ตั้งครรภ์นอกมดลูก จะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นหรือไม่
อีกหนึ่งความกังวลของคุณแม่ท้องอ่อนย่อมหนีไม่พ้นการ “ตั้งครรภ์นอกมดลูก” ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ถึงกระนั้นคุณแม่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าอาการเป็นอย่างไร จะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองมีความเสี่ยงหรือไม่ และมีวิธีทางที่จะป้องกันได้บ้าง มาติดตามกันในบทความนี้เลยค่ะ
ตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic Pregnancy) เป็นภาวะที่ไข่ได้รับการผสมกับสเปิร์มแล้วกลายเป็นตัวอ่อนแต่ไปฝังตัวอยู่บริเวณอื่นที่ไม่ใช่ผนังมดลูก มักเกิดขึ้นบริเวณท่อนำไข่หรือปีกมดลูก ทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปเป็นทารกได้ หากไม่ได้รับการรักษาจะเกิดเนื้อเยื่อเจริญเติบโตและสร้างความเสียหายแก่ท่อนำไข่ และทำให้มารดาเสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แม่ท้องควรสังเกตสัญญาณสำคัญของการท้องนอกมดลูก เพื่อไปพบแพทย์ให้ทันเวลา
อาการของท้องนอกมดลูก
ในช่วงแรกของการท้องนอกมดลูกจะยังไม่มีอาการสำคัญที่ปรากฏ หรืออาจมีอาการที่คล้ายสัญญาณการตั้งครรภ์ทั่วไป ได้แก่
- ประจำเดือนขาด
- มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดเล็กน้อย
- เจ็บหน้าอก
- คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ
ส่วนอาการที่เป็นสัญญาณสำคัญของการท้องนอกมดลูกที่จัดเป็นความป่วยที่รุนแรงขึ้น และผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์ทันที ได้แก่
- ปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน
- มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดจำนวนมาก
- ปวดไหล่ ปวดคอ ปวดบริเวรทวารหนัก
- หน้ามืดเป็นลม วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง
- มีภาวะช็อค
สาเหตุของการท้องนอกมดลูก
การท้องนอกมดลูกจะเกิดขึ้นภายในช่วงสัปดาห์แรก ๆ หลังจากที่ไข่ผสมกับสเปิร์ม ตามปกติไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะอยู่ในท่อนำไข่ 3-4 วัน ก่อนที่จะเคลื่อนตัวเข้าไปฝังตัวในผนังมดลูกแล้วพัฒนาเป็นตัวอ่อนเจริญเติบโตในมดลูกต่อไป แต่การท้องนอกมดลูกเกิดจากไข่ที่ผสมแล้วแต่ไม่เคลื่อนตัวไปยังมดลูก กลับฝังตัวอยู่ในบริเวณท่อนำไข่หรือในอวัยวะอื่น ๆ เช่น ปากมดลูก รังไข่ พื้นที่ว่างในช่องท้อง หรือแม้แต่บริเวณรอยแผลเป็นจากการผ่าคลอดที่หน้าท้อง
ปัจจัยที่ทำให้ไข่ที่ผสมแล้วไม่เคลื่อนไปฝังตัวในมดลูกตามปกติ ได้แก่
- ท่อนำไข่ได้รับความเสียหายจนมีลักษณะผิดรูปผิดร่าง
- มีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ มดลูกอักเสบ ท่อนำไข่อักเสบ รังไข่เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อ
- เป็นโรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่
- ความผิดปกติของการพัฒนาภายในไข่หลังการปฏิสนธิ
- มีรอยแผลเป็นจากการผ่าตัดที่บริเวณอุ้งเชิงกราน
- มีประวัติท้องนอกมดลูกมาก่อน
- การทำหมันหญิง หรือการผ่าตัดแก้หมันหญิง
- การใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด
- การใช้ยาหรือการรักษาภาวะมีบุตรยาก เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว
- มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- เกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมนในกระบวนการตั้งครรภ์
- ผู้ป่วยตั้งครรภ์เมื่อมีอายุตั้งแต่ 35 ปี ขึ้นไป มีความเสี่ยงที่อวัยวะในระบบสืบพันธุ์จะทำงานด้อยประสิทธิภาพลง
การวินิจฉัยการท้องนอกมดลูก
ในเบื้องต้นแพทย์จะซักถามประวัติอาการและการมีประจำเดือน ร่วมกับการตรวจร่างกายเพื่อประกอบการวินิฉัย โดยมีรายละเอียดการตรวจดังนี้
- ตรวจภายใน ผู้ป่วยต้องนอนบนเตียงตรวจแล้วให้แพทย์ตรวจบริเวณที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด หรือบริเวณที่อาจพบความผิดปกติ เช่น ท่อนำไข่ หรือรังไข่
- ตรวจเลือดหาฮอร์โมน hCG แพทย์จะเจาะเลือดเพื่อตรวจหาระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (Human Chorionic Gonadotropin: hCG) เมื่อตรวจพบฮอร์โมนดังกล่าวก็จะทำการตรวจอัลตราซาวด์ต่อไป
- ตรวจอัลตราซาวด์ แพทย์จะตรวจด้วยการใช้เครื่องมือตรวจบริเวณหน้าท้องแล้วฉายภาพภายในช่องท้องเพื่อหาตัวอ่อนทารกในครรภ์ที่ฝังตัวอยู่ในมดลูก หรือในระยะตั้งครรภ์สัปดาห์แรก ๆ ตัวอ่อนอาจยังอยู่บริเวณท่อนำไข่หรือรังไข่ซึ่งใกล้กับช่องคลอด แพทย์จึงต้องใช้เครื่องมืออัลตราซาวด์ชนิดสอดเข้าไปภายในช่องคลอด (Transvaginal Ultrasound) หากตรวจไม่พบตัวอ่อนหรือร่องรอยของตัวอ่อน แพทย์อาจวินิจฉัยได้ว่ากำลังท้องนอกมดลูก
ในบางกรณีที่ไม่สามารถตรวจพบตัวอ่อนได้ด้วยอัลตราซาวด์ อาจเพราะเป็นการตั้งครรภ์ในระยะแรกเริ่ม ตัวอ่อนจึงมีขนาดเล็กมาก หรือผู้ป่วยอาจเกิดการแท้งลูก ดังนั้น หากตรวจไม่พบตัวอ่อนฝังตัวในมดลูกหรือบริเวณปีกมดลูก แพทย์อาจสังเกตอาการของท่อนำไข่ว่ามีการบวม มีเนื้อเยื่อหรือมีลิ่มเลือดอุดตัน เพราะตัวอ่อนไปฝังตัวแล้วสร้างความเสียหายแก่เนื้อเยื่อในบริเวณนั้นหรือไม่
หากตรวจด้วยวิธีการต่าง ๆ แล้วยังไม่ปรากฏผลแน่ชัดว่าผู้ป่วยท้องนอกมดลูกหรือไม่ หรือผู้ป่วยมีอาการที่เข้าข่ายภาวะท้องนอกมดลูกที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างฉุกเฉินเร่งด่วน แพทย์อาจทำการผ่าตัดเพื่อตรวจดูบริเวณท่อนำไข่และอวัยวะที่ใกล้เคียง และทำการรักษาเนื้อเยื่อที่เกิดความเสียหายในบริเวณดังกล่าวด้วย
การรักษาอาหารท้องนอกมดลูก
การรักษาการท้องนอกมดลูกขึ้นอยู่กับพัฒนาการของตัวอ่อนที่ฝังตัวไปแล้วและบริเวณที่ตัวอ่อนฝังตัว โดยแพทย์จะมีวิธีการรักษาผู้ป่วยท้องนอกมดลูก ดังนี้
- การใช้ยา แพทย์อาจจ่ายยาเพื่อรักษาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามความเหมาะสม แต่ยาที่ใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวอ่อนที่ฝังตัวกลายเป็นเนื้อเยื่อเจริญเติบโตต่อไป คือ ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) แพทย์อาจฉีดยานี้ให้ผู้ป่วยแล้วคอยตรวจเลือดเรื่อย ๆ เพื่อดูผลการรักษา โดยการใช้ยาตัวนี้จะมีผลข้างเคียงคล้ายอาการแท้งลูก คือ ชาหรือปวดเกร็งหน้าท้อง มีเลือดและเนื้อเยื่อไหลออกจากช่องคลอด และผู้ป่วยจะยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้เป็นเวลาอีกหลายเดือนหลังการใช้ยา
- การผ่าตัด แพทย์จะทำการผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparotomy) ซึ่งเป็นวิธีการผ่าตัดสร้างรูเล็ก ๆ แล้วนำเครื่องมือชนิดพิเศษสอดเข้าไปในรู หนึ่งในเครื่องมือเหล่านั้น คือ กล้องขยายขนาดเล็ก แพทย์จะสามารถมองเห็นส่วนต่าง ๆ ที่ต้องการผ่าตัดด้วยภาพจากกล้องตัวนี้ แล้วนำตัวอ่อนที่ฝังตัวนอกมดลูกออกไป รวมถึงทำการรักษาซ่อมแซมเนื้อเยื่อบริเวณที่ได้รับความเสียหาย หากเนื้อเยื่อบริเวณท่อนำไข่เกิดความเสียหายมาก แพทย์อาจต้องผ่าตัดนำท่อนำไข่ออกไปด้วย
- การรักษาภาวะอื่น ๆ ที่เป็นภาวะแทรกซ้อนจากการท้องนอกมดลูก เช่น ภาวะช็อกจากการเสียเลือดมาก อาจจะต้องได้รับเลือดทดแทน ภาวะอักเสบติดเชื้อ อาจต้องได้รับยาลดการอักเสบและยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
หลังรับการรักษา ผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวภายใต้การดูแลและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อยู่เสมอเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัว และจากนั้นผู้ป่วยควรฟื้นฟูสภาพจิตใจด้วยเช่นกัน
เมื่อผู้ป่วยพร้อมจะมีบุตรอีกครั้ง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการมีบุตร เนื่องจากผู้ที่เคยท้องนอกมดลูกมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะนี้ขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดนำท่อนำไข่ออกไป
ภาวะแทรกซ้อนของการท้องนอกมดลูก
ภาวะท้องนอกมดลูกที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงทีจะไม่พัฒนาไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีที่ผู้ป่วยท้องนอกมดลูกหรืออาจได้รับการตรวจวินิจฉัยช้าเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เนื่องจากท่อนำไข่และอวัยวะในบริเวณที่ไข่ฝังตัวอาจเกิดความเสียหาย ฉีกขาด หรือเกิดการติดเชื้อ ทำให้ผู้ป่วยเกิดการตกเลือด ภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย (Disseminated Intravascular Coagulopathy: DIC) ภาวะช็อค และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตในเวลาต่อมาได้
การป้องกันท้องนอกมดลูก
การตั้งครรภ์นอกมดลูกเป็นไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อความเสียหายต่ออวัยวะในช่องท้องและระบบสืบพันธุ์ที่นำไปสู่การท้องนอกมดลูกในที่สุดได้ เช่น
- มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการอักเสบติดเชื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน
- รักษาสุขภาพ เลิกสูบบุหรี่ เพราะผู้ที่สูบบุหรี่หรือเคยสูบบุหรี่มีความเสี่ยงสูงในการท้องนอกมดลูก
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th