Site icon Motherhood.co.th Blog

หมอตำแย กับการคลอดแบบโบราณที่คนรุ่นใหม่ควรรู้

หมอตำแยโบราณ

เรื่องราวการทำคลอดสมัยโบราณที่มากกว่าที่เคยเห็นในละคร

หมอตำแย กับการคลอดแบบโบราณที่คนรุ่นใหม่ควรรู้

หลาย ๆ คนที่เคยดูละครพีเรียดก็อาจจะคุ้นหูกับคำกว่า “หมอตำแย” กันมาบ้าง แต่คนเมืองและคนรุ่นใหม่น้อยคนนักที่จะเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าหมอตำแยจริง ๆ แล้วทำหน้าที่อะไรบ้างในการช่วยให้แม่ท้องสมัยโบราณคลอดลูก Motherhood จะพาคุณผู้อ่านไปติดตามเรื่องราวการทำงานของหมอตำแยในสมัยโบราณกันค่ะ

ภาพจำของหมอตำแยในละครพีเรียดที่เห็นจนชินตา

หมอตำแยไทยสมัยโบราณ

หมอตำแยเป็นหนึ่งในอาชีพโบราณที่สมัยนี้หายากขึ้นทุกขณะ แต่ในสมัยก่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ท้องถิ่นที่ความเจริญยังเข้าถึงไม่มากนัก หมอตำแยจึงเป็นที่ยอมรับในสังคมอย่างกว้างขวาง โดยมักจะเดินทางไปให้บริการตามบ้านของผู้ที่จะคลอด จนกระทั่งในยุคที่ประเทศไทยได้มีการเปิดการเรียนการสอนวิชาผดุงครรภ์ตามอย่างฝรั่ง ที่นำตำรับตำรามาจากต่างประเทศ จึงทำให้คนไทยได้เรียนรู้เรื่องการคลอดมากขึ้น

แรกเริ่มเดิมทีจะไม่มีหมอตำแยที่เป็นผู้ชายเลย ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานของฝรั่ง ที่เรียกว่า “Midwife” หมายถึงบุคคลในระดับชั้นสูงที่ทำหน้าที่ทำคลอด เนื่องจากบุคคลที่สามารถทำคลอดไดิในสมัยแรกเริ่มของโลกนั้น ชาวตะวันตกมองว่าเป็นหน้าที่ของชนชั้นสูงในสังคม อีกทั้งควรเป็นหน้าที่ของสตรีเท่านั้น โดยการเป็นผู้ทำคลอดนี้ถือเป็นหน้าที่ที่ควรได้รับค่าตอบแทนและการยอมรับต่อสาธารณะเป็นอย่างยิ่ง การเรียนรู้ในเรื่องการทำคลอด ตลอดจนการประดิษฐ์อุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ถูกถ่ายทอดและสอนต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้หน้าที่ของหมอตำแยนั้นมีพัฒนาการข้ามไปสู่ศาสตร์ของการผ่าตัด ซึ่งในยุคนั้นศาสตร์นี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับและยกย่องมากนัก จนกระทั่งการทำคลอดได้พัฒนามาถึงการศึกษาเรื่องสูติศาสตร์อย่างจริงจัง

แม้ว่าชาวบ้านทั่วไปจะเรียกขานหญิงผู้ทำคลอดว่าหมอตำแย แต่ทางสาธารณสุขใช้คำว่า “ผดุงครรภ์โบราณ” แทน ซึ่งที่มาของคำว่าตำแยนี้ มีผู้สันนิษฐานไว้ว่ามาจากชื่อของมหาเถรตำแย ที่เป็นผู้แต่งตำราว่าด้วยการทำคลอดและการผดุงครรภ์แบบโบราณ และมหาเถรผู้นี้ก็เป็นอาจารย์หมอของท่านชีวกโกมารภัจด้วย

ท่านชีวกโกมารภัจได้ไปร่ำเรียนวิชาจากมหาเถรตำแยที่สำนักทิศาปาโมกข์ในสมัยพุทธกาล อยู่เมืองตักสิลา ในแคว้นคันธาระ ในตำนานคติพุทธถือว่าท่านชีวกโกมารภัจเป็นแพทย์หลวงประจำตัวพระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธ และถือว่าเป็นแพทย์ประจำองค์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย และต่อมาท่านยังได้รับยกย่องให้เป็นบรมครูแห่งการแพทย์แผนโบราณของไทย

วิธีการคลอดลูกแบบโบราณ

สำหรับขั้นตอนการคลอดลูกนั้น เมื่อหมอตำแยมาถึงต้องมีการคัดท้อง เพื่อดูการหันหัวหันเท้าของเด็กว่าทารกจะเอาส่วนไหนออกมาก่อน เพราะเด็กบางคนเอาหัวออกมาก่อน เด็กบางคนก็เอาขาออกมาก่อน หรือบางคนก็เอามือโผล่มาก่อน แต่เด็กที่เอาขาหรือมือออกมาก่อนก็จะเป็นเคสที่ทำคลอดกันยากหน่อย หากพบว่าเด็กหันหัวหันเท้าผิดปกติ หมอตำแยจะเอามือช้อนหรือที่เรียกว่าคัดท้อง เพื่อให้เด็กอยู่ในท่าปกติ ทำเช่นนี้ประมาณ 2-3 ครั้ง เพื่อเตรียมตัวก่อนคลอด จะทำให้เด็กคลอดง่ายและปลอดภัย

ต้องมีคนทำหน้าที่หนุนหลัง และคนทำหน้าที่ข่มท้องด้วย

จากนั้นจะนำเอาน้ำมะพร้าวมานวดที่ท้อง เพื่อให้ถุงน้ำคร่ำแตก หากแม่มีเชิงกรานที่เล็ก จะต้องดื่มน้ำอุ่นกับใบมะนาวเพื่อให้คลอดง่ายขึ้นและให้มีแรงเบ่งคลอด ในบางพื้นที่จะมีการใช้เชือกและผ้ามัดขื่อไว้ให้แม่โหนหรือเหนี่ยวรั้งขณะเบ่งคลอด ขึ้นอยู่กับหมอตำแยที่ทำคลอดว่าถนัดวิธีแบบไหน และอาจต้องมีคนหนุนหลัง คอยช่วยช่วยผลักและข่มท้องด้วย

การคลอดแบบหมอตำแยจะไม่มีการตัดฝีเย็บ ปล่อยให้ฝีเย็บฉีกขาดตามธรรมชาติ บางทีอาจใช้เกลือสะอาดที่มีแง่คม เอามากรีดฝีเย็บช่วงที่ศีรษะเด็กโผล่ โดยจะไม่มีการเย็บซ่อมแซมฝีเย็บ ปล่อยให้หายเอง แผลที่เกิดขึ้นจะทำความสะอาดโดยใช้เหล้าล้าง แล้วตำไพลกับเกลือพอกแผล

หากรกขาดก็จะทำให้การทำคลอดยากยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าหมอตำแยไม่ชำนาญก็จะเป็นอันตรายกับชีวิตของทารกได้ นอกจากนี้ยังต้องจับรีดท้องให้แน่ใจด้วยว่ามีรกขาดค้างอยู่หรือไม่ ถ้ารกไม่ขาดก็ถือว่าดี แต่ถ้ารกขาดค้างคาอยู่ในตัวแม่ ก็จะต้องหายาให้กินในทันที เป็นตำรับยาที่นำส่วนผสมมาคั่วรวมกันให้ไหม้เพียงเล็กน้อย จากน้ำจึงนำไปละลายในน้ำให้แม่ดื่ม ส่วนผสมที่ใช้ปรุงตำรับยาขับรกมีดังนี้

  1. หญ้าหนวดแมว 7 ส่วน
  2. ดินปืนดินพลุประมาณ 1 ช้อน
  3. คราบงูที่ลอกคราบ  7 ส่วน
  4. แมงมุม 7 ส่วน
  5. เจตมูลเพลิง 7 ส่วน

สำหรับทารกที่คลอดมาใหม่นั้นก็จะต้องทำการตัดสายสะดือ โดยตัดให้ห่างจากสะดือเด็กไปหนึ่งนิ้ว จากนั้นรีดสายสะดือไปทางฝั่งแม่ แล้ววัดจากฝั่งแม่ประมาณสองนิ้วแล้วตัดตรงกลาง เสร็จแล้วใช้เชือกหรือด้ายดิบมัดเพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลซึมออกมา ด้ายที่ใช้มัดนั้นจะพันมัดสองจุดด้วยกันและการผูกต้องผูกให้แน่น สะดือทาด้วยยอดพลับพลา ขี้เต่า หรือหญ้าใต้ใบ ในการตัด ห้ามใช้มีดหรือของมีคมที่เป็นเหล็กตัด เพราะถ้าไม่ระวังอาจจะติดเชื้อบาดทะยักได้ นิยมใช้เปลือกหอยกาบมาตัดแทน

การคลอดจะสิ้นสุดเมื่อรกคลอด จากนั้นก็เริ่มอาบน้ำให้ทารก เริ่มจากการล้างมือ ถูตัว แล้วให้ทารกน้อยนอนบนกระด้งหรือฉะเนียง หลังจากที่ขั้นตอนทุกอย่างที่ทำให้ทารกแรกเกิดเสร็จสิ้นแล้ว หมอตำแยจะเหยียบแม่แบบที่เรียกว่าเหยียบสุ่ม แล้วให้แม่นอนราบกับพื้นเพื่ออาบน้ำอุ่นเป็นการทำความสะอาดตัวแม่ ให้แม่ดื่มเกลือผสมน้ำมะขามเปียก 1 ชาม ส่วนสามีก็เอาฟืนท่อนใหญ่ ๆ มาก่อไฟให้ภรรยาที่นอนราบกับพื้นอยู่บนบ้าน หรือที่เรียกว่าการอยู่ไฟนั่นเอง

เมื่ออาบน้ำทารกและแม่แล้ว หมอตำแยก็ต้องทำการอยู่ไฟให้แม่

นอกจากนี้พ่อและแม่ของทารกน้อยหรือญาติ ๆ ก็จะต้องเตรียมการยกครูให้หมอตำแยโดยทำบายศรีเชิญครู บายศรีปากชาม รวมทั้งจัดเตรียมของสำหรับไหว้พระพิษณุด้วย

ข้อห้ามสำคัญอย่างหนึ่งที่ครูหมอตำแยโบราณสั่งสอนมาก็คือ ห้ามบอกพ่อแม่เด็กและญาติพี่น้องว่าเด็กในท้องเป็นเพศอะไร แม้ว่าหมอตำแยจะรู้คำตอบตั้งแต่แม่ท้องได้ตั้งแต่แปดเดือนแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถบอกใครได้ ถือเป็นข้อห้ามเดียวที่สำคัญในวิชาชีพของหมอตำแยไทย

ภายหลังปีพ.ศ. 2500 มีระเบียบจากทางราชการบังคับให้หมอตำแยทั่วประเทศต้องผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียน เมื่อหมอตำแยเจอระเบียบจุกจิกจากทางราชการก็เลยมีจำนวนลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ นับแต่นั้นเอง คนทั่วไปก็เริ่มหันไปคลอดลูกที่อนามัย สถานผดุงครรภ์ และโรงพยาบาลกันมากขึ้น เพราะได้รับความสะดวก ความสะอาด และมีความปลอดภัยมากกว่า หมอตำแยก็เลยค่อย ๆ เลือนหายไปจากสังคมไทย

ทำไมสมัยโบราณคลอดแล้วเด็กเสียชีวิตกันมาก?

เนื่องด้วยสมัยก่อนยังไม่มีตำราการแพทย์ที่ทันสมัยแบบทุกวันนี้ จึงทำให้ทารกน้อยหลายคนต้องจบชีวิตลงระหว่างการคลอดลูก ซึ่งสาเหตุที่ส่งผลให้ทารกถึงแก่ชีวิตคณะคลอดได้นั้น มีดังนี้

1. ทารกอยู่ในครรภ์ตามแนวขวาง

เมื่อทารกอยู่ในครรภ์ตามแนวขวางนั้น ทารกจะใช้ไหล่เป็นส่วนนำในการคลอด แทนที่จะใช้ก้นหรือศีรษะ เพราะไหล่มีขนาดใหญ่กว่าก้นและศีรษะมากพอสมควร กรณีเช่นนี้จะคลอดแบบธรรมชาติไม่ได้เป็นอันขาด ซึ่งถ้าเป็นในยุคปัจจุบันก็จะต้องทำการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง ในสมัยที่ยังไม่มีการผ่าคลอดนั้น ก็เป็นไปได้มากที่เด็กจะเสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์

2. ทารกตัวใหญ่แต่เอาหัวเป็นส่วนนำ

ปกติแล้วทารกที่ใช้หัวนำออกมาก่อนก็สามารถคลอดได้ตามปกติทางช่องคลอด แต่กับทารกที่มีน้ำหนักมากหรือมีขนาดตัวที่ใหญ่ ไหล่ของเด็กก็จะไม่สามารถออกมาด้วยได้ หากเด็กคลอดติดไหล่อยู่ในช่องคลอดเพียงไม่กี่นาทีก็สามารถเสียชีวิตได้ ถึงแม้จะใช้ความพยายามมากแค่ไหน แต่ด้วยความที่มันกินเวลานานกว่าเด็กจะออกมาได้ จึงทำให้เด็กส่วนใหญ่เสียชีวิต

3. ทารกเอาหัวนำตามปกติ แต่คลอดไม่ออกเลย

ภาวะนี้เรียกว่าภาวะศีรษะทารกกับเชิงกรานของมารดาไม่ได้สัดส่วนกัน (Cephalo-pelvic disproportion) แปลว่าเชิงกรานของมารดามีขนาดเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดศีรษะของทารก ทำให้ศีรษะของทารกไม่สามารถผ่านช่องเชิงกรานมายังช่องคลอดและปากช่องคลอดได้ ภาวะนี้อาจจะพบได้ในแม่ที่มีขนาดตัวตามมาตรฐาน แต่ทารกมีขนาดใหญ่กว่าเด็กทั่วไป กับอีกกรณีคือทารกอยู่ในแนวขวาง เป็นเหตุให้มดลูกแตกได้

จากสาเหตุหลักทั้ง 3 ข้อนี้ หากเกิดในยุคปัจจุบันที่เรามีการผ่าตัดทำคลอดทางหน้าท้องแล้ว โอกาสที่เด็กจะเสียชีวิตระหว่างคลอดก็จะน้อยลง แต่ด้วยความที่สมัยโบราณยังไม่มีการผ่าคลอด หมอตำแยจึงทำสุดความสามารถเท่าที่จะทำได้สำหรับการคลอดธรรมชาติ

เป็นอย่างไรกันบ้างคะสำหรับเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการทำคลอดแบบโบราณของหมอตำแยที่ Motherhood ได้นำมาฝากคุณพ่อคุณแม่กันในวันนี้ เราจะเห็นได้ว่าด้วยวิวัฒนาการในยุคสมัยนี้ทำให้เราโชคดีกว่าคนโบราณมาก เพราะฉะนั้นเมื่อแพทย์ชี้แนะสิ่งใดที่จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของคุณแม่และคุณลูก ก็ขอให้ปฏิบัติตามกันอย่างเคร่งครัดนะคะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th