Site icon Motherhood.co.th Blog

พบกับคุณแม่ของ “ฝาแฝดจากเด็กหลอดแก้ว”

พูดคุยกับแม่ของฝาแฝดจากเด็กหลอดแก้ว

คุยกับคุณพิงค์ คุณแม่ของฝาแฝดที่เกิดจากการทำเด็กหลอดแก้ว

พบกับคุณแม่ของ “ฝาแฝดจากเด็กหลอดแก้ว”

สำหรับบ้านไหนที่ตั้งหน้าตั้งตารอคอยลูกน้อยด้วยความกังวลว่ากำลังประสบปัญหาภาวะมีลูกยาก วันนี้ Motherhood จะพาไปคุยกับคุณแม่ของ “ฝาแฝดจากเด็กหลอดแก้ว” กันนะ จะได้เป็นแนวทางให้ครอบครัวที่สนใจทราบว่าหากตัดสินใจที่จะทำเด็กหลอดแก้ว เราจะต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง และมีปัญหาอะไรที่ต้องดูแลเพิ่มเป็นพิเศษหรือไม่

Motherhood: แนะนำตัวเองให้ผู้อ่านรู้จักมากขึ้นหน่อยค่ะ

แม่พิงค์: ชื่อเอกอนงค์ ฟูสุวรรณถาวร อายุ 42 ปี ชื่อเล่นชื่อพิงค์นะคะ มีลูกชื่อน้องแพทและน้องพีท อายุ 6 ขวบค่ะ

Motherhood: ทราบมาว่าแม่พิงค์ประสบปัญหามีบุตรยาก เลยอยากทราบว่าก่อนตัดสินใจจะทำเด็กหลอดแก้ว ได้พยายามที่จะมีลูกด้วยวิธีธรรมชาติมานานแค่ไหนคะ

แม่พิงค์: ก็ด้วยความที่แต่งงานมานาน 4 ปี ได้มีการเจอผู้ใหญ่ทั้งของฝ่ายสามีและของตัวเราเอง ทำให้เกิดมีคำถามว่าเมื่อไหร่จะมีลูกมาให้ฉันอุ้ม พอเจอเพื่อนก็บอกว่าเมื่อไหร่จะมีหลานมาให้ฉัน วนเวียนอยู่แบบนี้จนเป็นแรงกดดันทำให้ไปทำเด็กหลอดแก้วค่ะ

Motherhood: แล้วก่อนที่จะทำเด็กหลอดแก้วเนี่ย ได้ลองมากี่วิธีคะ ลอกมาทุกวิธีแล้วใช่ไหม

แม่พิงค์: ค่ะ เริ่มแรกก็มีการคุยปรึกษากับคุณหมอนะคะ แล้วก็มีการไปทำการนับวันตกไข่ ลองนับวันดูแล้วก็ยังไม่ได้ ก็เลยไปฉีดเชื้อ ก็ลองฉีดสามครั้ง ก็ยังไม่ติด เลยลองขั้นสูงขึ้นไปอีกก็คือการทำเด็กหลอดแก้วค่ะ

Motherhood: แล้วเขาตรวจสุขภาพยังไงคะ จะรู้ได้ยังไงว่าคุณแม่มีความพร้อมที่จะทำเด็กหลอดแก้ว

แม่พิงค์: เริ่มแรกก็ต้องตรวจร่างกายก่อน ทั้งของเราและของสามี มีการตรวจเลือดที่ค่อนข้างละเอียดทั้งคู่นะคะ แล้วก็มีการสอบถามประวัติเบื้องต้นว่าดื่มเหล้ามากไหม มีการเที่ยว หรืออะไรอย่างนี้น่ะค่ะ เรื่องภายในชีวิตประจำวันว่าดำรงชีวิตอย่างไร

Motherhood: แสดงว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะทำเด็กหลอดแก้วได้ หรือว่ามันทำได้ทุกคนแต่ต้องรอระยะเวลาที่เหมาะสม

แม่พิงค์: คุณหมออยากจะให้รอระยะเวลาที่เหมาะสมด้วย เพราะว่าอย่างของพิงค์จะอายุ 30 อัพแล้ว เวลาค่อนข้างจะเหมาะสมระดับนึง และมีความพร้อมในร่างกายด้วย เลยลงมือทำค่ะ

Motherhood: ช่วยแชร์ประสบการณ์ในการทำเด็กหลอดแก้วเพิ่มเติมได้ไหมคะ ว่าเริ่มที่อะไร ขั้นตอนการปรึกษาหมอ

แม่พิงค์: การทำเด็กหลอดแก้ว เริ่มต้นเลยนะคะก็จะมีการตรวจร่างกายของทั้งสามีและภรรยา แล้วก็มีการฉีดยากระตุ้นไข่เข้าที่หน้าท้องทุกวันทุกเวลา

Motherhood: อันนี้คุณแม่ฉีดเองเลยใช่ไหมคะ

แม่พิงค์: ฉีดเองเลยค่ะ

Motherhood: เจ็บไหมคะ

แม่พิงค์: แรกๆก็เจ็บค่ะ หลังๆก็จะเป็นการชินชาไปค่ะ แล้วก็พอไข่ตกตามระยะเวลาที่คุณหมอกำหนด คุณหมอก็จะไปเก็บไข่ ช่วงที่เก็บไข่นี่ก็จะค่อนข้างเจ็บมาก เพราะว่าโรงพยาบาลด้วยน่ะค่ะ เขาจะไม่แนะนำให้ใช้ยาสลบ เขาจะให้ใช้แค่ยาชาเท่านั้น ก็ยังมีความรู้สึกอยู่บ้าง เก็บไข่เสร็จ แล้วก็เก็บเชื้อของสามี แล้วก็นำมาผสมเป็นตัวในหลอดแก้ว แล้วจนเป็นตัวแข็งแรงเพียงพอแล้วก็นำมาฝังกลับในมดลูกของเรา ช่วงที่ฝังกลับที่มดลูก เราก็จะต้องเตรียมความพร้อมคืองดกิจกรรม ซึ่งปกติพิงค์จะค่อนข้างชอบวิ่งชอบออกกำลังกาย ก็ต้องงด เป็นกิจกรรมที่เบาลงเช่น เดินแกว่งแขนในบ้านหรือทำอะไรเบาๆพอ แล้วก็งดการขึ้นลงบันไดค่ะ ขึ้นลงให้จำกัดเวลาพอ

Motherhood: แล้วในระหว่างที่ต้องฉีดกระตุ้นที่หน้าท้อง เราออกกำลังกายได้ปกติหรือเปล่าคะ

แม่พิงค์: ออกกำลังกายแบบไม่ใช้ความรุนแรง เช่น การกระโดดหรือการวิ่งอะไรอย่างนี้น่ะค่ะ

Motherhood: คือในระหว่างที่ฉีดตัวนี้ก็ยังออกกำลังกายหนักไม่ได้เหมือนกัน เริ่มหยุดมาตั้งแต่ช่วงนั้นเลยหรือเปล่าคะ

แม่พิงค์: ไม่ได้ถึงกับหยุดนะคะ แค่เบาลงแค่นั้นเอง

Motherhood: มีเคสที่ทำเด็กหลอดแก้วแล้วไม่ติดอีกไหมคะ

แม่พิงค์: มีค่ะ หลายรายเลย อย่างเพื่อนที่แนะนำไปนะคะ ก็ทำเด็กหลอดแก้วไปสามครั้งก็ยังไม่ติด คือในการเก็บไข่ครั้งนึงคุณหมอจะเก็บมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งอย่างตัวของพิงค์จะเก็บมาได้ 7 ฟอง นี่จัดว่าน้อยนะคะ เพราะเพื่อนบางคนจะเก็บได้ถึง 13 ฟอง แล้วก็จะมีการแบ่ง 3 ฟองใส่ในท้องเรา หรือว่า 2 ฟองต่อครั้ง เราก็ยังเหลืออยู่ 5 ฟองใช่ไหมคะ สมมติว่าพิงค์มี 7 ฟอง พิงค์ใส่ไป 2 ฟองก็เหลือ 5 ฟอง ถ้าพิงค์เอาตัวอ่อนฝังในมดลูกเรียบร้อยแล้ว แล้วรอวันให้เขาติด แล้วยังไม่ติดนะคะ ก็คือเรียกว่าหลุด ก็ต้องเอา 5 ฟองที่เหลือ ดึงออกมาสัก 2 ฟอง ผสมกับตัวอ่อนใหม่ แล้วก็ฝังเข้าไปใหม่

Motherhood: คนที่ทำเด็กหลอดแก้วแล้วไม่ติดเนี่ย มันมีวิธีอื่นอีกไหมคะ

แม่พิงค์: จริงๆวิธีทำเด็กหลอดแก้วนี่ค่อนข้างจะแน่นอนกว่าวิธีอื่นนะคะ

Motherhood: คืออาจจะต้องใช้หลายครั้งหน่อย?

แม่พิงค์: ใช่ เพียงแต่ว่าต้องใช้หลายครั้ง ถ้าเกิดไข่ในสต็อกเราหมด ก็จะต้องไปเริ่มเก็บใหม่ก็คือฉีดกระตุ้นไข่ เพราะว่าก่อนหน้าที่จะทำ ivf มันก็จะมีวิธี icsi อะไรอย่างนี้ค่ะ จะมีวิธีอื่นแตกย่อยออกมาอีก แต่ icsi นี่พิงค์ไม่ได้ศึกษามาละเอียดนักไง แต่เท่าที่รู้ก็คือเปอร์เซนต์การท้องยังน้อยกว่าการทำเด็กหลอดแก้ว

Motherhood: แล้วการมีลูกยากเนี่ยจริงๆมันเป็นเพราะอะไร สุขภาพเรา หรือมดลูกเรา หรือมันมีปัจจัยอะไรบ้างคะ

แม่พิงค์: ปัจจัยของพิงค์นะคะ เท่าที่ตรวจเชื้อของสามี เชื้อของสามีปกติดี แต่ของพิงค์เนี่ย เนื่องด้วยว่าระยะเวลาของประจำเดือนมาไม่แน่นอน พีเรียดอาจจะเป็น 30 วันบ้าง 25 วันบ้าง เดี๋ยวกระโดดเป็น 28 วันบ้าง ทำให้เวลาในการตกไข่ไม่แน่นอน ทำให้คำนวณไม่ค่อยถูกอะค่ะ

Motherhood: มันไม่มีแพทเทิร์นที่แน่นอนใช่ไหมคะ

แม่พิงค์: ใช่ค่ะ มันไม่ได้เป็นรอบประจำเดือนที่ถูก

Motherhood: โห ดูยากมากเลยค่ะ แล้วระหว่างที่รอนี่ลุ้น ความรู้สึกเป็นอย่างไรบ้าง

แม่พิงค์: ความรู้สึกก็ลุ้นนะคะ รู้สึกว่าขอให้ติดๆ ก็ภาวนาอยู่ทุกวันน่ะค่ะ ก็ไม่ว่าจะติดคนหรือสองคน ก็ขอให้ติดแล้วกัน นับวันลุ้นค่ะ

Motherhood: สุดท้ายก็ได้ลูกแฝด โมเมนท์นั้นเป็นอย่างไรบ้างคะ

แม่พิงค์: แต่จำวันที่ท้องได้เลยค่ะ จำได้มากเลยว่าความรู้สึกเป็นยังไง รู้สึกดีใจมาก

Motherhood: ลูกแฝดด้วยนะคะ

แม่พิงค์: ใช่ค่ะ ตอนนั้นรู้สึกดีอะ ดีใจมาก ร้องไห้โฮไม่อายหมอเลย

Motherhood: ดีใจด้วยค่ะ แล้วช่วงระหว่างตั้งครรภ์พอทราบว่าเป็นลูกแฝดนี่แพ้ท้องเยอะไหมคะ

แม่พิงค์: โชคดีนะคะที่เป็นคนไม่แพ้ ไม่แพ้ระหว่างท้อง แต่ว่ามาแพ้ตอนใกล้จะคลอด คือช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่คันหน้าท้องมาก เป็นเม็ดขึ้นน่ะค่ะ เกิดจากการที่ลูกปล่อย เอ่ออ เหมือนกับลูกปล่อยฮอร์โมนของเขาเองออกมา มันมีผลกับเรา ทำให้เรารู้สึกคันจนนอนไม่หลับ แล้วพอนอนไม่หลับหลายๆคืนมันก็จะส่งผลให้เรารู้สึกพักผ่อนไม่พอ แล้วก็อิดโรยน่ะค่ะ ก็เลยต้องไปพบคุณหมอ ซึ่งคุณหมอก็จำเป็นต้องให้ใช้ยา ก็คือยาแก้แพ้ ถ้าไม่จำเป็นคุณหมอจะไม่ให้ใช้ยาเลยระหว่างท้อง

Motherhood: แล้วนานไหมคะที่รู้สึกคันแบบนี้

แม่พิงค์: ประมาณ 3 วีคสุดท้ายก่อนคลอดน่ะค่ะ

Motherhood: แต่หลังจากที่ไปพบหมอแล้วก็ดีขึ้น

แม่พิงค์: ค่ะ คุณหมอก็ให้ยามา แล้วก็ให้รับประทานกับทาอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วก็เลิก ก็ดีขึ้น

Motherhood: พอรู้ว่าตัวเองได้ลูกแฝด เตรียมตัวเยอะไหมคะ ซื้อข้าวซื้อของเตรียมตัวอย่างไร

แม่พิงค์: ทางบ้านก็มีช่วยซื้อของ น้องสาวมีช่วยไปซื้อของให้ เนื่องด้วยว่าเราต้องใช้ทุกอย่างเป็นสองหมด เวลาซื้อของก็จะต้องไปสถานที่ที่ราคาไม่ได้สูงมาก พอรับได้ ก็ซื้อเตรียมไว้เบื้องต้นก่อนน่ะค่ะ

Motherhood: สุขภาพน้องตอนคลอดเป็นอย่างไรคะ

แม่พิงค์: น้องคลอดตามกำหนดนะคะ 38 วีค แล้วก็น้ำหนักออกมาตามเกณฑ์ของเด็กแฝดค่ะ ก็ไม่ถือว่าน้อย 2.2 โล คนละ 2.2 โลค่ะ

Motherhood: มีช่วงที่น้องไม่สบายเป็น RVS?

แม่พิงค์: ช่วงประมาณ 8 เดือนได้นะคะ น้องก็มีติดเชื้อ RSV โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจน่ะค่ะ ข้อเสียของเด็กแฝดคือ เวลาเขาป่วยคนนึงแล้วอีกพักก็จะติดตาม เวลาป่วยก็จะชอบป่วยเป็นคู่อยู่เสมอ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องแยกร่างกันคอยดูแล

Motherhood: แล้วโรคนี้มันมาได้ยังไง ป้องกันได้ยังไงคะ

แม่พิงค์: โรคนี้เป็นโรคทางเดินหายใจนะคะ จะมีพวกเชื้อโรคตามอากาศ หรือไม่แค่บางทีเราเดินไปหน้าบ้านหรือว่าไปสัมผัสสิ่งที่เป็นเชื้อโรคพอดีอะค่ะ แล้วเด็กไม่มีภูมิต้านทานก็สามารถติดได้

Motherhood: แล้วมันมีวิธีการรักษาหรืออะไรยังไง หรือมันหายไปเองตามธรรมชาติได้

แม่พิงค์: การรักษาจำเป็นต้องแอดมิทนะคะ ก็มีการช่วยน้องโดยการพ่นยาให้น้องหายใจได้สะดวก เพราะเขาจะมีเสมหะมาพันที่คอ แล้วก็ขึ้นที่จมูกทำให้เขาหายใจไม่ได้ แล้วก็จะมีไข้ แล้วยิ่งถ้าเป็นเด็กเล็กนี่ต้องระวังเรื่องไข้ เพราะเขาจะชักได้ ก็ต้องระวังเรื่องนี้

Motherhood: ตอนนั้นแอดมิทคู่เลยหรือเปล่าคะ

แม่พิงค์: ตอนแรกแอดมิทคนโตไปก่อนประมาณ 4 วัน คิดว่าคนเล็กจะปลอดภัยแล้ว ไปๆมาๆเป็นก็แค่ระยะเพาะเชื้อ ก็ตามติดมา

Motherhood: เหนื่อยหน่อยนะคะ

แม่พิงค์: ค่ะ

Motherhood: ตอนนี้น้องสองคนแข็งแรงดี?

แม่พิงค์: ตอนนี้แข็งแรงดี สุขภาพแข็งแรง

Motherhood: กลับมาที่เรื่องเด็กหลอดแก้วกันหน่อยค่ะ คุณแม่เลือกโรงพยาบาลยังไงคะ

แม่พิงค์: ด้วยความที่โรงพยาบาลที่ตัวเองตั้งใจจะไปทำเนี่ย เป็นโรงพยาบาลรัฐที่มีชื่อ คนไทยทุกคนต้องรู้จัก เลยค่อนข้างไว้วางใจในชื่อเสียงของโรงพยาบาลนี้ รวมทั้งบุคลากรที่ทำงานในนี้ด้วยอะค่ะ

Motherhood: โรงพยาบาลอะไรคะ

แม่พิงค์: โรงพยาบาลศิริราชค่ะ ไม่มีความลังเลใจเลยที่จะตัดสินใจไปทำที่นี่

Motherhood: จำเป็นไหมคะ ที่ทำเด็กหลอดแก้วที่นั่นก็ต้องคลอดที่นั่น หรือว่าฝากท้องที่นั่นไปเลย

แม่พิงค์: จริงๆแล้วไม่จำเป็นนะคะ เพราะว่าเวลาเราทำเด็กหลอดแก้ว หน้าที่ของคุณหมอในการทำเด็กหลอดแก้วเนี้ยจะสิ้นสุดตรงที่ว่าเด็กเป็นตัวอ่อนฝังอยู่ในมดลูกเราเรียบร้อยแล้ว คือติดเป็นทารกในครรภ์เรียบร้อยแล้ว ก็จะพ้นภาระของคุณหมอ ก็จะโอนไปสู่แผนกฝากครรภ์

Motherhood: ทีนี้เราก็เลือกได้เลย

แม่พิงค์: ใช่ เราจะฝากครรภ์ต่อกับคุณหมอหรือไม่ คุณหมอที่ทำ ivf ต่อหรือเปล่า หรือว่าจะไปฝาครรภ์ที่อื่นอยู่ที่ตัวเราค่ะ

Motherhood: ค่าใช้จ่ายสูงไหมคะ ถ้าเป็นโรงพยาบาลรัฐแบบนี้

แม่พิงค์: โรงพยาบาลนี้นะคะ เวลาใช้จ่ายจะจ่ายเป็นงวดๆไป เป็นครั้งๆที่เราไปพบคุณหมอ คือไม่ได้จ่ายโครมเดียว โดยรวมตั้งแต่เริ่มทำ ตั้งแต่ตรวจสุขภาพจนกระทั่งเด็กติดอยู่ในท้องเรานี่รวมแล้วไม่เกิน 90,000 ค่ะ

Motherhood: แม่พิงค์มีอะไรแนะนำกับแม่ๆที่มีลูกยากไหมคะ เรื่องวิทยาการในการช่วยมีบุตรอะไรแบบนี้

แม่พิงค์: พิงค์เชื่อนะคะว่าการแพทย์ของไทยไม่ได้น้อยหน้าประเทศไหนเลย ขนาดเพื่อนพิงค์ที่อยู่ต่างประเทศเขาก็ยังบินกลับมาเพื่อที่จะทำ ivf ที่นี่ พิงค์ก็เลยมีความเชื่อว่าทั้งแพทย์ทั้งบุคลากรไม่ว่าจะโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนนะคะ เดี๋ยวนี้เก่งมากค่ะ สามารถทำให้ทุกคนทีมีปัญหามีลูกยาก มีลูกได้ง่ายมาก แล้วก็สามารถเลือกได้ด้วยว่าจะทำที่โรงพยาบาลไหนค่ะ

Motherhood: ก็คือถ้าสมมติว่าเราเลือกทำเด็กหลอดแก้วเนี่ย เราเลือกเพศเขาได้ แล้วค่าใช้จ่ายต้องเพิ่มขึ้นไหมคะ

แม่พิงค์: ค่าใช้จ่ายในการเลือกเพศจะมีนะคะ แต่ของพิงค์ไม่ได้เลือก เพราะพิงค์คิดว่าไม่ว่าจะเป็นผู้ชายผู้หญิงพิงค์ก็ยินดีที่จะรับเขาเป็นลูกอยู่แล้ว

Motherhood: แล้วถ้าเป็นแฝดกับเป็นลูกคนเดียวนี่ราคาก็เท่ากัน?

แม่พิงค์: ใช่ค่ะ

Motherhood: เพราะว่าอยู่ที่การฝังแล้วลูกเค้าติดกี่คนใช่ไหมคะ

แม่พิงค์: ใช่ค่ะ

Motherhood: ขอบคุณมากเลยนะคะ

แม่พิงค์: ยินดีค่ะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th