ลูกท้องผูก นั่งนานไปหน่อย คุณแม่ทำไงดี
ปัญหาสุขภาพของลูกน้อยย่อมทำให้คนเป็นพ่อเป็นแม่รู้สึกหนักใจเป็นธรรมดา อีกหนึ่งปัญหาที่หลายๆบ้านน่าจะเคยประสบก็คือ ลูกท้องผูก แถมอึแข็ง ถ่ายก็ยาก คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัยทารกยิ่งกังวล ส่วนเด็กโตหน่อยบางทีมัวแต่นั่งชักโครกจนถึงกับทำให้ไปโรงเรียนสาย มาดูวิธีแก้อาการท้องผูกในเด็กกันค่ะ รับรองว่าจะช่วยขจัดปัญหาลูกท้องผูกบ่อยๆได้แน่นอน
ท้องผูก คือ ปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่ายอุจจาระ ที่มีลักษณะเป็นก้อนที่มีความแข็งมากกว่าปกติ หรือมีลักษณะเป็นก้อนแข็งคล้ายเม็ดกระสุน ซึ่งทำให้ต้องใช้แรงเบ่งมากกว่าปกติและเกิดความเจ็บปวดตามมา บางคนที่มีอาการท้องผูกมากอาจมีแผลที่ก้นหรือมีเลือดปนมากับอุจจาระอีกด้วย
เมื่อทารกท้องผูก
โดยปกติแล้ว ทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 3 เดือน อาจถ่ายวันละประมาณ 2-3 ครั้ง เมื่ออายุ 3-6 เดือน ก็จะถ่ายวันละประมาณ 3-4 ครั้ง ส่วนทารกที่อายุ 6 เดือนขึ้นไปจะลดลงมาที่วันละ 1-2 ครั้ง แต่ทารกก็อาจจะไม่ได้มีการขับถ่ายทุกวัน ซึ่งไม่ได้แปลว่าเขาท้องผูกเสมอไป คุณพ่อคุณแม่จึงต้องสังเกตอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ดูลักษณะอุจจาระว่าแข็งหรือมีเลือดปนหรือไม่
ทารกจะมีความถี่ในการขับถ่ายแตกต่างกันไปตามแต่ละคน ขึ้นอยู่กับว่าเขาดื่มนมแม่หรือนมชง หัดกินอาหารได้หรือยัง แล้ววันๆเขากินอะไรไปบ้าง พ่อแม่จึงควรสังเกตอาการและความผิดปกติในการขับถ่ายให้ดี อาการที่แสดงว่าอาจท้องผูกมีดังนี้
- ไม่ค่อยถ่าย ความถี่ในการขับถ่ายแต่ละวันของทารกอาจจะไม่แน่นอน โดยเฉพาะในช่วงที่เริ่มหัดกินอาหาร หากสังเกตได้ว่าทารกไม่ขับถ่ายต่อกันเกิน 2-3 วัน อาจเป็นสัญญาณของอาการท้องผูกได้
- ต้องออกแรงเบ่งอุจจาระ พ่อแม่ควรสังเกตว่าลูกเบ่งตอนขับถ่ายแรงกว่าปกติหรือเปล่า ลูกมีอาการหงุดหงิดหรือถึงขั้นร้องไห้ตอนขับถ่ายหรือไม่ ถ้าเขามีอาการเหล่านี้ แปลว่าเขาอาจท้องผูกอยู่
- มีเลือดปนอุจจาระ ทารกที่ท้องผูกอาจมีเลือดปนออกมากับอุจจาระได้ เนื่องจากผนังทวารหนักฉีกขาดเพราะเขาเบ่งอุจจาระแรง
- ไม่กินอาหาร ทารกจะไม่ค่อยกินอาหารและอิ่มเร็ว เพราะเขารูสึกอึดอัด ไม่สบายท้อง เนื่องจากยังไม่ได้ขับถ่ายของเสียออก
- ท้องแข็ง ลักษณะท้องของทารกจะแน่น ตึง และแข็ง เป็นอาการท้องอืดที่เกิดขึ้นร่วมกับอาการท้องผูก
อาการท้องผูกมีสาเหตุจากอะไรบ้าง
ปัญหาของทารกท้องผูกมีสาเหตุอยู่หลายประการ โดยแบ่งได้ตามช่วงวัยของทารก ดังนี้
- สาเหตุอาการท้องผูกของทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน
- ปัญหาสุขภาพ หากทารกมีอายุน้อยกว่า 1 เดือนจะต้องได้รับการดูแลจากกุมารแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจเป็นอาการของภาวะลำไส้ใหญ่โป่งพองแต่กำเนิด (Hirschsprung’s Disease) ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้น 1 ใน 5,000 คน และจำเป็นจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
- น้ำนม ทารกส่วนมากที่ดื่มนมแม่มักจะไม่มีปัญหาท้องผูก เพราะในนมแม่มีไขมันและโปรตีนที่ช่วยให้อุจจาระไม่แข็งตัว แต่เด็กอาจจะถ่ายยากเพราะแพ้โปรตีนในน้ำนมหรือในอาหารบางอย่างที่คุณแม่รับประทานเข้าไปและไหลผ่านน้ำนมไปสู่ลูก
- คลอดก่อนกำหนด ทารกคลอดก่อนกำหนดหากมีอาการท้องผูกก็จะหนักกว่าเด็กทั่วไป เนื่องจากระบบย่อยอาหารยังเจริญไม่เต็มที่ ส่งผลให้อาหารที่รับประทานเข้าไปเคลื่อนตัวผ่านทางเดินอาหารได้ช้าและย่อยได้ไม่สมบูรณ์ อุจจาระจึงมีลักษณะแห้งและแข็ง
- สาเหตุอาการท้องผูกของทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป
- นมชง เด็กที่ดื่มนมชงเพียงอย่างเดียวจะมีอาการท้องผูกง่าย เนื่องจากนมชงมีส่วนผสมที่ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานหนักขึ้น ส่งผลให้อุจจาระเป็นก้อน และเด็กอาจแพ้โปรตีนในน้ำนมก็เกิดอาการท้องผูกได้
- อาหารต่างๆ จะเกิดในช่วงที่ทารกเปลี่ยนจากการดื่มนมแม่มาหัดรับประทานอาหารต่างๆ เนื่องจากร่างกายไม่ได้รับของเหลวในปริมาณเท่าเดิม และอาหารที่รับประทานก็มีเส้นใยมากกว่า จึงเกิดอาการท้องผูก
- ภาวะขาดน้ำ หากทารกประสบภาวะขาดน้ำหรือได้รับน้ำไม่เพียงพอ ร่างกายจะดูดซึมน้ำจากอาหารที่กินเข้าไป รวมถึงน้ำจากกากของเสียในร่างกาย ทำให้อุจจาระแห้งและแข็ง ขับถ่ายลำบาก
- อาการป่วยและยา อาการท้องผูกของทารกอาจเกิดขึ้นเพราะอาการป่วยอื่นๆ เช่น ไฮโปไทรอยด์ อาการแพ้อาหารบางชนิด โรคเกี่ยวกับระบบเผาผลาญอาหาร เป็นต้น รวมถึงอาการป่วยอื่นๆที่ส่งผลให้เด็กกินอาหารและดื่มน้ำน้อยลง ระบบร่างกายจึงทำงานผิดปกติและนำไปสู่ปัญหาท้องผูก
ดูแลลูกท้องผูกอย่างไร
คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกโดยการปรับพฤติกรรมการกินอาหารเป็นหลัก และสามารถกระตุ้นการขับถ่ายด้วยวิธีต่างๆร่วมด้วยได้ ดังนี้
ปรับการกินอาหารของทารก
- ทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน เนื่องจากทารกในวัยนี้จะดื่มนมแม่เป็นหลัก จึงพบอาการท้องผูกได้น้อย แต่อาการท้องผูกอาจจะเกิดได้จากอาหารที่คุณแม่รับประทานเข้าไปแล้วส่งผ่านทางน้ำนมไปสู่ลูก ดังนั้นคุณแม่ที่ให้นมลูกควรหลีกเลี่ยงอาหารที่จะส่งผลต่อการขับถ่ายของลูก
- ทารกอายุมากกว่า 6 เดือน ทารกวัยนี้เริ่มกินอาหารอย่างอื่นหรือดื่มนมชงเสริมจากนมแม่บ้างแล้ว คุณพ่อคุณแม่จึงควรปรับอาหารการกินของเขาเพื่อป้องกันท้องผูก ดังนี้
- เปลี่ยนการให้นม ทารกที่ดื่มนมชงอาจจะแพ้ส่วนผสมบางอย่างในนมผง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนยี่ห้อนม และสังเกตว่าลูกแพ้ส่วนผสมตัวไหนในนม
- เติมน้ำผลไม้ในนม น้ำผลไม้จะช่วยบรรเทาอาการท้องผูกได้ หากดื่มเพียงเล็กน้อย โดยผสมน้ำลูกพรุนหรือน้ำแอปเปิลลงไปในนมแม่หรือนมชง ปริมาณ 30-60 มิลลิลิตรต่อวัน
- เสริมใยอาหาร ทารกที่เพิ่งหัดกินอาหารควรเลี่ยงอาหารที่ทำให้ท้องผูก หลีกเลี่ยงการกินข้าวกับกล้วย เพราะสองอย่างนี้จะจับตัวกันเป็นก้อนได้ง่าย ทำให้ร่างกายย่อยยาก ควรให้ลูกกินอาหารที่มีเส้นใยมากขึ้น เช่น บร็อคโคลี ลูกพรุน แอปเปิลแบบปอกเปลือก ธัญพืชที่ปรุงสุกแล้ว ขนมปังธัญพืชแบบไม่ขัดสี
- ให้ดื่มน้ำมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกดื่มน้ำให้เพียงพอ เพราะน้ำเปล่าและนมจะช่วยให้ร่างกายของเขาชุ่มชื่นและขับถ่ายอย่างสม่ำเสมอ อาจให้ลูกดื่มน้ำลูกพรุนเพื่อกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ โดยผสมเจือจางกับน้ำเปล่าไม่ให้รสเข้มจนเกินไป
กระตุ้นลูกในการขับถ่าย
- ช่วยเคลื่อนไหวร่างกาย การเคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยในการย่อยอาหาร ร่างกายจะลำเลียงเอาของเสียออกไปได้เร็ว ถ้าทารกยังเดินไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่อาจจับขาเขาทำจักรยานอากาศเพื่อช่วยกระตุ้นได้
- นวดท้องให้ลูก วิธีนี้จะช่วยกระตุ้นลำไส้ได้ดี คุณพ่อคุณแม่ลองนวดท้องส่วนล่างที่อยู่ใต้สะดือลงไปประมาณ 3 นิ้วมือ โดยใช้ปลายนิ้วกดลงไปเบาๆ ประมาณ 3 นาที ควรนวดวันละหลายครั้งจนกว่าเขาจะหายเป็นปกติ
- ปรึกษาแพทย์ คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาที่จะช่วยให้เด็กขับถ่าย โดยแพทย์อาจจะแนะนำยาที่ช่วยให้อุจจาระไม่แข็งตัว เพื่อให้ถ่ายง่ายขึ้น แต่ก็ไม่ควรใช้ยาเหน็บก้นเป็นประจำ เพราะจะทำให้เด็กเคยชินและไม่ยอมขับถ่ายเอง และหลีกเลี่ยงการให้เด็กรับประทานยาระบายเอง หากไม่ได้อยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
สำหรับเด็กโตหน่อยที่เริ่มเข้าวัยเรียนแล้ว ก็สามารถปรับเปลี่นการกินอาหารของเขาให้มีผักและผลไม้ทุกมื้อ พร้อมทั้งเสริมสร้างลักษณะนิสัยการขับถ่ายให้เป็นเวลา ก็จะช่วยได้มากขึ้น หรือจะมองหาอาหารเสริมไฟเบอร์เป็นตัวช่วยก็ได้เช่นกัน
คุณพ่อคุณแม่สามารถนำวิธีเหล่านี้ไปใช้ดูแลลูกน้อยที่มีอาการท้องผูกได้นะคะ ยังไม่ต้องรีบหายามาใช้เอง หากทำตามวิธีแล้วลูกยังท้องผูกเกินกว่า 1 สัปดาห์ ก็ต้องไปหาแพทย์อย่างจริงจังแล้วค่ะ แพทย์จะได้วินิจฉัยและดำเนินการรักษารวมทั้งสั่งยาได้อย่างถูกต้องค่ะ
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th