Site icon Motherhood.co.th Blog

“ผ้าอนามัยทางเลือก” ตัวช่วยใหม่ ๆ ที่จะเปลี่ยนการมีรอบเดือนของคุณไปตลอดกาล

ลองใช้ผ้าอนามัยทางเลือก

ลองดูผ้าอนามัยทางเลือกพวกนี้เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

“ผ้าอนามัยทางเลือก” ตัวช่วยใหม่ ๆ ที่จะเปลี่ยนการมีรอบเดือนของคุณไปตลอดกาล

เพราะคนรุ่นใหม่ตระหนักในปัญหาสิ่งแวะล้อมมากขึ้น ทำให้ “ผ้าอนามัยทางเลือก” กลายมาเป็นตัวช่วยใหม่สำหรับผู้มีประจำเดือนที่อยากเปลี่ยนวิถีในการใช้ผ้าอนามัยแบบเดิม ไม่ว่าจะเป็นถ้วยอนามัย ผ้าอนามัยแบบซักได้ หรือแทมพอนฟองน้ำ นวัตกรรมใหม่เหล่านี้ช่วยให้ผู้มีประจำเดือนจัดการกับประจำเดือนได้ง่ายขึ้นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่เคย

ประวัติศาสตร์ของการรับมือกับประจำเดือน

ก่อนศตวรรษที่ 20 ผู้หญิงใช้วัสดุหลากหลายที่มีคุณสมบัติดูดซับได้ ตั้งแต่เศษผ้าไปจนถึงแถบเปลือกไม้เนื้ออ่อน แต่มันก็ไม่ค่อยสะดวกเมื่อต้องน้ำไปซักล้างและยังถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าอับอาย

ผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งได้ในยุคแรกผลิตจากเซลลูโลส

เมื่อค.ศ. 1921 ผ้าอนามัยแผ่น (Sanitary pads) ออกวางจำหน่ายครั้งแรกในร้านขายยาประเทศสหรัฐอเมริกา ผลิตด้วย Cellucotton วัสดุอินทรีย์ที่ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อใช้เป็นผ้าพันแผลทางการแพทย์ นับเป็นจุดเริ่มต้นของผลิตภัณฑ์ซึมซับประจำเดือนแบบใช้แล้วทิ้งที่เปลี่ยนชีวิตผู้หญิงทั่วโลกไปตลอดกาล

ใน ค.ศ. 1930 ผ้าอนามัยแบบสอด (Tampon) ก็เกิดขึ้นในท้องตลาด ส่วนใหญ่ผลิตจากใยฝ้ายเนื้อหนาหรือวัสดุคล้ายกระดาษ พร้อมติดเชือกสำหรับดึงออกจากช่องคลอด ผ้าอนามัยแบบสอดไม่เป็นที่นิยมนักในบางประเทศแถบเอเชียด้วยเหตุผลทางประเพณีลและค่านิยม

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ยอดขายของผลิตภัณฑ์ประจำเดือนใช้แล้วทิ้งพุ่งสูงขึ้นทั่วโลกจนถึงปัจจุบันนี้

ค.ศ. 1960 นักเคมีประสบความสำเร็จในการพัฒนาพลาสติกที่มีความซับซ้อนและสารสังเคราะห์อื่น ๆ มากมาย พวกเขาเลือกที่จะรุกไปยังตลาดของผลิตภัณฑ์ประจำเดือน นักพัฒนาสินค้าจึงนำเอา Polypropylene หรือ Polyethylene มาเป็นส่วนประกอบหลักของแผ่นรองที่ให้คุณสมบัติกันซึมเปื้อน นอกจากนี้ยังพัฒนาแถบกาวที่ทำให้ผ้าอนามัยสามารถยึดเกาะกับกางเกงชั้นในได้เอง โดบไม่ต้องสวมพร้อมเข็มขัดอีกต่อไป

ต่อมาในค .ศ. 1970 ผ้าอนามัยแบบมีปีกออกวางจำหน่ายพร้อม ๆ กับการพัฒนาเส้นใย Polyester ให้บางลงแต่มีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้การดูดซึมมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย

ผ้าอนามัยแบบสอดนั้นมีมาตั้งแต่ปี 1930 แล้ว

เมื่อผลิตภัณฑ์ประจำเดือนเป็นที่มาของขยะพลาสติก

ทุกวันนี้ผ้าอนามัยทั้งแบบแผ่นและแบบสอดทุกยี่ห้อมีส่วนผสมของพลาสติก สัดส่วนมากน้อยแล้วแต่ยี่ห้อ ไม่เฉพาะส่วนซึมซับเท่านั้น ตัวแพคเกจเองก็ล้วนเป็นพลาสติกทั้งสิ้น ตั้งแต่ห่อชั้นนอก ห่อแยกชิ้น แผ่นปิดแถบกาว ไปจนถึงตัวช่วยสอด (Applicator ) และเชือกดึงของผ้าอนามัยแบบสอด และการจัดการกับปริมาณขยะพลาสติกที่มาจากผลิตภัณฑ์ประจำเดือนนั้นเป็นเรื่องยากมาก

โดยเฉลี่ยผู้มีประจำเดือนจะมีประจำเดือนทั้งสิ้น 40 ปีตลอดอายุขัย สมมติว่าประจำเดือนมา 5 วันในแต่ละเดือน มีการเปลี่ยนผ้าอนามัยอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน เท่ากับว่าหนึ่งคนจะใช้ผ้าอนามัย 5,000-15,000 แผ่น เฉพาะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในแต่ละปีมีผู้ซื้อผ้าอนามัยแบบสอดถึง 5.9 พันล้านแท่ง และหลังการใช้พวกมันแทบทั้งหมดจะไปลงเอยในหลุมฝังกลบ

ผ้าอนามัยที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้มีส่วนผสมของพลาสติกประมาณ 3.4 กรัมต่อแผ่น และแต่ละปีมีการทิ้งผ้าอนามัยประมาณ 12,000 ล้านแผ่น คิดเป็นจำนวนพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ถึง 40 ล้านตัน ผ้าอนามัย 1 แผ่น อาจใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 500 ปี และตลอดชีวิตเราต้องใช้มันหลายพันแผ่น

ขยะจากผ้าอนามัยต้องใช้เวลาย่อยสลายอย่างต่ำ 500 ปี

ทางเลือกใหม่ที่ควรลอง

ตัวเลือกเหล่านี้ไม่ได้มีดีแค่ช่วยลดขยะเท่านั้น แต่วัตถุดิบที่ทำจากธรรมชาติยังไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ และปลอดภัยต่อสุขอนามัยของผู้มีประจำเดือนอีกด้วย

1. ผ้าอนามัยซักได้ 

ผ้าอนามัยซักได้เป็นที่นิยมในหมู่สาวญี่ปุ่น ปกติแล้วผ้าอนามัยซักได้สามารถใช้ซ้ำได้เรื่อย ๆ (อายุการใช้งาน 5 ปีขึ้นไป) เมื่อเสียก็ซ่อมได้ ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาและถนอมเนื้อผ้า แต่ก็ไม่เหมาะกับคนที่ขี้เกียจซักผ้า

2. ถ้วยอนามัย

ถ้วยอนามัยแต่ละถ้วย มีอายุการใช้งานยาวนานถึง 10 ปี ขึ้นอยู่กับคุณภาพและวัสดุของแต่ละยี่ห้อ ส่วนมากผลิตจากซิลิโคนเกรดการแพทย์ (Medical grade silicone) ช่วยให้ผู้ใช้มีความคล่องตัวในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ประจำวันโดยไม่ต้องกังวลว่าจะเลอะเทอะ แถมยังใส่สบายเหมือนไม่ได้มีรอบเดือน

3. แทมพอนฟองน้ำ

มันคือฟองน้ำทะเลแท้หรือสังเคราะห์ที่ทำหน้าที่เหมือนผ้าอนามัยแบบสอด หลายยี่ห้อทำจากฟองน้ำสังเคราะห์ มีทั้งแบบมีหรือไม่มีสาย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะเหมือนกับผ้าอนามัยแบบสอด ต่างกันตรงที่ฟองน้ำเหล่านี้นำมาใช้ซ้ำได้ โดยสามารถใช้ซ้ำได้นานถึง 6 เดือน

ทุกทางเลืออาจจะไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน ควรศึกษารายละเอียดในการใช้งานให้ดีก่อนตัดสินใจ และควรสั่งซื้อจากผู้ผลิตที่มีเชื่อเสียง ไว้ใจได้เท่านั้น หากเราเข้าใจทางเลือกใหม่ ๆ เหล่านี้ เราก็จะรับมือกับช่วงนั้นของเดือนได้ดีขึ้น

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th