วิธี “จดเลคเชอร์” จดให้ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายๆคนก็ต้องเป็นห่วงลูกเรื่องการเรียนกันใช่ไหมคะ โดยเฉพาะกับลูกที่เป็นนักเรียนชั้นโตหน่อย การสอนให้เขา “จดเลคเชอร์” เป็น สำหรับการเตรียมตัวสอบก็เป็นสิ่งที่จะช่วยเขาได้มากทีเดียว วันนี้จะชวนให้คุณพ่อคุณแม่นำเอาเทคนิคต่างๆในการจดเลคเชอร์ การทำโน้ตสรุป เพื่อนำไปถ่ายทอดให้ลูกต่อในการเตรียมตัวสอบที่กำลังจะมาถึงนี้ค่ะ
การจดเลคเชอร์สำคัญอย่างไร
ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำอาจทำให้น้องๆนักเรียนนักศึกษาหลายคนนิยมจดเลคเชอร์โดยการพิมพ์ลงแลปทอปหรือเขียนลงบนแท็บเล็ทแทนการจดด้วยมือลงในกระดาษ แต่จากงานวิจัยจากนักจิตวิทยาของ Princeton University และ University of California ที่ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการจดเลคเชอร์บนแลปทอปพบว่า การจดเลคเชอร์ด้วยมือนั้นดีกว่าการพิมพ์ลงในแลปทอป เนื่องจากมันช่วยลดความเร็วของนักเรียนลง ซึ่งการลดความเร็วในการจดลงนี้เอง จะช่วยให้ผู้จดสามารถเรียนรู้และจดจำเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น ต่อไปนี้เป็นเทคนิคในการจดเลคเชอร์ที่จะช่วยให้คะแนนสอบของเด็กๆพุ่งพรวด
ตั้งใจฟังให้ดีก่อนจด
การจดเลคเชอร์ที่ดีนั้น ต้องตั้งใจฟังเพื่อจัดระเบียบเนื้อหาและทำความเข้าใจกับข้อมูลในสมองก่อนจดเลคเชอร์ลงไป เพราะเมื่อตั้งใจฟังแล้วสมองจะคิดตามและจัดระเบียบเนื้อหา ทำให้การจดออกมาป็นขั้นเป็นตอน มีระบบและเป็นภาษาของตัวเอง เมื่อกลับมาอ่านก็จะสามารถทำความเข้าใจได้อย่างรวดเร็วและง่ายกว่า
การจดเลคเชอร์ด้วย Cornell Method
การจดเลคเชอร์แบบ Cornell เป็นวิธีที่คิดค้นขึ้นโดย Dr. Walter Pauk ซึ่งวิธีเลคเชอร์นี้เป็นวิธีการที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และงานวิจัยจำนวนมากก็ยืนยันว่าเป็นวิธีการเลคเชอร์ที่สามารถใช้พื้นที่ของกระดาษได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงช่วยพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ โดยเราจะแบ่งหน้ากระดาษเป็น 3 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ 1 – พื้นที่จดโน้ต
เป็นพื้นที่ส่วนที่ใหญ่ที่สุดของหน้ากระดาษ กินพื้นที่ประมาณ 70% ของหน้ากระดาษ ส่วนนี้จะใช้จดเลคเชอร์ในขณะที่กำลังเรียนอยู่ ทั้งจากการฟังบรรยายและการดูสไลด์ จดบันทึกเนื้อหาทุกอย่างเท่าที่จะจดได้
ส่วนที่ 2 – พื้นที่คิว
คิว คือ พื้นที่ด้านซ้ายมือของกระดาษ ใช้ในการเลคเชอร์ประเด็นสำคัญ หลังจากที่เลคเชอร์ส่วนที่หนึ่งไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสามารถเขียนได้หลายรูปแบบ เช่น คีย์เวิร์ด ไอเดียหลัก แผนภูมิ หรือคำถาม ประโยชน์ของคิว คือ เพื่อให้ง่ายสำหรับการทบทวนโดยไม่ต้องอ่านทั้งหมด และเพื่อให้เห็นโครงร่างทั้งหมดของบทเรียน
ส่วนที่ 3 – พื้นที่สรุป
พื้นที่สำหรับจุดสรุปจะอยู่ที่บริเวณด้านล่างของกระดาษ มักจดกันประมาณ 5-7 บรรทัด เป็นพื้นที่สำหรับจดเลคเชอร์สรุป โดยใช้ภาษาในแบบของตัวเอง หรืออาจจะใช้จดเพิ่มเติมในอนาคตเมื่อกลับมาอ่านก็ได้ โดยพื้นที่ส่วนนี้จะถูกอนุญาตให้เขียนเมื่อเวลาผ่านไปนานกว่า 24 ชั่วโมง หรือ 7 วันแล้ว
สาเหตุที่ทำให้ Cornell Method ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายคือ มันเป็นการเรียบเรียงเนื้อหาอย่างเป็นระบบ มีรายละเอียดของเนื้อหาทั้งแบบย่อ ซึ่งเหมาะสำหรับการทบทวนในเวลาสั้น และแบบละเอียดที่เหมาะกับการทำความเข้าใจเนื้อหาแบบเจาะลึก อีกทั้งวิธี Cornell นี้ยังสามารถใช้ได้กับเนื้อหาทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเรียนวิชาไหนก็ตาม
การทำ Mind Mapping
น่าจะเป็นวิธีที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี สำหรับการวาดแผนภาพความคิดหรือที่รู้จักกันในชื่อว่า Mind Mapping โดยมีวิธีการทำคือเริ่มจากเขียนคำที่เป็นหัวข้อหลักในบริเวณกึ่งกลางกระดาษ แล้วแตกประเด็นย่อยออกจากประเด็นหลักโดยใช้การโยงเส้นออกไปให้เชื่อมต่อระหว่างประเด็นหลักและประเด็นย่อย และหากมีประเด็นย่อยอื่นๆรองไปอีก ก็โยงเส้นแตกประเด็นจากคำในประเด็นหลักออกไปอีกเรื่อยๆ
การใช้วิธีนี้นอกจากจะเป็นระบบแล้ว ยังช่วยให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหาอย่างชัดเจน ทำให้เห็นภาพรวมเนื้อหาทั้งหมดไม่ว่าจะมีเนื้อหาเยอะขนาดไหนก็ตาม รวมทั้งยังสามารถใช้สีสันต่างๆ หรือการใช้ภาพสัญลักษณ์เข้ามาช่วยในการจดจำ ทำให้สามารถจดจำเนื้อหาออกมาเป็นรูปภาพ นับว่ามีประโยชน์ต่อการสอบอย่างมาก
ใช้สัญลักษณ์และตัวย่อในการจดเลคเชอร์
การใช้สัญลักษณ์แทนคำพูดนั้นจะช่วยให้สามารถจดเลคเชอร์ได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งยังง่ายต่อการทบทวนอีกด้วย สัญลักษณ์ต่างๆที่เลือกใช้ก็เพื่อสื่อความหมายตามความเข้าใจของเราโดยเฉพาะ เช่น ใช้ดอกจัน (*) เพื่อเน้นตรงข้อมูลที่สำคัญหรือเน้นย้ำประเด็น หรือการใช้เครื่องหมายบวก (+) เพื่อแทนคำว่า “และ” ใช้ลูกศรชี้ขึ้นหรือลงเพื่อแทนการ “เพิ่มขึ้นหรือลดลง” เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการวาดสัญลักษณ์ที่คิดขึ้นมาเองในด้วยก็ได้
อีกวิธีที่ทำให้จดเลคเชอร์ได้รวดเร็ว คือการใช้ตัวย่อแทนคำต่างๆที่เป็นคำทั่วๆไป ไม่จำเป็นต้องเขียนเต็ม เช่น “ปสก” แทนคำว่า “ประสบการณ์” คำว่า “ตย” แทนคำว่า “ตัวอย่าง” ตัวอักษร “ก.” แทนคำว่า “การ” เป็นต้น การใช้นั้นตัวย่อพวกนี้เราอาจคิดขึ้นมาเองเพื่อให้ตนเองเข้าใจได้ก็พอแล้ว
จดอย่างเป็นระเบียบ มีวรรคตอน
การจดเลคเชอร์ที่ไม่เป็นระเบียบทำให้อ่านยากและทำให้สับสน ทางที่ดีควรที่จะจดให้เป็นระเบียบและเขียนตัวหนังสือให้ตัวเองอ่านง่าย เพื่อให้การกลับมาอ่านทบทวนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งควรมีการเว้นที่ว่างบ้างในหน้าที่จดเพื่อให้ได้มีการพักสายตาจากเนื้อหาที่อ่านบ้าง
มีการใช้รูปภาพประกอบ
บางวิชาที่ยากต่อการจด เช่น ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การนำภาพจากหนังสือหรือจากอินเตอร์เน็ต ปรินท์หรือถ่ายเอกสารออกมาตัดแปะลงในสมุดเลคเชอร์ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้เห็นภาพได้ชัดเจนและจดจำรายละเอียดของบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น
ปากกาไฮไลท์ช่วยเพิ่มเติมสีสัน
การจดเลคเชอร์ด้วยการใช้ปากกาสีเดียวไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการเน้นจุดสำคัญใดๆ นอกจากจะทำให้ลายตาตอนอ่านแล้ว ยังทำให้เลคเชอร์ที่จดนั้นขาดความน่าสนใจ การเลือกใช้ปากกาไฮไลต์หลากหลายสีสันมาขีดทับตรงหัวข้อหรือข้อความสำคัญ ก็จะช่วยให้เลคเชอร์น่าอ่านและอ่านง่ายขึ้น
ถ้าจดเลคเชอร์ไม่ทัน ควรทำอย่างไร?
เวลาต้องฟังอาจารย์อธิบายเรื่องไหนเร็วๆหรือซับซ้อน อาจทำให้จดเลคเชอร์ไม่ทัน วิธีแก้ง่ายๆ คือ หากมีช่วงไหนของเลคเชอร์ที่ฟังแล้วจดตามไม่ทัน หรืออาจยังไม่เข้าใจเนื้อหาเรื่องนั้นเท่าไหร่ ให้เว้นที่ว่างตรงช่วงนั้นเอาไว้ เพื่อหาข้อมูลหรือสอบถามอาจารย์หลังเลิกเรียน แล้วค่อยมาเติมรายละเอียดในภายหลัง แทนที่จะมัวเสียเวลาหาคำตอบนั้น จนอาจทำให้พลาดการฟังบรรยาย และทำให้จดเนื้อหาในส่วนอื่นๆไม่ทันได้
แบ่งปันเลคเชอร์หรือโน้ตย่อกับเพื่อน
เราอาจจะไม่สามารถจดเลคเชอร์ได้ทันทุกเรื่องทุกประเด็น ดังนั้นการแลกเลคเชอร์กับเพื่อนๆจะทำให้เราได้เนื้อหาสมบูรณ์ขึ้นในส่วนที่เราจดไม่ทัน และอาจช่วยให้เราเข้าใจในเนื้อหามากขึ้นจากเลคเชอร์ของเพื่อนที่ถนัดวิชานี้ หรือเพื่อนที่จดเนื้อหาใจความสำคัญมาได้ครบกว่าเรา
สำหรับการสอบปลายภาคที่ใกล้เข้ามานี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปถ่ายทอดให้ลูกๆต่อได้เลยนะคะ เพื่อที่เขาจะได้ทบทวนบทเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ และทำข้อสอบได้ตามที่ตั้งใจ
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th