โควิด-19 “สายพันธุ์ C.1.2” อันตรายแค่ไหน ?
หลังจากที่มีข่าวการพบเชื้อไวรัสโควิด-19 “สายพันธุ์ C.1.2” ที่แอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดมาจากการกลายพันธุ์หลายครั้ง ทั่วโลกจึงเกิดความวิตกกังวลว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้จะแพร่เข้ามายังประเทศของตนหรือยัง เรามาติดตามความคืบหน้ากันค่ะ
อันตรายแค่ไหน ?
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อ 30 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า สถาบันแห่งชาติโรคติดต่อแห่งชาติแอฟริกาใต้ (NICD) เปิดเผยว่า C.1.2 ถูกพบครั้งแรกในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่จังหวัด Mpumalanga และ Gauteng ของแอฟริกาใต้ก่อนจะกระจายไปทั่วประเทศ และจากข้อมูลงานวิจัยที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนพิจารณาตรวจสอบ (Peer review) โควิดสายพันธุ์นี้เริ่มระบาดไปยังหลายประเทศทั้ง อังกฤษ จีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก มอริเชียสนิวซีแลนด์ โปรตุเกส บอตสวานา ซิมบับเว และสวิตเซอร์แลนด์
ทางด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีการตรวจพบไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ดังกล่าวในประเทศไทย และขอให้มั่นใจว่ามีการเฝ้าระวังเชื้อกลายพันธุ์อยู่ตลอด โดยในแต่ละสัปดาห์จะมีการเฝ้าระวังสายพันธุ์ไม่ต่ำกว่า 500 ตัวอย่าง และเมื่อมีข้อมูลว่าพบสายพันธุ์ใหม่จากแหล่งที่มาใด ก็จะมีการสุ่มตรวจหาเชื้ออย่างเข้มข้นจากผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเหล่านั้น ร่วมกับการสุ่มตรวจทั่วประเทศตามระบบ
รอยเตอร์รายงานว่า โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่นี้มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง E484K, N501Y และ D614G เหมือนสายพันธุ์อัลฟา เบต้า และแกมมา แต่มีรายงานว่าตัวแปร C.1.2 มีลักษณะการกลายพันธุ์ที่รวดเร็ว ประมาณ 44-59 จุด เร็วกว่าที่พบในสายพันธุ์อื่น ๆ ทั่วโลกเกือบ 2 เท่า และสามารถต่อสู้กับแอนติบอดีในร่างกายคนเราได้ดีกว่าเดิม ทำให้เกิดความกังวลว่า C.1.2 จะกลายมาเป็นตัวแปรใหม่ที่ทำให้โลกขึ้นไปสู่จุดสูงสุดของการระบาดแทนสายพันธุ์เดลตาหรือไม่ และผู้เชี่ยวชาญก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่ามันแพร่ระบาดง่ายกว่าเดิมหรือไม่ หรือสามารถเอาชนะภูมิคุ้มกันในร่างกายของผู้ที่ได้รับวัคซีนหรือเคยติดเชื้อมาแล้วได้หรือเปล่า
ริชาร์ด เลสเซลล์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดและหนึ่งในทีมนักวิจัยสายพันธุ์ C.1.2 บอกว่า การเกิดขึ้นของโควิดสายพันธุ์นี้บอกกับเราว่าการระบาดใหญ่ในครั้งนี้จะไม่จบลงง่าย ๆ และไวรัสชนิดนี้ยังค้นหาวิธีต่าง ๆ ที่จะสามารถโจมตีเราได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ไวรัสสายพันธุ์นี้ในแอฟริกาชี้ให้เห็นว่ามันยังแพร่ระบาดอยู่น้อยเมื่อเทียบกับไวรัสสายพันธุ์เดลตา เพราะในขณะนี้ สายพันธุ์เดลตายังเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดเร็วและแข็งแกร่งที่สุด
องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้จัดให้สายพันธุ์ C.1.2 เป็นกลุ่มเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวลหรือน่าจับตามอง แต่ ดร.เมแกน สเตน นักระบาดวิทยาและอาจารย์ด้านภูมิคุ้มกันและโรคระบาดจากวิทยาลัยการแพทย์มหาวิทยาลัยซิดนีย์ บอกกับหนังสือพิมเดอะการ์เดียนว่า ได้มีการแจ้งเตือนไปยังองค์การอนามัยโลกเพราะสายพันธุ์ C.1.2 มีลักษณะการกลายพันธุ์สำคัญ ๆ หลายอย่างที่เห็นในสายพันธุ์ใหม่อื่น ๆ ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งในเวลาต่อมาไวรัสสายพันธุ์เหล่านั้นก็ได้กลายเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล
ดร.สเตน อธิบายว่า ถึงตอนนี้ ไวรัสสายพันธุ์ C.1.2 มีโอกาสที่จะตายไปเอง เนื่องจากมันต้องแข็งแรงและระบาดรวดเร็วมากถึงจะสู้กับสายพันธุ์เดลตาที่มีอยู่อย่างแพร่หลายได้
วัคซีนจะเอาอยู่หรือไม่ ?
หากจะถามว่าวัคซีนจะต่อสู้กับสายพันธุ์ C.1.2 ได้หรือไม่ ดร.สเตน บอกว่าอาจทำได้แค่คาดเดาโดยอิงจากลักษณะการกลายพันธุ์ที่เห็นในสายพันธุ์อื่น เธอบอกว่าแม้วัคซีนจะไม่สามารถจัดการกับไวรัสได้ดีเท่าที่จัดการกับสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่เท่าที่ดูแล้ว ถึงตอนนี้วัคซีนก็ยังสามารถช่วยให้คนไม่ล้มป่วยหนักและไม่เสียชีวิตจากโควิดสายพันธุ์ใหม่ได้ดีอยู่
เธอย้ำว่าว่ายังไม่อะไรต้องตื่นตระหนกในตอนนี้ แต่เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องจับตาดูต่อไปถึงสายพันธุ์ใหม่อื่น ๆ ที่มีอยู่ ว่าพวกมันจะพัฒนาตัวเองและแพร่ระบาดต่อไปอย่างไร
ล่าสุดทาง WHO ก็ออกมาให้ความเห็นถึงสายพันธุ์ดังกล่าว โดยระบุว่า ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะกำหนดให้ C.1.2 เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล จึงยังไม่มีการกำหนดตัวอักษรกรีกเป็นชื่อให้เหมือนที่เคยกำหนดให้กับสายพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งอาจทำให้เราพอวางใจได้บ้างว่าตอนนี้มีเพียงสายพันธุ์เดลต้าเป็นสายพันธุ์หลักตัวเดียวที่ต้องรับมือ
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th