Site icon Motherhood.co.th Blog

นมแพะ ดีสำหรับเด็กหรือไม่?

นมแพะกับเด็ก

เรียนรู้ประโยชน์ของนมแพะที่มีต่อเด็กๆ

นมแพะ ดีสำหรับเด็กหรือไม่?

ขึ้นชื่อว่าเป็นพ่อเป็นแม่นะคะ เราก็พยายามสรรหาอาหารที่ดีมีประโยชน์มาบำรุงให้ลูกกันทั้งนั้น ซึ่ง “นมแพะ” ก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะในช่วงหลังมานี้ นมแพะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก ทั้งนำมาดื่มแทนนมวัว พ่อแม่หลายบ้านหันมาให้ลูกดื่มนมแพะเพิ่ม ขนาดแมวก็ยังต้องกินนมแพะ แท้จริงแล้วนมแพะมีประโยชน์อะไร ดีกว่านมวัวหรือเปล่า แล้วเด็กที่แพ้นมวัวละ จะสามารถดื่มนมแพะทดแทนได้ไหม มาหาคำตอบกันเลยค่ะ

นมแพะมีจุดที่แตกต่างจากนมวัวหลายอย่าง

นมแพะต่างจากนมวัวตรงไหน?

นมแพะจัดเป็นนมอีกชนิดที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหาร โดยมีปริมาณโปรตีนสูงสุดเมื่อเทียบกับนมชนิดอื่นๆ นมแพะ 1 แก้ว ให้โปรตีน 9 กรัม ไขมันอิ่มตัว 7 กรัม มีแคลเซียมประมาณร้อยละ 35 ของปริมาณที่ต้องการในแต่ละวัน รวมพลังงานทั้งหมด 170 แคลอรี่

แต่นมแพะมีปริมาณวิตามินและแร่ธาตุต่างๆไม่ต่างจากนมวัวนัก โดยมีแคลเซียม วิตามินเอ วิตามินบี 3 ทองแดง โพแทสเซียม และซิลิเนียมมากกว่านมวัวเล็กน้อย แต่สิ่งที่นมแพะด้อยกว่านมวัวคือวิตามินบี 12 และกรดโฟลิกซึ่งมีอยู่ในนมแพะน้อยกว่ามาก ส่วนคุณสมบัติอื่นๆของนมแพะที่แตกต่างจากนมวัว มีดังนี้

เมื่อเทียบกันแล้ว คุณประโยชน์และความเสี่ยงต่อการแพ้ของของนมวัวและนมแพะนั้นไม่ได้แตกต่างกันมาก สำหรับคนทั่วไปหรือทารกที่ดื่มนมทั้ง 2 ชนิดนี้ได้โดยไม่มีอาการแพ้ นมวัวจึงป็นทางเลือกที่มีราคาย่อมเยาว์และหาซื้อได้ง่ายกว่า เพราะนมแพะในบ้านเรายังมีราคาที่สูงกว่านมวัวอยู่

เด็กที่แพ้นมวัวควรดื่มนมแพะทดแทนไหม?

นมแพะอาจไม่ใช่ทางเลือกสำหรับเด็กที่แพ้นมวัว เพราะนมทั้ง 2 ชนิดนี้ต่างก็มีโปรตีนที่ก่ออาการแพ้ได้เช่นเดียวกัน หรือที่เรียกว่าเบต้าแลคโตกลอบบูลิน ซึ่งในนมแพะจะมีน้อยกว่านมวัวถึง 3 เท่า จึงเป็นสาเหตุของอาการแพ้ไม่เท่ากัน ดังนั้น เด็กที่แพ้นมวัวจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะแพ้นมแพะไปด้วย เว้นแต่ว่าอาการแพ้นั้นมีสาเหตุมาจากการแพ้น้ำเหลืองนมวัว (ฺBovine Serum) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์หรืออาหารที่ทำจากนมวัวทุกชนิด ในกรณีนี้เด็กอาจสามารถดื่มนมแพะหรือรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมจากนมแพะแทนได้โดยไม่มีอาการแพ้

เด็กที่แแพ้นมวัว มีโอกาสที่จะแพ้นมแพะมากเช่นกัน

นมแพะมีโปรตีนสูงกว่านมแม่จริงไหม?

นมแพะและนมว่วมีปริมาณโปรตีนสูงกว่านมแม่ถึง 3 เท่า แต่ในน้ำนมแม่มีปริมาณโปรตีนเพียงพอกับที่ลูกต้องการอยู่แล้ว และไม่ได้หมายความว่านมที่มีโปรตีนสูงกว่าจะดีกว่า เพราะการดื่มนมที่มีโปรตีนสูงกว่า ก็จะทำให้ไตทำงานสูงเช่นกัน

สารอาหารในนมแพะครบถ้วนเพียงพอต่อเด็กหรือไม่?

สามารถพูดได้ว่าในนมแพะมีสารอาหารที่ทารกและเด็กต้องการอยู่ครบถ้วน ซึ่งสารอาหารต่างๆในนมแพะที่เด็กต้องการ มีดังนี้

ความเชื่อเกี่ยวกับประโยชน์ของนมแพะ

คุณประโยชน์ของนมแพะที่มีต่อสุขภาพนั้นเป็นที่กล่าวถึงอย่างหลากหลาย ซึ่งมีข้อมูลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่กล่าวยืนยันประสิทธิภาพของนมแพะ ดังนี้

1. ดีต่อระบบย่อยอาหาร

นมแพะมีชนิดของไขมันและโปรตีนที่ย่อยง่ายกว่านมวัว ทำให้ระบบย่อยอาหารดูดซึมไปใช้ได้ง่าย และอาจส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหารบางชนิด ทั้งยังช่วยป้องกันจากการติดเชื้อแบคทีเรียอีโคไล (E. Coli) ในลำไส้ อันเป็นต้นเหตุของอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และถ่ายเป็นเลือด ซึ่งคาดว่านมแพะอาจมีสรรพคุณเดียวกันนี้หากให้เด็กเล็กดื่ม

ไม่เพียงแต่การป้องกันแบคทีเรีย งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่านมแพะมีคุณประโยชน์ในการช่วยซ่อมแซมความเสียหายและส่งเสริมการทำงานของเซลล์ของผนังทางเดินอาหารหลังจากเกิดการติดเชื้ออีโคไล โดยยิ่งเป็นนมแพะที่มีเอนไซม์ไลโซไซม์เข้มข้นมากเท่าไรก็ยิ่งให้ผลดีมากเท่านั้น

บางคนเชื่อว่านมแพะช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียอีโคไลได้

2. เสริมสร้างพัฒนาการทารก

การให้ลูกดื่มนมแพะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของลูกน้อยได้ โดยเฉพาะพัฒนาการทางด้านสมอง แต่การศึกษาประสิทธิภาพข้อนี้ของนมแพะยังมีไม่มากนัก มีเพียงงานวิจัยในสัตว์ที่ทดลองกับหนูเพิ่งหย่านมแม่

3. ส่งเสริมระบบภูมคุ้มกัน

นมแพะอาจส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อันเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ แต่นมแพะจะเป็นตััวเลือกที่ดีต่อการป้องกันหรือรักษาโรคนี้หรือไม่นั้นยังต้องมีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมอีกมาก เพราะงานวิจัยด้านนี้ในปัจจุบันมีจำนวนน้อยและไม่ได้ศึกษากับคนโดยตรง

งานวิจัยในหลอดทดลองชิ้นหนึ่งบ่งชี้ว่านมแพะอาจมีส่วนช่วยระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อภายนอกและลดการเกิดสารก่อภูมิแพ้ ทั้งในด่านแรกที่ร่างกายเผชิญสารก่อภูมิแพ้และเมื่อเริ่มเกิดการผลิตสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดีออกมาหลังจดจำสารก่อภูมิแพ้ดังกล่าวได้ ประสิทธิภาพข้อนี้เองที่จะช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้ต่อสู้กับอาการแพ้ได้ดีขึ้น

4. ลดระดับคอเลสเตอรอล

มีการกล่าวอ้างระบุว่านมแพะมีไขมันต่ำกว่านมวัวและมีกรดไขมันดีบางชนิดที่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ ซึ่งแพะบางสายพันธุ์อาจให้นมที่มีไขมันต่ำกว่านมวัวจริง แต่อีกหลายสายพันธ์ุก็มีไขมันสูง การดื่มนมแพะโดยคาดหวังสรรพคุณด้านนี้จึงอาจให้ผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม เนื่องจากการได้รับไขมันอิ่มตัวปริมาณสูงเป็นตัวการสำคัญที่ส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มขึ้น

ส่วนที่ว่านมแพะมีไขมันชนิดดีและช่วยลดคอเลสเตอรอลได้นั้น ไม่ปรากฏข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือกล่าวถึงหรือพิสูจน์ยืนยันอย่างชัดเจน หากต้องการดื่มนมไขมันต่ำจึงควรเลือกนมวัวชนิดพร่องมันเนยหรือขาดมันเนยจะดีกว่า

นมแพะนั้นบำรุงผิวได้ดี แต่ไม่มีอะไรยืนยันเรื่องบรรเทาโรคสะเก็ดเงิน

5. รักษาโรคสะเก็ดเงิน

เชื่อกันว่านมแพะอาจมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการของโรคผิวหนังเรื้อรังที่ก่อให้เกิดสะเก็ดขึ้นตามร่างกาย เช่นการใช้สบู่นมแพะฟอกช่วยให้ผิวหนังบริเวณที่มีอาการดีขึ้นได้ ปัจจุบันคุณประโยชน์ของนมแพะต่อการรักษาโรคสะเก็ดเงินยังไม่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์มารับรอง คนที่ทำตามๆกันมาก็ทำเพราะมันไม่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เพียงแต่ไม่มีอะไรรับประกันว่าจะได้ผล

ให้เด็กดื่มนมแพะอย่างไรถึงปลอดภัยและดีกับสุขภาพ?

คุณแม่ที่ให้ลูกดื่มนมแพะควรเลือกสูตรที่มีการเสริมกรดโฟลิกและวิตามินบี 12 เพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน เนื่องจากนมแพะมีปริมาณแร่ธาตุทั้ง 2 ชนิดนี้ค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ ควรต้มนมแพะก่อนให้เด็กดื่มทุกครั้ง เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียบรูเซลโลซิสที่เจริญเติบโตในนมแพะและอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อได้

อย่างไรก็ตาม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการเด็กไม่แนะนำให้ทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี ดื่มนมแพะ เพราะอาจทำให้ระคายเคืองต่อระบบย่อยอาหารและเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 ยกเว้นในกรณีที่เด็กแพ้นมชนิดอื่น แพทย์อาจแนะนำให้ดื่มนมแพะชนิดเสริมแร่ธาตุโฟลิกและวิตามินบี 12 ได้

คุณพ่อคุณแม่คงจะหายข้องใจกันแล้วนะคะ เอาเป็นว่าไม่ให้ทารกที่ต่ำกว่า 1 ขวบดื่มนมแพ้เพื่อความมั่นใจว่าเขาจะได้รับสารอาหารจากนมวัวและนมแม่อย่างครบถ้วนดีกว่าค่ะ สำหรับเด็กที่โตกว่านั้นก็สามารถดื่มได้ตามปกติ ส่วนเด็กที่ดื่มนมวัวไม่ได้ ก็ต้องพาไปตรวจให้ดีเสียก่อนว่าดื่มนมวัวไม่ได้เพราะอะไร และจะสามารถดื่มนมแพะแทนได้หรือไม่

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th