ปานแดงทารก เกิดได้อย่างไร ควรเอาออกไหม
รอยแดงบนตัวลูกน้อยที่มีติดมาหลังคลอดอาจจะทำให้คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลไม่น้อย แม้ว่า “ปานแดงทารก” นี้จะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของลูก แต่ปานส่วนมากก็ไม่สามารถหายไปได้เอง มันจะติดตัวเขาตลอดไปจนโต และหากปานนั้นขึ้นตามใบหน้าหรือนอกร่มผ้าแบบเด่นชัด ก็อาจทำให้ลูกสูญเสียความมั่นใจได้อีก บางครั้งปานที่มีอาจจะลามหรือขยายใหญ่ขึ้นจนทำให้พ่อแม่กังวลเพิ่มขึ้น วันนี้ Motherhood จึงอานำเข้อมูลเกี่ยวกับปานชนิดต่าง ๆ รวมทั้งวิธีการรักษามาฝากค่ะ
ปานคืออะไร?
ปาน (Birthmarks) คือร่องรอยของจุดสีบนผิวหนัง ซึ่งมักปรากฏขึ้นเมื่อแรกคลอดหรือหลังคลอดได้ไม่นาน ปานมีทั้งลักษณะเรียบและนูน ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ อีกทั้งสีของปานก็แตกต่างกันไป โดยอาจปรากฏอยู่บนผิวหนังไปตลอดชีวิต หรือค่อย ๆ หายหรือจางไปเองได้เมื่อโตขึ้น
การแบ่งประเภทของปาน
1. ปานแดง (Vascular Birthmarks) คือสีผิวที่เปลี่ยนไป ซึ่งเกิดจากลักษณะของหลอดเลือดที่ผิดปกติ มักปรากฏบนผิวหนังของเด็กแรกคลอด หรือปรากฏขึ้นหลังจากที่เด็กคลอดออกมาได้ไม่นาน มักมีสีชมพู ม่วง หรือแดง ปานแดงสามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิดย่อย ได้แก่
-
- แซลมอน แพตช์ (Salmon Patch) หรือปานเส้นเลือดแดง (Stork Bites) คือปานที่มีสีออกแดงหรือชมพู มีลักษณะเรียบ พบได้ทั่วไป และพบได้บ่อยถึง 1 ใน 3 ของเด็กแรกเกิด มักปรากฏบริเวณท้ายทอย เปลือกตา หรือหน้าผากบริเวณหว่างคิ้ว โดยทั่วไป ปานจะหายไปเองภายในไม่กี่เดือน แต่ปานที่เกิดขึ้นบนหน้าผากนั้นจะใช้เวลา 4 ปีจึงจะหายไป ส่วนปานที่อยู่บนท้ายทอยจะไม่หายไป
- ปานสตรอว์เบอร์รี่ (Strawberry Hemangioma) คือจุดสีแดงนูน เล็ก นุ่ม และบีบได้ ส่วนใหญ่จะขึ้นบนใบหน้า หนังศีรษะ หน้าอก หรือหลัง ทารกแรกเกิดอาจมีปานแดงชนิดนี้ได้ แต่ส่วนมากมักปรากฏขึ้นเมื่อเด็กอายุได้ 1-2 เดือน นอกจากนี้ ปานสตรอว์เบอร์รี่มักฝังลึกอยู่ในผิวหนัง ทำให้เห็นเป็นสีน้ำเงินหรือม่วง ขนาดของปานขยายเร็วในช่วง 6 เดือนแรก ก่อนที่จะค่อย ๆ หดเล็กลงและหายไปเมื่ออายุประมาณ 7 ปี หากเด็กมีปานแดงที่ขยายใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือขึ้นในตำแหน่งที่ส่งผลต่อการหายใจ การมองเห็น หรือการกิน อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาให้ปานมีขนาดเล็กลงหรือผ่าตัดออก
- ปานแดงเส้นเลือดฝอย (Port-Wine Stain) คือปานแดงถาวรซึ่งปรากฏเมื่อแรกคลอด มักเริ่มมีสีชมพูหรือแดง และคล้ำเมื่อโตขึ้น ปานมักมีลักษณะใหญ่และเกิดบนส่วนใดส่วนหนึ่งของใบหน้าหรือที่คอ ปานแดงชนิดนี้มีแนวโน้มไวต่อฮอร์โมน หมายความว่าปานนี้จะสามารถเห็นได้ชัดเมื่อฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงจากการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ตั้งครรภ์ หรือเข้าสู่วัยทอง
2. ปานดำ (Pigmented Birthmarks) คือจุดสีบนผิวที่มีทั้งลักษณะเรียบหรือนูน โดยเม็ดสีเมลานินที่อยู่ในชั้นผิวนั้นมีมากเกินไป ปานดำมักปรากฏตั้งแต่แรกเกิด มีทั้งสีน้ำตาล ดำ น้ำเงิน หรือน้ำเงินเทา โดยแต่ละชนิดมีลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนี้
-
- ปานสีกาแฟใส่นม (Café-Au-Lait Spots) คือจุดหรือรอยปื้นสีแทนหรือน้ำตาล มีรูปร่างรีคล้ายไข่ มักปรากฏขึ้นตอนแรกเกิดหรือตอนยังเล็ก เป็นปานดำถาวรที่พบได้ทั่วไป เด็กมักมีปานดำชนิดนี้แค่ 1 หรือ 2 จุด หากมีมากกว่า 6 จุดควรพบแพทย์ เนื่องจากปานลักษณะดังกล่าวอาจเป็นอาการหนึ่งของโรคท้าวแสนปม
- ปานมองโกเลียน (Mongolian Spots) ปานดำชนิดนี้มีสีน้ำเงินเทา คล้ายรอยเขียวฟกช้ำ มักพบได้ทั่วไปในผู้ที่มีสีผิวเข้ม ปานมองโกเลียนเกิดขึ้นได้ทุกส่วนตามร่างกาย แต่มักพบได้มากบริเวณหลังส่วนล่างหรือก้น โดยปานจะปรากฏนานร่วมเดือนหรือเป็นปี และหายไปเองได้เมื่ออายุประมาณ 4 ปี ปานดำชนิดนี้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา
- ปานดำแต่กำเนิด (Congenital Melanocytic Naevi) คือไฝสีดำเข้ม ขนาดใหญ่ ไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด มักปรากฏตามหนังศีรษะหรือแขนขา ปานดำชนิดนี้เกิดจากการผลิตเซลล์เม็ดสีผิวมากเกินไป ส่วนใหญ่ ปานจะค่อย ๆ เล็กลงจนจางหายไปเอง หรืออาจเข้มขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงเจริญพันธุ์ หรือมีลักษณะบุ๋มเป็นหลุม มีขนขึ้น ขนาดของปานมีตั้งแต่เล็กกว่า 1.5 เซนติเมตร จนถึงใหญ่กว่า 20 เซนติเมตร ที่เสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังได้ ทั้งขึ้นอยู่กับขนาดของปาน หากปานมีขนาดใหญ่มากถือว่ามีความเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังสูง
ปานเกิดจากอะไร?
ไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดปาน และปานก็ไม่ได้เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม อย่างไรก็ตาม ปานส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่เซลล์เคลื่อนตัวผิดปกติระหว่างที่ตัวอ่อนเริ่มเจริญขึ้น โดยเซลล์จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและผลิตเนื้อเยื่อตามลักษณะของเซลล์ขึ้นมา แต่เซลล์อาจผลิตเนื้อเยื่อมากเกินไป รวมทั้งไม่เคลื่อนตัวไปยังตำแหน่งของเนื้อเยื่อนั้น ๆ จึงส่งผลให้เกิดปานขึ้นได้
รักษาปานอย่างไร?
ปานบางชนิดเป็นปานที่เกิดขึ้นชั่วคราวและหายไปเองได้เมื่อลูกโตขึ้น ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา มีเพียงบางชนิดที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ทำให้ขยายขนาดและติดตัวลูกไปอย่างถาวร จึงต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์เพื่อเลือกวิธีการรักษา เช่น การจี้ด้วยไฟฟ้า หรือการใช้แสงเลเซอร์
ปานสตรอว์เบอร์รี่ที่พ่อแม่หลายคนกังวล
ปานสตรอว์เบอร์รี่นั่นยังสามารถแบ่งแยกย่อยลงไปได้อีกตามระดับความลึกลงในผิวหนังของก้อนเนื้อที่ก่อตัวขึ้นเป็นปาน มี 3 ประเภท ดังนี้
1. ก้อนเนื้ออยู่เฉพาะชั้นตื้น (Superficial type) จะเห็นรอยปานสีแดงสดคล้ายสตรอว์เบอร์รี่อยู่บนผิวหนัง
2. ก้อนเนื้ออยู่ในชั้นลึก (Deep type) ก้อนเนื้อจะอยู่ใต้ชั้นผิวหนัง โดยจะเห็นสีของผิวหนังบนตัวก้อนเนื้อเป็นสีออกเขียว หรือสีฟ้าอมเขียว เหมือนสีของเส้นเลือดที่เราเห็นตามผิวหนัง
3. แบบผสม (Mixed type) จะมีก้อนของเนื้องอกอยู่ในชั้นลึก และด้านบนของก้อนจะเห็นรอยปานสีแดงของชั้นตื้นอยู่
การรักษาปานสตรอว์เบอร์รี่
ปานแดงชนิดนี้บางครั้งก็หายไปเองโดยไม่ต้องรับการรักษา แต่บางครั้งก็ไม่หายไปจนกว่าเด็กจะอายุ 5 ปี หรือ 12 ปี หากคุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลต้องรีบพาลูกมาพบแพทย์ เพื่อตรวจหาว่ามีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาหรือไม่ เป้าหมายของการรักษาปานชนิดนี้คือ การควบคุมไม่ให้ก้อนปานขยายขนาดใหญ่มากจนเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยจะให้การรักษาจนกว่ารอยโรคจะเข้าสู่ระยะคงที่ ที่ช่วงอายุประมาณ 1 – 1 ½ ปี ถ้าเริ่มการรักษาได้เร็วมักจะมีผลการรักษาที่ดี โดยระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการเริ่มการรักษาคืออายุ 1-3 เดือน วิธีการรักษาปานสตรอว์เบอร์รี่หลัก ๆ มีอยู่ 2 วิธี คือ
- ศัลยกรรมตกแต่ง หากปานทำให้ผิวหนังผิดรูปหรือย้วย อาจศัลยกรรมเพื่อช่วยรักษาลักษณะผิวหนังที่เสียหายนั้นให้ดีขึ้น
- ใช้ยาโพรพราโนลอล (Propranolol) โดยปกติแล้ว วิธีรักษาปานแดงชนิดนี้ที่มีประสิทธิภาพคือการรักษาด้วยยา ซึ่งยาโพรพราโนลอลจะช่วยลดขนาดปานให้เล็กลง โดยช่วยให้หลอดเลือดแคบลง ส่งผลให้ปริมาณเลือดที่ไหลไปเลี้ยงบริเวณที่เกิดปานน้อยลงด้วย ทำให้ปานแดงมีสีอ่อนลง นุ่มขึ้น และเล็กลง
หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีปานที่น่าสงสัย ก็ให้รีบพาไปให้แพทย์วินิจฉัยนะคะว่าปานนั้นจำเป็นต้องได้รับการรักษาหรือไม่ เพราะหากต้องรับการรักษาด้วยการศัลยกรรมตกแต่ง หากเริ่มเมื่อลูกอายุยังไม่มากก็จะยิ่งได้ผลดีค่ะ แผลหายไว ไม่ทิ้งรอยแผลเป็นเยอะด้วย
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th