“ลูกคนกลาง” ขี้น้อยใจ เป็นเด็กมีปัญหา จริงเหรอ
“ลูกคนกลาง” เขาว่าเป็นเด็กอาภัพ เพราะความสนใจของพ่อแม่มักไปอยู่ที่พี่คนโตและน้องคนเล็กซะหมด คุณพ่อคุณแม่อาจจะเคยได้ยินคำกล่าวนี้กันบ้างใช่ไหมคะ คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกหลายคนอาจจะกำลังกังวลใจว่าจะทำอย่างไรให้ลูกคนกลางไม่รู้สึกว่าเขาขาดความรัก หรือไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่มากเท่าพี่ๆน้องๆ รวมทั้งกลัวว่าเขาจะกลายเป็นเด็กมีปัญหา ลองติดตามบทความนี้ดูค่ะ จะได้รู้ว่าชีวิตของลูกคนกลางเป็นอย่างไร และควรจะจับจุดในการเลี้ยงเขาแบบไหน
ลูกคนกลางมีนิสัยอย่างไร
มันมีทฤษฎีของ Alfred Adler และทีมงานวิจัยของเขาที่บ่งชี้ว่าลำดับที่คนเราเกิดมาส่งผลต่อบุคลิกภาพของคนๆนั้นอย่างมาก ทำให้พี่น้องท้องเดียวกันหลายๆคนเกิดมามีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันชนิดหน้ามือเป็นหลังมือได้ คุณพ่อคุณแม่เองอาจจะเคยคิดว่าลูกคนกลางน้อยใจไหมที่ต้องใช้ของต่อจากพี่คนโต หรือว่าเอาเวลาไปสนใจดูแลน้องคนเล็กมากกว่า เรามาดูกันว่าจริงๆแล้วลูกคนกลางมีนิสัยอย่างไร
- ชอบเข้าสังคม
- มีมนุษย์สัมพันธ์ดี
- รักอิสระ
- มีความรู้สึกว่าต้องแข่งขันกับพี่น้องตลอดเวลา
- บางคนมีหลายบุคลิก อยู่บ้านมีบุคลิกนึง อยู่กับสังคมข้างนอกก็เป็นอีกแบบ
- ชอบตั้งเป้าหมายที่สูงเกินตัว
- รู้วิธีที่จะรับมือกับปัญหาต่างๆอย่างเข้มแข็ง
ปัญหาของการเป็นลูกคนกลางมีจริงเหรอ
ปัญหามันเกิดจากการที่ตัวเด็กเองคิดว่าตัวเองไม่ได้อยู่ในสายตาของครอบครัว พ่อแม่ไม่ได้จ้ำจี้จ้ำไชเขาเท่าพี่คนโต แต่ก็ไม่ได้คอยประคบประหงมเขาเท่าลูกคนเล็ก จึงอาจจะทำให้เด็กที่เป็ลูกคนกลางรู้สึกน้อยใจอยู่ลึกๆว่าพ่อแม่รักเขาน้อยกว่าพี่น้องคนอื่น แต่ก็ไม่ใช่ว่าลูกคนกลางที่มีความคิดน้อยใจจะกลายเป็นเด็กมีปัญหาเสมอไป หากคุณพ่อคุณแม่ทำให้เขารู้สึกว่าเขาได้รับความรักอย่างเท่าเทียมกับลูกคนอื่นๆ การที่พ่อแม่บางคนเห่อลูกคนใดคนหนึ่งมากเกินไป ก็จะสามารถทำให้เกิดปัญหานี้ได้ ไม่เฉพาะกับเด็กที่เป็นลูกคนกลางอย่างเดียวเท่านั้น
แต่ก็มีบางกรณีที่ลูกคนกลางรู้สึกอย่างมากว่าเขาไม่ได้รับความรักแบบเท่าเทียม อาจจะส่งผลให้เขามีพฤติกรรมด้านลบด้วย เช่น พอคิดว่าที่บ้านไม่มีใครสนใจก็หันไปแสดงออกอย่างเกเร เพื่อให้ได้รับความสนใจและการยอมรับจากเพื่อนๆหรือคนนอกบ้าน เพราะคิดว่าถ้าเขาไปสร้างเรื่องหรือมีปัญหาอะไรขึ้นมา พ่อแม่ก็จะหันกลับมาเอาใจใส่ดูแลเขามากขึ้นกว่าเดิม แต่สิ่งที่แย่ไปกว่านั้นคือ กับลูกคนกลางบางคนที่ทำตัวดีมาตลอด แต่พ่อแม่ก็ไม่ได้แสดงออกถึงความภูมิใจหรือให้คำชมเชยมากเท่าพี่ๆน้องๆ สิ่งเหล่านี้จะยิ่งกลายเป็นปมที่ทำให้เขารู้สึกว่าเมื่อเป็นแบบนี้แล้วเขาไม่จำเป็นต้องทำตัวดีนักก็ได้
จะเห็นได้ว่าสาเหตุของปัญหาทั้งหมดจะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติตัวของพ่อแม่มากที่สุด ตัวลูกเองเป็นคนที่ถือเกณฑ์การตัดสิน ถึงแม้บางครั้งพ่อแม่ทำในสิ่งที่ตนเองคิดว่าเท่าเทียมแล้ว ดีพอแล้ว แต่ในมุมมองของลูกคนกลางอาจจะยังคิดว่ามันคือความลำเอียงอยู่ก็เป็นได้ หากพ่อแม่สามารถแสดงออกให้ลูกคนกลางเชื่อมั่นว่าเรารักและเอาใจใส่ลูกๆทุกคนอย่างเท่าเทียมกันแล้ว ก็จะช่วยลดความรู้สึกขาด ความน้อยใจ รวมทั้งการเรียกร้องความสนใจในทางที่ผิดของลูกคนกลางลงไปได้
จัดการปัญหาอย่างไรดี
- จุดสำคัญคือการปฏิบัติตัวของพ่อแม่ที่สร้างความเท่าเทียมให้กับลูกทุกคน ไม่ทำให้ลูกเกิดความรู้สึกลำเอียง
- หมั่นเช็คความรู้สึกของลูกจากคำพูดและการแสดงออกของเขา
- ต้องสอนลูกให้จัดการกับความรู้สึกของตัวเองให้เป็น ให้เขาเรียกร้องอย่างเหมาะสมและมีความต้องการที่พอดี
- คอยสร้างบรรยากาศภายในบ้านให้มีกิจกรรมทำร่วมกันอยู่เสมอ
ในสมัยนี้ปัญหาของลูกคนกลางเริ่มลดลงจากสมัยก่อน เพราะหลายครอบครัวก็นิยมมีลูกกันแค่คนเดียวหรือสองคน และบทบาทของพ่อแม่ยุคใหม่ที่เน้นให้ลูกเป็นศูนย์กลาง ที่จะใส่ใจความเห็นของลูกมากกว่าพ่อแม่สมัยเก่า ปัญหาที่เด็กจะรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่างพี่น้องก็มีน้อยลง แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่คนไหนที่มีลูกหลายคน แล้วเป็นห่วงว่าลูกคนกลางจะคิดน้อยใจหรือเป็นเด็กมีปัญหา ก็ต้องลองนำความรู้ในบทความนี้ไปปรับใช้กับลูกน้อยนะคะ
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th