Site icon Motherhood.co.th Blog

มารยาทบนโต๊ะอาหาร สิ่งสำคัญเมื่อพาลูกเข้าสังคม

มารยาทบนโต๊ะอาหารของลูก

พ่อแม่ต้องอบรมมารยาทให้ลูก เพื่อให้เขาไม่เป็นที่รังเกียจของคนในสังคม

มารยาทบนโต๊ะอาหาร สิ่งสำคัญเมื่อพาลูกเข้าสังคม

การพาลูกๆออกไปรับประทานอาหารข้างนอกถือเป็นกิจกรรมครอบครัวที่ดีอย่างหนึ่ง แต่สิ่งที่พ่อแม่ต้องเอาใจใส่อยู่เสมอคือเรื่อง “มารยาทบนโต๊ะอาหาร” ของลูก หลาย ๆ ครั้งเราจะได้เห็นผู้คนบ่นผ่านโซเชียลว่าเขาไปพบเจอเด็กที่มีพฤติกรรมไม่ค่อยน่ารักในร้านอาหารมา บางครั้งถึงขั้นทะเลาะกับพ่อแม่ของเด็ก และผู้คนในสังคมโซเชียลก็รุมว่าพ่อแม่ที่ไม่สอนลูกให้เป็นเด็กมีมารยาท เราคงไม่อยากให้ลูกของเราเป็นเด็กแบบนั้นใช่ไหมละคะ แม้ว่าลูกของเราน่ารักสำหรับเรา แต่บางทีเขาก็ทำตัวไม่น่ารักสำหรับคนนอกบ้านได้เหมือนกัน มีสิ่งใดที่คุณพ่อคุณแม่สามารถอบรมลูกเรื่องมารยาทบนโต๊ะอาหาร เทคนิคคำพูดและการสอนต่าง ๆ หรือมีข้อพึงระวังอะไรบ้างในยามที่พาลูกออกไปกินข้าวนอกบ้าน ลองติดตามได้ในบทความนี้เลยค่ะ

การพาเด็กไปรับประทานอาหารนอกบ้านนั้นจำเป็นต้องมีมารยาท ไม่ให้รบกวนผู้อื่น

เด็กจะมารยาทดี ต้องเริ่มต้นที่บ้าน

การจะฝึกมารยาทของลูกให้พร้อมเพื่อการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านหรือเพื่อเข้าสังคม พ่อแม่ควรทำให้เขาเห็นตั้งแต่ที่บ้าน เพื่อให้เข้าเข้าใจว่าสิ่งนี้คือมารยาทที่เราสมควรทำในทุก ๆ ที่ ไม่เว้นแม้แต่ภายนใบ้านของตนเอง และควรเริ่มปลูกฝังกันตั้งแต่วัยเด็ก ยิ่งเริ่มได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งดี คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มสอนเขาในช่วงที่เขาสามารถหยิบจับอาหารกินเองเป็นได้เลย

พ่อแม่เริ่มสอนอะไรได้บ้าง?

เด็ก ๆ ในแต่ละวัยจะมีพัฒนาการต่างกัน ดังนั้นเขาจะมีความพร้อมที่จะรับรู้คำสอนในเรื่องมารยาทในระดับที่แตกต่างกันด้วย คุณพ่อคุณแม่จึงต้องค่อย ๆ สอนในสิ่งที่เหมาะสมกับวัย ใช้คำพูดที่เขาสามารถเข้าใจได้ ไม่ให้เกินวิสัยที่เขาจะสามารถปฏิบัติตาม

เด็กวัยหัดเดิน

  1. เด็กในวัยเริ่มหัดเดิน อาจจะชอบกินไปเล่นไป คุณพ่อคุณแม่ต้องจับเขานั่งเก้าอี้สูงของเด็ก เพราะเป็นการให้เขารู้จักกินอยู่กับที่ โดยเฉพาะเมื่อร่วมโต๊ะกับสมาชิกคนอื่นในบ้าน หากเขากินเสร็จแล้วสามารถให้เขาลุกออกจากโต๊ะไปได้
  2. สามารถให้เขาร่วมนั่งรับประทาอาหารพร้อมกับสมาชิกคนอื่นใครอบครัว เพื่อที่เขาจะได้ซึมซับบรรยากาศของการกินอาหารร่วมกันหลายคน มีผู้ร่วมโต๊ะอาหารหลายคน
  3. หัดให้ลูกน้อยล้างมือทุกครั้งก่อนจะรับประทานอาหาร ในช่วงแรกอาจจะมีพ่อแม่ช่วยไปก่อน แล้วเขาจะติดนิสัยล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหารเมื่อโตขึ้น
  4. หากเข้ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบนโต๊ะอาหาร เช่น นำช้อนส้อมมาตีเป็นเสียง พ่นน้ำลาย หรือกรีดร้อง พ่อแม่ควรสอนเขาว่าสิ่งนี้เป็นพฤติกรรมที่รับไม่ได้หากเกิดขึ้นบนโต๊ะอาหาร เขาจะได้เรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านั้น

เด็กวัยก่อนเข้าเรียน

  1. สำหรับเด็กวัยก่อนเข้าเรียนจะเริ่มกินอาหารได้เองแบบจริงจังมากขึ้น และเป็นวัยที่กำลังเรียนรู้ สามารถสอนเรื่องการมีมารยาทตามสถานการณ์ต่างๆได้อย่างมีเหตุผลมากกว่าเดิม
  2. เด็กวัยนี้สามารถนั่งรับประทานอาหารได้ด้วยตัวเองแล้ว พ่อแม่แค่คอยระวังไม่ให้เขาเล่นซนยุกยิกจนเกินไป
  3. การตักหรือกัดกินอาหารต้องสอนเขาให้กินแบบพอดีคำ ที่สำคัญคือไม่ควรเคี้ยวอาหารเสียงดัง หรืออ้าปากพูดขณะที่กำลังเคี้ยวอาหารอยู่
  4. สอนให้เขาไม่กินข้าวคำน้ำที รวมทั้งรู้จักเช็ดทำความสะอาดปากตนเองเมื่อรู้สึกว่ามีอาหารเปื้อน
  5. หากต้องการจะสนทนากับเพื่อนร่วมโต๊ะ สอนให้เขาพูดจากันอย่างสุภาพ ไม่พูดถึงสิ่งของที่ไม่สมควรเมื่อนั่งโต๊ะอาหาร

เด็กวัยเริ่มเรียน

  1. เด็กวัยเรียนเริ่มเข้าใจถึงผลกระทบของการกระทำของตัวเองที่มีต่อผู้อื่นแล้ว ทั้งในแง่ดีและแง่ลบ และสามารถทำความเข้าใจได้ว่าการมีมารยาทเป็นเรื่องสำคัญอย่างไร
  2. สอนให้รู้ถึงขั้นตอนและหน้าที่การใช้งานของช้อนส้อมและอุปกรณ์การกินชนิดอื่นๆ รวมทั้งความสำคัญและประโยชน์ของการใช้ช้อนกลางด้วย นอกจากนี้ยังควรสอนไปถึงการรวบช้อนเก็บจานหลังเสร็จสิ้นมื้ออาหาร
  3. สอนให้ลูกรู้จักกับวิธีการขอหรือรับ/ส่งสิ่งของที่ต้องการบนโต๊ะอาหาร โดยไม่ต้องเอื้อมมือตัดหน้าผู้อื่นเพื่อหยิบฉวยของ
  4. การนำโทรศัพท์หรืออุปกรณ์อื่นๆขึ้นมาเล่นเื่อร่วมโต๊ะอาหารกับผู้อื่นเป็นสิ่งไม่ควรทำ พ่อแม่ต้องย้ำข้อนี้กับเขาให้มากๆ
เด็กบางคนอาจส่งเสียงดังหรือทำตัวเรียกร้องความสนใจในร้านอาหาร

วิธีการใช้คำพูดสอนลูกให้ถูกต้อง

คุณพ่อคุณแม่ส่วนมากล้วนแล้วแต่พยายามสอนลูกให้มีมารยาทเวลาอยู่บนโต๊ะอาหาร รวมถึงเมื่อพากันไปรับประทานอาหารนอกบ้านเท่าที่จะทำได้ แต่ในบางครั้งก็อาจจะยังใช้ถ้อยคำที่ผิด ทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่ว่าเขาแรงเกินไป ด้านล่างนี้เป็นตัวอย่างคำพูดในการสอนและวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่จะสอนมารยาทในการรับประทานอาหารให้กับเด็ก

#1 ลูกกินข้าวเสียงดัง

#2 ลูกไม่รู้ตัวว่าเคี้ยวข้าวเปิดปาก

เมื่อต้องพาลูก ๆ ออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน

คนเป็นพ่อแม่คงทราบดีอยู่แล้วว่าการรับประทานอาหารกับลูก หรือแม้แต่กับเด็กๆคนอื่น เราจะได้พบเจอกับการทำน้ำหก การขว้างอาหาร ความยุกยิกอยู่ไม่นิ่ง มองนั่นมองนี่ของเด็ก หรือบางทีก็งอแงขึ้นมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องจับเจ่ากินข้าวกันอยู่แต่กับบ้าน การได้ให้ครอบครัวออกไปรับประทานข้าวนอกบ้านด้วยกันเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศที่ดี คุณพ่อคุณแม่สามารถที่จะเพลิดเพลินไปกับมื้ออาหารของครอบครัวได้โดยที่ไม่ทำให้พนักงานและลูกค้าคนอื่น ๆ ในร้านจ้องตาเขียวใส่หรือออกจากร้านอาหารไปอย่างไม่สบอารมณ์เพราะเจ้าตัวน้อยของคุณ วิธีที่จะช่วยให้การพาเด็ก ๆ ไปรับประทานอาหารนอกบ้านได้ราบรื่น มีดังนี้

การให้เด็กได้หยิบจับของเล่นที่สนใจ สามารถทำให้เด็กอยู่นิ่งๆได้นาน

โทรจองล่วงหน้า

นอกเหนือจากการรับประทานอาหารของตัวเองและให้ลูกๆของคุณได้รับประทานด้วยแล้ว สิ่งหนึ่งที่คุณควรพยายามทำเมื่อคุณออกไปกินข้าวกับเด็ก ๆ (หรือกับใคร ๆ ที่ไม่ใช่เด็กก็ตาม) ก็คือการแสดงความเคารพต่อร้านอาหารพนักงานและลูกค้าในร้านอาหารคนอื่น ๆ สิ่งนี้สามารถทำได้ง่ายเพียงแค่โทรไปสั่งจองอาหารตามต้องการของลูกของคุณเพื่อป้องกันการผิดแผนที่จะเกิดขึ้น การนั่งที่โต๊ะขณะที่คุณเพิ่งเริ่มสั่งอาหารและยังต้องรออาหารเป็นเวลานานพอที่เด็กจะรู้สึกเหมือนถูกกักขังอยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ ความวุ่นวายอาจเกิดขึ้นได้ในไม่ช้า และไม่ควรที่จะต้องมีการรอคิวที่ด้านหน้าของร้านอาหารอีกด้วย

นอกจากนี้เมื่อคุณโทรไปจองกับทางร้าน คุณสามารถบอกอายุของลูกแก่พนักงานและขอสิ่งต่างๆที่จำเป็น เช่น เก้าอี้สูงหรือเบาะเสริม หรือพาร์ทิชั่นส่วนตัวที่จะให้ความเป็นส่วนตัวแก่ครอบครัวของงคุณ แน่นอนว่าจะมีบางครั้งที่คุณไม่สามารถโทรติดต่อล่วงหน้าไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่เมื่อคุณทำได้คุณจะกำจัดสถานการณ์แย่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

เตรียมตัวไปเป็นอย่างดี

ไม่มีเหตุผลที่จะไปคาดหวังว่าลูกของคุณจะมีสมาธิในระดับเดียวกับที่คุณมี พกหนังสือหรือของเล่นขนาดเล็กมาด้วย มันเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมที่จะทำให้ลูกน้อยของคุณเพลิดเพลินขณะรอ หากคุณไม่มีอะไรแบบนี้ติดมาด้วย สามารถถามหาจากทางร้านได้ ถึงแม้ว่าร้านอาหารหลาย ๆ แห่งจะไม่ใช่ร้านที่ประกาศตัวเองว่าเป็นมิตรกับครอบครัว แต่ก็มีโอกาสที่ทางร้านจะมีสิ่งของอะไรที่ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจให้กับเด็ก ๆ คุณแค่ต้องขอพวกเขา อย่างเช่น สีเทียน กระดาษ และใบกิจกรรมต่าง ๆ ให้เด็ก ๆ ได้ใช้เวลากับตัวเองในขณะที่พ่อแม่กำลังรับประทานอาหาร

สนับสนุนให้ลูกลองเมนูใหม่ ๆ

เมนูสำหรับเด็กตามร้านอาหารสำหรับครอบครัวมักเป็นที่นิยม แต่ทำไมไม่ลองพากันไปรับประทานอาหารนอกบ้านเพื่อให้ลูกของคุณลิ้มลองอาหารที่คุณอาจไม่ได้ทำกินกันเองบ้างละ ให้เด็กๆช่วยคุณเลือกอาหารทานเล่นที่ทั้งครอบครัวสามารถแชร์กันได้ เด็ก ๆ ชอบที่จะมีส่วนร่วมกับผู้ใหญ่อยู่แล้ว ใช้ข้อนี้เพื่อประโยชน์ของคุณพ่อคุณแม่ได้เลย หากคุณพ่อกำลังกินปลาหมึกอยู่พวกเด็ก ๆ จะอยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติ แชร์สิ่งที่อยู่ในจานของคุณเพื่อให้พวกเขาได้ลิ้มรสเครื่องเทศหรือเครื่องปรุงรสชาติแปลกใหม่ ตราบใดที่เด็ก ๆ ไม่ได้มีอาการแพ้อาหาร หรือไม่มีความสามารถในการเคี้ยว อาหารที่ทำให้เด็ก ๆ สนุกและแปลกใหม่จะทำให้พวกเขามีส่วนร่วมและมีความสุข

อย่าคาดหวังมากเกินไป

เป็นเรื่องง่ายที่จะลงเอยว่าคุณต้องใช้เวลาทั้งมื้อจดจ่อกับพฤติกรรมของลูกแทนที่จะได้ทำในสิ่งที่คุณตั้งใจมาทำ เอร็ดอร่อยกับอาหารของตัวเองหรือการสนทนากับใครก็ตามที่มาด้วยกัน โปรดจำไว้ว่าหากคุณพ่อคุณแม่ทำทุกอย่างด้วยความสุภาพ ลูกค้าและพนักงานคนอื่นจะเข้าใจสถานการณ์ของคุณได้ดี และในความเป็นจริงพวกเขาอาจไม่ได้สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นที่โต๊ะของคุณด้วยซ้ำ

ในทำนองเดียวกัน ลูกๆของคุณสามารถรู้สึกได้เมื่อคุณเครียดหรือวิตกกังวล อาจจะฟังดูพูดง่าย แต่พยายามไหลลื่นไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นและสนุกกับตัวเองให้ได้ คุณอาจต้องออกจากห้องรับประทานอาหารก่อนที่อาหารจะมาถึงเปลี่ยนผ้าอ้อมในห้องน้ำที่ไม่มีโต๊ะเปลี่ยน หรืออาจจะต้องจ่ายเพิ่มให้กับแก้วน้ำที่ลูกทำแตก แต่นี่คือมื้อของครอบครัว โวยวายไปก็ไม่ได้อะไร ปล่อยให้มันผ่านไปแล้วคุณจะหัวเราะกับมันในภายหลัง

สำรวจเล็กน้อยก่อนจะกลับบ้าน

เมื่อบิลลเรียกเก็บเงินมาถึง ลูก ๆ ของคุณก็พร้อมจะพุ่งออกนอกร้านทันที และบางทีคุณอาจรู้สึกแบบเดียวกัน อย่างไรก็ตามก่อนที่คุณจะมุ่งหน้าไปที่ประตูร้าน ขอให้ใช้เวลาสักครู่เพื่อกวาดพื้นโต๊ะของคุณ จริงอยู่ว่าเราจ่ายเซอร์วิสชาร์จหรือค่าทิปให้พนักงานไปแล้ว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพนักงานต้องการที่จะจัดการกับน้ำหกรั่วไหลลงพื้นใต้เก้าอี้สูงของลูกน้อย หากคุณพยายามที่จะเคลียร์พื้นที่สักนิดนึง พนักงานจะรู้สึกขอบคุณและมีแนวโน้มที่จะบริการพวกคุณอย่างดีหากคุณกลับไปอีกในอนาคต

เปิดโอกาสให้ลูก ๆ ได้สั่งอาหารของเขาเองกับพนักงาน

มีอะไรอีกบ้างที่จะช่วยให้เด็ก ๆ ทำตัวน่ารักขึ้นเมื่อต้องออกไปกินนอกบ้าน?

  1. ก่อนที่จะเดินเข้าไปในร้านอาหาร ให้เตือนเด็กๆไว้ว่า ผู้คนมากมายในร้านอาหารอาจจะเหนื่อยมาทั้งวั และตอนนี้พวกเขาอยู่ที่นี่เพื่อความผ่อนคลาย ดังนั้นพวกเราจึงต้องเงียบและสุภาพ การพูดแบบนี้ช่วยได้พอสมควร แม้ว่าพวกเด็ก ๆ จะไม่สามารถจำละทำตามนั้นตลอดเวลาก็ตาม
  2. อาจจะฟังดูเหมือนขัดแย้ง แต่ร้านอาหารที่ดูสงบเงียบบางครั้งก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่า เด็ก ๆ สามารถดึงพลังงานออกมาจากความจอแจของร้านอาหารดัง ๆ ได้ สถานที่สงบเงียบกลับสามารถให้ผลในทางตรงกันข้าม ลูก ๆ จะวางตัวดีราวกับเป็นเทวดาตัวน้อยเลยเชียวละ
  3. ทันทีที่ลูกโตพอที่จะพูดคุย ควรสนับสนุนให้พวกเขาสั่งอาหารของตัวเองโดยตรงจากพนักงานแทนที่จะใช้พ่อแม่เป็นทางผ่าน นี่เป็นวิธีที่ง่ายในการสอนพวกเขาเกี่ยวกับการสบตาและมารยาท นอกจากนี้ยังดูแล้วเป็นที่น่ารักในสายตาคนรอบข้างด้วย
  4. อย่าลืมรวมลูก ๆ ของคุณไว้ในบทสนทนาด้วย หากพวกเขารู้สึกว่าพวกเขาถูกเพิกเฉย ลูก ๆ ของคุณจะหาวิธีที่จะเรียกร้องความสนใจของคุณ และอาจไม่ได้อยู่ในรูปแบบที่คุณต้องการ
  5. ปิดฝาบนถ้วยหรือแก้วน้ำของเด็ก ๆ เสมอ นี่คือสิ่งที่ต้องมีสำหรับเด็ก ๆ ที่ชอบทำน้ำหก แต่ถึงแม้พวกเขาจะโตขึ้นและควบคุมตัวเองได้ดีขึ้นแล้ว มันก็ยังเป็นความคิดที่ดีที่จะปิดฝาแก้วไว้ตลอด หากลูกยังเล็กก็อาจจะพกผ้ากันเปื้อนส่วนตัวไปด้วย เพื่อป้องกันน้ำหกรดเสื้อผ้าตัวเก่งหากคุณไปรับประทานในโอกาสพิเศษของครอบครัว

จะเห็นได้ว่าหัวใจสำคัญของการมีมารยาทบนโต๊ะอาหารคือตัวอย่างที่ดีจากพ่อแม่และสมาชิกในครอบครัว หากคุณพ่อคุณแม่เป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็ก ๆ เห็นภายในบ้านแล้ว การจะออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านก็จะไม่ใช่เรื่องที่น่าหนักใจอีกต่อไป เด็ก ๆ จะสามารถแสดงออกได้อย่างเหมาะสมภายใต้การดูแลความคุมของคุณพ่อคุณแม่ที่เข้าใจธรรมชาติของเด็ก ๆ ที่มีจากพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย ความเข้าใจนี้จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถสอน อธิบาย รวมทั้งหาทางปรับพฤติกรรมของเขาให้เหมาะสมได้ไม่ยาก แล้วลูก ๆ ก็จะเป็นเด็กที่น่ารักสำหรับทุกคนได้จริงค่ะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th