มดลูกต่ำ ส่งผลต่อการตั้งครรภ์ยังไงบ้าง ?
“มดลูกต่ำ” เป็นปัญหาสุขภาพจากอวัยวะสืบพันธุ์ภายในที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันรวมถึงชีวิตครอบครัว แต่ก็ยังมีวิธีป้องกันและแก้ไขโรคนี้ได้ เพียงแค่เราสังเกตอาการและรู้วิธีจัดการปัญหาอย่างถูกต้อง
มดลูกต่ำคืออะไร ?
มดลูกต่ำ (Pelvic Organ Prolapse) คือ ภาวะที่มดลูกหย่อนหรือเลื่อนหลุดลงต่ำมาอยู่ที่ช่องคลอด โดยทั่วไปแล้ว มดลูกมีตำแหน่งอยู่ภายในอุ้งเชิงกราน รูปร่างคล้ายกับลูกแพร์กลับด้าน และจะมีกล้ามเนื้อที่ห้อยอยู่ระหว่างกระดูกก้นกบและกระดูกหัวหน่าวทำหน้าที่ยึดมดลูก กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ เข้าไว้ด้วยกัน อีกทั้งยังมีเอ็นและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันยึดมดลูกให้อยู่ในอุ้งเชิงกราน หากเนื้อเยื่อดังกล่าวไม่แข็งแรงหรือถูกทำลาย ก็จะส่งผลให้มดลูกหย่อนตัวลงไปที่ช่องคลอด
ส่วนใหญ่แล้ว ผู้หญิงที่มีภาวะมดลูกหย่อนมักมีอวัยวะอื่นภายในอุ้งเชิงกรานหย่อนลงมาด้วย เช่น กระเพาะปัสสาวะ หรือลำไส้ โดยภาวะมดลูกหย่อนสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระดับตามความรุนแรงที่เกิดขึ้น ดังนี้
1 เกิดภาวะมดลูกหย่อนมาที่ช่องคลอดครึ่งหนึ่ง
2 เกิดภาวะมดลูกหย่อนมาใกล้ปากช่องคลอด
3 เกิดภาวะมดลูกหย่อนออกมานอกช่องคลอดบางส่วน
4 เกิดภาวะมดลูกหย่อนออกมานอกช่องคลอดทั้งหมด หรือที่เรียกว่ามดลูกย้อย (Procidentia) ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทั้งหมดเสื่อมสภาพ
อาการที่พบ
ภาวะมดลูกหย่อนจะมีอาการที่แตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้น ผู้หญิงที่มีอาการมดลูกหย่อนเพียงเล็กน้อยอาจไม่แสดงอาการใด ๆ ให้เห็น ส่วนผู้หญิงที่มีภาวะมดลูกหย่อนค่อนข้างรุนแรงไปจนถึงรุนแรงมาก อาจมีอาการ ดังนี้
- รู้สึกหน่วงเหมือนถูกถ่วงที่อุ้งเชิงกราน หรือรู้สึกคล้ายมีบางสิ่งโผล่ออกมาจากช่องคลอด ทำให้บางครั้งจำเป็นต้องดันกลับเข้าไปข้างในช่องคลอด รวมทั้งรู้สึกเหมือนนั่งทับลูกบอลเล็ก ๆ อยู่
- มีเนื้อเยื่อโผล่ออกมาจากช่องคลอด หรือมองเห็นมดลูกโผล่ออกมาจากช่องคลอด
- เลือดออกจากช่องคลอด
- มีตกขาวมากขึ้น
- รู้สึกไม่สบายหรือติดขัดเวลามีเพศสัมพันธ์
- มีปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะได้ช้า รู้สึกปัสสาวะไม่สุดและต้องการปัสสาวะตลอดเวลา หรือปัสสาวะเล็ดเมื่อไอ จาม หรือออกกำลังกาย
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบหลายครั้ง
- ท้องผูก
- ปวดหลังส่วนล่าง
- เดินไม่สะดวก
หากอาการดังกล่าวไม่ดีขึ้นและแย่ลงเรื่อย ๆ เช่น ปัสสาวะและขับถ่ายลำบาก หรือพบว่ามดลูกหย่อนออกมาทั้งหมด ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษา หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะเกิดความเสี่ยงต่อปัญหาของระบบขับถ่ายและระบบสืบพันธุ์ในระยะยาวได้
สาเหตุของมดลูกต่ำ
ภาวะมดลูกหย่อนเกิดจากกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อที่รองรับอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานเสื่อมสภาพลง ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะนี้ ประกอบด้วย
- อายุมาก กล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานมักเสื่อมสภาพลงเมื่ออายุมากขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะมดลูกหย่อนได้
- คลอดบุตร ผู้ที่เคยคลอดบุตร โดยเฉพาะผู้ที่คลอดลำบาก คลอดครรภ์แฝด หรือคลอดทารกที่มีขนาดตัวใหญ่มาก มักประสบภาวะมดลูกต่ำ
- เข้าวัยทอง ผู้ที่เข้าวัยทองจะสูญเสียมวลเนื้อเยื่อ รวมทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำลง
- น้ำหนักตัวมาก ผู้ที่น้ำหนักตัวมากจากโรคอ้วนหรือมีเนื้องอกในมดลูก (Fibroids) แบบที่ไม่ใช่เนื้อร้าย หรือเกิดซีสต์ที่รังไข่ อาจทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานถูกถ่วงให้ตึง
- มีปัญหาสุขภาพอื่น ผู้ที่ป่วยหรือเกิดปัญหาสุขภาพที่ส่งผลให้เกิดแรงกดบริเวณท้องมากขึ้น เช่น ภาวะหลอดลมอักเสบหรือโรคหอบที่ทำให้เกิดการไอเรื้อรัง ท้องผูกที่ทำให้เกร็งท้องตอนออกแรงเบ่ง เนื้องอกในอุ้งเชิงกราน หรือเกิดการสะสมของเหลวที่ท้อง
- ผ่าตัดที่อุ้งเชิงกราน ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน เช่น ผ่าตัดมดลูก หรือผ่าตัดรักษากระเพาะปัสสาวะ สามารถเกิดภาวะมดลูกหย่อนได้
- ยกของหนัก ผู้ที่ต้องยกของหนักมาก ๆ เป็นเวลานาน จะส่งผลต่ออวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน
นอกจากนี้ อาการข้อเคลื่อนหลุดง่าย กลุ่มอาการมาร์แฟน (Marfan Syndrome) ซึ่งส่งผลต่อหลอดเลือด ดวงตา และกระดูก และโรคผิวหนังยืดผิดปกติ ก็มีส่วนทำให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อในร่างกายเสื่อมสภาพลง นำไปสู่ภาวะมดลูกหย่อนได้เช่นกัน
การรักษา
- บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน หรือการฝึกขมิบช่องคลอด (Kegel Exercise) เป็นการออกกำลังกายที่เสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ซึ่งจะช่วยยึดหรือรองรับมดลูก กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ ปฏิบัติทุกวันอย่างต่อเนื่อง ในกรณีที่ยังมีอาการไม่มาก ให้ทำประมาณ 100 ครั้งต่อวัน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้อุ้งเชิงกรานแข็งแรงและกระชับมากขึ้น สามารถฝึกบริหารกล้ามเนื้อส่วนนี้ได้ทั้งตอนที่นอน นั่ง หรือยืน โดยควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้แน่ใจว่าฝึกได้อย่างถูกต้อง หากอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์
- ใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงอุ้งเชิงกราน วิธีนี้แพทย์จะใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Vaginal Pessary ซึ่งมีลักษณะยืดหยุ่น สามารถสอดเข้าไปในช่องคลอดได้พอดีเพื่อพยุงมดลูก ซึ่งมีทั้งแบบใส่ชั่วคราวหรือถาวร แต่ผู้ป่วยจะต้องทำความสะอาดให้ดีและต้องไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ แต่มีข้อเสียคือหากมดลูกหย่อนมากอาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง รวมทั้งมีปัญหาขณะมีเพศสัมพันธ์
- การใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน เป็นการช่วยให้มดลูกกลับมากระชับแข็งแรง วิธีนี้จะเหมาะกับผู้ป่วยบางรายที่อยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือนเท่านั้น
- การผ่าตัด กรณีที่มีภาวะมดลูกหย่อนระดับรุนแรง อาจจะต้องผ่าตัดมดลูกออก หรือผ่าตัดเพื่อนำเอาเนื้อเยื่อส่วนอื่นมาปะแทนเนื้อเยื่อส่วนที่สึกหรอ หรือผ่าตัดเพื่อดึงมดลูกให้กลับเข้าตำแหน่งเดิม แต่จะมีข้อเสียคือไม่เหมาะกับผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือผู้ที่ต้องการมีบุตร เพราะจะทำให้การผ่าตัดไม่ได้ผล
วิธีดูแลและป้องกัน
ผู้หญิงที่มีความเสี่ยงจะเกิดภาวะดังกล่าวอาจลดความเสี่ยงได้โดยปฏิบัติตัว ดังนี้
- บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะตั้งครรภ์อยู่หรือเคยคลอดลูกมาแล้ว เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแข็งแรง
- ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ และรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืช หรืออาหารที่มีกากใยสูงเพื่อป้องกันท้องผูก จะได้ไม่ต้องต้องออกแรงเบ่งและเกิดการเกร็งที่ท้อง จนนำไปสู่ภาวะมดลูกหย่อน
- หลีกเลี่ยงการยกของหนักอย่างผิดวิธี หากต้องยกของหนัก ควรออกแรงที่ขา ไม่ใช่ลงน้ำหนักไปที่เอวหรือหลังส่วนล่าง
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ต้องลดน้ำหนักอย่างเหมาะสมหากอ้วนมากเกินไป
- ใช้ฮอร์โมนทดแทนเมื่อเข้าสู่วัยทอง
- ดูแลปัญหาสุขภาพเรื้อรังอื่น ๆ ที่นำไปสู่การเกิดภาวะมดลูกหย่อน เช่น โรคหอบ หรือหลอดลมอักเสบเรื้อรัง รวมทั้งงดสูบบุหรี่ เนื่องจากปัญหาสุขภาพพวกนี้จะทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง ซึ่งล้วนส่งผลต่อกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทั้งสิ้น
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th