อยากได้ลูกแฝด ต้องทำอย่างไร?
เชื่อว่ามีหลายบ้านที่ชอบเด็กฝาแฝด รู้สึก “อยากได้ลูกแฝด” เป็นของตัวเองบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเพราะความรู้สึกคุ้มที่ตั้งท้องครั้งเดียวก็ได้เด็กมาถึงสองคน (แต่บางทีก็แจ็คพ็อตได้มากกว่า) หรือเพราะเห็นลูกฝาแฝดหญิงชายของพิธีกรคนเก่งอย่างสาวโอปอลล์แล้วรู้สึกน่ารักดี เลยอยากจะมีเองบ้าง แต่ของแบบนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะเลือกเองได้ง่ายๆ คุณพ่อคุณแม่คงอยากรู้ว่าต้องทำยังไงถึงจะมีโอกาสได้ลูกแฝดกับเขาบ้าง แต่ทางแพทย์ก็ยืนยันว่าการท้องแฝดมันมีความเสี่ยงพอสมควร Motherhood จึงอยากให้ลองฟังเหตุผลรอบด้านก่อนนะคะ ติดตามได้ในบทความนี้เลยค่ะ
ชนิดของครรภ์แฝด
- แฝดแท้ เกิดจากไข่ 1 ใบได้รับการผสมตามกระบวนการธรรมชาติ แล้วแบ่งตัวออกเป็น 2 จึงมีหน้าตาและเพศที่เหมือนกัน ถ้าหากว่าไข่แบ่งตัวล่าช้าเกินไป ก็มีโอกาสที่เด็กจะมีร่างกายบางส่วนติดกัน (Conjoined twin) แบบแฝดสยามอิน-จันที่รู้จักกันเป็นอย่างดี
- แฝดเทียม เกิดจากไข่ 2 ใบหรือมากกว่า อาจเกิดทั้งจากการผสมตามธรรมชาติหรือผสมเทียม การใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทำให้พบภาวะนี้ได้บ่อยขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเด็กแฝดที่เกิดจากไข่คนละใบจะเป็นเด็กที่มีหน้าตาคล้ายกัน แต่จะไม่เหมือนกันซะทีเดียว และมีโอกาสที่จะต่างเพศกันด้วย เช่น แฝดชาย-หญิง กรณีนี้จะไม่มีการใช้อวัยวะร่วมกันเพราะเกิดจากไข่คนละใบนั่นเอง
สำหรับการตั้งครรภ์แฝดแท้นั้นถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่าการตั้งครรภ์แฝดเทียม เพราะแฝดแท้นั้นเกิดจากการที่ตัวอ่อนมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นมามากกว่า 1 ภายหลังที่ตัวอ่อนได้ฝังตัวอยู่ในโพรงมดลูกแล้ว สำหรับภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์แฝดที่สำคัญและพบได้บ่อยๆ มีดังนี้้
- ภาวะแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์แฝด เช่น คุณแม่มีอาการแพ้ท้องมากกว่าผิดปกติจนถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาล รู้สึกอึดอัดหายใจไม่ออก ท้องจะมีขนาดโตมากกว่าปกติ ส่งผลให้ปวดหลังได้มากกว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เดี่ยว เกิดเลือดจางมากขึ้น มีภาวะซีดได้ง่าย มีโอกาสเกิดครรภ์เป็นพิษหรือความดันโลหิตสูงมากกว่าครรภ์เดี่ยว 2-3 เท่า เกิดภาวะรกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด เสี่ยงต่อการแท้งบุตร สายสะดือของทารกพันกัน ทารกถ่ายเทเลือดให้กัน ทำให้ทารกอีกคนเกิดภาวะขาดเลือด เจริญเติบโตไม่เท่ากัน ทำให้ทารกพิการหรือเสียชีวิต
- ภาวะแทรกซ้อนในระยะการคลอดบุตร เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดสูงมาก คุณแม่ครรภ์แฝดทั่วไปมักจะคลอดก่อนกำหนด 3-4 สัปดาห์ แต่ถ้าคลอดก่อนกำหนดมากๆ จะมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้มากเช่นกัน เช่น ปอดของทารกยังไม่สมบูรณ์และมักกลายเป็นโรคปอดเรื้อรัง เลือดออกในสมอง ลำไส้อักเสบ มีปัญหาเรื่องการหายใจและมีความเสี่ยงต่อการมองไม่เห็น แพทย์อาจต้องใช้เครื่องมือช่วยคลอด เช่น คีมดึงหรือเครื่องดูดสุญญากาศ คุณแม่มีโอกาสได้รับการผ่าตัดทำคลอดสูงมาก
- ภาวะแทรกซ้อนในระยะหลังคลอด เช่น การตกเลือดหลังคลอด การติดเชื้อหลังคลอด ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ อัตราการตายของทารกมีมากกว่าทารกครรภ์เดี่ยว 2-3 เท่า
โอกาสเกิดลูกแฝด
จากสถิติทั่วไปพบว่า การตั้งครรภ์แฝดสองจะเป็นกรณีที่พบได้บ่อยที่สุด ในอัตรา 1 ต่อ 89 ราย ส่วนแฝดสามจะพบยากขึ้นในอัตราส่วน 1 ต่อ 892 และแฝดสี่จะพบได้ยากมากๆ ในอัตราส่วน 1 ต่อ 893
ปัจจัยที่ทำให้ได้ลูกแฝด
- กรรมพันธุ์ ถ้าคนในครอบครัวมีประวัติการตั้งครรภ์แฝด คุณแม่จะมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดมากขึ้น การถ่ายทอดพันธุกรรมของแฝดนั้นจะมาจากทางฝ่ายแม่มากกว่าฝ่ายพ่อ
- เชื้อชาติ ถ้าคุณแม่เป็นชนชาติแอฟริกันจะมีโอกาสตั้งครรภ์เป็นแฝดได้มากกว่าคุณแม่ที่เป็นคนผิวขาวหรือผิวเหลือง
- จำนวนครรภ์หรือกากรตั้งครรภ์หลังๆ คุณแม่ที่เคยคลอดบุตรมาแล้ว หลายคนจะมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดได้มากเช่นกัน เพราะการตั้งครรภ์หลายครั้งจะทำให้ไขมีโอกาสตกเยอะขึ้น
- อายุของคุณแม่ในขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดมากกว่าการตั้งครรภ์ตอนอายุน้อยๆถึง 4 เท่า เนื่องมาจากการที่ไข่เหลือเก็บ ต้องถูกกระตุ้นมาก ร่างกายจึงหลั่งฮอร์โมน FSH ออกมาเยอะ ไข่จึงมีโอกาสตกครั้งละมากกว่า 1 ฟอง แต่ไม่แนะนำให้คุณแม่มีลูกตอนอายุมากๆนะ เพราะโอกาสจะเกิดภาวะเสี่่ยงได้มากกว่าคุณแม่ที่มีอายุน้อยกว่าหลายเท่า
- น้ำหนักและส่วนสูง บางข้อมูลระบุว่าคุณแม่ที่เป็นโรคอ้วน และมีรูปร่างสูง จะมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดมากขึ้น
- รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม ผู้หญิงที่ดื่มนมปกติมากกว่า 5 เท่า จะมีโอกาสได้ลูกแฝดมากกว่าผู้หญิงที่เป็นมังสวิรัติ 5 เท่า นอกจากนี้ผลการวิจัยยังสันนิษฐานว่าโปรตีนที่พบในตับของสัตว์เป็นปัจจัยของการมีลูกแฝด เพราะโปรตีนชนิดนี้มีองค์ประกอบคล้ายอินซูลิน เรียกว่า IGF ที่พบได้ในนมวัวและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งจะช่วยให้รังไข่มีปฏิกิริยาที่ไวขึ้นและช่วยเพิ่มจำนวนไข่ให้มากขึ้น
- การให้นมลูกอย่างต่อเนื่อง มีอีกหนึ่งงานวิจัยที่ระบุว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ให้นมลูกคนแรกอย่างต่อเนื่องจนถึงเวลาจะมีลูกในครรภ์คนที่สอง จะมีโอกาสได้ลูกแฝดมากกว่าแม่ที่ไม่ได้ให้นมลูก
- กินยาคุมเกินสามปีขึ้นไป เพราะเมื่อหยุดยาแล้วจะทำให้ไข่ตกมากขึ้น จึงทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์แฝดได้มากขึ้น
- รับประทานให้มาก ผู้หญิงที่กินเยอะๆจะมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดได้มากกว่า เนื่องจากร่างกายมีความสมบูรณ์มากกว่า
ข้อดีของการมีลูกแฝด
- ได้เด็กๆที่มีความน่ารักน่าเอ็นดู เป็นเด็กที่มีความพิเศษมากกว่าเด็กอื่นทั่วไป เพราะเป็นเด็กที่หน้าตาเหมือนกันถึงสองคน
- พวกเขาจะเป็นทั้งพี่น้อง เป็นเพื่อนสนิท เป็นที่ปรึกษาให้กันและกัน เป็นที่ระบายอารมณ์ให้กันและกันด้วย
- สามารถแชร์ของกันใช้ได้ ยิ่งถ้าเขาเป็นแฝดแท้ที่จะมีเพศเดียวกัน เขาจะก็แชร์เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋าด้วยกันได้
ข้อเสียของการมีลูกแฝด
- คุณแม่จะอุ้มท้องลำบากเป็นสองเท่า ในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของการตั้งครรภ์ ท้องจะยิ่งโตขึ้นและทำให้คุณแม่อึดอัด ไม่สะดวกสบาย หายใจไม่ออก บางคนอาจจะถึงขั้นเดินไปไหนมาไหนไม่ไหว
- มีภาวะเสี่ยงในระหว่างตั้งครรภ์ ขณะคลอด และหลังคลอด และค่าใช้จ่ายในการตรวจก็จะสูงขึ้นด้วย เพราะแพทย์จะนัดให้ไปตรวจถี่กว่าแม่ที่ตั้งครรภ์เดี่ยว
- ปัญหาเรื่องการเลี้ยงดู คุณพ่อคุณแม่จะต้องมาคิดว่าจะเลี้ยงลูกยังไงไม่ให้เขารู้สึกด้อยไปกว่ากัน เด็กแฝดจะรู้สึกว่าตัวเองโดนเปรียบเทียบกันอยู่ตลอด อาจจะทำให้เกิดปัญหาอิจฉาฝาแฝดของตัวเองตามมา
- ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ครอบครัวพร้อมแค่ไหนที่จะเลี้ยงดูเด็กสองคนในเวลาเดียวกัน ถ้าสามารถเลี้ยงได้เองหรือมีคนในครอบครัวช่วยเลี้ยงก็ยังง่าย แต่ถ้าต้องจ้างพี่เลี้ยงเด็กจากศูนย์พี่เลี้ยง การมีเด็กสองคนก็จะต้องใช้พี่เลี้ยงสองคน ยิ่งเพิ่มภาระทางการเงินให้ครอบครัวเข้าไปอีก
- เสียความเป็นส่วนตัวมากกว่าการมีลูกคนเดียว ในกรณีที่เป็นท้องแรกและเป็นแฝดพอดี ทั้งคุณพ่อคุณแม่จะต้องเสียเวลาส่วนตัวไปในการเลี้ยงดูเขา เพราะเด็กๆอาจจะกิน ตื่น หรือเล่นไม่พร้อมกัน เท่ากับว่าพ่อแม่ต้องทำกิจกรรมเดิมซ้ำกันสองรอบ
ทางเลือกสำหรับพ่อแม่ที่อยากได้ลูกแฝด
วิธีที่พอจะเป็นไปได้และหวังผลได้มากที่สุดสำหรับพ่อแม่ที่อยากได้ลูกแฝดก็คือ การใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ อย่างการทำเด็กหลอดแก้ว เพราะเป็นกรณีที่พบได้บ่อยของการตั้งครรภ์แฝด ซึ่งจะทำให้ได้ลูกแฝดมากกว่าธรรมชาติถึง 20 เท่า โดยเฉพาะแฝดเทียม แต่โดยปกติแล้วการทำเด็กหลอดแก้วนั้นมีขึ้นมาเพื่อช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์ของผู้ที่มีบุตรยากเท่านั้น ไม่ได้ตั้งใจว่าให้เกิดการตั้งครรภ์แฝด เพราะการตั้งครรภ์แฝดนั้นถือเป็นภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ ถ้าคุณแม่ไม่ได้มีปัญหามีบุตรยาก แพทย์ก็ไม่อยากจะเสี่ยง
การตั้งครรภ์ที่มีเด็กน้อยเพียงแค่คนเดียวจึงเป็นสิ่งที่ปลอดภัยกว่ามาก ไม่ควรมองแค่ความน่ารักของเด็กแฝดแล้วอยากได้ลูกแฝดเหมือนครอบครัวอื่นเขาบ้าง สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องนึกถึงคือความปลอดภัยของตัวคุณแม่เองและลูกน้อยในครรภ์ เพราะการตั้งครรภ์แฝดก็ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป มีหลายต่อหลายครอบครัวที่ต้องเสียลูกแฝดไปหนึ่งคนเช่นกัน
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th