ลูกพูดไม่ชัด อย่าปล่อยให้เป็นปัญหาเรื้อรัง
หลังจากที่ลูกรักเริ่มหัดพูดได้บ้างแล้ว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะกังวลตามมาก็คงเป็นความกลัวว่า “ลูกพูดไม่ชัด” แต่ก็ยังมีพ่อแม่อีกจำนวนนึงที่มองข้ามปัญหานี้ อาจจะเพราะมองว่าน่ารักดีแบบเด็กๆ เห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย เลยไม่ได้ให้ความสำคัญ หากปล่อยไปอาจส่งผลเสียกับเด็กในการใช้ชีวิตได้
โดยปกติแล้วเด็กจะเริ่มมีพัฒนาการของการพูดเป็นคำได้ตอนที่เขาอายุ 1 ขวบ เช่น แม่ พ่อ หม่ำ ส้ม มา เป็นต้น และจะเริ่มพูดยาวเป็นประโยคได้เมื่อเข้าอายุ 2 ขวบ พอเข้าช่วง 3-4 ปี ลิ้นของเด็กจะทำงานได้ดีขึ้น เขาจะเริ่มออกเสียง ร.เรือ กับ ล.ลิง ได้ โดยที่เด็กจะเริ่มออกเสียงพยัญชนะต่างๆได้มากขึ้นไปตามช่วงวัย คุณพ่อคุณแม่และผู้ใหญ่ในครอบครัวสามารถช่วยกันสังเกตว่าเด็กมีอาการพูดไม่ชัดได้ด้วยการฟังเขาออกเสียงพยัญชนะตามช่วงอายุ หรือสังเกตจากการเปรียบเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน โดยเฉพาะในเวลาที่เขาพยามสื่อสารกับพ่อแม่ เราเข้าใจสิ่งที่เขาพูดหรือไม่
หากลูกมีอายุเกิน 2 ขวบแล้วยังพูดไม่ชัด คุณพ่อคุณแม่สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินหาสาเหตุได้ จากนั้นก็จะเข้าขั้นตอนการรักษาหรือการบำบัดการพูดต่อไป
ทำไมลูกพูดไม่ชัด
- มีโครงสร้างปาก ลิ้น ฟัน ที่ผิดปกติ เช่น ถ้าลิ้นไม่กระดก มีเอ็นยึดใต้ลิ้น จะทำให้การออกเสียงที่ต้องกระดกลิ้นมีปัญหา หรือโครงสร้างเพดานปากอ่อนผิดปกติ ทำให้เด็กมีเสียงพูดที่อู้อี้ บูบี้ เป็นต้น
- พูดไม่ชัดด้วยตัวเอง ทั้งที่โครงสร้างภายในปากไม่มีความผิดปกติใดๆ อาจเกิดจากการเลี้ยงดู เช่น เวลาที่เด็กพูดไม่ชัดแล้วผู้ใหญ่หัวเราะชอบใจ แถมชมว่าน่ารัก เด็กก็จะจำว่าการออกเสียงแบบนั้นเป็นเรื่องที่ถูก จนติดนิสัยพูดไม่ชัด
- ขาดการกระตุ้นที่เหมาะสม เช่น ผู้ปกครองไม่มีเวลา จึงให้ลูกอยู่กับโทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์ เด็กเลยรับสารจากช่องทางเดียว ไม่มีการสื่อสารกับผู้คนรอบข้าง ทำให้พัฒนาการทางภาษาของเด็กหยุดชะงัก
- มีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น มีภาวะออทิสติก มีความผิดปกติทางการได้ยิน หรือมีประวัติคนใกล้ชิดในครอบครัวพูดช้าหรือพูดไม่ชัด
ผลกระทบเมื่อลูกพูดไม่ชัด
ปัญหาพูดไม่ชัดนี้ส่งผลต่อตัวเด็กเองหลายอย่าง เช่น การพูดกับเพื่อนแล้วเพื่อนไม่เข้าใจ หรือหากเพื่อนต้องถามย้ำบ่อยๆเพราะฟังไม่เข้าใจ ก็จะทำให้เด็กรู้สึกอับอาย สูญเสียความมั่นใจ ไม่อยากพูด หรือหากโดนเพื่อน bully ก็ยิ่งทำให้เขาเก็บตัว เข้าสังคมน้อยลง
ในบางรายอาจจะส่งผลกระทบไปถึงการเขียนและการสะกดคำ เช่น หากเด็กพูดคำว่าน้ำส้มเป็น “น้ำต้ม” เวลาเด็กเขียนก็จะสะกดตัวตามเสียงที่เขาพูดนั่นเอง
วิธีการรักษา
เริ่มต้นจากการประเมินโครงสร้างภายในช่องปากของเด็กก่อนว่ามีส่วนที่ผิดปกติหรือไม่ และตรวจการได้ยินของเด็กว่าปกติดีไหม เพราะการได้ยินไม่ชัดก็จะส่งผลให้ลูกพูดไม่ชัดด้วย จากนั้นทำการประเมินทีละเสียงเพื่อหาว่ามีเสียงไหนบ้างที่เด็กออกเสียงได้ไม่ชัด หากพบว่าการที่เด็กไม่สามารถออกเสียงบางเสียงได้นั้นเกิดมาจากมีโครงสร้างภายในปากที่ผิดปกติอย่างมาก แพทย์อาจจะต้องพิจารณาแก้ปัญหาด้วยการผ่าตัดแก้ไข หากเป็นอาการพูดไม่ชัดแบบที่เด็กไม่มีความผิดปกติในช่องปากเลย แพทย์จะจัดให้เด็กพบกับนักบำบัด และเข้ารับการบำบัดในเสียงที่เด็กออกได้ไม่ชัด ซึ่งพ่อแม่ต้องมีส่วนช่วยโดยการนำกลับไปฝึกฝนเพิ่มเติมที่บ้านด้วย มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าเสียงหนึ่งเสียงจะต้องใช้เวลาฝึกอย่างน้อย 3 เดือนในการพูดให้ชัด
ปัญหาการพูดไม่ชัดของลูกเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรละเลย เพราะจะส่งผลกระทบต่อบุคลิกภาพและสภาพจิตใจของเด็กได้อย่างมาก คุณพ่อคุณแม่และสมาชิกในครอบครัวควรช่วยกันสังเกตการออกเสียงของลูก หากพบปัญหาจะได้เข้ารับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญให้ทันท่วงที
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th