มีลูกห่างกันกี่ปี ห่างแค่ไหนถึงจะดีนะ
การมีแนวทางความคิดคร่าว ๆ ว่าคุณและคู่ของคุณพร้อมที่จะมีลูกอีกคนนั้นเป็นประโยชน์มาก Motherhood เชื่อว่ามีหลายคู่ที่ยังคิดไม่ตกว่า “มีลูกห่างกันกี่ปี” ถึงจะดี วันนี้เราจะรวบรวมเอาข้อดีและข้อเสียของการมีลูกที่อายุห่างกันไม่มากและที่มีอายุห่างกันหลายปีมาให้คุณลองพิจารณาดูค่ะ
มีลูกห่างกันกี่ปีถึงจะพอดี?
ไม่ได้มีกฎที่ตายตัวเกี่ยวกับความแตกต่างของอายุระหว่างพี่น้องที่จะเป็นสูตรสำเร็จ นอกจากนี้มันขึ้นอยู่กับว่าคุณคิดอย่างไรและครอบครัวของคุณเป็นแบบไหน แต่มันก็มีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้แต่ละช่องว่างของอายุเหมาะสมสำหรับการเป็นพ่อแม่ของคุณและครอบครัวของคุณ
อายุห่างไม่มาก (น้อยกว่า 2 ปี)
ข้อดี:
- ช่วงเวลาแห่งความเหนื่อยยากของการตั้งครรภ์และในขวบปีแรกของลูกจะผ่านไปทั้งหมดในคราวเดียว
- ลูก ๆ ของคุณจะได้เล่นด้วยกัน
- ลูก ๆ จะสนใจกิจกรรมที่คล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นเกม รายการทีวีที่ชอบ ซึ่งมันทำให้ชีวิตของคุณง่ายขึ้น
- เมื่อคุณลาคลอด คุณก็จะได้ใช้เวลาร่วมกับลูกคนโตของคุณด้วย
- การมีพี่น้องที่อายุไล่เลี่ยกันนั้นทำให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ที่มากกว่า
ข้อเสีย:
- เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้ประสบภาวะแทรกซ้อนในการคลอด รวมถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการคลอดก่อนกำหนด
- มีความเหนื่อยยากในการดูแลเด็กวัยหัดเดินในขณะที่คุณกำลังตั้งครรภ์ โดยเฉพาะเมื่อแคลเซียมและธาตุเหล็กยังอยู่ในระดับต่ำจากการตั้งครรภ์ครั้งก่อน
- ลูกเล็กอาจจะรู้สึกอิจฉาทารกคนใหม่
- คุณอาจจะต้องเตรียมอุปกรณ์ในการเลี้ยงเด็กเพิ่มขึ้น เช่น เปล กระโถน เพราะลูกคนโตอาจจะยังต้องใช้ของเหล่านั้นอยู่ ยังส่งต่อให้น้องใช้ไม่ได้
อายุห่างปานกลาง (ตั้งแต่ 2-4 ปี)
ข้อดี:
- ด้วยอายุห่างราวนี้ คุณจะมีความเสี่ยงต่ำมากในการคลอดก่อนกำหนดและภาวะทารกมีน้ำหนักแรกคลอดต่ำ
- ร่างกายของคุณมีโอกาสได้พักเพื่อเยียวยาตัวเองให้กลับสู่สภาพปกติ
- คุณจะได้รับความรู้แบบอัพเดทที่สุดเกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับทารก
- คุณสามารถประหยัดเงินได้โดยใช้อุปกรณ์สำหรับทารกที่ลูกคนแรกของคุณไม่ต้องการใช้มันอีกต่อไป
- จัดเป็นช่องว่างของอายุที่พบได้บ่อยที่สุด ดังนั้นเพื่อนคุณก็มักมีลูกคนที่สองในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน
ข้อเสีย:
- ช่องว่างของอายุอาจจะกว้างไปสักหน่อย สำหรับพี่น้องที่จะเล่นร่วมกันหรือมีความสนใจคล้ายกันในชั่วขณะหนึ่ง
อายุห่างกันมาก (มากกว่า 4 ปี)
ข้อดี:
- ลูกคนโตของคุณจะใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียน เพื่อที่คุณจะได้มีโอกาสดูแลเจ้าตัวเล็กแบบตัวต่อตัว
- ลูกคนโตสามารถช่วยคุณดูแลทารกน้อยได้
- ปัญหาของความอิจฉาและไม่พอใจจะลดน้อยลง
ข้อเสีย:
- คุณอาจจะต้องทบทวนความรู้ในการเลี้ยงทารกแรกเกิดสักเล็กน้อย ควบคู่ไปกับการอัพเดทตัวเองกับข้อมูลใหม่ ๆ เพิ่มเติม
- ช่องว่างของอายุที่มากเกิน 5 ปีมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาการตั้งครรภ์และการคลอด
- ด้วยช่องว่างที่มากกว่า ลูกของคุณอาจแตกต่างกันมากและจะไม่ค่อยสนิทกันเท่าไหร่จนกว่าเขาจะโตเป็นผู้ใหญ่แล้วจริง ๆ
ปัจจัยที่ต้องคำนึงเพิ่มเติม
นอกเหนือไปจากความห่างของอายุลูก ๆ แล้ว สิ่งที่ยังต้องนำมาพิจารณาก่อนจะตัดสินใจตั้งครรภ์ครั้งที่สอง มีดังนี้
- อายุของแม่ หากคุณมีอายุมากกว่า 35 ปี สุขภาพของคุณอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้มีการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ เสี่ยงแท้ง และคลอดก่อนกำหนดได้
- ความพร้อมทางการเงิน เพราะเรื่องเงินสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ เลยทีเดียว ไม่ว่าจะค่าใช้จ่ายทั่วไปที่เกิดขึ้นแน่ ๆ ในการมีลูก แต่คุณก็จำเป็นที่จะต้องเผื่อค่าใช้จ่ายในส่วนอาการเจ็บป่วยของลูกด้วย แม้ว่าลูกคนแรกจะมีสุขภาพที่แข็งแรงดี ไม่เคยต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อปัญหาสุขภาพของเขา แต่ก็ไม่มีอะไรรับประกันว่าลูกคนถัดไปจะสุขภาพดีเหมือนเช่นลูกคนแรก
- เวลาของคุณ ต้องแน่ใจว่าคุณจะมีเวลาเพียงพอในการดูแลลูกคนแรก รวมทั้งทารกน้อยอีกคนที่ต้องการความเอาใจใส่มากเป็นพิเศษเช่นกัน
สุดท้ายแล้วการตัดสินใจทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับตัวคุณเองนะคะ คุณอาจลองขอความเห็นจากเพื่อน ๆ ที่มีลูกแล้วหลายคน หรือจากสมาชิกในครอบครัวที่มีลูกมากกว่า 1 คนก็ได้ ประเด็นสำคัญคือคุณควรปล่อยให้ร่างกายได้พักฟื้นสักระยะก่อนที่จะมีลูกคนต่อไป เพื่อความปลอดภัยของทั้งลูกและตัวคุณเองค่ะ
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th