รกเด็ก หน้าที่? ประโยชน์? หรืออาหารเสริม?
เมื่อการตั้งครรภ์เกิดขึ้น “รกเด็ก” ก็จะถูกสร้างขึ้นมาในท้องของแม่ด้วย แต่เคยสงสัยกันไหมว่าหน้าที่และประโยชน์จริงๆของรกคืออะไร และการนำรกไปผลิตเป็นอาหารเสริมประเภทต่างๆนั้นเชื่อถือได้หรือไม่ วันนี้ Motherhood ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรกมาให้คุณแม่ได้ทำความเข้าใจกันค่ะ
รกเด็ก คืออะไร?
รกเด็ก คือเซลล์หนึ่งที่เกิดหลังจากการปฏิสนธิ เมื่อคุณแม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ร่างกายก็จะสร้างเซลล์ตัวนี้ขึ้นมา และจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกจะเจริญเติบโตเป็นทารก ส่วนอีกเซลล์จะไปสร้างเป็นรกนั่นเอง เรียกว่ารกถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกับการก่อตัวขึ้นของทารกในครรภ์ โดยในเวลาปกติผู้หญิงจะไม่มีรกอยู่เลย แต่มันจะถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกับการตั้งครรภ์ รกจะเกาะอยู่ตรงส่วนผนังด้านในของมดลูกแต่อยู่นอกถุงน้ำคร่ำ และจะมีสายสะดือเชื่อมระหว่างรกกับทารกไว้ รกจะถูกตัดทิ้งออกไปพร้อมกับการคลอด ซึ่งรกก็มีบทบาทและหน้าที่ที่สำคัญเช่นกัน
ลักษณะของรก
รกมีรูปทรงแบนๆ เป็นแผ่นๆ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15-20 เซนติเมตร และมีความหนาประมาณ 2-3 เซนติเมตร ถ้าทารกมีขนาดตัวเล็ก รกก็จะมีขนาดเล็ก ถ้าทารกมีขนาดตัวใหญ่ รกก็จะมีขนาดใหญ่ตามไปด้วย
บทบาทและหน้าที่ของรก
1. ย่อยสารอาหารให้มีขนาดเล็กลง
โดยปกติ สารอาหารที่คุณแม่รับประทานเข้าไปจะถูกย่อยในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอยู่แล้ว แต่ก็อาจจะยังมีขนาดไม่เล็กพอที่จะถูกดูดซึมไปเลี้ยงทารกได้ รกเด็กจึงมีหน้าที่ในการย่อยสารอาหารให้เล็กลงอีกขั้นหนึ่ง เพื่อให้สามารถดูดซึมสารอาหารที่จำเป็นไปเลี้ยงทารกในครรภ์ได้อย่างง่ายดายมากขึ้น
2. ลำเลียงอาหาร
รกจะทำหน้าที่ในการลำเลียงอาหารที่จำเป็นไปสู่ลูกน้อยในครรภ์ผ่านทางสายสะดือ จึงทำให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ และเติบโตอย่างสมวัย มีพัฒนาการที่ดีทั้งทางด้านร่างกายและสมองไปจนตลอดการตั้งครรภ์ รกจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะหากไม่มีรก ลูกจะไม่สามารถรับสารอาหารที่แม่รับประทานเข้าไปได้นั่นเอง
3. ช่วยกรองของเสียจากเลือด
รกจะทำหน้าที่ในการกรองของเสียออกจากเลือด จึงช่วยป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูกน้อยในครรภ์ได้ ทำให้ลูกน้อยในครรภ์มีสุขภาพที่ดี แข็งแรง ลดความเสี่ยงของการแท้ง และป้องกันโรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่มักจะเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ได้เป็นอย่างดี
4. ขับถ่ายของเสียจากทารก
เมื่อมีอายุครรภ์มากขึ้น ลูกน้อยในครรภ์ก็มีการขับถ่ายของเสียออกมาเช่นกัน ซึ่งรกก็จะทำหน้าที่ในการกำจัดของเสียที่ทารกขับถ่ายออกมาอีกที โดยส่งออกไปยังระบบไหลเวียนเลือดของคุณแม่ จากนั้นไตจะทำการกรองของเสียออกจากเลือดแล้วขับออกจากร่างกายของคุณแม่ผ่านทางปัสสาวะนั่นเอง
5. ส่งออกซิเจนให้ทารก
พวกเราคงจะเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วว่าสายสะดือเป็นตัวช่วยในการส่งผ่านออกซิเจนไปสู่ลูกน้อยในครรภ์ แต่ความจริงแล้วสายสะดือเป็นเพียงทางผ่านเท่านั้น ความจริงแล้วอวัยวะที่ทำหน้าที่นำออกซิเจนมาส่งให้กับทารกก็คือรกนั่นเอง โดยจะทำให้ลูกน้อยในครรภ์ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ และปลอดภัยตลอดการตั้งครรภ์
6. ป้องกันทารกสำลักน้ำคร่ำ
เมื่ออยู่ในครรภ์ ทารกมีความเสี่ยงที่จะสำลักน้ำคร่ำได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายอย่างร้ายแรง โดยรกจะทำหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้ทารกเกิดการสำลักน้ำคร่ำ รกจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก
จะเห็นได้ว่ารกก็มีความสำคัญไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะต่อทารกในครรภ์ เพราะมันช่วยปกป้องทารกให้มีความแข็งแรงและสมบูรณ์ไปจนถึงช่วงคลอด แต่หลังจากคลอดลูกแล้วก็ต้องนำรกออกมาด้วย เพราะหากทิ้งไว้จะเป็นผลเสียต่อตัวคุณแม่ได้
ความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับรก
จากที่กล่าวมาเราจะเห็นได้ว่ารกมีความสำคัญสำหรับทารกมาก ถ้าการทำงานของรกเป็นไปตามปกติ คุณแม่ก็สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ตามปกติเช่นกัน แต่สำหรับคุณแม่บางท่าน ก็อาจมีความผิดปกติของรกเกิดขึ้นได้ ดังนี้
1. รกเกาะต่ำ
เกิดจากที่รกเกาะยึดติดในจุดที่ไม่เหมาะสม อาจจะเกาะอยู่ต่ำลงมาทางปากมดลูก หรือคุณแม่บางคนเกาะต่ำจนปิดปากมดลูกก็มีเช่นกัน ส่วนมากจะเกิดกับคุณแม่ครรภ์หลังๆ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการขูดมดลูก การทำแท้ง การล้วงรก มดลูกมีแผลผ่าตัด การอักเสบติดเชื้อ มีแผลจากการหลุดลอกของรกในครรภ์ก่อน และอีกหลายสาเหตุ
2. รกลอกตัวก่อนกำหนด
การที่รกบางส่วนหรือทั้งหมดลอกตัวออกมาก่อนถึงเวลาคลอดซึ่งเป็นอันตรายกับคุณแม่และทารกในครรภ์มาก ถ้ารกลอกตัวบางส่วนหรือทั้งหมดอาจทำให้การลำเลียงอาหารไปสู่ลูกไม่เพียงพอต่อความต้องการ ลูกจะได้รับอาหารน้อยลง แม่จะเสียเลือดมาก จึงเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ไตวาย เลือดไม่แข็งตัว ช็อกจากการเสียเลือดมาก ส่วนลูกก็อาจเสียชีวิตจากการขาดเลือดไปเลี้ยง กรณีนี้แพทย์จะต้องทำการผ่าคลอดโดยด่วน
3. รกฝังตัวแน่นเกินไป
โดยปกติหลังจากคลอดลูกแล้ว รกจะคลอดตามมาประมาณ 10-15 นาที ถ้ารอนานเป็นชั่วโมงคุณแม่จะเสียเลือดไปเรื่อย ๆ ถ้าเสียเลือดมากเกินไปอาจทำให้คุณแม่ ช็อกและเสียชีวิตจากการเสียเลือดมาก ดังนั้น ถ้าดูแล้วคุณแม่ไม่มีวี่แววว่าจะคลอดรกออกมาได้เองแน่ๆ คุณหมออาจต้องทำการผ่าตัดเพื่อนำรกออกมาเพื่อรักษาชีวิตคุณแม่ไว้
ความเชื่อเรื่องฝังรกเด็กแรกเกิด
ประเพณีโบราณที่นำรกของเด็กแรกเกิดไปฝังนั้น นับเป็นเรื่องที่คนโบราณให้ความสำคัญมาก จะทำกันโดยเก็บรกเอาไว้หลังจากตัดสายสะดือแล้ว จากนั้นหมอตำแยจะนำไปล้างให้สะอาด นำมาใส่ในหม้อทะนาน หม้อตาล หรือหม้อดินใบเล็กๆก็ได้ มีการใส่เกลือเพื่อกันเน่า แล้วเอาหม้อนั้นไปฝังดิน
การฝังรกเด็กแรกเกิด เป็นความเชื่อที่โบราณว่ารกที่ติดตัวเด็กมาตั้งแต่ในท้องแม่ เมื่อถูกตัดออกก็เท่ากับรกตาย เหมือนคนที่ตายแล้วกลายเป็นผี เมื่อรกตายจึงกลายเป็นผีรก จึงจำเป็นต้องนำไปฝัง และยังมีคติแบบโบราณที่ให้แง่คิดว่า เมื่อเด็กโตขึ้นมาจะทำให้ไม่ลืม “รกราก” ของตนเอง เมื่อมีโอกาสจะได้กลับไปตอบแทนคุณบ้านเกิดหรือภูมิลำเนาของตน
และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเด็ก การฝังรกนั้นก็ต้องมีพิธีการ แล้วแต่ละตำราว่าจะทำพิธีแบบใด มีทั้งพิธีพุทธที่นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ หรือจะเป็นการทำพิธีแบบพราหมณ์ก็ได้ ตรงนี้แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละครอบครัว
นอกจากที่ต้องทำพิธีแล้ว การฝังรกเด็กทารกนั้นต้องดูฤกษ์ยามด้วย คนเฒ่าคนแก่แต่โบราณบอกว่า รกเด็กใหม่ๆอย่าเพิ่งเอาไปฝัง เพราะยังมีกลิ่นแรง เดี๋ยวภูติผีจะมาเอาไปกิน แล้วจะส่งผลถึงตัวเด็กหรือตัวของแม่ด้วย เพื่อจะปกป้องคุ้มครองเด็กแรกเกิดจากผีร้าย คนสมัยก่อนจึงมีการนำภาพหรือยันต์รูปท้าวเวสสุวรรณ ผู้เป็นเจ้าแห่งยักษ์และภูติผี มาแขวนไว้เหนือเปลเด็กเพื่อปกป้องคุ้มกันไม่ให้ผีร้ายมายุ่งกับเด็กนั่นเอง
ผลิตภัณฑ์จากรกเด็ก
หลังจากทารกคลอดออกมา ส่วนของรกนั้นจะเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลที่จะนไปกำจัดให้เรียบร้อย แต่บางแห่งมีการนำรกของทารกนี้ไปเป็นวัตถุดิบเพื่อจุดประสงค์อื่นๆด้วย เช่น
1. ผลิตเครื่องสำอาง
ผู้ผลิตเครื่องสำอางบางรายนำรกเด็กมาเป็นส่วนผสม มีการอ้างสรรพคุณว่ามีส่วนผสมที่สำคัญให้ความรู้สึกผิวหน้าดูอ่อนวัย ผิวพรรณแลดูอ่อนเยาว์ โดยผู้บริโภคหลายรายกล่าวว่าสรรพคุณเหล่านี้เป็นข้อความชวนเชื่อเกินจริง ทางองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA กล่าวว่าส่วนประกอบชนิดนี้อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ ซึ่งการใช้รกเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่างๆยังต้องขึ้นอยู่กับข้อห้ามและคำเตือนตามข้อบังคับขององค์การ
2. เวชภัณฑ์ยา
รกเด็กถูกนำมาเป็นส่วนผสมในตัวยาบางประเภท เนื่องจากรกเด็กเป็นแหล่งของโปรตีนและฮอร์โมน โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจนและโพรเจสเตอโรน ซึ่งเป็นตัวช่วยต่อต้านโรคกระดูกพรุน ในปัจจุบัน รกเด็กถูกผลิตออกมาในรูปแบบองแคปซูล โดยการต้ม ทำให้แห้ง จากนั้นทำให้เป็นผง และบรรจุลงในแคปซูล แต่การซื้อขายยาประเภทที่ทำจากรกถือว่าเป็นการค้าขายสิ่งผิดกฎหมายเกี่ยวกับการซื้อขายอาหารที่ใช้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่
3. อาหาร
ในประเทศเวียดนามและจีนมีความเชื่อว่า การกินรกจะทำให้เพิ่มกำลังวังชาและอายุยืน รกบางส่วนจึงถูกนำมาตากแห้งเพื่อใช้บริโภค ส่วนประเทศเกาหลี รกจะถูกนำมาเผาจนเป็นขี้เถ้าและจะถูกเก็บไว้รักษาเด็กที่ป่วย ซึ่งเชื่อว่าสามารถใช้รักษาไปได้ตลอดชีวิต
ความจริงแล้วรกเด็กเป็นของเสียที่ร่างกายขับทิ้ง รกที่ร่างกายแม่ขับทิ้งมีสารอาหารหลายชนิดค่อนข้างต่ำ ไม่ว่าจะเป็นธาตุเหล็ก เซเลเนียม สังกะสี ในขณะที่มีโลหะหนักที่เป็นพิษต่อร่างกายในระดับที่สูง โลหะหนักเหล่านี้สะสมในรกเนื่องจากรกสร้างกลไกดึงธาตุเหล่านั้นมาเก็บไว้เพื่อป้องกันทารกไม่ให้รับสารพิษ คนที่กินรกเด็กย่อมได้สารพิษเข้าสู่ร่างกายมากกว่าที่จะได้รับสารที่เป็นประโยชน์
ผลิตภัณฑ์จากรกเด็กทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค โดยมีแบคทีเรียบางชนิดค่อนข้างสูง ด้วยเหตุนี้เอง FDA ตลอดจนศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกาจึงเตือนผู้ที่นิยมบริโภครกเด็กว่า เสี่ยงต่อเชื้อโรคบางชนิดที่ทำให้อาจถึงตายได้ หากไม่อยากเสี่ยงต่อการเกิดโรคอย่ากินหรือใช้ผลิตภัณฑ์จากรกเด็กอย่างเด็ดขาด
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ คุณแม่คงจะได้ทราบถึงหน้าที่และประโยชน์ของรกกันไปแล้ว รวมทั้งได้เกร็ดความรู้เกี่ยวกับความเชื่อของคนโบราณในการนำรกเด็กไปฝัง รวมทั้งมายาคติของอาหารเสริมที่ทำมาจากรกเด็กด้วย หวังว่าจะถูกใจกันนะคะ
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th