มีลูกยาก แก้ไขยังไงได้บ้าง ค่าใช้จ่ายสูงไหม (2)
เมื่อสัปดาห์ก่อนเราได้ทำความเข้าใจกับภาวะมีบุตรยากไปแล้ว ในสัปดาห์นี้เราจะมาดูกันว่ามีวิธีแก้ไขอะไรบ้างที่จะช่วยให้คู่รักที่ “มีลูกยาก” ได้มีลูกกันสมที่ตั้งใจ วิธีการเหล่านั้นมีขั้นตอนอย่างไร รายละเอียดเรื่องค่าใช้จ่ายจะมากน้อยแค่ไหน ติดตามข้อมูลกันต่อได้เลยนะคะ
การวินิจฉัยปัญหามีลูกยาก
ผู้ที่ประสบภาวะมีบุตรยากจะได้รับการรักษาที่แตกต่างกันในระหว่างเพศหญิงและเพศชาย เบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติการรักษาและการมีเพศสัมพันธ์ของผู้ป่วย ได้แก่ การตั้งครรภ์ การแท้งบุตร ระยะเวลาที่พยายามมีลูก ระยะเวลาหลังหยุดคุมกำเนิด การมีเพศสัมพันธ์ การใช้ยา และพฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดภาวะมีลูกยาก
จากนั้นแพทย์จะตรวจร่างกายผู้ป่วย โดยผู้หญิงจะต้องรับการตรวจดัชนีมวลกาย ตรวจอุ้งเชิงกรานเพื่อดูการติดเชื้อหรือเนื้องอก ส่วนผู้ชายจะต้องเข้ารับการตรวจความผิดปกติหรือเนื้องอกที่อัณฑะ รวมทั้งตรวจรูปร่างองคชาตเพื่อดูความผิดปกติที่เกิดขึ้น การวินิจฉัยภาวะมีบุตรยากของผู้ชายและผู้หญิง ยังประกอบด้วยการตรวจอีกหลายอย่าง ดังนี้
- การตรวจสำหรับผู้หญิง ผู้หญิงจะสามารถตั้งครรภ์ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับกระบวนการตกไข่ หากเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับกระบวนการดังกล่าว แพทย์จะตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
- ทดสอบการตกไข่ แพทย์จะนำตัวอย่างเลือดผู้ป่วยไปตรวจฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เพื่อดูว่าเกิดการตกไข่หรือไม่ โดยแพทย์จะพิจารณาช่วงเวลาสำหรับทดสอบการตกไข่จากความสม่ำเสมอของรอบเดือนผู้ป่วย
- ฉีดสีดูท่อนำไข่ (Hysterosalpingography) วิธีนี้จะใช้ตรวจดูว่ามีการอุดตันหรือปัญหาที่เกิดขึ้นภายในมดลูกและท่อนำไข่ โดยแพทย์จะฉีดสารทึบรังสีเข้าไปข้างในมดลูก เพื่อให้ได้ภาพเอ็กซเรย์นำมาวินิจฉัยความผิดปกติภายใน
-
- ทดสอบการทำงานของรังไข่ (Ovarian Reserve Testing) วิธีนี้จะช่วยตรวจคุณภาพและจำนวนไข่ที่ตกออกมา โดยทดสอบจากฮอร์โมนของผู้ป่วย
- ทดสอบฮอร์โมนต่างๆ ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการทดสอบฮอร์โมนอื่นๆร่วมด้วย เพื่อตรวจระดับฮอร์โมนที่ทำให้เกิดการตกไข่
- ตรวจหนองในแท้ หนองในแท้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่งที่ส่งผลต่อการเจริญพันธุ์ แพทย์จะตรวจหนองในแท้ โดยเก็บตัวอย่างเชื้อจากปากมดลูก
- ตรวจด้วยภาพสแกน เป็นการใช้ภาพสแกนต่างๆ เพื่อตรวจดูความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในมดลูก โดยแพทย์อาจอัลตราซาวด์ช่องคลอดเพื่อตรวจดูสุขภาพมดลูกและรังไข่ รวมทั้งตรวจหาการอุดตันที่ท่อนำไข่
- ส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก (Hysteroscopy) ผู้ป่วยบางรายจำเป็นต้องได้รับการตรวจด้วยวิธีนี้ เพื่อดูปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับมดลูกและท่อนำไข่ โดยแพทย์จะสอดอุปกรณ์ขนาดเล็กและบางเข้าไปยังมดลูกเพื่อดูความผิดปกติ
-
- ตรวจด้วยวิธีผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopy) วิธีนี้ใช้เพื่อตรวจท่อนำไข่ รังไข่ และมดลูก โดยแพทย์จะผ่าใต้สะดือผู้ป่วยเพียงเล็กน้อยสำหรับสอดอุปกรณ์การตรวจเข้าไปข้างใน วิธีนี้จะช่วยระบุสาเหตุที่ทำให้มีลูกยาก ได้แก่ ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือปัญหาอื่นที่เกิดขึ้นในรังไข่และมดลูก
- การตรวจสำหรับผู้ชาย กระบวนการสืบพันธุ์ของผู้ชายนั้นขึ้นอยู่กับการผลิตอสุจิของอัณฑะและการหลั่งอสุจิเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ ผู้ที่ประสบภาวะมีลูกยากจะได้รับการตรวจหลายอย่าง เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติ ดังนี้
- ตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ (Semen Analysis) แพทย์จะให้ผู้ป่วยเก็บตัวอย่างน้ำอสุจิ เพื่อนำมาทดสอบและวิเคราะห์อสุจิ
- ทดสอบฮอร์โมน แพทย์จะเจาะเลือด เพื่อนำมาตรวจระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนและฮอร์โมนเพศชายอื่นๆ
- ทดสอบทางพันธุกรรม ผู้ป่วยอาจได้รับการตรวจหรือทดสอบทางพันธุกรรม เพื่อดูว่าเกิดความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดหรือไม่
- ตรวจชิ้นเนื้ออัณฑะ แพทย์จะผ่าเอาชิ้นเนื้ออัณฑะไปตรวจ โดยจะทำการตรวจนี้ให้แก่ผู้ป่วยบางรายเท่านั้น
- ตรวจด้วยภาพสแกน ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) สแกนความหนาแน่นของมวลกระดูก อัลตราซาวด์ต่อมลูกหมากหรือถุงอัณฑะ หรือตรวจท่อนำอสุจิ
- ตรวจอื่นๆ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องทดสอบแบบอื่น เพื่อตรวจวัดคุณภาพของอสุจิ เช่น การตรวจหาความผิดปกติในดีเอ็นเอของตัวอย่างน้ำอสุจิ
วิธีการแก้ไขและรักษา
ภาวะมีบุตรยากสามารถรักษาได้ด้วยยา การผ่าตัด หรือการช่วยตั้งครรภ์ด้วยวิธีทางการแพทย์ โดยแพทย์จะพิจารณาวิธีรักษาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยตามปัจจัยต่างๆ โดยวิธีรักษาภาวะมีลูกยากของผู้ชายและผู้หญิงมี ดังนี้
- การรักษาสำหรับผู้หญิง ผู้หญิงที่ประสบภาวะนี้อาจต้องได้รับการรักษา 1-2 วิธี จนกว่าจะสามารถตั้งครรภ์ได้ ดังนี้
- ยากระตุ้นการตกไข่ แพทย์จะใช้ยารักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการตกไข่ ซึ่งยาเหล่านี้จะกระตุ้นและทำให้ตกไข่อย่างสม่ำเสมอ
- การฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูกโดยตรง (Intra-uterine Insemination : IUI) แพทย์จะฉีดน้ำเชื้อเข้าไปปฏิสนธิกับไข่โดยตรง โดยจะสอดท่อพลาสติกที่บรรจุน้ำเชื้อเข้าไปที่มดลูกในช่วงที่เกิดการตกไข่ตามรอบเดือนปกติหรือจากการใช้ยากระตุ้นการตกไข่
- การผ่าตัด ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับมดลูก เช่น มีติ่งเนื้อโพรงมดลูก หรือเกิดแผลที่เนื้อเยื่อภายในมดลูก จะได้รับการผ่าตัดแบบส่องกล้อง
- การรักษาสำหรับผู้ชาย ผู้ที่ประสบภาวะมีลูกยากอาจได้รับการรักษาปัญหาการร่วมเพศหรือสมรรถภาพของอสุจิ ซึ่งมีวิธีรักษา ดังนี้
- ยารักษาสมรรถภาพอสุจิ แพทย์จะให้ยาเพิ่มจำนวนอสุจิ โดยยาเหล่านี้จะกระตุ้นการทำงานของอัณฑะ ส่งผลต่อคุณภาพและการผลิตอสุจิ
- การผ่าตัด ผู้ที่มีปัญหาท่อนำอสุจิอุดตันหรือหลอดเลือดดำอัณฑะขอด อาจได้รับการผ่าตัด ซึ่งใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 2-3 ชั่วโมง
- การเก็บน้ำเชื้อ ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการหลั่งอสุจิ จะต้องเก็บน้ำเชื้ออสุจิไว้ เพื่อนำไปใช้ในการช่วยตั้งครรภ์ด้วยวิธีทางการแพทย์ต่อไป
- การปรับเปลี่ยนลักษณะการใช้ชีวิต ปัจจัยจากพฤติกรรมเสี่ยงหรือการใช้ยาสามารถทำให้ประสบภาวะมีบุตรยากได้ ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาหรือสารเสพติดที่ทำให้เกิดภาวะนี้ ปรับระยะเวลาและความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์ รวมทั้งออกกำลังกายเป็นประจำ
นอกจากนี้ วิธีรักษาภาวะมีลูกยากสามารถแก้ไขได้ด้วยการช่วยตั้งครรภ์ตามด้วยนิคทางการแพทย์ ซึ่งมีหลายวิธีได้แก่ เด็กหลอดแก้ว การทำอิ๊กซี การช่วยฟักตัวอ่อน อุ้มบุญเทียม และการบริจาคไข่และอสุจิ ดังนี้
- เด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertilisation: IVF) วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้กันมากที่สุด โดยแพทย์จะให้ฝ่ายหญิงรับประทานยากระตุ้นการตกไข่ เพื่อให้ร่างกายผลิตไข่ออกมามากกว่าปกติ จากนั้นจึงนำไข่ออกจากรังไข่ เพื่อผสมกับอสุจิในห้องทดลอง เมื่อไข่ได้รับการปฏิสนธิกลายเป็นตัวอ่อนแล้ว แพทย์จะนำไปฝังในมดลูกของฝ่ายหญิงเพื่อให้เจริญเป็นทารก
- การทำอิ๊กซี (Intracytoplasmic Sperm Injection: ICSI) วิธีนี้จะใช้ในกรณีที่ฝ่ายชายผลิตอสุจิได้น้อย หรือมีคุณภาพต่ำ รวมทั้งใช้ในกรณีที่ทำเด็กหลอดแก้วไม่สำเร็จ วิธีการของการทำอิ๊กซีเป็นส่วนหนึ่งในการทำเด็กหลอดแก้ว โดยแพทย์จะฉีดน้ำเชื้อที่มีอสุจิสมบูรณ์เข้าไปปฏิสนธิกับไข่ของฝ่ายหญิงโดยตรงในห้องทดลอง จากนั้นจะนำไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิกลายเป็นตัวอ่อนไปฝังในมดลูกของฝ่ายหญิง เพื่อให้เจริญเป็นทารกต่อ
- การช่วยฟักตัวอ่อน (Assisted Hatching) วิธีนี้จะช่วยให้ตัวอ่อนสามารถฝังตัวภายในมดลูกได้ โดยแพทย์จะทำการเปิดเปลือกของตัวอ่อนเพื่อนำไปฝังภายในมดลูก
- อุ้มบุญ ผู้หญิงที่ประสบปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับมดลูก หรือสุขภาพครรภ์มีความเสี่ยงสูงจนไม่สามารถอุ้มท้องได้เอง อาจต้องให้ผู้อื่นอุ้มท้องแทน โดยแพทย์จะนำตัวอ่อนของไปฝังที่มดลูกของผู้ที่จะอุ้มบุญให้
- การบริจาคอสุจิและไข่ ผู้ที่ประสบภาวะนี้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับไข่และอสุจิ อาจต้องรับบริจาคไข่ อสุจิ หรือตัวอ่อน เพื่อนำไปใช้ทำเด็กหลอดแก้ว
ค่าใช้จ่ายในการช่วยตั้งครรภ์ด้วยเทคนิคทางการแพทย์
ค่าใช้จ่ายในการช่วยตั้งครรภ์เหล่านี้เป็นราคาที่รวบรวมมาแบบคร่าวๆ จากทั้งโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนในเขตกรุงเทพมหานคร รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ตามหัวเมืองใหญ่ ซึ่งบางทีโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งออกอาจจะออกโปรโมชั่นในลักษณะเหมาจ่ายเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์องค์กร หากคู่รักที่มีปัญหามีลูกยากสนใจก็ลองติดต่อสอบถามไปทางโรงพยาบาลที่สะดวกได้
- ค่าใช้จ่ายในการฉีดอสุจิเข้าโพรงมดลูก (IUI) ต่อรอบ 9,000-15,000 บาท
- ค่าใช้จ่ายในการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) 200,000-350,000 บาท
- ค่าใช้จ่ายในการทำอิ๊กซี่ (ICSI) 170,000-250,000 บาท
หวังว่ารายละเอียดเกี่ยวกับการแก้ไขภาวะมีบุตรยากและการช่วยตั้งครรภ์วิธีต่างๆจะช่วยให้คู่รักที่กำลังประสบปัญหานี้อยู่ตัดสินใจได้นะคะ ว่าจะเริ่มต้นรักษาด้วยวิธีไหนดี ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับผลการวินิจฉัยเป็นหลักแล้วค่ะว่ามีความผิดปกติที่ตรงไหน ทางเลือกในการรักษาหรือแก้ไขด้วยเทคนิคทางการแพทย์ก็ย่อมจะต่างกันออกไป ยังไงก็ขอให้ทุกคู่โชคดี มีเจ้าตัวน้อยมาเชยชมไวๆนะคะ
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th