ผื่นแพ้ในเด็ก เราสามารถป้องกันได้
ผื่นแพ้ในเด็ก (Eczema หรือ Atopic Dermatitis) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก และพบได้มากถึง 20% ของเด็กทั้งโลก ในบ้านเราก็พบเด็กที่มีอาการแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งโรคนี้สร้างความกังวลใจให้พ่อแม่เป็นอย่างมาก เนื่องจากมันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดแบบถาวร เราเพียงแต่ป้องกันมันได้เท่านั้น พ่อแม่มักจะได้รับคำแนะนำจากหลายช่องทาง จึงอาจจะเกิดความสับสนได้ว่าอะไรที่ดีหรือไม่ดีกับลูกรักกันแน่ ลองติดตามบทความตอนนี้ดูนะคะ จะพบกับทางออกของปัญหาค่ะ
อาการผื่นแพ้ในเด็ก
อาการหลักที่พบในเด็กคือ ผื่นคัน อาจจะมีสีแดง และมีอาการคันระคายเคือง เมื่อสัมผัสดูจะพบว่าผิวหยาบหนาในส่วนที่มีผื่น บางทีจะมีอาการลอกเป็นขุย ซึ่งอาการเหล่านี้จะเริ่มพบได้ในวัยทารกไปจนถึงอายุ 5 ปี ในเด็กทารกผื่นแพ้มักเริ่มเกิดบริเวณแก้ม หน้าผาก คาง หรือต้นขา ส่วนเด็กที่โตกว่า 2 ปี มักจะพบได้บริเวณ ข้อศอก ข้อพับขา หลังใบหู หรือตามข้อเท้า ข้อมือ และมือ การบำบัดรักษานั้นเพียงแค่ช่วยคุมไม่ให้อาการกำเริบหนักขึ้นและสามารถหายไปได้เพียงชั่วคราว อาการผื่นแพ้จะมีโอกาสกลับมาได้ใหม่เป็นครั้งคราว
จะรักษาอย่างไร
เมื่อลูกมีอาการผื่นแพ้กำเริบควรรีบไปพบแพทย์ การรักษาโดยทั่วไปจากแพทย์คือ การให้ใช้ยาแอนตี้ฮิสตามีนชนิดทาและยาสเตียรอยด์ชนิดทา ซึ่งยาจำพวกนี้มีฤทธิ์อ่อนจึงสามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยา ถ้ามีอาการหนักมากหน่อย แพทย์จะให้ใช้ยาที่มีความแรงปานกลางถึงแรงมากที่ต้องให้แพทย์สั่งเท่านั้น แต่ยาในกลุ่มหลังนี้จะส่งผลข้างเคียงต่อผิวเด็ก เช่น เมื่อใช้เป็นเวลานานอาจจะทำให้มีรอยแตกและผิวบางลงได้ พ่อแม่จึงควรใช้ยากลุ่มนี้ด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามข้อพับหรือจุดอับต่างๆ
ยาแอนตี้ฮิสตามีนชนิดรับประทานก็สามารถใช้ได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อลูกมีอาการคันมากจนรบกวนการนอน ทำให้ลูกนอนหลับได้สนิทยิ่งขึ้น นอกจากนี้พ่อแม่ยังสามารถใช้การประคบเย็นช่วยบรรเทาได้ ในกรณีที่มีอาการหนักมากเป็นพิเศษ ก็อาจจะต้องมีการทำแผลและการใช้ยาสเตียรอยด์แบบรับประทาน รวมไปถึงการใช้ยากดภุมิคุ้มกันชนิดอื่นๆด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการวินิฉัยของแพทย์
วิธีป้องกันผื่นแพ้กำเริบ
พ่อแม่สามารถช่วยป้องกันอาการผื่นแพ้ในเด็กของลูกกำเริบได้ เริ่มต้นจากการหลีกเลี่ยงในสิ่งที่ทราบดีอยู่แล้วว่ากระตุ้นการแพ้ของลูกได้ เช่น สบู่ ยาสระผม ไรฝุ่น อาหารที่ลูกแพ้ เหงื่อและอากาศร้อน รวมถึงขนสัตว์และใยสังเคราะห์ต่างๆ นอกจากนี้การรักษาผิวของลูกน้อยให้ชุ่มชื่นอยู่เสมอก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากพ่อแม่อาจจะยังระบุสาเหตุที่ลูกแพ้ได้ไม่แน่ชัด จึงทำให้หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นได้ยาก การบำรุงผิวให้ลูกจึงเป็นการป้องกันการกำเริบของผื่นแพ้ที่ง่ายและดีกว่า เลือกใช้โลชั่น ครีม หรือสารให้ความชุ่มชื่นอื่นๆ เมื่อลูกเริ่มมีผิวแห้ง โดยทาบนผิวลูกวันบะ 2-3 ครั้ง พ่อแม่สามารถเลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวได้หลากหลายชนิดเพื่อดูว่าผิวของลูกถูกกับผลิตภัณฑ์ตัวไหนและไม่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้
ข้อควรรู้เพิ่มเติมสำหรับพ่อแม่
- ถึงแม้จะยังไม่มีการรักษาให้หายขาดแบบถาวร แต่พ่อแม่สามารถบรรเทาอาการให้ลดน้อยลงได้เมื่อลูกโตขึ้น
- ผื่นแพ้ไม่ใช่โรคติดต่อทางพันธุกรรม แต่อาจมีอาการเกี่ยวเนื่องกับอาการแพ้บางชนิดได้ เช่น หอบหืดและโรคเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis)
- ควรให้ลูกได้อาบน้ำอย่างน้อยวันละครั้ง ครั้งละ 10 นาที เพื่อช่วยให้ผิวสุขภาพดีและอุ้มน้ำได้มากขึ้น แต่ต้องเลี่ยงการอาบน้ำร้อน และหลังจากอาบน้ำแล้วควรทาผลิตภัณฑ์เพิ่มความชุ่มชื่นแก่ผิวทันที
- สามารถทาสารให้ความชุ่มชื่นทับลงไปหลังการทายาได้
- ต้องระวังการติดเชื้อที่ผิวหนัง เพราะจะทำให้อาการผื่นแพ้กำเริบ และอาจจะต้องรับยาปฏิชีวนะเพิ่มจากยารักษาผื่นแพ้ตามปกติ
โดยสรุปแล้วพ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆที่ก่อให้เกิดอาการแพ้สัมผัสและการระคายเคือง ควรอาบน้ำและทำความสะอาดผิวลูกอย่างเหมาะสม และเพิ่มเติมสารให้ความชุ่นชื่นกับผิวลูกน้อยเป็นประจำทุกวัน เพื่อให้ผิวหนังของลูกแข็งแรงขึ้นตามธรรมชาติ และอาการผื่นแพ้ที่เขามีจะค่อยๆดีขึ้นเมื่อเขาเริ่มโต
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th