เมื่อ “สิทธิลาคลอด” ≠ Parental leave
นิยามของคำว่าครอบครัวสมัยใหม่กำลังเปลี่ยน มันทำให้คำว่า “สิทธิลาคลอด” ในแบบไทย ๆ เราไม่ได้มีความหมายที่ตรงกับคำว่า Parental leave อีกต่อไป มันกลายเป็นว่าสิทธิในการลาคลอดของสังคมไทยกำลังโฟกัสไปที่การคลอดเพียงอย่างเดียว ในขณะที่รูปแบบของครอบครัวไม่ได้มีเพียงแค่ พ่อ แม่ และลูกเสมอไป เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลอง Pride month ทาง Motherhood จะนำเอาประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในการลาคลอดที่กำลังเป็นประเด็นทั่วโลกมาสรุปให้อ่านกันค่ะ
ลาคลอด แต่ไม่ได้คลอดเอง ?
ในขณะนี้ทั่วโลกกำลังตระหนักถึงประเด็นเกี่ยวกับ Parental leave ของ LGBTQIA+ กันมากขึ้น เพราะนิยามของครอบครัวในโลกสมัยใหม่นั้นไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ครอบครัวพ่อ แม่ ลูก ที่ประกอบโดยคู่รักชายหญิงเท่านั้น และสิทธิในการลางานเพื่อไปเลี้ยงดูบุตรนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีการคลอดบุตรออกมาเองเสมอไป แต่ยังมีครอบครัวเพศหลากหลายอีกมากมายที่มีลูกด้วยวิธีอื่น ไม่ว่าจะเป็นการอุ้มบุญหรือการรับอุปการะเด็กมาเลี้ยง
สิทธิลาคลอดของพ่อ
เมื่อ Serena Williams ภรรยาของเขาให้กำเนิดลูกสาวชื่อ Alexis ในเดือนกันยายน 2017 Alexis Ohanian ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ Reddit ได้ใช้สิทธิลาคลอดเพื่อไปทำหน้าที่พ่อเป็นเวลา 16 สัปดาห์ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เขาต้องการให้พ่อแม่มือใหม่ทุกคนมีโอกาสได้ทำ
Ohanian ร่วมมือกับ Dove Men + Care on the Pledge for Paternity Leave “พ่อที่ทำงานไม่ควรต้องเลือกระหว่างลูก ๆ กับเช็คเงินเดือน” นี่คือคำโปรยที่พบได้เว็บไซต์ของโครงการ ซึ่งพ่อสามารถลงทะเบียนเพื่อผลักดันการลาคลอดเพื่อพ่อที่ได้รับค่าจ้างอย่างทั่วถึง เมื่อพวกเขาลาเพื่อทำหน้าที่พ่อ มันจะเป็นประโยชน์ต่อครอบครัว สถานที่ทำงาน และชุมชนด้วย
หลายประเทศและองค์กรชั้นนำเช่นในสเปน ฝรั่งเศส หรือญี่ปุ่น ก็ต่างมีตัวบทกฎหมายและนโยบายอันก้าวหน้าที่เพิ่มสิทธิลาคลอดให้กับพนักงานผู้ชายในองค์กร เพื่อให้พวกเขาสามารถลางานไปทำหน้าที่พ่อได้ อย่างในญี่ปุ่น พนักงานชายสามารถลาได้อย่างไม่มีกำหนดจนกว่าลูกของพวกเขาจะมีอายุครบ 1 ปี และไม่ใช่แค่การให้พนักงานผู้ชายได้ไปทำหน้าที่พอเท่านั้น รัฐบาลฝรั่งเศสยังมอบสิทธิ์ขยายเวลาให้กับคู่รักเพศเดียวกันเพื่อใช้ในการลาคลอดนี้ได้เช่นกัน
การต่อสู้ของพ่อแม่เพศหลากหลายจากทั่วโลก
ความจริงก็คือพ่อแม่ LGBTQIA+ มีแนวโน้มที่จะอุปถัมภ์และรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมมากกว่าพ่อแม่ที่ไม่ใช่ LGBTQ สถิติแสดงให้เห็นว่าพ่อแม่เพศเดียวกันมีแนวโน้มที่จะรับบุตรบุญธรรมมากกว่าถึง 4 เท่า และมีแนวโน้มที่จะรับเด็กมาอุปถัมภ์มากกว่าพ่อแม่รักเพศเดียวกันถึง 6 เท่าเลยทีเดียว
และยังมีปัญหาอื่นๆ ที่ทำให้การลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรไม่ได้มีหลักประกันและจ่ายเงินค่าแรง นับว่าเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับชุมชน LGBTQIA+ แทบจะทั่วโลก Ed Harris ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารของ Family Equality Council กล่าวว่า “พวกเขามีแนวโน้มที่จะมีชีวิตอยู่ในความยากจนมากกว่า รายงานเกี่ยวกับความอดอยากที่มีในปี 2559 พบว่า LGBT ในวัยผู้ใหญ่มีแนวโน้มที่จะไม่มีเงินเพียงพอสำหรับอาหารมากกว่าผู้ใหญ่อื่น 1.6 เท่า
เหตุผลของความแตกต่างทางเศรษฐกิจนี้รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชุมชน LGBTQIA+ จะมีความสัมพันธ์อันไม่สู้จะดีนักกับครอบครัวของพวกเขา และด้วยเหตุนี้เอง พวกเขาจึงพลาดการสนับสนุนทางการเงินที่คนรุ่นมิลเลนเนียลจำนวนมากยังคงต้องพึ่งพาจากครอบครัวในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่วัยผู้ใหญ่ นอกจากนี้กลุ่มคนผิวสีที่ระบุตัวตนว่าเป็น LGBTQIA+ ยังมีแนวโน้มที่จะประสบกับปัญหาช่องว่างทางค่าแรงที่เกิดจากการเหยียดเชื้อชาติมากกว่ากลุ่ม LGBTQIA+ ที่เป็นคนผิวขาวอีกด้วย
นอกจากนี้ ครอบครัวที่มีแม่สองคนก็ประสบปัญหาช่องว่างทางค่าแรงระหว่างเพศ สถิติแสดงให้เห็นว่าคู่รักเลสเบี้ยนมีแนวโน้มที่จะยากจนมากกว่าคู่ชายรักชายหรือคู่รักต่างเพศ
25% ของชาว LGBTQIA+ ทั่วแคนาดากล่าวว่าพวกเขาได้สัมผัสประสบการณ์โดยตรงจากการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานโดยพิจารณาจากรสนิยมทางเพศ ในทางกลับกัน บางคนตัดสินใจที่จะเก็บงำรสนิยมทางเพศไว้เป็นความลับและหลีกเลี่ยงการสนทนาเกี่ยวกับการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรทั้งหมด เพราะการขอลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรอาจเกี่ยวข้องกับแสดงตัวตนหรือความสัมพันธ์ของ LGBTQIA+ ในที่ทำงาน แม้แต่ในสถานที่ทำงานที่ไม่ได้ ‘ถือสา’ พนักงานกลุ่มนี้เลยก็ตาม
หลายคนต้องเผชิญกับคำถามที่ยากเมื่อพูดถึงการสร้างครอบครัว การลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรโดยไม่ได้รับค่าจ้างไม่ใช่ทางเลือกสำหรับชุมชนเสมอไป บางครั้งพวกเขาก็ต้องตัดสินใจเลือกว่าจะเริ่มต้นครอบครัวด้วยการไม่ได้รับค่าจ้างไปสักพัก เพื่อต้อนรับเจ้าตัวน้อยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านหรือเปล่า
การเปลี่ยนแปลงที่ค่อย ๆ เกิดขึ้น
ข่าวดีก็คือสิ่งต่าง ๆ เริ่มจะดีขึ้น เช่นเดียวกับ American Express มีบริษัทจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่กำลังขยายนโยบายการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรให้ครอบคลุมมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ในปี 2017 IBM เริ่มให้เงินแก่พ่อ คู่ชีวิต และพ่อแม่บุญธรรม 12 สัปดาห์ โดยได้รับเงินชดเชยสำหรับการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมและการตั้งครรภ์
Microsoft ซึ่งเสนอการลาที่ยังคงจ่ายค่าจ้าง 3 เดือนสำหรับพ่อ พ่อแม่บุญธรรม และพ่อแม่อุปถัมภ์ กล่าวว่าในปี 2018 บริษัทได้ก้าวไปอีกขั้นด้วยการเป็นพันธมิตรกับผู้ขายและซัพพลายเออร์ (ที่มีพนักงานมากกว่า 50 คน) ซึ่งมีนโยบายการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรโดยได้รับค่าจ้างอย่างน้อย 12 สัปดาห์ สำหรับพ่อแม่บุญธรรมหรือพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มาจากอะไร ? Shijuade Kadree หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนของ LGBT Community Center ซึ่งตั้งอยู่ในนิวยอร์ก ที่จัดตั้งโครงการสนับสนุนด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับชุมชน LGBTQIA+ กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกำลังเกิดขึ้นในการสนทนาวงกว้างที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อผู้หญิงเข้าสู่ความเป็นผู้นำ มุมมองที่หลากหลายก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ จากผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ”
ยังมีพ่ออีกหลายคนที่บอกว่าพวกเขาต้องการอยู่บ้านกับลูก ๆ โดย 17% ของพ่อแม่ที่อยู่บ้านในปี 2016 เป็นพ่อ เพิ่มขึ้นจาก 10% ในปี 1989 ตามรายงานของ Pew Research Center
และชาวอเมริกันจำนวนมากขึ้นก็เริ่มยอมรับชุมชน LGBTQIA+ จากการศึกษาของ Pew พบว่า 63% กล่าวว่า “สังคมควรยอมรับคนรักเพศเดียวกัน” ซึ่งช่วยให้เกิดการสนทนาในเชิงบวกมากขึ้นเกี่ยวกับการเป็นพ่อแม่ของคนรักเพศเดียวกัน
เหลียวมองบ้านเรา
ในประเทศไทยเรา ขณะนี้เรายังใช้คำว่าลาคลอดในการให้สิทธิ์อยู่ และยังไม่มีความเท่าเทียมกับระหว่างผู้ชายและผู้หญิง โดยผู้หญิงสามารถลางานได้สูงสุด 98 วัน (ได้รับเงินเดือนเพียง 45 วัน) ส่วนผู้ชายมีเพียงแค่ข้าราชการชายเท่านั้นที่สามารถใช้สิทธิลาคลอดได้ 15 วัน สำหรับพนักงานเอกชน ก็ต้องแล้วแต่นโยบายของบริษัท ซึ่งยังไม่มีกฎหมายจากทางรัฐที่บังคับใช้ทั่วประเทศอย่างเข้มแข็งเกี่ยวประเด็นนี้เลย
โดยเนื้อแท้แล้ว การลาคลอดบุตรเกี่ยวข้องกับการดูแลทารกแรกเกิดและทารก แม้ว่าการลาคลอดบุตรเป็นสิ่งที่มารดาผู้ให้กำเนิดทุกคนควรมีสิทธิ แต่ผู้ที่เป็นผู้ปกครองในรูปแบบอื่น ๆ ก็ไม่ควรถูกกีดกันในสิทธิ์นี้เช่นกัน
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th