“ฉี่รดที่นอน” ลูกมีปัญหานี้ เมื่อไหร่จะหาย
ถึงแม้ลูกจะเข้าวัยเรียนแล้ว แต่หลายๆบ้านก็ยังพบเจอกับปัญหา “ฉี่รดที่นอน” กันอยู่ ทำเอาคุณพ่อคุณแม่กังวลกันมาก ไม่แน่ใจว่าลูกมีปัญหาอะไรหรือเปล่า ไม่ได้อยู่ในวัยทารกแล้วแต่ยังฉี่รดที่นอน แบบนี้เรียกว่าผิดปกติได้หรือยัง แล้วจะต้องทำยังไงลูกถึงจะเลิกฉี่รดที่นอนเสียที หรือว่าไม่ต้องทำ มันอาจจะหายไปได้เอง แล้วเมื่อไหร่กันละ?
สาเหตุที่ทำให้ลูกปัสสาวะรดที่นอน
- ลูกมีพัฒนาการบางส่วนที่ล่าช้า โดยปกติเด็กจะสามารถกลั้นหรือควบคุมปัสสาวะได้ตั้งแต่อายุ 3 ขวบขึ้นไป แต่กับเด็กบางคนอาจจะมีพัฒนาการของระบบประสาทควบคุมที่ส่งผ่านจากสมองมาถึงไขสันหลังนี้ล่าช้า จึงทำให้ไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะได้
- ฮอร์โมน ADH ผิดปกติ ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้ทำหน้าที่ควบคุมร่างกายให้ผลิตน้ำน้อยลงในตอนกลางคืน ดังนั้นเวลามันทำงานไม่ปกติก็จะทำให้ผลิตน้ำมาก เด็กเลยปวดฉี่ตอนนอน
- ปัญหาการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ เช่น ความจุของกระเพาะที่น้อยเกินไป โดยเฉพาะในเด็กเล็ก และการหดรัดตัวของกระเพาะ
- พันธุกรรม เด็กจะมีโอกาสปัสสาวะรดที่นอนถึงร้อยละ 44 หากเป็นเด็กที่พ่อหรือแม่มีประวัติฉี่รดที่นอนตอนยังเด็กเหมือนกัน ส่วนเด็กที่มีพ่อแม่เคยเป็นเด็กฉี่รดที่นอนกันทั้งคู่ ก็จะมีโอกาสเป็นเองด้วยสูงถึงร้อยละ 77 เลย
- การนอนที่ผิดปกติ นอกจากนี้ยังส่งผลเสียทำให้เด็กหยุกหายใจขณะนอน และเป็นโรคนอนหลับลึกเกินไปด้วย
- สาเหตุเกี่ยวเนื่องกับโรคอื่นๆ เช่น ท้องผูก เบาหวาน และอาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
- ปัญหาด้านอารมณ์และพฤติกรรม เช่น ได้รับการฝึกให้ปัสสาวะเร็วเกินไป หรือเด็กมีความเครียดสะสม เช่น มีปัญหาจากที่โรงเรียน
อาการปัสสาวะรดที่นอนมี 2 แบบ
- ไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะในเวลากลางคืนได้เลย มักพบในเด็กเล็ก
- สามารถควบคุมได้แล้ว แต่มาเกิดปัสสาวะรดที่นอนอีกภายหลัง มักพบในเด็กโต และมักมีปัญหาความเครียดเกี่ยวข้อง
สมควรพบแพทย์หรือไม่
หากลูกเป็นเด็กที่พ้นวัยทารกมาแล้วแต่ยังมีอาการปัสสาวะรดที่นอนอยู่ ก็ควรพาเขาไปพบแพทย์ ในเบื้องต้นแพทย์จะให้ตรวจปัสสาวะดูก่อนว่ามีอาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะหรือไม่ ถ้าผลตรวจไม่มีอะไรผิดปกติ แพทย์จึงจะให้คำแนะนำด้านอื่นต่อไป บางรายที่อาการหนักมาก แพทย์อาจจะพิจารณาให้ยา
วิธีช่วยลูกไม่ให้ฉี่รดที่นอน
- ไม่ควรให้ลูกดื่มเครื่องดื่มใดๆภายใน 1-2 ชั่วโมงก่อนนอน โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงอย่างน้ำอัดลม น้ำหวานต่างๆ รวมทั้งการกินขนมหรือของว่างก็ควรให้เด็กจัดการให้เสร็จหลังมื้อค่ำทันที
- อย่าปลุกลูกขึ้นมาเข้าห้องน้ำตอนกลางคืน หรือแม้แต่พยายามอุ้มเขาไปห้องน้ำทั้งที่ยังหลับ เพราะจะยิ่งทำให้เขาฝึกควบคุมการปัสสาวะได้ช้าลงไปอีก
- ฝึกให้เขาลุกไปฉี่ทันทีที่เขารู้ตัวว่าปวด
- ชื่นชมลูกบ้างในวันที่เขาไม่ได้ฉี่รดที่นอน แต่ไม่ควรดุด่าในวันที่เขาเผลอฉี่รดที่นอนอีก
- ให้เขาได้ร่วมบันทึกอาการของตัวเอง รวมทั้งให้มีส่วนร่วมในการทำความสะอาดและเปลี่ยนผ้าปูที่นอนด้วย
- การใช้ผ้ายางปูรองบนที่นอนก็จะช่วยลดความยุ่งยากในการทำความสะอาดไปได้ระดับนึง
อาการปัสสาวะรดที่นอนจะค่อยๆหายไปเองเมื่อลูกโตขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเข้าวัยรุ่นแล้วก็ไม่มีใครมีอาการแบบตอนเด็กๆอีก คนที่ยังคงมีอาการไปจนถึงวัยผู้ใหญ่นั้นสามารถพบได้น้อยมากจริงๆ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเครียดมากไป มันเป็นอาการที่เด็กสามารถพัฒนาและควบคุมได้ดีขึ้นตามวัยอยู่แล้ว แค่มีเด็กบางคนอาจจะทำได้ช้ากว่าเด็กอื่นเล็กน้อยเท่านั้นเอง
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th