Site icon Motherhood.co.th Blog

ลูกดิ้นตอนกี่เดือน ? เริ่มนับยังไง คุณแม่ต้องรู้

ปกติลูกดิ้นตอนกี่เดือน

คุณแม่มือใหม่ต้องรู้เรื่องลูกดิ้นเอาไว้ เพราะมันสำคัญมาก

ลูกดิ้นตอนกี่เดือน ? เริ่มนับยังไง คุณแม่ต้องรู้

การดิ้นของทารกในครรภ์นั้นสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกให้คุณแม่ทราบว่าลูกในครรภ์ยังมีชีวิตอยู่ แต่สิ่งที่หลายคนยังไม่แน่ใจคือ “ลูกดิ้นตอนกี่เดือน”  ยิ่งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ การนับลูกดิ้นจะมีความสำคัญอย่างมาก เพราะจำนวนการดิ้นจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าลูกของคุณมีสุขภาพที่ดีหรือไม่ในระหว่างการตั้งครรภ์ วันนี้ Motherhood จึงรวบรวมเอาสิ่งที่คุณแม่หลายคนสงสัยเกี่ยวกับการดิ้นของเจ้าตัวน้อยในครรภ์มาฝากกันค่ะ

ทารกดิ้นอย่างไร ?

เมื่อทารกในครรภ์ดิ้น คุณแม่จะรู้สึกเหมือนโดนปลาตอด หรือรู้สึกกระตุกเบา ๆ ที่ท้อง เมื่อมดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้นการดิ้นของลูกก็จะแรงมากขึ้นตามไปด้วย จนบางครั้งคุณแม่อาจเห็นได้ว่ามีอวัยวะบางส่วนของทารก เช่น เท้า กำลังดันท้องคุณแม่

ทารกจะดิ้นให้คุณรู้สึกตัวมากขึ้นในเวลาที่คุณผ่อนคลาย

ลูกดิ้นตอนกี่เดือน ?

ในความเป็นจริงแล้ว ลูกเริ่มดิ้นตั้งแต่คุณแม่มีอายุครรภ์ประมาณ 6-7 สัปดาห์ แต่คุณจะยังไม่รู้สึกหรือรับรู้ว่าลูกดิ้น สาเหตุเพราะขนาดมดลูกยังเล็กอยู่ ปริมาณน้ำคร่ำก็ยังมีน้อย และแรงดิ้นของทารกยังเบาเกินไปจนไม่สามารถส่งผ่านไปยังผนังหน้าท้องให้คุณแม่รู้สึกถึงแรงดิ้นนั้นได้ อีกสาเหตุเป็นเพราะลูกยังตัวเล็กอยู่ และในโพรงมดลูกของคุณก็ยังมีช่องว่างมากพอที่จะให้เขากลับตัวไปมาได้โดยง่าย ทำให้การกลับตัวของทารกไม่กระทบกับผนังมดลูก คุณแม่จึงไม่ได้รับรู้ถึงการดิ้นของลูกในท้องในช่วงแรกนี้

สำหรับคุณแม่ที่เพิ่งตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก คุณจะรู้สึกได้ว่าลูกดิ้นเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 18-20 สัปดาห์ หรือ 4 เดือนครึ่งนับจากการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย ส่วนคุณแม่ที่เคยตั้งครรภ์มาแล้ว จะรู้สึกว่าลูกดิ้นไวกว่า ที่อายุครรภ์ 16-18 สัปดาห์ หรือ 4 เดือนนับจากการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายนั่นเอง

การรับรู้ว่าทารกดิ้นเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง ?

1. ท้องครั้งแรกหรือท้องหลัง หากเป็นแม่ท้องแรก จะรับรู้การดิ้นครั้งแรกของลูกได้ช้ากว่าท้องหลัง เพราะคุณยังไม่มีประสบการณ์มาก่อน แต่สำหรับแม่ท้องหลัง จะรู้ว่าสัญญาณใดคือตัวบ่งบอกว่าลูกดิ้น สัญญาณใดเป็นแค่เพียงการเคลื่อนตัวของลมในท้องเท่านั้น

2. ตำแหน่งของรก ถ้าตำแหน่งของรกอยู่ด้านหน้าของมดลูก จะทำให้มีชั้นที่กั้นระหว่างท้องของแม่กับทารกในครรภ์มาก จึงต้องใช้เวลามากขึ้นสำหรับแม่ในการรับรู้ว่าทารกดิ้น หรือจนกว่าทารกจะเจริญเติบโตมากพอแล้วมีแรงดิ้นมากขึ้นนั่นเอง

3. ปริมาณน้ำคร่ำรอบตัวทารก หากรอบตัวทารกมีปริมาณน้ำคร่ำน้อย แม่ก็จะไม่รู้สึกถึงแรงดิ้นของทารกมากเท่าไรนัก

4. ผนังหน้าท้องแม่ สำหรับคุณแม่ที่มีผนังหน้าท้องหนา ก็จะรับรู้การดิ้นครั้งแรกของลูกได้ช้ากว่าคุณแม่ท้องที่ผนังหน้าท้องบาง

ทารกดิ้นกี่ครั้งต่อวัน ?

โดยปกติแล้วทารกจะดิ้นประมาณ 200 ครั้งต่อวัน เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ประมาณ 20 สัปดาห์ และทารกจะดิ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีการพัฒนาระบบประสาทและกล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่อง จนเขาสามารถดิ้นได้สูงสุดถึง 375-700 ครั้งต่อวัน เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ประมาณ 30-32 สัปดาห์ แต่หลังจากนั้นทารกจะดิ้นน้อยลง เนื่องจากเขาตัวโตขึ้นจนเต็มโพรงมดลูก ทำให้มีพื้นที่สำหรับการดิ้นน้อยลง

ลักษณะการดิ้นของทารกในแต่ละช่วงสัปดาห์

ให้พี่ช่วยนับการดิ้นของเจ้าตัวน้อยในท้องก็น่ารักไปอีกแบบ

วิธีในการนับลูกดิ้น

  1. จดบันทึกจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นตลอด 24 ชั่วโมง หรือจดบันทึกจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นในช่วงที่คุณแม่ตื่น คือ ช่วง 9 โมงเช้า จนถึงบ่าย 3 โมงเย็น แต่จะไม่ค่อยสะดวกนักสำหรับคุณแม่ที่ยังต้องทำงานนอกบ้าน
  2. เทคนิคการนับแบบ Sadovsky โดยให้เริ่มนับตั้งแต่คุณแม่มีอายุครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ ด้วยการจดจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นหลังจากเพิ่งรับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ ซึ่งเป็นช่วงที่มีปริมาณน้ำตาลในเลือดสูง ควรมีจำนวนการดิ้นไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งใน 1 ชั่วโมง หลังจากที่คุณแม่รับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ ในแต่ละมื้อ ถ้าทั้ง 3 มื้อรวมกันแล้วดิ้นมากกว่า 10 ครั้งก็ถือว่าปกติสำหรับวันนั้น แต่หากลูกดิ้นน้อยกว่า 3 ครั้งใน 1 ชั่วโมง ให้นับต่ออีกทันที 1 ชั่วโมง และหากยังน้อยกว่า 3 ครั้งอีก ก็ให้รีบไปพบแพทย์
  3. หาเวลาว่างในแต่ละวัน แล้วลองนับจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นใน 1 ชั่วโมง ถ้าดิ้นเท่ากับ 3 ครั้ง หรือมากกว่าใน 1 ชั่วโมงถือว่าลูกยังปกติดี
  4. เทคนิคการนับลูกดิ้น Count to Ten โดยให้นับลูกดิ้นตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น หรือกินเวลาประมาณ 10-12 ชั่วโมง แล้วดูว่าลูกดิ้นมากกว่า 10 ครั้งหรือเปล่า ถ้าดิ้นมากกว่า 10 ครั้งก็ถือว่ายังปกติดี
  5. ให้นับลูกดิ้นในช่วงเวลา 2 ชั่วโมง ถ้ามีการดิ้นมากกว่า 10 ครั้งก็ถือว่ายังปกติดี

ทารกดิ้นมากหรือน้อยเกินไปหรือเปล่า ?

โดยทั่วไปแล้ว ถ้าทารกดิ้นมากจะไม่ถือว่าผิดปกติ เพราะเขาจะมีช่วงตื่นช่วงหลับเป็นวงจรอยู่ในท้อง ในช่วงที่ทารกตื่นก็อาจจะรู้สึกว่าดิ้นมาก ซึ่งไม่เป็นอันตราย แต่มีข้อยกเว้นเพียงบางกรณีเท่านั้นที่จะถือว่ามีความผิดปกติ การดิ้นที่ผิดปกตินี้จะมีลักษณะที่ต่างไปจากการดิ้นธรรมดา โดยอาการดิ้นมากที่แสดงถึงสัญญาณอันตรายคือ ทารกจะดิ้นแรงมากอยู่ระยะหนึ่งแล้วหยุดดิ้นไปเลย และไม่มีอาการดิ้นอีกต่อไป หมายความว่าทารกในครรภ์เสียชีวิตไปแล้ว เพราะการดิ้นแรง ๆ แบบนี้เป็นการที่ทารกกำลังพยายามต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด

ถ้าลูกดิ้นน้อยลง ให้ลองตั้งใจนับดูใหม่ ถ้ายังเกิน 10 ครั้งก็ยังถือว่าปกติ แต่ถ้าน้อยกว่านี้ก็ควรไปพบแพทย์ ไม่ควรรอจนกระทั่งลูกหยุดดิ้นหรือรอจนถึงวันนัด  ส่วนคุณแม่ท้องแก่ที่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลงกว่าเดิม ถ้าลองตั้งใจนับแล้วยังเกิน 10 ครั้งขึ้นไปก็ถือว่าปกติ เพราะเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์มากขึ้น พื้นที่ในท้องก็จะแคบลง พื้นที่สำหรับดิ้นก็มีน้อยตามไปด้วย

หากทารกหยุดดิ้นไปอย่างน้อย 12 ชั่วโมง คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ความเครียดส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้มาก อาจทำให้ดิ้นน้อยลงได้

สาเหตุที่ทำให้ทารกหยุดดิ้น

สารอาหารก็ต้องรับประทานให้ครบ เพราะส่งผลต่อสุขภาพทารก

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรละเลยที่จะนับการดิ้นของทารกน้อยในครรภ์นะคะ เพราะมันหมายถึงสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงของเขา และยังสามารถเป็นเครื่องมือในการสร้างปฏิสัมพันธ์กันระหว่างสมาชิกในครอบครัวด้วยค่ะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th