“ฝุ่น PM 2.5” อันตรายขึ้นทุกวัน จะป้องกันลูกอย่างไร
หลังจากที่ห่างหายกันไปพักใหญ่ ตอนนี้ “ฝุ่น PM 2.5” ที่เกินค่ามาตรฐานก็ได้กลับมาสร้างความหวาดกลัวให้กับชาวกทม.กันอีกรอบแล้วนะคะ มันสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพกับคนทุกเพศทุกวัยที่สูดดมเข้าไป แต่กับเด็กเล็กที่ระบบทางเดินหายใจและระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่ ฝุ่นละออง PM 2.5 จะสามารถทำอันตรายกับสุภาพของเขาได้มากกว่าที่ทำกับผู้ใหญ่เสียอีก แล้วพ่อแม่จะดูแลป้องกันลูกให้ปลอดภัยจากฝุ่นละอองนี้ได้อย่างไร
ฝุ่นละออง PM 2.5 คืออะไร? เกิดมาจากไหน?
ฝุ่นละออง PM 2.5 คือฝุ่นละเอียดขนาดเล็ก เป็นอนุภาคที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 2.5 ไมครอน เกิดจากควันเสียของรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ดีเซลที่การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม และควันจากการเผาไร่นาและสิ่งปฏิกูลของภาคการเกษตร
PM นั้นย่อมาจาก Particulate Matters เป็นคำเรียกค่ามาตรฐานของฝุ่นขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของทาง United State Environmental Protection Agency ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิดตามขนาดของฝุ่นเป็นหน่วยไมครอน ได้แก่ PM 10 และ PM 2.5 โคยฝุ่น PM 2.5 จะมีขนาดเล็กเพียงแค่ 1 ใน 25 ของขนาดเส้นผม และมีน้ำหนักเบามาก
อันตรายจากฝุ่น PM 2.5
เนื่องจากฝุ่นชนิดนี้มีขนาดเล็กมาก จึงสามารถเล็ดลอดผ่านขนจมูกเข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย เมื่อเข้าไปแล้วจะก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายดังนี้
1. ระบบทางเดินหายใจ
เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 มีขนาดเล็กมากจึงสามารถลงไปได้ถึงถุงลมในปอดได้ เป็นผลทําให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ โดยหากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานานจะสะสมในปอด ทําให้สมรรถภาพการทํางานของปอดลดลง ทําให้หลอดลมอักเสบ มีอาการหอบเหนื่อยได้ หากเป็นผู้ที่มีโรคเรื้อรังในระบบการหายใจ เช่น โรคหืด ถุงลมโป่งพอง หรือจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ก็อาจจะเกิดอาการกำเริบ หากสูดหายใจเข้าไปต่อเนื่องในระยะยาวจะส่งผลให้การทำงานของปอดแย่ลง จนอาจเกิดโรคถุงลมโป่งพอง และอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอดอีกด้วย
2. ระบบภูมิคุ้มกัน
สำหรับเด็กเล็กที่อยู่ในกลุ่มผู้ที่ติดเชื้อง่าย อาจจะส่งผลให้ระบบภูมิคุ้นกันเสื่อม และมีอาการติดเชื้อรุนแรงมากกว่าปกติได้
3. ระบบสมอง
การที่ร่างกายของเด็กสะสมฝุ่นพิษอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลต่อพัฒนาการทางสมอง สติปัญญาหรือสมาธิได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก สามารถูกดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือด ไปสู่ระบบประสาทและสมอง โดยฝุ่นที่เข้าไปนั้นจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบที่บริเวณเซลต่างๆ ทำให้สารเคมีหรือการทำงานของเซลล์ประสาทผิดปกติได้ ทำให้มีผลต่อพัฒนาการทางสมองหรือสมาธิของเด็กได้
4. ระบบดวงตา
ฝุ่น PM 2.5 อาจส่งผลให้ดวงตาเกิดการระคายเคือง แต่อาการผิดปกติเหล่านี้มักเป็นระยะเวลาสั้นๆ ไม่ส่งผลให้เกิดอันตรายร้ายแรงกับดวงตา ยกเว้นเด็กที่มีความผิดปกติกับดวงตา เช่น มีประวัติเป็นภูมิแพ้ ภูมิแพ้ขึ้นตา อาจทำให้มีอาการเคืองตาหรือตาแดงมากกว่าปกติ โดยจะมีการระคายเคืองเล็กน้อยจนถึงระคายเคืองมาก รู้สึกไม่สบายตาเรื้อรัง เช่น เคืองตา คันตา รู้สึกเหมือนมีอะไรอยู่ในตา ตาแห้ง เด็กอาจจะขยี้ตาบ่อยๆ กระพริบตาหรือขยิบตาถี่ๆ ตาแดงเป็นๆหายๆ หรือรุนแรงถึงขั้นเยื่อบุตาอักเสบ กระจกตาอักเสบ และกระจกตาถูกทำลายในระยะยาว ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่เกิดจากการสัมผัสฝุ่นมลภาวะอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
5. ระบบอื่นๆของร่างกาย
เมื่อได้รับฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายแล้ว บางส่วนของฝุ่นชนิดนี้อาจผ่านผนังถุงลมและเส้นเลือดฝอยเข้าสู่กระแสเลือด จึงสามารถกระจายตัวแทรกซึมไปทั่วร่างกายของเราได้ และอาจทำให้ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดเกิดอาการกำเริบขึ้นได้ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
ทำไมเด็กต้องหลีกเลี่ยงฝุ่น PM 2.5 อย่างเคร่งครัด
ที่ต้องให้เด็กหลีกเลี่ยงฝุ่น PM 2.5 อย่างเคร่งครัด เพราะเด็กจะมีอัตราการหายใจที่เร็วกว่าผู้ใหญ่ มีระบบทางเดินหายใจที่ยังพัฒนาและเติบโตไม่เต็มที่ อีกทั้งยังมีน้ำหนักตัวที่น้อยกว่าผู้ใหญ่ ทำให้ได้รับมลพิษ PM 2.5 ในอัตราส่วนต่อน้ำหนักตัวค่อนข้างเยอะเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่
จุดสังเกตอาการป่วยจากฝุ่น
- ลูกมีอาการคันจมูก
- จาม แสบจมูก มีน้ำมูกไหล
- หายใจหอบเหนื่อย
- ไอมากผิดปกติ
จะป้องกันลูกในช่วงที่ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานได้อย่างไร?
ในบริเวณที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 ในอากาศสูงเกินค่าเฉลี่ยปกติใน 24 ชั่วโมงของกรมควบคุมมลพิษ คือ มากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะมีคุณภาพอากาศจะอยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ หากค่ามากกว่า 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรจะถือว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพ
1. สวมหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นละอองให้ลูก
เมื่อต้องออกจากบ้านคุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกสวมหน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาด PM 2.5 ได้ เช่น หน้ากากอนามัยมาตรฐาน N95 เพราะหน้ากากอนามัยทั่วไปอาจจะมีความสามารถไม่เพียงพอที่จะกรองฝุ่นที่มีความละเอียดเล็กมาก แม้ว่าลูกรำคาญต้องบังคับให้เขาสวม และต้องสวมให้ถูกต้องโดยให้หน้ากากกระชับกับรูปหน้า
2. งดพาลูกออกไปนอกบ้านถ้าไม่จำเป็น
หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน ในช่วงที่ปริมาณ PM2.5 ตั้งแต่ระดับสีเขียว (26-37 ไมโครกรัม/ ลูกบาศก์เมตร) ขึ้นไป หากปกติคุณพ่อคุณแม่มักพาลูกไปวิ่งเล่นที่สนามเด็กเล่นในหมู่บ้าน ปั่นจักรยานในสวน หรือออกไปวิ่งเล่นนอกบ้าน ควรงดไปก่อน แล้วชวนลูกทำกิจกรรมในบ้านแทนไปก่อน
3. ปกป้องอาการแพ้ที่ดวงตาของลูก
หากลูกเป็นโรคภูมิแพ้ หรือมีภูมิแพ้บริเวณดวงตา ควรให้ลูกสวมใส่แว่นตาชนิดมีขอบด้านบนและด้านข้าง เนื่องจากแว่นตาทั่วไปไม่สามารถป้องกันฝุ่นควันที่เข้าตาจากด้านข้างได้ หากลูกใส่คอนแทคเลนส์ เมื่อต้องอยู่ในที่มีฝุ่นควันเยอะควรใช้แว่นตาแทน เพราะการใส่คอนแทคเลนส์อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ดวงตาได้
4. ใช้ Application เช็กปริมาณฝุ่นละออง
สมัยนี้มีหลายแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือที่สามารถตรวจสอบค่าฝุ่นละอองตามจุดต่างๆได้ ก่อนออกจากบ้านหรือเดินทางไปไหน คุณพ่อคุณแม่ลองดาวน์โหลดมาเพื่อใช้ตรวจสอบปริมาณฝุ่นละอองก่อนว่าปลอดภัยที่จะพาลูกไปหรือไม่ โดยค่ามาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดไว้คือ 50 มคก./ลบ.ม. แอปพลิเคชั่นที่กำลังได้รับความนิยม เช่น AirVisual หรือ AIR 4Thai
5. ใช้เครื่องฟอกอากาศ
เมื่อเข้าบ้านให้ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท เปิดเครื่องฟอกอากาศหรือเครื่องปรับอากาศ อาจจะติดตั้งแผ่นกรองอากาศที่เครื่องปรับอากาศที่สามารถกรองฝุ่น PM2.5 เข้าไปเพิ่ม ซึ่งสามารถหาซื้อมาติดตั้งเองได้
6. เสริมวิตามินให้ลูก
คำแนะนำจาก UNICEF คือให้รับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี วิตามินอี สารต้านอนุมูลอิสระ และโอเมก้า 3 มากขึ้น
หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีอาการติดเชื้อ เช่น มีไข้ ไอ แน่นหน้าอก หายใจเร็ว หรือในกรณีที่รุนแรง อาจจะมีลักษณะที่อกหรือช่องตรงซี่โครงบุ๋ม ควรพาลูกออกจากบริเวณที่มีฝุ่น และไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและทำการรักษาทันที
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th