“วัคซีน Covid-19” ของไทยเริ่มทดสอบกับลิงแล้ว
ขณะนี้ยอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทั่วโลกทะลุ 3.3 แสนคนแล้ว และนักวิจัยจากหลายชาติต่างก็กำลังเร่งคิดค้น “วัคซีน Covid-19” กันอยู่ แต่เราต่างก็รู้ดีว่าในการคิดค้นวัคซีนสำหรับโรคหนึ่ง ๆ เราต้องใช้เวลากันเป็นปี แต่ในสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ แม้จะมีข่าวว่าทีมนักวิจัยใดได้เริ่มทำการทดลองวัคซีน ก็นับเป็นการสร้างความหวังให้กับผู้คนทั่วโลกเป็นอันมาก และล่าสุดในประเทศไทยเราก็ได้เริ่มทดสอบวัคซีนนี้ในลิงแล้ว
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา อังกฤษเริ่มทดลองวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในมนุษย์เป็นครั้งแรกในยุโรป โดยเป็นการฉีดให้อาสาสมัคร 2 คนแรก จากผู้ที่สนใจเข้าร่วมการทดลองทั้งหมดกว่า 800 คน ทางฝั่งจีน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี และแคนาดา เองก็มีการประกาศว่าเริ่มทดลองวัคซีนโควิด-19 ในมนุษย์แล้วเช่นกัน
ทางด้านประเทศไทย นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำทีมผู้บริหาร อว. ลงพื้นที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เพื่อติดตามความคืบหน้าการทดสอบวัคซีนโควิด-19
ซึ่งวัคซีนตัวที่ใช้ทดลองนี้เป็นเทคโนโลยีใหม่ของการวิจัยวัคซีน โดยใช้สารพันธุกรรมของเชื้อชนิด mRNA (เอ็ม-อาร์-เอ็น-เอ) ที่ผ่านมาการทดสอบวัคซีนชนิดนี้ในหนูถูกระบุว่าประสบความสำเร็จในระดับดี ผู้วิจัยจึงเริ่มการทดสอบในลิง โดยใช้ลิงแสมเพศเมียทั้งหมด 13 ตัว อายุระหว่าง 4-6 ปี หรือเทียบได้กับคนที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป หรือเท่ากับคนที่เข้าวัยเจริญพันธุ์
นายสุวิทย์บอกว่า จะทดสอบวัคซีนตัวนี้ในลิง 3 ครั้ง ซึ่งหลังการทดสอบในเข็มที่ 2 จะทำให้เห็นผลการป้องกันโรคโควิด-19 ได้แล้ว ทั้งนี้ลิงถือเป็นสัตว์ที่ตอบสนองกับเชื้อไวรัสได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด โดยในการทดสอบกับลิงจะดูเรื่องของความปลอดภัย การไม่เกิดโรคแทรกซ้อนเมื่อได้รับวัคซีน และการตอบสนอง หมายความว่าวัคซีนต้องสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้จริง ก่อนจะนำวัคซีนไปทดสอบในมนุษย์ในเดือน ส.ค. นี้
นายสุวิทย์ชี้ว่า ตอนนี้ไทยอยู่ในขั้นตอนที่ไล่เลี่ยกับทั่วโลก นั่นคือ มีการทดสอบในสัตว์เพียง 6-7 แบบ ส่วนที่เริ่มทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 แล้ว มีที่จีนและสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่ากระบวนการทั้งหมดของเราจะเสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน
หลักการพัฒนาวัคซีน Covid-19
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนฯ เปิดเผยว่า ได้ทำสัญญากับมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งของจีน ในการร่วมวิจัย ร่วมทดลองวัคซีนในคนไทย การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการได้รับวัคซีนมาใช้อย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกจากมหาวิทยาลัยในจีนแล้ว สถาบันวัคซีนยังอยู่ระหว่างเจรจาความร่วมมือในการพัฒนาวัคซีนกับหน่วยงานอื่น ๆ ในจีน เกาหลี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี เพื่อให้มีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นในการรับวัคซีน
สำหรับการทดลองวัคซีนในมนุษย์นั้นแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
1. ทดสอบความปลอดภัย ใช้ผู้ทดลอง 30-50 คน
2. กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ใช้ผู้ทดลอง 100-150 คน เพื่อดูว่าวัคซีนที่พัฒนามานั้นสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันไวรัสได้จริงหรือไม่
3. ทดสอบผลในการป้องกันโรค ใช้ผู้ทดลอง 500 คนขึ้นไป
นพ.นคร ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนฯ อธิบายถึงการทำงานของวัคซีนโควิด-19 ว่าวัคซีนนี้จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน (Antibody) เพื่อคอยป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เกาะจับผนังเซลล์เพื่อเข้าสู่เซลล์ทางเดินหายใจได้ เมื่อไวรัสเข้าสู่เซลล์ไม่ได้ก็จะเสียสภาพและตายไป
นพ.นครให้ความเห็นว่าการทำสัญญาร่วมทดลองวัคซีนกับต่างประเทศถือเป็นหนทางเข้าถึงวัคซีนที่เร็วที่สุด แต่ควรทำควบคู่ไปกับการพัฒนาวัคซีนต้นแบบในไทยเอง เพื่อให้มีนักวิจัยที่เชี่ยวชาญและพร้อมผลิตวัคซีนได้เองในประเทศ
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th