้ ส่วนพวกผลไม้เนี่ย ผลไม้อะไรที่มีฤทธิ์เย็นเขาก็จะห้ามกินค่ะ เช่น แตงโม สับปะรด มะพร้าว แต่มะพร้าวนี่ครอบครัวสามีบอกว่าจะเริ่มกินได้บ้างก็ตอนท้อง 7 เดือนขึ้นไปค่ะ เพราะมันช่วยทำให้ร่างกายเย็นลงได้

Motherhood: แล้วการเป็นสะใภ้ต่างชาติทำให้มีปัญหาในการปรับตัวอะไรไหมคะ

แม่โดนัท: มีปัญหาไหมเหรอคะ จะเป็นในเรื่องของภาษามากกว่าค่ะ เพราะว่าเราก็เป็นคนไทยคนเดียว แล้วแม่สามีก็พูดอังกฤษไม่ได้ด้วย พูดได้แต่จีนกลาง เราก็เลยต้องปรับตัวในการพูดกับเขาค่ะ เราจะพยายามฟังเวลาที่เขาพูดคุยกับคนอื่นๆ แล้วก็ถามสามีเพิ่มเติม ว่าถ้าเราอยากจะพูดแบบนี้ ต้องพูดจีนยังไง ประมาณนี้ค่ะ เราต้องปรับตัวและพูดให้เยอะ ไม่ว่าจะพูดถูกบ้างผิดบ้างยังไง เราก็ต้องพยายามพูด ไม่งั้นเราก็จะอยู่กับเขาลำบากค่ะ

Motherhood: ได้วางแผนที่จะเลี้ยงลูกเป็นเด็กสองภาษาหรือเด็กสามภาษาแล้วหรือยังคะ แล้วตั้งใจจะพูดภาษาอะไรกับลูกบ้าง

แม่โดนัท: ค่ะ ตอนนี้เราวางแผนกันไว้แล้ว สามีจะพูดจีนกลาง มลายู จีนกวางตุ้ง และอังกฤษค่ะ ส่วนเราเป็นคนไทย ก็จะสอนภาษาไทยกับลูก เพราะเราก็อยากให้ลูกพูดไทยกับทางครอบครัวเราได้ และก็พูดอังกฤษกับเขาด้วยค่ะ ตอนนี้อาจจะยังพูดจีนได้น้อยอยู่ แต่ถ้าพูดได้มากขึ้น ก็จะพูดจีนกับลูกด้วยค่ะ อย่างน้อยเขาจะได้ 4 ภาษา อังกฤษ จีน ไทย และมลายูค่ะ

Motherhood: การที่กลับไปทำงานแทบจะทันทีหลังลาคลอด เราเลยอยากให้ช่วยแบ่งปันประสบการณ์ในเรื่องการปั๊มนม และนโยบายการให้นมแม่ของที่ทำงานค่ะ

แม่โดนัท: การใช้เครื่องปั๊มนมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับแม่ยุคใหม่แบบเราๆนะคะ เพราะเราต้องออกไปทำงาน มันจะช่วยให้เราไม่คัดเต้านม ทำให้น้ำนมไหลสะดวกขึ้น ทุกวันนี้ออฟฟิศในมาเลเซียก็มีห้องสำหรับให้นม/ปั๊มนมกันเยอะขึ้น แต่ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทางไทยจะเป็นอย่างไร แต่คิดว่ามันจำเป็นมากค่ะ เพราะถ้าแม่จะปั๊มนมในที่สาธารณะก็คงไม่ดีเท่าไหร่ มีครั้งนึงไปต่างประเทศ แล้วพยายามหาห้องสำหรับปั๊ม แต่ก็หาไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องไปปั๊มในห้องน้ำ ก็ไม่ค่อยสะอาดเท่าไหร่ แต่ก็ต้องปั๊มไป เพราะเต้านมเราคัดแล้ว

Motherhood: ปกติปั๊มนมถี่แค่ไหนคะ

แม่โดนัท: ถ้าอยู่กับลูกก็จะปั๊มทุกๆสองชั่วโมงค่ะ ถ้าอยู่ที่ทำงานก็ปั๊มทุกๆ 4-5 ชั่วโมง เพราะว่าปั๊มถี่กว่านั้นไม่ได้แล้ว มันค่อนข้างเสียเวลาเหมือนกัน แต่ออฟฟิศก็ดีค่ะ มีห้องให้เข้าไปปั๊มนมได้ และยังมีตู้เย็นที่ให้แม่เก็บนมได้เฉพาะเลย เวลาเราปั๊มเสร็จ เราก็เอาไปเก็บในตู้นี้ได้เลย เป็นตู้ที่ให้เก็บแต่นมอย่างเดียว ไม่ให้เก็บของอื่น พอเลิกงานเราก็แพ็คกลับบ้านค่ะ

Motherhood: ช่วงกลางวันที่ต้องทำงาน มีใครช่วยดูแลลูกให้คะ

แม่โดนัท: ตอนนี้ให้แม่สามีช่วยดูแลค่ะ กัวลาลัมเปอร์กับเบ็นตงห่างกันประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง เลยจะกลับไปทุกวันไม่ได้ เราเลยกลับไปแค่สัปดาห์ละ 2 วัน ก็ทำงาน 5 วันและกลับไปหาลูก 2 วันช่วงสุดสัปดาห์ค่ะ ไม่ได้เป็นแม่เต็มเวลา เพราะส่วนมากอาม่าจะดูแลลูกให้ แล้วก็ดูแลได้ดีมากด้วยค่ะ

Motherhood: มีประสบการณ์อื่่นๆอยากจะแบ่งปันเพิ่มเติมไหมคะ

แม่โดนัท: คงเป็นเรื่องของการอยู่ไฟค่ะ เพราะที่นี่จะต่างกับไทยมากเหมือนกัน ทางไทยเขาจะห้ามกินไก่กับไข่ แต่ที่นี่แม่สามีทำไก่กับไข่ให้กินทุกมื้อเลยค่ะ เราก็ต้องกินทุกมื้อ ทุกวัน เป็นซุปไก่ยัดไส้ขิง แล้วก็ต้องอาบน้ำต้มที่ใส่ขิงด้วยนะคะ ต้องเป็นน้ำต้มมาเลย ห้ามอาบน้ำโดยยตรงจากก๊อก ส่วนน้ำที่ดื่มได้จะมีแต่น้ำสมุนไพรเท่านั้น ของใช้อื่นๆก็จะต้องใช้แยกเป็นส่วนตัวด้วยค่ะ อย่างช้อนส้อม ชาม แม้แต่เก้าอี้ก็ยังต้องซื้อใหม่เลย เป็นเฉพาะของเราคนเดียว ไม่ให้ใช้ของรวมกับที่คนอื่นเขาใช้ ช่วงแรกก็รู้สึกเหมือนโดนแบ่งแยกนิดหน่อย แต่ก็เข้าใจค่ะว่ามันเป็นธรรมเนียมของเขา อ้อ แล้วเขาก็ห้ามสระผมตั้งเดือนนึงด้วยนะคะ พอไปถามแม่ แล้วแม่ก็บอกว่าที่ไทยเราสระได้ปกติ แต่ต้องสระด้วยน้ำต้มสมุนไพร ส่วนของที่นี่ไม่สระตั้งเดือนนึง ทรมานมากค่ะ เพราะคันมาก แต่เราก็ทำต้องอะค่ะ มาอยู่กับเขาแล้วก็ต้องทำตามธรรมเนียมของบ้านเขาเนอะ

ก็ได้รับรู้กันไปแล้วนะคะ ถึงประสบการณ์ของคุณแม่ในต่างแดน ว่ามีความเหมือนและแตกต่างกับในบ้านเราอย่างไร ยังไงซะ Motherhood ก็เอาใจช่วยคุณแม่ทุกคนที่เป็นสะใภ้ต่างแดนอยู่ตอนนี้นะคะ การปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและขนบธรรมเนียมใหม่ๆเป็นสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิตในต่างแดนอย่างมีความสุข

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th