“รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ดีจริงหรือ?
สุภาษิตไทยที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมสำหรับยุคสมัยไปเสียแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและการเลี้ยงเด็กทั่วโลกมีทรรศนะที่คัดค้านกับการลงโทษหรือสั่งสอนเด็กด้วยการตีมาตลอด อย่างน้อยก็ในช่วง 10 ปีให้หลังมานี้ และในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศการตีเด็กถือเป็นอาชญากรรมตามกฎหมาย
การตีเด็กผิดกฎหมายในหลายประเทศ
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (3 ตุลาคม) สมาชิกรัฐสภาสกอตแลนด์มีมติเห็นชอบผ่านร่างกฎหมายห้ามลงโทษเด็กทางร่างกายเป็นชาติแรกของสหราชอาณาจักร ด้วยมติเห็นชอบ 84 ต่อ 29 เสียง เมื่อไรที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ก็จะส่งผลให้การตีเด็กเป็นอาชญากรรม ซึ่งการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ของสกอตแลนด์กำลังกลายเป็นประเด็นถกเถียงในสมัชชาแห่งชาติเวลส์เช่นกัน
ส.ส. จอห์น ฟินนี สมาชิกรัฐสภาสกอตแลนด์ ได้เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ ในเดือนกันยายน 2018 โดยก่อนหน้านี้การตีเด็กในสกอตแลนด์เป็นการกระทำที่ถูกกฎหมาย เพราะถือกันว่าเป็นการลงโทษเด็กที่สมเหตุสมผล และเป็นการฝึกระเบียบให้แก่เด็กๆ ที่อายุต่ำกว่า 16 ปี จนทำให้เขาต้องการผลักดันให้การตีเด็กกลายเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม พรรคอนุรักษนิยมสกอตแลนด์ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายดังกล่าว พร้อมกับระบุว่ากฎหมายนี้อาจเป็นการเอาผิดกับผู้ปกครองที่ดี และจะกลายเป็นการเพิ่มงานให้ตำรวจ เพราะต้องรับแจ้งคดีเล็กๆน้อยๆมากขึ้น
หลังจากที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา จึงทำให้สกอตแลนด์กลายเป็นประเทศที่ 58 ของโลกที่ออกกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งส่วนใหญ่มีผลบังคับใช้ทั่วยุโรปแล้ว ซึ่งประเทศแรกในโลกที่กำหนดให้การตีเด็กเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายคือประเทศสวีเดน ที่บังคับใช้ในปี 1979
ทำไมถึงไม่ควรตีลูก?
จากรายงานของยูนิเซฟ (Unicef) พบว่า 3 ใน 10 ของประชากรที่เป็นผู้ใหญ่ในโลกนี้ เชื่อว่าการลงโทษทางกายเป็นสิ่งจำเป็นในการเลี้ยงดูเด็ก แต่ก็มีหลักฐานที่แสดงว่า การลงโทษทางร่างกายและทำให้เด็กรู้สึกด้อยค่าไม่ได้ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กเลย
นักวิจัยจากทางมหาวิทยาลัยเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาและเก็บข้อมูลในจำนวนเด็กกว่า 160,000 คน มากว่า 50 ปี ซึ่งผลการวิจัยนั้นชี้ชัดไปในทิศทางเดียวกันว่า เด็กๆที่ถูกตีนั้น มักจะมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม มีแนวโน้มที่จะเป็นเด็กก้าวร้าว และมีปัญหาทางจิต
การตีหรือการลงโทษลูกโดยใช้กำลังทำร้ายร่างกาย ดุด่าด้วยถ้อยคำรุนแรง หรือการลงโทษที่ทำให้เกิดการอับอาย ถือว่าเป็นการกระทำที่เป็น Physical abuse (การทำร้ายร่างกายที่เห็นบาดแผลได้ชัดเจน) และ Emotional abuse (การทำร้ายทางด้านจิตใจ) เรียกว่าเป็นการสร้างวงจรแห่งความรุนแรงก็ว่าได้
สาเหตุที่ไม่ควรตีเด็กเพราะว่าเด็กมักจะเรียนรู้พฤติกรรมด้วยการเลียนแบบ จิตใต้สำนึกของเขาจะจดจำไว้ว่าเมื่อใครทำผิด ซึ่งบางครั้งก็อาจจะผิดแค่ในสายตาของเด็กเองคนเดียว ก็สมควรได้รับการทำร้ายร่างกาย จึงไม่แปลกหากเด็กจะตีพ่อแม่กลับคืน หรือเมื่อเขาโตขึ้นไปอาจจะกลายเป็นคนที่ซ้อมภรรยา หรือรุมประชาทัณฑ์คนที่ทำผิด
ผลกระทบจากการโดนตี
- จากการประเมินระดับความสุขในเด็กพบว่า เด็กที่ถูกลงโทษทางกายมีระดับความสุขต่ำกว่าเด็กทั่วไป
- การลงโทษเด็กทำให้เด็กเกิดความรู้สึกเป็นฝ่ายตรงข้ามหรือขัดแย้งกับพ่อแม่
- นำไปสู่พฤติกรรมที่ผิดกฎหมายและต่อต้านสังคมสูง จากการสำรวจเด็กในสถานพินิจพบว่า เด็กเหล่านี้มีประสบการณ์การถูกทำโทษมาก่อน
- ไม่ปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมในเด็กได้อย่างยั่งยืน
- ทำให้เด็กเกิดความหวาดหลัวและมีผลต่อพัฒนาการทางสมอง
- การลงโทษทางกายนำไปสู่การทำร้ายร่างกายเด็ก
ฝึกลูกให้ยอมรับผิดดีกว่า
เมื่อเด็กทำผิด คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้เด็กยอมรับผลการกระทำของตัวเอง ไม่ใช่เริ่มจากการใช้ถ้อยคำดุว่าอย่างรุนแรง สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรเน้นสอนกับลูกให้มากๆ คือการให้ลูกทำตามกฎกติกาของสังคม และการฝึกความรับผิดชอบในตัวเอง เช่น ให้เขารับรู้ว่าหน้าที่ของเขาคือการเรียนหนังสือ เขาจะได้มีความรู้ ได้มีงานทำ เลี้ยงตัวเองได้ มีชีวิตครอบครัวของตัวเองในวันข้างหน้า ไม่ใช่ไปเรียนเพราะพ่อแม่สั่ง ไม่ไปแล้วครูจะโทรฟ้องพ่อแม่ แล้วก็โดนพ่อแม่ตีหรือดุด่าว่ากล่าว
สร้างวินัยเชิงบวกให้ลูกได้อย่างไร?
- ใช้อำนาจที่มีกับเด็ก ในขณะที่ยังให้ความเคารพต่อเขา มากกว่าที่จะใช้การบังคับและความกลัว
- ปฏิบัติต่อเด็กอย่างเท่าเทียมกัน
- รู้จักรับฟัง เพื่อที่จะเรียนรู้เด็กให้มากขึ้น
- ไม่อายที่จะพูดคำว่า “ขอโทษ” กับเด็ก และยอมรับความผิดพลาด
- สนับสนุนให้เด็กมีความอดกลั้น ความเท่าเทียม ความเคารพผู้อื่น
- พร้อมที่จะให้คำอธิบายต่อเด็กเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อเด็กอยากรู้เหตุผลของการกระทำนั้นๆ
- สร้างความมั่นใจในตัวเองให้เด็ก
- มองปัญหาหรือความขัดแย้งเป็นโอกาสในการเรียนรู้และทำความเข้าใจกัน
- สื่อสารกับเด็กอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช้ความก้าวร้าว
ทางเลือกอื่นในการลงโทษลูก
- การงดกิจกรรม เช่น ถ้าลูกทำการบ้านไม่เสร็จก็อดไปเล่นนอกบ้านกับเพื่อน วิธีนี้เหมาะสำหรับเด็กอายุ 6 ขวบขึ้นไป เนื่องจากเด็กจะเริ่มเข้าใจเงื่อนไขต่างๆได้มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกให้ยึดตามกติกาที่ตั้งไว้ และใช้เหตุผลเพื่ออธิบายให้ลูกเข้าใจ
- การตัดสิทธิ์รางวัล เช่น เมื่อทำผิดจะงดการพาไปเที่ยวหรืองดขนมที่เคยเป็นรางวัลให้ลูก พร้อมกับสอนเขาด้วยว่าทำไมถึงต้องทำแบบนี้ เพื่อให้ลูกเข้าใจแล้วไม่ทำผิดซ้ำอีก
การลงโทษลูกด้วยการปรับพฤติกรรมเด็กได้ผลที่ดีกว่าการลงไม้ลงมือตีลูก แต่จะต้องใช้ความพยายามและใช้เวลามาพอสมควร เพราะนอกจากคุณพ่อคุณแม่จะต้องเข้าใจพัฒนาการตามวัยของเด็กแล้ว ยังจะต้องรู้วิธีการสื่อสารกับเด็กอย่างถูกต้อง และยังต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนในบ้าน เพื่อให้การแก้ปัญหาพฤติกรรมเด็กเป็นไปในทิศทางเดียวกันอีกด้วย
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th