พบเชื้อโควิดกลายพันธุ์ “มิว” แล้วอย่างน้อย 39 ประเทศทั่วโลก
ช่วงนี้ทั่วโลกล้วนแต่กังวลกับการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ค่ะ เพราะล่าสุดทางองค์การอนามัยโลกก็จับตากับเชื้อกลายพันธุ์ “มิว” (Mμ) หรือสายพันธุ์ B.1.621 ที่ตรวจพบครั้งแรกในโคลอมเบีย ทวีปอเมริกาใต้ เมื่อช่วงต้นปี 2021 ที่ผ่านมา และขณะนี้มีสัดส่วนการแพร่กระจายคิดเป็น 40% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดในประเทศ ซึ่งล่าสุดพบเชื้อแล้วอย่างน้อยใน 39 ประเทศทั่วโลก สถานการณ์การแพร่ระบาดนี้จัดว่าหนักหรือไม่ และจะส่งผลถึงไทยเราช้าเร็วแค่ไหน เรามาติดตามความคืบหน้ากันค่ะ
เชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์ล่าสุด
เพราะเป็นที่คาดการณ์กันว่าเชื้อมีความสามารถหลบเลี่ยงและต้านทานภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนหรือการเคยติดเชื้อโควิดได้ ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) จึงกำหนดให้เชื้อมิวกลายเป็นหนึ่งในเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ สายพันธ์ุล่าสุดที่อยู่ในกลุ่มการกลายพันธ์ุที่น่าสนใจ (Variants of Interest: VOI) ร่วมกับเชื้ออีตา (B.1.525) เชื้อไอโอตา (B.1.526) เชื้อแคปปา (B.1.617.1) และเชื้อแลมป์ดา (C.37)
หากพบข้อมูลเพิ่มเติมที่ยืนยันได้ว่าเชื้อมีระดับความรุนแรงมากขึ้น สามารถแพร่กระจายเชื้อได้มากขึ้น ก็จะเลื่อนระดับให้อยุ่ในกลุ่มการกลายพันธ์ุที่น่ากังวล (Variants of Concern: VOC) ซึ่งในขณะนี้มีเชื้อกลายพันธ์ุที่ WHO จัดให้อยู่ในกลุ่มนี้ 4 สายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นเชื้ออัลฟา (B.1.1.7) เชื้อเบตา (B.1.351) เชื้อแกมมา (P.1) และเชื้อเดลตา (B.1.617.2)
จากที่ก่อนหน้านี้เชื้อเดลตาเป็นหนึ่งในเชื้อกลุ่ม VOI ก่อนที่จะได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่ม VOC ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนที่จะเริ่มแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและกลายเป็นเชื้อสายพันธ์ุหลักที่แพร่ระบาดในหลายประเทศทั่วโลก
ถึงแม้ว่าเชื้อมิวจะมีแนวโน้มการแพร่ระบาดลดลงและยังคงต่ำกว่า 0.1% แต่ WHO เผยว่า จำนวนผู้ติดเชื้อมิวในโคลอมเบียและเอกวาดอร์กลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นต้องศึกษาวิจัยเพื่อทำความเข้าใจเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ให้มากขึ้น
นายพอล กริฟฟิน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากองค์กรไม่แสวงหากำไร เมเทอร์ เฮลธ์ เซอร์วิส และมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญมักจะมองหาสายพันธุ์กลายพันธุ์ที่บริเวณโปรตีนหนามที่ทำให้แม้คนฉีดวัคซีนแล้วก็ยังติดเชื้อได้ง่าย
“ถ้าโปรตีนหนามเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ก็แน่นอนว่าวัคซีนที่เรามีอาจป้องกันได้น้อยลง ซึ่งจะเป็นแบบนั้นได้ก็ต้องใช้เวลาสักระยะ แต่ตอนนี้ยังไม่เกิดขึ้น” เขากล่าว
สายพันธุ์มิวเริ่มแพร่เชื้อที่ญี่ปุ่น
กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น ระบุว่า พบนักเดินทาง 2 คน ที่มีผลการตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นบวก ติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่นี้ โดยรายแรกเป็นผู้หญิงวัย 40 ปี ที่เดินทางจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) มาที่สนามบินนานาชาตินาริตะ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ส่วนอีกคนเป็นผู้หญิงในวัย 50 ปี ที่เดินทางจากอังกฤษมาที่สนามบินนานาชาติโตเกียว (ฮาเนดะ) เมื่อวันที่ 5 ก.ค. โดยผู้ติดเชื้อทั้งคู่ไม่แสดงอาการป่วย (Asymptomatic) แต่อย่างใด
ทั้งนี้ นายวาคิตะ ทาคาจิ ผู้อำนวยการใหญ่สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติของญี่ปุ่น ระบุว่าเป็นจำต้องมีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติม อีกทั้งยังมีการยืนยันการตรวจพบหลายสายพันธุ์ แต่ควรมุ่งความสนใจไปที่สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้มากกว่าชนิดอื่น
เมื่อเวลาผ่านไป การที่ไวรัสกระจายตัวไปมากก็เท่ากับว่ามีโอกาสกลายพันธุ์มากตามไปด้วย ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการจำกัดการกลายพันธุ์ของไวรัสคือการจำกัดการกระจายของมัน ด้วยการฉีดวัคซีนให้มากขึ้นเพื่อลดโอกาสการที่ไวรัสจะมีชีวิตรอดในร่างกายมนุษย์
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th