พาลูกเที่ยว จัดกระเป๋าใกล้ไกล ทั้งในและต่างประเทศ
คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนที่ชอบเที่ยวก่อนจะมีเจ้าตัวน้อย พอมีเขาแล้วคงอยากจะพาเขาไปเที่ยวเหมือนกันใช่ไหมคะ เพราะการ “พาลูกเที่ยว” ไม่ว่าจะในไทยหรือต่างประเทศนั้น นับว่าเป็นการได้เปิดโลกกว้างให้เด็ก ๆ ได้ออกไปใช้ชีวิตที่มากกว่าแค่ที่โรงเรียนกับที่บ้าน ทำให้เขาได้เห็นได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่จะช่วยสร้างความคิดและจินตนาการให้กับพวกเขาได้มากมาย แต่การออกทริปกับลูกครั้งแรกนั้นอาจจะมีหลายเรื่องที่ต้องจัดเตรียมอยู่สักหน่อย คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจจะยังมีความกังวลอยู่บ้างว่าลูกจะงอแงเพราะต้องเดินทางนาน หรืออาจจะมีปัญหากับอาหารในที่ใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดกระเป๋าให้ลูก หรือการพาลูกขึ้นเครื่องบินเป็นครั้งแรก ไหนจะมียังเรื่องพาสปอร์ทกับวีซ่าอีกละ หากต้องการจะเที่ยวต่างแดน ขอเชิญคุณพ่อคุณแม่เตรียมตัวด้วยการรทำเช็คลิสท์ให้พร้อมกันก่อนดีกว่าค่ะ
ประโยชน์ของการพาลูกเที่ยวช่วงปิดเทอม
การพาลูกๆออกไปเที่ยวในช่วงที่เขาปิดเทอม นอกจากจะทำให้เขาสนุกสนานหรือได้ผ่อนคลายความเครียดจากการเรียนแล้ว เมื่อลูกได้พบเจอกับสิ่งแปลกใหม่จะเป็นการช่วยเสริมพัฒนาการของเขาอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งช่วยกระตุ้นเขาให้เรียนรู้ ฝึกการตัดสินใจและแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และฝึกความอดทนหลายอย่าง มาดูกันว่าในการออกทริปกับลูกจะให้อะไรแก่เด็ก ๆ ได้อีก
- สร้างความตื่นเต้นแปลกใหม่
การได้พบเห็นอะไรแปลกใหม่จะกระตุ้นให้เด็กๆรู้สึกสดชื่นสดใส ตื่นตาตื่นใจ พร้อมที่จะเปิดรับการเรียนรู้ ตั้งแต่ที่รู้ว่าจะได้ไปเที่ยว จากที่เคยต้องปลุกให้ตื่นไปอาบน้ำเพื่อไปโรงเรียนกันยากเย็น เมื่อวันเที่ยวมาถึง เด็ก ๆ จะรีบนอนแต่หัวค่ำและตื่นขึ้นมาเช้าตรู่พร้อมสำหรับการเที่ยวทันที
- ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
การที่เด็ก ๆ ได้เห็นอะไรแปลกใหม่ไปจากสิ่งที่เขาคุ้นเคยรอบตัว เป็นการกระตุ้นให้เขาอยากเรียนรู้มากยิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มพูนทักษะในการใช้ชีวิตให้กับลูกๆที่ดีอีกทางหนึ่ง เพราะในยุคสมัยนี้คนที่เรียนเก่งหรือทำเกรดได้สูงอย่างเดียวก็ไม่ใช่สิ่งการันตีว่าจะใช้ชีวิตรอดในสังคมได้ แต่ยังต้องพึ่งพาทักษะการใช้ชีวิตในสถานการณ์ต่างๆแบบที่ไม่สามารถหาได้จากห้องเรียนด้วย เขาเข้าใจคนและเข้าใจโลกมากขึ้น
- ฝึกช่วยเหลือตัวเอง
การที่ต้องอยู่ในสถานที่เดิมๆที่เด็กเคยชิน ก็จะไม่เกิดความท้าทายที่ผลักให้เข้าต้องช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น อาจจะเพราะอยู่ที่บ้านก็มีคุณพ่อคุณแม่ มีพี่เลี้ยง หรือญาติ ๆ คนอื่นคอยช่วยดูแลอยู่ทั้งหมด หากได้ออกมาเปลี่ยนบรรยากาศกับปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างออกไป เขาก็จะต้องพยายามช่วยเหลือตัวเองให้มากขึ้นตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปนั่นเอง
- เรียนรู้ที่จะวางแผน
ทันทีที่ตัดสินใจว่าจะไปเที่ยวกัน สิ่งแรกที่ต้องทำเลยคือการวางแผน คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มฝึกลูกจากขั้นตอนนี้ได้เลย ให้เขาได้รู้จักการวางแผนผ่านการพูดคุย สามารถเล่าขั้นตอนการเตรียมตัวให้ลูกๆฟังได้ ให้เขามีส่วนร่วมเสนอความคิดเห็นว่าในทริปนี้เขาต้องการทำอะไรบ้าง อยากดูอะไร อยากกินแบบไหน เรามีค่าใช้จ่ายสำหรับอะไรบ้าง มีงบให้เขาซื้อของเล่นไหม รวมทั้งการเตรียมเสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้ของตัวเองก่อนไปด้วย ก็นับเป็นการวางแผนอีกเรื่องหนึ่งเช่นกัน
- ฝึกความอดทนในการรอคอย
ในการเดินทางแต่ละครั้งมีเรื่องให้ฝึกความอดทนได้เยอะทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการนั่งรถนาน ๆ เพื่อออกต่างจังหวัด หรือเวลาอยู่ที่สนามบิน ต้องรอคิวเช็คอิน คิวตรวจคนเข้าเมือง อีกทั้งยังเดินเยอะกว่าตอนอยู่บ้านเป็นไหน ๆ และยังมีที่หลับที่นอน อาหารการกินที่แปลกออกไปจากที่เขาคุ้นเคย บอกลูกไว้ล่วงหน้าสักหน่อย ให้เขาได้เตรียมใจว่าจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง
- รู้จักการวางแผนการใช้เงิน
เรื่องการจัดสรรงบประมาณในการเที่ยวก็สามารถนำมาสอนเด็กๆได้เหมือนกัน สามารถพูดถึงตัวเลขคร่าว ๆ ได้เท่าที่วัยเขาจะเข้าใจ ว่าค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่ากินเท่าไหร่ จะทำออกมาในรูปแบบชาร์ทง่าย ๆ ก็ได้ ว่าทั้งทริปนี้เราใช้จ่ายเงินไปกับอะไรมากที่สุด ระบายสีแทนการใช้จ่ายในหมวดต่าง ๆ ค่าเดินทางสีนึง ค่าอาหารอีกสี ค่าที่พักใช้อีกสี และค่าช็อปปิ้งก็อีกสี หรือมีงบต่อวันเท่าไหร่ ใช้กับอะไรไปบ้างแล้ว และยังเหลือให้ใช้ในวันนั้นได้อีกเท่าไหร่
- เรียนรู้ที่จะเปิดใจให้กว้าง
ยุคนี้สังคมโลกเราอยู่แบบ Global village จึงจำเป็นอย่างมากที่เด็กๆยุคใหม่จะต้องได้เรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรม และความเชื่อที่แตกต่าง ให้เขาได้ซึมซับว่าคนเรานั้นมีความแตกต่างกันทั้งรูปร่าง หน้าตา ภาษา วัฒนธรรม นิสัยใจคอ และการแสดงออก ยิ่งได้เห็นจากต่างประเทศก็จะยิ่งมีความแตกต่างชัดเจนมากขึ้น เป็นการฝึกให้ลูกยอมรับในความแตกต่างของผู้คนที่มีความหลากหลาย เขาจะได้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ง่าย
เตรียมตัวอย่างไรสำหรับการออกทริป
สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ที่ยังไม่เคยพาเจ้าตัวเล็กไปออกทริปที่ไหนด้วยกันเลย ก็อาจจะมีความกังวลอยู่บ้างถึงสิ่งที่ต้องจัดเตรียม จะต้องเอากระเป๋าเดินทางของลูกแยกเฉพาะดีไหม ยิ่งถ้าเป็นแพลนไปไกลก็ยิ่งห่วงสารพัด กลัวจะลืมนั่นลืมนี่ จัดของไปไม่พอ คุณพ่อคุณแม่สามารถลองทำตามขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้
- เช็คสภาพอากาศของสถานที่และช่วงเวลาที่จะเดินทาง ในประเทศไทยเราเองอากาศจะไม่ค่อยมีความแตกต่างกันมากนัก เพราะบ้านเรามีแต่ร้อนน้อย ร้อนปานกลาง และร้อนมาก ๆ แต่ก่อนจะพาเด็กๆเที่ยวต่างประเทศ ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม อันดับแรกเลยควรเช็คสภาพอากาศเสียก่อน เพราะว่าแต่ละประเทศในแต่ละช่วงเวลามีสภาพอากาศที่แตกต่างกัน บางที่อากาศร้อน บางที่อากาศหนาวมาก ดังนั้นเราจึงควรเช็คให้แน่ใจก่อน เพื่อจะได้เตรียมเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศในขั้นตอนต่อไป
- เด็กเล็กต้องมีรถเข็น เราสามารถนำรถเข็นสำหรับเด็กเล็กขึ้นเครื่องไปด้วยได้ สายการบินส่วนใหญ่จะไม่นับรวมรถเข็นในโควตาน้ำหนักกระเป๋า คุณพ่อคุณแม่สามารถพกไปได้อย่างสบายใจ โดยในวันที่เดินทางสามารถแจ้งความต้องการใช้รถเข็นเด็กได้ที่เคาน์เตอร์เช็คอินทางเจ้าหน้าที่จะติดแท็กให้ที่รถเข็นเด็ก และสามารถใช้รถเข็นเด็กได้จนถึงหน้าเกท และเมื่อถึงจุดหมายปลายทางก็จะมีเจ้าหน้าที่นำรถเข็นมาให้เราที่หน้าเกทอีกที
- ยาที่จำเป็นต้องใช้ ควรมียาที่จำเป็นติดไปด้วยทุกครั้ง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยกระทันหัน เพราะการหาซื้อยาเป็นเรื่องยากในบางประเทศ ดังนั้น ควรเตรียมยาสามัญประจำบ้านไปให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นยาแก้ปวด ยาลดไข้ ยาแก้ท้องเสีย ยาแก้เมารถเมาเรือ หรือแม้กระทั่งยาทาแผล โดยเฉพาะกับเด็กๆที่มีโรคประจำตัวยิ่งต้องนำยาติดไป ยาดม ยากันยุง และยาหม่องก็เป็นสิ่งที่ควรพกไปเช่นกัน
- พกทิชชูเปียกไปด้วย ทิชชูเปียกสำหรับเด็กเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้เมื่อไปเที่ยว เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าเด็ก ๆ จะทำเลอะเทอะเมื่อไหร่ โดยเฉพาะเวลาอยู่บนเครื่องบิน เด็กบางคนเวลาเจอความดันอากาศที่เปลี่ยนแปลงบนเครื่องบิน อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้โดยสารคนอื่น ๆ สามารถนำทิชชู่เปียกออกมาเช็ดทำความสะอาดได้ทันที และถึงจะมีทิชชูเปียกแล้ว ทิชชูแห้งก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน
- ของชิ้นโปรดของลูก เด็กๆอาจมีหมอน ผ้าห่ม หรือตุ๊กตาตัวโปรดที่ต้องนอนกอดเสมอ คุณพ่อคุณแม่จึงควรพกสิ่งเหล่านี้ติดตัวไปด้วย อย่างน้อยก็เพื่อให้เขารู้สึกอุ่นใจและสามารถนอนหลับได้เต็มอิ่ม ตื่นมาเขาจะได้อารมณ์ดียิ้มแย้มแจ่มใสพร้อมเที่ยว
- อุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ ถึงเราจะทำการบ้านมาอย่างดีแล้วก็ตาม แต่อากาศในแต่ละวันก็มีสิทธิ์เปลี่ยนแปลงได้เสมอ และอาจเป็นสาเหตุให้เด็ก ๆ ป่วย เราจึงควรพกอุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ร่ม เสื้อกันฝน หมวกกันแดด ครีมกันแดดติดตัวไปด้วย
อายุเท่าไหร่ถึงพาขึ้นเครื่องบินได้ ?
สำหรับการเดินทางโดยเครื่องบินระยะไกล ควรรอให้ลูกอายุ 2 เดือนขึ้นไปเสียก่อน เพราะร่างกายเด็กจะเริ่มแข็งแรงพอที่จะทนความเครียดจากการบิน และควรเลือกเวลาเดินทางที่เป็นเวลานอนของลูก เพื่อให้มีปัญหาในการปรับตัวเรื่องเวลาน้อยที่สุด ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรพาลูกเล็กเดินทางไปต่างประเทศที่มีโรคบางโรคที่ทารกยังไม่โตพอที่จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคชนิดนั้น ๆ ได้ เช่น ประเทศแถบแอฟริกา
ทำพาสปอร์ตให้ลูกครั้งแรก ต้องเตรียมอะไรบ้าง ?
คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังวางแผนพาลูกๆที่เป็นเด็กเล็กไปเที่ยวต่างประเทศเป็นครั้งแรก คงจะกังวลใจไม่น้อยเพราะต้องพาไปทำพาสปอร์ตเป็นครั้งแรก แต่ไม่รู้ว่าเด็กเล็ก ๆ จะต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง Motherhood จึงขอนำความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการทำพาสปอร์ตสำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี มาฝาก ซึ่งจะมีขั้นตอนอย่างไรและต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้างนั้น ลองไปดูกันเลย
เอกสารประกอบการขอหนังสือเดินทางธรรมดาสำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี มีดังนี้
- สูติบัตรฉบับจริง หากเป็นสำเนาต้องมีการรับรองสำเนาถูกต้องจากอำเภอหรือเขตมาแสดงพร้อมผู้มีอำนาจปกครอง
- บัตรประชาชนฉบับจริงของพ่อและแม่ นำบัตรประชาชนฉบับจริงมาลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่ โดยต้องเป็นบัตรประจำตัวประชาชนที่ยังไม่หมดอายุใช้งาน หรือบัตรที่ใช้แทนได้ตามกฎกระทรวงมหาดไทยของพ่อแม่ หากชื่อนามสกุลพ่อแม่ในสูติบัตรไม่ตรงกับบัตรประจำตัวประชาชน ให้นำหลักฐานการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุลที่เป็นต้นฉบับมาแสดงด้วย ในกรณีที่แม่หย่าและจดทะเบียนสมรสใหม่และใช้นามสกุลตามสามีใหม่ ให้นำหลักฐานการหย่าและการสมรสที่เป็นต้นฉบับมาแสดงด้วย
- หนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศ ที่ต้องได้รับการรับรองสำเนาถูกต้องจากทางอำเภอหรือเขต
- เอกสารอื่น ๆ เช่น หลักฐานใบเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล เอกสารหลักฐานการรับรองบุตรหรือรับบุตรบุญธรรม บันทึกการหย่า ซึ่งมีข้อความระบุให้บุตรอยู่ในความดูแลของพ่อหรือแม่ เป็นต้น
กรณีที่พ่อหรือแม่ของเด็กเป็นชาวต่างชาติที่มิได้จดทะเบียนสมรส และไม่สามารถตามหาตัวมาให้ความยินยอมได้ ให้นำคำสั่งศาลซึ่งระบุชื่อผู้มีอำนาจปกครอง พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจปกครองมาแสดง พร้อมสูติบัตรตัวจริง
หากคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถเดินทางไปทำได้ด้วยตนเอง สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาดำเนินการแทนได้ โดยต้องมีหนังสือมอบอำนาจและหนังสือยินยอมให้เด็กเดินทางไปต่างประเทศ พร้อมทั้งบัตรประจำตัวประชาชนของพ่อแม่ฉบับจริงมาแสดง ทั้งนี้หนังสือมอบอำนาจและหนังสือยินยอมให้เด็กเดินทางไปต่างประเทศ จะต้องผ่านการรับรองจากอำเภอหรือเขต และมีบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบ รวมทั้งหนังสือยินยอมให้ให้เด็กเดินทางไปต่างประเทศ ที่ผ่านการรับรองจากอำเภอหรือเขตมาด้วย
ทำอย่างไรเมื่อลูกปวดหูตอนเทคออฟ/แลนดิ้ง?
เวลาเครื่องขึ้นบินนั้นความกดอากาศจะเปลี่ยนแปลงแบบกระทันหันทำให้มีอาการหูอื้อ โดยส่วนมากช่วงแลนดิ้งเด็กจะมีอาการปวดหูนานมากกว่าตอนเทคออฟ เราจึงมีวิธีการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ ดังนี้
1. ให้ลูกกินน้ำหรือนม หรือเครื่องดืมที่เขาชอบ เตรียมนมที่เขาชอบเอาไว้ตั้งแต่ก่อนมานั่งเครื่อง ตอนเครื่องขึ้น/ลงให้ลูกกินนมไปเรื่อย ๆ แต่ก่อนขึ้นเครื่องพยายามอย่าให้เขากินนมหรือน้ำมาเยอะมากไม่งั้นจะอิ่มจนไม่สามารถกินต่อได้
2. ให้ลูกใช้กำลังก่อนขึ้นเครื่องจะช่วยได้มาก หากเขาได้วิ่งเล่นหรือทำอะไรสักอย่างที่เขาเหนื่อยมาก เวลาขึ้นเครื่องเขาก็จะนอนหลับเลย
3. การให้เด็กนอนน้อยๆก่อนวันขึ้นเครื่อง และไม่ให้เขานอนเลยระหว่างวันจนกว่าจะขึ้นเครื่อง วิธีนี้จะทำให้เขาเพลีย พอขึ้นเครื่องเขาก็จะหลับเองเลย แต่ต้องระวังเขาเพลียมากจนเกินไปอาจจะยิ่งทำให้เขาอาเจียนออกมา
4. ให้ลูกอมลูกอมหรืออมยิ้มตอนขึ้นเครื่องจะช่วยได้เยอะมาก เพราะว่าการที่เด็กได้อมแล้วดูดไว้นั้นจะทำให้เขากลึนน้ำลายตัวเองตลอดเวลา
5. ใช้จุกนมหลอกก็ช่วยได้เช่นกัน แต่จะไม่เหมาะกับเด็กที่มีอายุมากกว่า 2 ขวบเท่าไหร่ เพราะเขาอาจจะคิดถึงจนอยากกลับไปใช้อีก
6. ลองหา Ear plug สำหรับเด็กมาใช้ จุกอุดหูนี้จะช่วยให้ความดันอากาศในหูชั้นกลางพอดีกับหูภายนอก สามารถหาได้ตามร้านขายยาขนาดใหญ่
หากเตรียมข้อมูลพร้อมแล้ว รีบวางแพลนทริปแรกของคุณกับลูกได้เลยค่ะ รับรองว่าการพาลูกเที่ยวครั้งแรกนี้จะต้องเป็นทริปที่ประทับใจเขาไปอีกนานแสนนานเลยทีเดียว
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th