ภูมิแพ้เชื้อรา เราคุมและหลีกเลี่ยงมันได้
หากลูกน้อยหรือคนในครอบครัวของคุณมีอาการไอและมีเสมหะเรื้อรัง รวมถึงหอบหืด นั่นอาจจะไม่ใช่ภูมิแพ้ธรรมดา แต่อาจเป็น “ภูมิแพ้เชื้อรา” อีกภัยเงียบหนึ่งซึ่งแฝงตัวอยู่ในบ้านของคุณมาโดยตลอด แต่คุณไม่รู้ตัวมาก่อน วันนี้ Motherhood จะนำข้อมูลเกี่ยวกับอาการและการป้องกันอย่างยั่งยืนมาให้คุณค่ะ
ภูมิแพ้เชื้อรา (Mold allergy) คืออะไร ?
เชื้อราเป็นเชื้อขนาดเล็กที่มีสปอร์แพร่กระจายอยู่ทั่วไปในอากาศ เชื้อราชอบสิ่งแวดล้อมที่ชื้นและต้องการปัจจัย 4 ประการเพื่อเจริญเติบโต ได้แก่ อาหาร อากาศ อุณหภูมิที่เหมาะสม และน้ำ เชื้อราสามารถพบได้จากนอกบ้าน ภายในบ้าน และในสิ่งก่อสร้างทั่วไป
โดยปกติแล้ว คนเราจะหายใจเอาสปอร์เชื้อราในอากาศเข้าไปในร่างกาย แต่บางคนจะเกิดอาการแพ้หรืออาการหอบหืด (Asthma) หากได้รับเชื้อรามากเกินไป ภาวะนี้เรียกว่าภูมิแพ้เชื้อรา (Mold allergy)
สปอร์เชื้อรามีขนาดเล็กประมาณ 2-5 ไมครอน จึงไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า พวกมันสามารถปลิวกระจายไปได้ไกล และสามารถเข้าสู้ทางเดินหายใจได้ถึงหลอดลมฝอย สปอร์เชื้อราจะเติบโตได้ดีในบริเวณที่มีความชื้นสูงและอุณหภูมิที่เหมาะสม เชื้อราที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุของภูมิแพ้ ได้แก่
- Penicillium เป็นเชื้อราสีเขียวตามบ้าน พบได้บริเวณที่มีอาหารเน่าเสีย เช่น ขนมปัง ผลไม้ ชีส เศษใบไม้ หรือสิ่งสกปรก
- Aspergillus เป็นเชื้อราสีดำ พบตามอาหารบูด อยู่ตามเศษอาหารที่ทิ้งค้างคืน
- Cladosporium เป็นเชื้อราที่พบนอกบ้าน พบตามซากพืช ซากสัตว์ พื้นดิน รวมทั้งตามอาหาร บริเวณตู้เย็น และบริเวณที่อับชื้นในตัวบ้าน
- Alternaria พบได้ตามพื้นดิน ใบไม้ ต้นไม้แห้งที่หมักหมม
อาการของภูมิแพ้เชื้อรา
ภูมิแพ้เชื้อรามีอาการและสัญญาณเตือนเช่นเดียวกับที่มีในภูมิแพ้ทางเดินหายใจส่วนบนประเภทอื่น ๆ สัญญาณเตือนและอาการของเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis) ที่เกิดจากแพ้เชื้อรา ได้แก่
- จาม
- น้ำมูกไหลหรือคัดจมูก
- ไอและมีของเหลวหลังโพรงจมูก
- มีอาการคันที่ดวงตา จมูก และคา
- น้ำตาไหล
- ผิวหนังแห้งและลอก
อาการแพ้เชื้อรามีความแตกต่างหลากหลายกันไปในแต่ละบุคคล และมีอาการตั้งแต่ไม่รุนแรงจนถึงรุนแรง อาจเกิดอาการทั้งปีหรืออาการที่กำเริบเพียงในบางช่วงเวลาของปี อาจสังเกตเห็นอาการต่าง ๆ เมื่ออากาศชื้นหรือเมื่ออยู่ในพื้นที่ภายในหรือภายนอกที่มีความหนาแน่นของเชื้อราสูง
หอบหืดและการแพ้เชื้อรา
หากมีอาการแพ้เชื้อราร่วมกับหอบหืด อาการหอบหืดอาจได้รับการกระตุ้นจากการสัมผัสสปอร์เชื้อรา ในผู้ป่วยบางราย การสัมผัสเชื้อราบางชนิดสามารถทำให้เกิดอาการหอบหืดที่รุนแรง สัญญาณเตือนและอาการของหอบหืด ได้แก่
- ไอ
- หายใจมีเสียง
- หายใจลำบาก
- แน่นหน้าอก
สาเหตุของภูมิแพ้เชื้อรา
อาการแพ้เชื้อรากระตุ้นโดยการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่มีความไวมากเกินไป เมื่อเราหายใจเอาสปอร์เชื้อราขนาดเล็กในอากาศเข้าไป ร่างกายจะรับรู้ว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมและสังเคราะห์แอนติบอดีที่ทำให้เกิดภูมิแพ้เพื่อต่อต้านเชื้อราดังกล่าว
หลังจากได้รับเชื้อราแล้ว ร่างกายจะยังคงสังเคราะห์แอนติบอดีที่คอยตรวจจับสิ่งแปลกปลอมนี้ เพื่อให้การสัมผัสเชื้อราในครั้งต่อไปทำให้ระบบภูมิคุ้มกันมีปฏิกิริยาตอบสนอง ปฏิกิริยานี้กระตุ้นการปล่อยสารต่าง ๆ เช่น ฮิสตามีน (Histamine) ซึ่งทำให้เกิดอาการแพ้เชื้อรา แต่การแพ้เชื้อราชนิดหนึ่งไม่จำเป็นต้องหมายความว่าจะแพ้เชื้อราชนิดอื่น ๆ ด้วย
ปัจจัยเสี่ยงการแพ้เชื้อรา
มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่จะทำให้เกิดอาการแพ้เชื้อรา
- มีประวัติครอบครัวเป็นภูมิแพ้ หากมีอาการภูมิแพ้และหอบหืดถ่ายทอดในครอบครัว เท่ากับมีโอกาสมากขึ้นที่จะแพ้เชื้อรา
- ประกอบอาชีพที่สัมผัสเชื้อรา อาชีพที่อาจมีการสัมผัสเชื้อรามาก ได้แก่ การทำฟาร์ม การเลี้ยงโคนม การทำซุง การอบขนม โรงสี งานไม้ งานในเรือนกระจก การทำไวน์ และการซ่อมเฟอร์นิเจอร์
- การอาศัยในบ้านที่มีความชื้นสูง หากความชื้นภายในบ้านมีค่าสูงกว่าร้อยละ 50 อาจทำให้สัมผัสเชื้อรามากขึ้น เชื้อราสามารถเจริญเติบโตได้มากในทุกที่หากมีภาวะที่เหมาะสม ได้แก่ ชั้นใต้ดิน ด้านหลังผนัง หลังวงกบ ในปูนที่เคลือบด้วยสบู่ พื้นผิวชื้นอื่น ๆ แผ่นรองพรม และในพรมเอง การสัมผัสเชื้อราในบ้านในปริมาณมากอาจกระตุ้นอาการแพ้เชื้อราได้
- การทำงานหรือการอาศัยอยู่ในสิ่งก่อสร้างที่มีความชื้นมากเกินไป ได้แก่ ท่อรั่ว รอยน้ำรั่วในระหว่างที่มีพายุฝน และความเสียหายจากน้ำท่วม เมื่อมีความชื้นสูง ความชื้นดังกล่าวก็ทำให้เชื้อราเจริญเติบโต
- การอาศัยอยู่ในบ้านที่มีการระบายอากาศไม่ดี ขอบหน้าต่างและขอบประตูที่แน่นอาจกักเก็บความชื้นไว้ภายใน และป้องกันไม่ให้มีการระบายอากาศที่ดี ซึ่งเป็นภาวะที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อรา บริเวณที่มีความชื้น เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว และห้องใต้ดิน เป็นบริเวณได้รับผลกระทบได้มากที่สุด
การวินิจฉัยโรค
นอกไปจากการพิจารณาสัญญาณเตือนและอาการต่าง ๆ แล้ว แพทย์อาจทำการตรวจร่างกายเพื่อคัดแยกเอาความผิดปกติทางสุขภาพอื่น ๆ ออกไป นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจแนะนำการทดสอบหนึ่งอย่างหรือมากกว่า เพื่อดูว่าเป็นภูมิแพ้ที่สามารถวินิจฉัยได้หรือไม่ การทดสอบดังกล่าว ได้แก่
- การเจาะตรวจผิวหนัง (Skin prick test) การตรวจนี้ใช้สารละลายก่อภูมิแพ้ที่พบได้ทั่วไปหรือสงสัยว่าทำให้เกิดภูมิแพ้ ระหว่างการทดสอบจะทาสารดังกล่าวเข้าไปที่ผิวหนังบริเวณแขนหรือหลัง หากมีอาการแพ้ จะมีตุ่มขึ้นในบริเวณผิวหนังที่ทำการทดสอบ
- การตรวจเลือด (Blood test) สามารถตรวจวัดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อเชื้อราได้โดยการวัดปริมาณของแอนติบอดีบางชนิดในกระแสเลือดที่เรียกว่าแอนติบอดี immunoglobulin E (IgE) ตัวอย่างเลือดจะถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ซึ่งสามารถตรวจหาร่องรอยการแพ้เชื้อราบางชนิดได้
การรักษา
ยาที่สามารถบรรเทาอาการเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ที่เกิดจากการแพ้เชื้อรา ได้แก่
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่ใช้พ่นจมูก (Nasal corticosteroids) สเปรย์พ่นจมูกนี้ช่วยป้องกันและรักษาการอักเสบที่เกิดจากภูมิแพ้เชื้อราที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน เป็นยารักษาภูมิแพ้ที่ได้ผลมากที่สุดและมักเป็นยาชนิดแรกที่แพทย์สั่งให้ใช้
- ยาแก้แพ้ (Antihistamines) ยานี้สามารถช่วยเกี่ยวกับอาการคัน จาม และน้ำมูกไหล จะออกฤทธิ์โดยขัดขวางสารฮิสตามีน ซึ่งเป็นสารเคมีที่ทำให้เกิดการอักเสบที่ปล่อยจากระบบภูมิคุ้มกันในระหว่างที่มีอาการแพ้
- ยามอนเทลูคาสท์ (Montelukast) เป็นยาเม็ดที่ใช้ขัดขวางการทำงานของสารลิวโคทรีน (Leukotrienes) ซึ่งเป็นสารเคมีในระบบภูมิคุ้มกันที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ได้รับการพิสูจน์ว่าใช้ได้ผลในการรักษาหอบหืดที่เกิดจากภูมิแพ้ (Allergic asthma) และได้ผลในการรักษาภูมิแพ้เชื้อราด้วย
เปลี่ยนไลฟ์สไตล์เสียใหม่เพื่อจัดการการแพ้เชื้อรา
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการปฏิบัติตนขั้นพื้นฐานดังต่อไปนี้อาจช่วยให้ทุกคนในครอบครัวรับมือกับอาการแพ้เชื้อราได้
- กำจัดแหล่งที่ทำให้เกิดความชื้นในชั้นใต้ดิน เช่น รอยรั่วของท่อหรือรอยรั่วของน้ำใต้ดิน
- ใช้เครื่องกำจัดความชื้นในบริเวณบ้านที่มีกลิ่นอับหรือชื้น
- รักษาระดับความชื้นให้ต่ำกว่าร้อยละ 50 โดยซื้อเครื่องวัดความชื้นมาติดไว้ในบ้าน
- ห้ามปูพรมที่พื้นห้องน้ำหรือชั้นใต้ดิน
- หากใช้เครื่องปรับอากาศ พิจารณาการติดตั้งระบบปรับอากาศกลางที่ติดตั้งตัวกรองอนุภาคอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง ตัวกรองนี้สามารถดักจับสปอร์เชื้อราจากอากาศภายนอกก่อนแพร่กระจายภายในบ้าน
- ทำความสะอาดเครื่องประอากาศสม่ำเสมอ
- ต้องมั่นใจว่าห้องน้ำมีการระบายอากาศอย่างเหมาะสม เปิดเครื่องพัดลมระบายอากาษในระหว่างและหลังอาบน้ำทันทีเพื่อทำให้อากาศแห้ง หากไม่มีพัดลมระบายอากาศ ให้เปิดหน้าต่างหรือประตูในขณะอาบน้ำ
- เพิ่มการระบายน้ำใต้ดินให้ห่างจากบ้าน โดยกำจัดใบไม้และพืชต่าง ๆ ออกจากพื้น และทำความสะอาดรางระบายน้ำฝนเป็นประจำ
- ใช้น้ำยาฟอกขาว โดยผสมน้ำยา 1 ส่วน กับน้ำเปล่า 9 ส่วน เพื่อทำความสะอาดส่วนที่มีเชื้อรา และใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูก ขณะทำความสะอาด
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th