3 วิธีจับลูกเรอ อุ้มเรอให้ได้ผลชะงัดหลังกินนม
หลังจากที่ลูกน้อยดูดนมจากแม่อิ่มแล้ว หรือจะดูดจากขวดนมก็ตาม หลังจากนั้นคุณพ่อคุณแม่จำเป็นจะต้องอุ้มเรอเพื่อให้เขาสบายตัว แต่บางคนอาจจะยังไม่รู้ “วิธีจับลูกเรอ” ว่าสามารถทำได้อย่างไรบ้าง ติดตามอ่านเทคนิคการจับลูกเรอให้ได้ผลในบทความวันนี้ได้เลยค่ะ
การเรอคืออะไร?
เรอ คือการปล่อยฟองก๊าซผ่านขึ้นมาทางหลอดอาหารและออกจากปาก การเรอบางชนิดก็เป็นการเรอแบบเปียกหรือการแหวะของเด็ก ๆ ที่มักมีเศษอาหารออกมาด้วย ดังนั้นจะต้องใช้ผ้ารองน้ำลายร่วมด้วยเวลาที่จับลูกเรอ
ทำไมทารกต้องเรอ?
เมื่อฟองก๊าซติดอยู่ในท้องของทารกก็อาจทำเขาให้รู้สึกอิ่มและไม่สบายตัว ซึ่งมักทำให้ทารกดิ้นหรือร้องไห้ ทารกใช้การร้องไห้เป็นสัญญาณในการบอกความรู้สึกเกือบทุกครั้ง ไม่ว่าพวกเขาจะเหนื่อย หิว รู้สึกเปียกชื้น หรือแค่เบื่อ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่าการร้องไห้นั้นมันสืบเนื่องมาจากความรู้สึกไม่สบายท้องเพราะแก๊สหรือเปล่า นั่นเป็นเหตุผลที่ American Academy of Pediatrics (AAP) แนะนำให้อุ้มเรอลูกของคุณเป็นประจำ แม้ว่าลูกของคุณจะไม่รู้สึกอึดอัดหรือปล่อยแก๊สเมื่อคุณอุ้มเรอให้เขา “เพราะเราไม่ทราบว่าอากาศจะเข้าไปในท้องของตัวเองได้มากน้อยเพียงใด ดังนั้น จึงเป็นความคิดที่ดีที่เราจะอุ้มเรอเด็กทารก แม้ว่าพวกเขาจะไม่แสดงอาการไม่สบายตัวให้เห็นก็ตาม” แพทย์หญิงเอริก้า แลนเดา กุมารแพทย์จากนิวยอร์ก และผู้แต่งร่วมของหนังสือ The Essential Guide to Baby’s First Year ได้ให้คำแนะนำ

แก๊ซเข้าไปในท้องได้อย่างไร?
1. กลืนอากาศเข้าไป
เมื่อทารกดูดนมแม้หรือดื่มจากขวด พวกเขาย่อมกลืนอากาศบางส่วนลงไปในท้องของพวกเขาพร้อมกับนม “สิ่งนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งกับเด็กทารกที่กินนมขวด ซึ่งมีแนวโน้มที่จะกินนมอย่างเร็ว” ดร. แลนเดากล่าว “แต่ทารกที่กินนมแม่ก็จะกลืนอากาศเข้าไปบางส่วนเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าแม่มีน้ำนมมาก หรือเด็กหิวมากและอยากกินเร็ว”
2. การย่อยอาหาร
การสลายตัวของอาหารบางชนิดในลำไส้ใหญ่โดยแบคทีเรียนั้นสามารถสร้างก๊าซออกมาตามธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงอาหารที่ทารกกินเข้าไป รวมทั้งอาหารที่แม่บริโภคและส่งผ่านไปยังนมแม่ จากข้อมูลของสถาบันสุขภาพแห่งชาติระบุว่า อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดก๊าซมากขึ้น จำเลยที่พบบ่อยที่สุดคือถั่วและผัก เช่น บรอคโคลี่ ดอกกะหล่ำ กะหล่ำปลี และแขนง ลูกอมและหมากฝรั่งปราศจากน้ำตาล น้ำอัดลม และเครื่องดื่มรสผลไม้
3. ปฏิกิริยาจากการแพ้อาหาร
ถ้าเด็กกินนมแม่และมีการแพ้สารบางอย่างจากอาหารของแม่ หรือในนมผงบางประเภท ร่างกายของเขาอาจตอบสนองโดยการสร้างก๊าซมากขึ้น การแพ้ผลิตภัณฑ์จากนมเป็นสาเหตุของอาการที่พบบ่อยที่สุด
เมื่อไรที่ต้องอุ้มเรอ?
แนะนำให้อุ้มเรอลูกในระหว่างการหยุดพักการให้นมและเมื่อเขากินเสร็จแล้ว สำหรับคุณแม่ที่ให้นมลูกลองอุ้มเรอก่อนเปลี่ยนเต้านม สำหรับคุณแม่ที่ให้นมขวด ขอแนะนำให้เรอระหว่างทุก ๆ ระยะ 2 ถึง 3 ออนซ์ ไม่ว่าคุณให้นมลูกจากขวดนมหรือให้นมด้วยตัวเอง การอุ้มเรอหลังอาหารอาจเป็นเรื่องสำคัญ พยายามอย่ารอจนกระทั่งลูกหลับไปจริง ๆ การปลุกลูกให้ตื่นขึ้นมาเพื่อทำการอุ้มเรออาจจะทำให้เด็กหงุดหงิดได้ เมื่อทารกเริ่มดูดนมช้าลงหรือไม่ดูดและกลืนอีกต่อไป ให้ค่อย ๆ นำเขาไปยังตำแหน่งที่ต้องการอุ้มเรอ
3 วิธีจับลูกเรอยอดนิยม
มี 3 เทคนิคยอดนิยมสำหรับการอุ้มเรอ และวิธีอื่น ๆ อีกมากมาย แต่เพื่อเป็นการประหยัดเวลาเราจะอธิบายครอบคลุมเฉพาะ 3 วิธีหลัก ดังนี้
1. อุ้มพาดไหล่
เพียงแค่วางลูกน้อยบนไหล่ของคุณเบา ๆ แล้วตบหรือถูหลังเพื่อขับไล่อากาศที่ติดอยู่ คุณควรจะใช้ผ้ารองน้ำลายหรือผ้าอ้อมผ้าวางรองบนไหล่ของคุณก่อน อย่างไรก็ตาม มันขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นคนจับลูกอุ้มเรอ ซึ่งก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในวิธีการอุ้ม หากเป็นคุณแม่ ให้วางทารกในแบบที่ท้องของเธอวางอยู่บนหน้าอกของคุณ การทำเช่นนี้จะทำให้เกิดแรงกดเบา ๆ ที่ท้องของเด็ก ช่วยให้เรอออกมาได้ง่ายขึ้น หากเป็นคุณพ่อ ก็ให้ยกตัวทารกขึ้นไปสูงกว่านั้นเล็กน้อย เพื่อให้ท้องของทารกอยู่บริเวณหัวไหล่พ่อ แต่ไม่ว่าจะทำวิธีใด อย่าเขย่าเด็กไปด้วยระหว่างที่อุ้มเรอ
2. คว่ำหน้าลงบนตัก
นั่งบนเก้าอี้หรือโซฟาที่มั่นคงโดยให้เท้าทั้งสองอยู่บนพื้น วางลูกให้นอนคว่ำหน้าลงบนขา โดยให้ขานึงอยู่ข้างใต้ท้องของเขาและอีกข้างอยู่ใต้หัวของเขา และหันศีรษะไปด้านข้าง รองขาด้วยผ้ารองน้ำลายหรือผ้าอ้อมผ้าเพื่อหลีกเลี่ยง “การแหวะ” ใช้มือหนึ่งจับตัวเขาไว้และอีกมือให้ตบเบา ๆ หรือลูบหลังเป็นวงกลม เมื่อทารกโตขึ้นกว่านั้นเล็กน้อย พ่อแม่บางคนเลือกที่จะนอนตะแคงและวางทารกคว่ำหน้าลงเหนือสะโพกเพื่อช่วยเรอ
3. นั่งหลังตรง
ให้ทารกนั่งในท่าหลังตรง จับตัวเขาเอนไปทางข้างหน้าเล็กน้อย แล้วใช้มือข้างหนึ่งหนุนหน้าอกและศีรษะของเขาและมืออีกข้างหนึ่งถูและตบเบา ๆ บนหลัง เมื่อทารกคอแข็งขึ้น สามารถควบคุมคอและศีรษะเองได้มากขึ้น ในท่าเดียวกันนี้ ให้ลองขยับขาของทารกเพื่องอเข่า และยกแขนของเขาขึ้นในมุม 90 องศาจากลำตัว
ต้องอุ้มเรอนานแค่ไหน?
หากทารกไม่ได้เรอออกมาภายในหนึ่งนาทีหรือแสดงท่าทางพยายามที่จะเรอ แปลว่าเขาอาจจะไม่ต้องการให้ช่วยเขาเรอ เพราะบางครั้งอากาศจะใช้เวลาเดินทางนานเล็กน้อยจากท้องของเด็ก หากพบว่าลูกบิดตัวไปมา หรือทำใบหน้าที่ไม่มีความสุขให้พยายามทำให้เขาเรออีกครั้ง เว้นเสียแต่ว่าเขาจะงีบหลับ ให้ลองจับเขาอยู่ในท่านอนหงายสักพักหนึ่ง การลุกขึ้นนั่งหรือขยับท่าทางจะช่วยให้เรอออกมาได้เองตามธรรมชาติ
เมื่อไรที่การอุ้มเรอไม่จำเป็นอีกต่อไป?
คำแนะนำทั่วไปคือเมื่อไรก็ได้ระหว่าง 4 – 9 เดือน หรือเมื่อทารกเริ่มกินอาหารแข็ง เนื่องจากเป็นช่วงที่มีระยะเวลาค่อนข้างนาน จึงมีจุดให้สังเกตได้คือ หากลูกไม่ได้เรอหรือลูกยังดูงอแง ให้อุ้มเรอ ถ้าลูกเริ่มเรอด้วยตัวเองได้ หรือเมื่อเขาสามารถนั่งเป็นเวลานานได้เอง ก็ควรเริ่มให้เขาพัฒนาทักษะการเรอด้วยตัวเอง
เด็กที่เรอไม่ค่อยเยอะ?
หากเด็กเรอไม่เยอะก็ไม่เป็นไร ไม่ว่าเด็กจะเรอหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาดูดอากาศเข้าไปมากแค่ไหนในขณะที่เขากินนม ตราบใดที่ทารกมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสมและไม่รู้สึกอึดอัด การเรอก็ไม่จำเป็นเสมอไป นอกจากนี้ เด็ก ๆ อาจจะไปปล่อยปุ๋งที่ข้างล่างแทน แต่คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับขวดนมสำหรับโคลิคที่ได้รับการพิสูจน์ทางการแพทย์แล้วว่าลดอาการจุกเสียดของเด็กได้
หวังว่าคุณพ่อคุณแม่มือใหม่จะได้รับความรู้เกี่ยวกับวิธีจับลูกเรอไปเพิ่มกันทุกคนนะคะ จะเห็นได้ว่าไม่ใช่วิธีที่ยุ่งยากหรือซับซ้อนอะไรเลย เพราะเด็ก ๆ หลายคนก็มีความพยายามที่จะเรอออกมาเองอยู่แล้ว ผู้ใหญ่เพียงแค่ช่วยเล็กน้อยเท่านั้นเองค่ะ
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th