Site icon Motherhood.co.th Blog

“ทารกสำลัก” ปัญหาน่ากลัว พร้อม 13 วิธีป้องกัน

เมื่อทารกสำลัก

หากลูกน้อยสำลักและมีของติดคอ พ่อแม่ต้องรู้วิธีช่วยเขา

“ทารกสำลัก” ปัญหาน่ากลัว พร้อม 13 วิธีป้องกัน

เมื่อ “ทารกสำลัก” อาการหายใจไม่ออกก็ตามมา และนั่นหมายถึงว่าทุกวินาทีล้วนมีค่า การปฐมพยาบาลเด็กที่สำลักเพราะมีของเข้าไปติดในหลอดลมมักจะตกเป็นหน้าที่ของคุณพ่ออยู่บ่อยครั้ง ซึ่งวันนี้เราจะมาเตรียมตัวกันถึงวิธีปฐมพยาบาลเด็กที่มีของติดคอ แต่จะให้ดีไปกว่านั้นคือการที่พ่อแม่รู้หนทางป้องกันไม่ให้ปัญหานี้เกิดตั้งแต่แรก จะทำได้อย่างไรบ้างนั้น ติดตามกันในบทความได้เลยค่ะ

อันตรายของอาการสำลัก

ในทุก ๆ ปี มีเด็กนับพันคนที่อายุต่ำกว่า 4 ขวบ สำลักอาหาร ของเล่น หรือสิ่งของภายในบ้าน และมีเด็กมากกว่า 200 คนในกลุ่มนี้ที่ต้องจบชีวิตลง ทารกและเด็กเล็กมีความเสี่ยงสูง เพราะตามธรรมชาติของพวกเขานั้นจะชอบนำของเข้าปาก เขายังเคี้ยวไม่ค่อยได้ดี และทางเดินหายใจส่วนบนก็เล็ก สามารถอุดตันได้ง่าย โชคยังดีที่เราสามารถป้องกันการเสียชีวิตจากการสำลักได้ และนี่คือวิธีที่จะทำให้ลูกน้อยปลอดภัย

เมื่อมีของติดคอลูก

เวลาที่เด็กสำลักอาหารหรือเครื่องดื่ม พวกเขาจะไออย่างแรงเพื่อที่จะล้างทางเดินหายใจ ในช่วงนี้คุณอย่าเพิ่งตบหลังลูกหรือพยายามสอดนิ้วเข้าไปในปาก เพราะมันจะยิ่งไปผลักให้วัตถุนั้นให้ลงลึกไปในหลอดลม

หากลูกของคุณไม่สามารถพูด ไอ หรือร้องไห้ได้ และใบหน้าของลูกเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน คุณต้องเข้าไปจัดการทันที ให้คนนึงรีบโทรขอความช่วยเหลือ ในขณะที่อีกคนรีบเข้าไปปฐมพยาบาล หากคุณอยู่คนเดียว ให้ทำตามขั้นตอนเหล่านี้เป็นเวลาหนึ่งนาทีก่อนโทรเรียกรถพยาบาล

แสดงวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับเด็กที่ของติดคอ

ปฐมพยาบาลเด็กต่ำกว่า 1 ขวบ

  1. อุ้มลูกไว้บนแขนโดยให้คว่ำหน้าลง ให้ศีรษะของลูกอยู่ที่มือของคุณ และวางแขนของคุณเองไปกับต้นขา ถ้าลูกเป็นเด็กตัวใหญ่ให้ห้นอนคว่ำหน้าลงบนต้นขาของคุณและหันศีรษะไปทางหัวเข่า ซัพพอร์ตศีรษะและคอของลูกให้ดี โดยจัดให้อยู่ต่ำกว่าส่วนที่เหลือของร่างกาย
  2. ใช้สันมืออีกข้างตบเบา ๆ 5 ครั้งลงไประหว่างหัวไหล่ของลูก การตบนี้จะทำให้เด็กไอเอาอาหารหรือสิ่งของที่ติดอยู่ออกมา หากสามารถมองเห็นอาหารหรือสิ่งที่ติดอยู่ในปากลูก ให้เอานิ้วเข้าไปกวาดออกมา
  3. หากลูกยังหายใจไม่ออก ให้จับเขานอนหงายบนพื้นที่มั่นคง ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางของคุณกดลงไปบริเวณเหนือกระดูกหน้าอกเบา ๆ  5 ครั้ง โดยกดให้ลึกลงไปประมาณ 1-1.5 นิ้ว
  4. ช่วยเปิดทางเดินหายใจโดยเอียงศีรษะไปทางด้านหลังและยกคางขึ้น

ปฐมพยาบาลเด็กโตกว่า 1 ขวบ

  1. ยืนด้านหลังลูกและใช้แขนกอดเอวลูกไว้
  2. ใช้มือข้างหนึ่งทำเป็นกำปั้น โดยหันหัวแม่มือเข้าด้านใน ชิดกับตัวลูกตรงช่วงท้อง เหนือสะดือ แต่ต่ำกว่าระดับซี่โครง
  3. ใช้อีกมือผลักกำปั้นเข้าไปและขึ้นไปอย่างรวดเร็ว สภากาชาดสากลแนะนำให้ผลักหน้าท้องสลับไปกับการตบหลัง เพื่อขับวัตถุที่ติดอยู่ออกมา
  4. ถ้าลูกยังไม่มีอาการตอบสนอง ให้เริ่มทำ CPR

สำหรับเด็ก 2 ขวบขึ้นไป

หากเป็นเด็กโต สามารถถามลูกได้โดยตรงว่าของติดคออยู่ไหม

13 วิธีป้องกันทารกสำลักและของติดคอลูก

คงจะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะคอยจับตาทุกสิ่งที่สามารถเข้าไปติดในปากของลูกได้ แต่มันไม่ได้แปลว่าคุณจะไม่มีทางปกป้องเขาให้ปลอดภัย ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำแนวทางที่สามารถนำไปใช้กับเด็กทารก เด็กเล็ก และเด็กก่อนวัยเรียน

ตั้งกฎในการกิน

1. กินในท่าที่ถูกต้องเท่านั้น การนั่งเก้าอี้สูงหรือเบาะเสริมที่มั่นคงนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่เพื่อความปลอดภัยของลูกแล้ว เท้าของพวกเขาควรที่จะมีที่พักด้วยเช่นกัน แม้จะเป็นแค่กล่องซีเรียลที่ใช้เทปพันติดเข้ากับขาของเก้าอี้สูงก็ได้

2. อย่าใช้ถาดรองที่มากับเก้าอี้สูง แต่ให้ลากเก้าอี้สูงนั้นไปที่โต๊ะอาหารแทน เพื่อที่พ่อแม่จะได้ดูเขากินได้อย่างใกล้ชิด และยังป้องกันไม่ให้ลูกหมุนไปหมุนมาด้วย ซึ่งนั่นจะทำให้เด็กไม่สามารถควบคุมอาหารในปากของเขาได้

3. ให้ใช้อุปกรณ์ตักอาหาร ช้อน ส้อม ตะเกียบ เหล่านี้จะช่วยให้ลูกกินข้าวได้ช้าลงอีกหน่อย การให้ลูกกินด้วยมือนั้นเสี่ยงที่จะทำให้เด็กนำอาหารเข้าปากมากเกินไป รวมทั้งในเด็กที่กำลังหัดกินแบบ Baby Lead Weaning ก็สามารถหัดใช้ช้อนส้อมได้ และแน่นอนว่าพ่อแม่ต้องดูแลตอนลูกกินอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าเขาจะใช้อุปกรณ์ชนิดไหน หรือไม่ได้ใช้เลย

การใช้ช้อนส้อมทำให้ควบคุมปริมาณอาหารต่อคำได้ดีกว่า

4. ให้ลูกลองเครื่องจิ้มด้วย การกินเครื่องจิ้มอย่างฮัมมุสควบคู่ไปกับผักหรือแครกเกอร์ที่เนื้อสัมผัสแห้งกว่านั้น จะทำให้อาหารเหล่านี้ลื่นลงคอได้ง่ายขึ้น

5. อย่าให้ลูกพูดตอนอาหารเต็มปาก เด็กจะหายใจในช่วงที่พูดไปกินไป และนั่นจะทำให้อาหารติดคอได้ง่าย แม้แต่เด็กเล็กก็สามารถเรียนรู้ที่จะชูนิ้วเวลาที่ต้องการจะพูดแต่ต้องเคี้ยวอาหารให้เสร็จก่อนได้

6. จำกัดสิ่งเบี่ยงเบนความสนใจ ไม่กินอาหารหน้าจอ เพราะเด็กควรที่จะต้องเคี้ยวอาหารอย่างมีสติ ควรจัดเวลากินอาหารที่เหมาะสมและให้เด็กได้นั่งเพื่อกินข้าวอย่างเดียวจริง ๆ

7. ระวังมากขึ้นยามอยู่ในรถ การเคลื่อนที่ไปบนถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อสามารถผลักอาหารลงไปในลำคอมากเกินไปได้ หากคุณมัวแต่สนใจกับทางข้างหน้ามากกว่าจะโฟกัสที่ลูกของคุณ ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องปกติเพราะคุณกำลังขับรถอยู่ เพื่อลดความเสี่ยงตรงนี้ หากอยู่ในรถและลูกต้องการจะกิน ให้เลือกอาหารที่ละลายง่าย มีเนื้อนิ่ม หรือร่วน และต้องแน่ใจว่าลูกจะสามารถควบคุมตัวเองได้ที่จะไม่ยัดอาหารลงไปทั้งชิ้นในคราวเดียว

8. เตรียมอาหารด้วยความระมัดระวัง เด็กเล็กก็ยังต้องเรียนรู้เรื่องการกินอาหารอยู่ ภายใน 18 เดือน พวกเขาจะมีฟันกรามงอกออกมาเพื่อช่วยในการบดและเคี้ยวอาหาร แต่ถึงอย่างนั้นเด็ก ๆ ก็ยังไม่เชี่ยวชาญในการกิน ในความเป็นจริงแล้ว เด็ก ๆ จะไม่ได้เคี้ยวอาหารจริงจังเช่นผู้ใหญ่จนกว่าเขาจะมีอายุ 4 ขวบขึ้นไป และถึงแม้เด็กจะพยายามอย่างที่สุดในการไอเอาอาหารที่มีชิ้นใหญ่ออกมาด้วยตัวเอง เขาก็ไม่สามารถทำได้อย่างง่ายดายเลย

องุ่นทั้งลูกอันตรายเกินไปสำหรับเด็กเล็ก

อาหารที่มีรูปทรงกลมและแข็ง อาหารที่เหนียวและเหนอะหนะ หรืออาหารแห้ง เป็นสิ่งที่ยากสำหรับลิ้นน้อย ๆ ที่จะจัดการกับมันหากลงไปติดค้างในทางเดินหายใจ สถาบันกุมารเวชแห่งอเมริกาได้ออกรายการของอาหารที่ก่อให้เกิดอันตรายจากการสำลัก ได้แก่ ขนมแข็งหรือเหนียว ฮอทดอก ชิ้นเนื้อสัตว์ ชิ้นผักดิบ ถั่วและเมล็ดต่าง ๆ  ก้อนชีส ก้อนเนยถั่ว ข้าวโพดคั่ว องุ่นทั้งลูก และหมากฝรั่ง อาหารจำพวกลูกอมแข็ง ถั่ว เมล็ดพืช แครอท และข้าวโพดคั่วนั้น ควรหลีกเลี่ยงไปเลย แต่อาหารชนิดอื่นสามารถทำเป็นของว่างได้อย่างปลอดภัยโดยการเปลี่ยนขนาดหรือผิวสัมผัสเสียก่อน หากคุณฝึกให้ลูกกินแบบ Baby Lead Weaning ให้ตัดอาหารเป็นชิ้น ๆ ด้วยความยาวและความกว้างเท่านิ้วก้อยของผู้ใหญ่ และต้องแน่ใจว่าอาหารนั้นนุ่มพอที่คุณจะบี้มันด้วยนิ้วชี้กับนิ้วโป้งได้ง่าย

ตั้งกฎเวลาเล่น

9. เห็นอย่างที่ลูกเห็น ลองลงไปนั่งกับพื้น ให้เห็นโลกในมุมที่ตาลูกคุณเห็นบ้าง ทำแบบนี้บ่อย ๆ ไม่ใช่แค่ลองทำครั้งสองครั้ง เพราะมันจะทำให้คุณมองเห็นสิ่งที่เป็นอันตรายกับลูกได้ง่ายขึ้น อย่างเช่น คลิปหนีบกระดาษ หรือหมุดปักกระดาษ สิ่งใดก็ตามที่ขนาดเล็กกว่ากำปั้นของลูกคุณ สิ่งนั้นแหละที่อันตราย

10. เก็บของพี่น้องแยกกัน หากมีลูกมากกว่าหนึ่งคน ให้เก็บของเล่นของพี่โตแยกออกจากของน้องเล็ก และหมั่นตรวจดูว่ามีชิ้นส่วนอะไรที่แตกหักเสียหายอยู่หรือไม่ เช่น แม่เหล็ก ปาเป้า แบตเตอรี่แบบกระดุม เพราะของพวกนี้อาจจะไปจบลงที่ปากของลูกเล็กได้ ของเล่นชิ้นจิ๋วๆ โดยเฉพาะพวกลูกแก้วคือตัวอันตราย เศษของลูกโป่งก็เช่นกัน หากหลุดเข้าไปอุดหลอดลมได้ละก็ งานใหญ่แน่นอน

11. ติดตั้งประตูเพื่อป้องกัน ไม่มีบ้านของพ่อแม่คนไหนที่จะปลอดภัยได้ตลอด 24 ชั่วโมงหรอก โดยเฉพาะเมื่อมีเด็กวัยหัดเดินอยู่ในบ้าน แต่คุณยังสามารถเพิ่มโซนที่ปลอดภัยสำหรับเด็กได้ โดยการติดประตูนิรภัยเพื่อป้องกันไม่ให้เขาออกจากห้อง เพื่อเข้าไปสู่ห้องที่มีของที่อาจก่ออันตราย

12. เก็บเหรียญเงินทอนให้เป็นที่ เมื่อกลับมาบ้าน ให้นำเหรียญเงินทอนที่อาจตกค้างตามกระเป๋าเสื้อผ้าไปจัดเก็บให้เป็นที่เป็นทาง เลือกเก็บในจุดที่ไม่ล่อตาล่อใจ เด็ก ๆ เอื้อมไปไม่ถึง

13. เก็บกระเป๋าให้พ้นทาง แทนที่จะแขวนกระเป๋าหรือเป้สะพายหลังข้าง ๆ ประตูห้อง ให้นำไปแขวนเก็บที่ชั้นสูง ๆ ที่เด็กเอื้อมไม่ถึง หรือในตู้ที่มิดชิด เพราะของในกระเป๋าหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น กุญแจ ลิปกลอส เหรียญ ยาอม ปลอกปากกา เป็นสิ่งที่มีความเสี่ยงจะตกหล่นตามพื้นได้สูง

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th