วิธีล้างจมูก ช่วยบรรเทาอาการจากฝุ่นให้ลูกได้ดี
วิธีล้างจมูก มันมีประโยชน์อย่างไร คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงจะมีความสงสัย ถ้าอยากทำให้ลูกบ้างจะเป็นอันตรายไหม เด็กอายุเท่าไหร่ถึงจะล้างจมูกได้ เชื่อว่ามีพ่อแม่หลายคนอยากจะทำให้ลูกบ้างแต่ลูกยังเล็กอยู่ก็กลัวเขาจะสำลัก แล้วจะต้องทำบ่อยแค่ไหนถึงจะดี ลองติดตามบทความนี้ดูนะคะ
การล้างจมูกคืออะไร
การล้างจมูก (Nasal Irrigation) เป็นการชะล้างเอาน้ำมูก หนอง และสิ่งสกปรกที่ติดค้างในจมูก ที่เกิดจากการอักเสบในโพรงจมูกและไซนัส ด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ เพื่อให้โพรงจมูกและบริเวณรูเปิดของไซนัสโล่ง บรรเทาอาการคัดจมูกและน้ำมูกไหล แรกเริ่มเดิมที่การล้างจมูกนี้ยังไม่เป็นวิธีที่แพร่หลายกันไปทั่วโลก เพราะมีต้นกำเนิดมาจากศาสตร์อายุรเวทของประเทศอินเดีย และแพร่หลายแค่ในกลุ่มเอเชียใต้เท่านั้น
การล้างจมูกมีข้อดีอย่างไร?
ในจมูกคนเรามีโครงสร้างลักษณะเป็นขนขนาดเล็กที่เรียกว่าซีเลีย (Cilia) อยู่ภายในจมูกและโพรงจมูก คอยพัดเอาน้ำมูกหรือสารคัดหลั่งไปที่หลังคอให้ถูกกลืนลงไปหรือไม่ก็พัดให้ออกไปจากจมูก การใช้น้ำเกลือช่วยล้างจะมีประโยชน์ในการช่วยกำจัดแบคทีเรีย ไวรัส และสารก่อความระคายเคืองทั้งหลายให้หลุดออกไปรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันการลุกลามของเชื้อโรคจากจมูกและไซนัสไปสู่ปอด ในกรณีที่ซีเลียไม่อาจทำหน้าที่ได้ตามปกติเนื่องจากเยื่อบุโพรงจมูกบวม การล้างจมูกจะช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองในจมูก และให้ความชุ่มชื้นแก่เยื่อบุจมูก อาการหวัดของลูกจะดีขึ้นไวกว่าการกินยาแค่เพียงอย่างเดียว สามารถขับเอาน้ำมูกเหนียวข้นที่ลูกไม่สามารถขับเองได้ออกมา เมื่อโพรงจมูกสะอาด ลูกก็หายใจได้โล่งขึ้น
การล้างจมูกจึงสามารถนำมาใช้กับผู้ที่มีภาวะต่าง ๆ ต่อไปนี้
- ผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบ
- ผู้ป่วยภูมิแพ้
- ผู้ที่มีอาการคัดจมูกจากโรคหวัด
- ให้ความชุ่มชื้นแก่โพรงจมูกที่แห้งจากการอยู่ในห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศ
การล้างจมูกมีอันตรายหรือไม่?
การล้างจมูกเป็นวิธีที่ปลอดภัย สามารถใช้ได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่ไม่ควรนำมาใช้กับทารกที่อายุยังน้อย และควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าจะปลอดภัยหรือสามารถบรรเทาอาการที่เป็นหรือไม่ น้ำเกลือที่ใช้ล้างจมูกก็จะต้องเป็นน้ำเกลือที่อ่อนโยนมาก จึงไม่เป็นอันตรายหากลูกจะมีการสำลักน้ำเกลือเพราะดิ้นหรือร้องไห้ ส่วนการสำลักน้ำเกลือรุนแรงถึงขั้นลงปอดนั้น ในเด็กปกติที่ไม่ได้มีโรคเกี่ยวกับสมองหรือมีอาการทางระบบประสาท โอกาสที่จะสำลักแรงขนาดนั้นถือว่าต่ำมาก เพราะเวลาที่เด็กส่งเสียงร้องออกมา กล่องเสียงจะปิดอยู่ ซึ่งคนเราไม่สามารถหายใจเข้าพร้อมกับเปล่งเสียงได้ เท่ากับว่าโอกาสสำลักแทบเป็นไปไม่ได้
และในการฉีดน้ำเกลือล้างจมูก เด็กจะพ่นหรือถุยน้ำเกลือออกมาก่อนเองอยู่แล้ว น้ำเกลือที่อาจจะตกค้างอยู่จึงเหลือปริมาณน้อยนิด ไม่มากพอที่จะสำลักแล้วเดินทางเข้าไปถึงปอดได้
ทั้งนี้ผู้ที่เกิดการติดเชื้อบริเวณหูหรือโพรงจมูกที่มีอาการแน่นจมูกและหายใจลำบากไม่ควรใช้วิธีล้างจมูก อีกทั้งยังต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาดของอุปกรณ์ที่ใช้เป็นอย่างมาก ไม่เช่นนั้นจะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยเฉพาะหากเป็นผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานไม่ปกติ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทำการล้างจมูก
ควรล้างจมูกบ่อยแค่ไหน
เมื่อพบว่าลูกมีน้ำมูกข้นเหนียว แน่นจมูก หรือก่อนจะใช้ยาพ่นจมูก ควรล้างจมูกวันละ 2 ครั้ง ช่วงตื่นนอนตอนเช้าและก่อนเข้านอน
วิธีล้างจมูกเด็กที่ถูกต้อง
คุณพ่อคุณแม่สามารถล้างจมูกให้ลูกโดยแบ่งวิธีการล้างจมูกให้เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงวัย ดังต่อไปนี้
- เด็กอ่อน – 6 เดือน
ในเด็กที่ยังเล็กมากขนาดนี้มักใช้วิธีการเช็ดจมูกมากกว่าการใช้น้ำเกลือสวนล้าง หากมีน้ำมูกมากจริงๆก็ให้ไปพบแพทย์ พยาบาลจะใช้เครื่องมือดูดน้ำมูกออกมาให้ เพื่อป้องกันการระคายเคืองของเยื่อบุโพรงจมูก ถ้าน้ำมูกไม่มากนักก็สามารถทำเองได้ โดยการหยดน้ำเกลือแบบ normal saline เพียง 2-3 หยดและทิ้งไว้สักพักเพื่อให้น้ำมูกละลายตัวลง จากนั้นใช้ลูกยางดูดเอาน้ำมูกออกมาให้หมด และเช็ดทำความสะอาดรูจมูกอีกทีด้วยน้ำเกลือ
- เด็ก 6 เดือน หรือเด็กที่คอแข็งแล้ว
เด็กในช่วงวัยนี้กระดูกคอเริ่มแข็งแรงขึ้น จึงสามารถคว่ำได้ คุณแม่สามารถจับลูกคว่ำ และใช้ไซริงค์ขนาด 10 ซีซี ฉีดน้ำเกลือเข้าไปในโพรงจมูก และปล่อยให้มันไหลออกมาทางรูจมูกอีกข้าง เมื่อออกมาแล้วทิ้งช่วงให้ลูกหายใจสักพัก แล้วค่อยทำแบบสลับข้างกันไปจนหมด
- เด็กโตและผู้ใหญ่
สำหรับเด็กโตสามารถใช้วิธีการล้างจมูกแบบเดียวกับของผู้ใหญ่ได้เลย โดยจะใช้เป็นกาล้างจมูก (neti pot) แบบต้นตำรับก็ได้ และนำเกลือทะเลแท้ผสมกับน้ำอุ่นให้ละลายกรอกใส่กา หรือจะเป็นชุดล้างจมูกสำเร็จรูปที่ขายตามร้านขายยาก็ได้ สะดวกมากเหมือนกันเพราะเขาขายมาพร้อมกับเกลือที่แบ่งบรรจุมาในซองแล้ว ตอนล้างจมูก ให้นั่งหรือยืนในท่าที่สบาย มองไปข้างหน้า นำพวยกาล้างจมูกแนบเข้ากับจมูกข้างหนึ่ง แล้วเอียงศีรษะพร้อมกับเทให้น้ำเกลือในกาไหลเข้ารูจมูก น้ำเกลือจะไหลออกมาทางรูจมูกอีกข้าง โดยจะเอาน้ำมูกและสิ่งสกปรกอื่นออกมาด้วย ล้างสลับกันไปทีละข้างจนหมด จะรู้สึกว่าจมูกโล่งขึ้น เมื่อล้างเสร็จแล้วให้สั่งน้ำมูกหรือน้ำเกลือที่คั่งค้างอยู่ในโพรงจมูกทิ้งเพียงครั้งเดียว และสามารถบ้วนน้ำเกลือและน้ำมูกส่วนที่ไหลลงคอรวมทั้งเสมหะในคอออกมาได้
ควรล้างจมูกก่อนรับประทานอาหาร หรือหลังจากรับประทานอาหารไปแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการอาเจียนหรือสำลัก ส่วนน้ำเกลือและอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูกต้องสะอาด โดยเฉพาะน้ำเกลือไม่ควรใช้ขวดใหญ่ เพราะการเปิดทิ้งไว้และใช้ต่อเนื่องนานกว่าจะหมดอาจทำให้มีเชื้อโรคสะสมอยู่ได้ ควรเลือกใช้น้ำเกลือขวดปริมาณ 100 มล. เพื่อให้หมดเร็ว จะได้ไม่มีเชื้อโรคสะสมอันเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
วิธีทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูก
หลังล้างจมูกเสร็จทุกครั้ง ควรล้างอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูกให้สะอาดด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจาน แล้วล้างด้วยน้ำเปล่าจนสะอาด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเติบโตและเพิ่มปริมาณ โดยมีข้อพึงปฏิบัติดังนี้
- กระบอกฉีดยาและภาชนะที่ใส่น้ำเกลือให้ล้างน้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจาน จากนั้นล้างด้วยน้ำประปาจนหมดฟองสบู่ แล้วผึ่งให้แห้ง
- หากใช้ลูกยางแดง ให้ล้างด้วยน้ำสบู่ทั้งภายนอกและภายใน แล้วล้างตามด้วยน้ำประปาจนสะอาด โดยคว่ำปลายลูกยางแดงลง ควรนำลูกยางไปต้มในน้ำเดือดวันละครั้ง โดยดูดน้ำเดือดเข้ามาในลูกยางแดง และต้มประมาณ 5 นาที เสร็จแล้วบีบน้ำที่ค้างในลูกยางออกจนหมด วางคว่ำในภาชนะที่สะอาดโดยคว่ำปลายลูกยางแดงลง
ผลลัพธ์ที่ได้จากการล้างจมูก
การล้างโพรงจมูกด้วยน้ำเกลืออาจเห็นผลได้ใน 1-2 ครั้งหลังจากเริ่มทำ และหากทำไปนาน ๆ ก็จะยิ่งเห็นผลได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยบางคนอาจล้างทุกวันเพื่อช่วยขับน้ำมูก และเพื่อบรรเทาอาการระคายเคือง แต่หากสังเกตเห็นว่าอาการที่เป็นอยู่ดีขึ้นแล้วก็อาจลดลงเหลือเพียงสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
การล้างจมูกมีผลค้างเคียงหรือไม่?
การล้างจมูกนั้นค่อนข้างปลอดภัย แต่ก็มีโอกาสทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมาได้เช่นกัน ได้แก่ ความรู้สึกระคายเคือง มีอาการแสบหลังล้าง หรือมีเลือดกำเดาไหล แต่ข้อหลังนั้นพบได้น้อย หากเกิดอาการเหล่านี้ควรลดปริมาณเกลือที่ใช้ผสมให้น้อยลง ลดความถี่ในการล้างจมูกลง รวมทั้งปรับอุณหภูมิน้ำที่ใช้ให้เหมาะสม ไม่ใช้น้ำที่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป ก็อาจช่วยให้ผลข้างเคียงลดน้อยลงได้ แต่หากอาการดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือพบปัญหาอื่นที่เกี่ยวกับการหายใจ เป็นไข้ ปวดศีรษะตามมา ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการ
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ทราบถึงข้อดีและวิธีการล้างจมูกให้ลูกในแบบที่ถูกต้องแล้ว หวังว่าคงจะไม่ลังเลในการล้างจมูกให้ลูกกันอีกนะคะ ยิ่งช่วงนี้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 กลับมาอีกครั้ง การได้ทำความสะอาดโพรงจมูกให้กับเด็ก ๆ รวมถึงตัวคุณเองก็เป็นทางเลือกที่ดีในการดูแลสุขภาพค่ะ สำหรับเด็กเล็กในช่วงแรกก็อาจจะลำบากนิดหน่อย ต้องหลอกล่อกันเยอะนิดนึงกว่าเจ้าตัวเล็กจะยอม แต่เมื่อเราทำประจำเด็กก็จะเริ่มชินและรู้สึกสบายจมูก หายใจโล่ง จากนั้นก็ไม่ต้องบังคับกันอีกต่อไป คัดจมูกเมื่อไหร่ รับรองว่าลูกน้อยจะร้องขอให้ล้างจมูกแทบไม่ทันเลยละค่ะ
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th