อาหารเสริมทารก พร้อมสูตรอาหารแบ่งแยกตามวัย
หลังจากที่คุณพ่อคุณแม่ได้ทราบกันไปแล้วว่าเมื่อไหร่ที่ควรเริ่มให้ลูกกิน “อาหารเสริมทารก” รวมถึงพัฒนาการในการกินตามวัยของเด็ก วันนี้เราจะมาเจาะลึกลงไปถึงการวัดความพร้อมตามวัยที่สมควรจะเริ่มกินอาหารสำหรับเด็ก รวมทั้งประเภทของอาหารที่ลูกจะสามารถกินได้อย่างเหมาะสมตามพัฒนาการในช่วงวัยของเขา
ความพร้อมของระบบทางเดินอาหาร
ทารกแรกเกิดจะมีอาการห่อปากเอาลิ้นดันอาหารออกมา (Extrusion reflex) โดยทารกจะห่อปากและเอาลิ้นดุนอาหารออกมาเมื่อได้รับอาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลว เมื่อทารกอายุได้ 4-6 เดือน อาการนี้จะหายไป จะสามารถตวัดอาหารลงสู่ลำคอและกลืนอาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลวได้
น้ำย่อยที่สำคัญในการย่อยแป้งคืออะไมเลส (Amylase) จากตับอ่อนยังมีระดับต่ำอยู่ในทารกแรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 6 เดือน นอกจากนี้น้ำย่อยไลเปส (Lipase) จากตับอ่อน เกลือน้ำดี (Bile salt) และน้ำย่อยในกระเพาะอาหารของทารกยังมีปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ จนเมื่อทารกมีอายุเข้า 4-5 เดือน กระเพาะอาหารจะเริ่มหลั่งกรดและน้ำย่อยเปปซิน (Pepsin) ออกมามากขึ้น และตับอ่อนจะหลั่งน้ำย่อยอะไมเลสและไลเปสเพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากความพร้อมด้านการกลืนและการย่อยแล้ว การให้อาหารอย่างอื่นนอกจากนมแม่แก่ทารกที่อายุยังน้อย ยังเสี่ยงต่อการแพ้โปรตีน และสารโมเลกุลใหญ่จะสามารถดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็กของทารก ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดภูมิแพ้
ความพร้อมของไต
ควรเริ่มให้อาหารเสริมตามวัยของทารก เมื่อไตสามารถขับถ่ายของเสียและทำให้ปัสสาวะเข้มข้นได้มากพอ เพื่อให้สามารถขับถ่ายยูเรียและโซเดียมได้ดี ทารกแรกเกิดจะมีอัตรการกรองของไตประมาณร้อยละ 15 ของผู้ใหญ่ และเพิ่มขึ้นตามลำดับที่ร้อยละ 60 เมื่ออายุ 6 เดือน และเท่ากับผู้ใหญ่เมื่ออายุ 2 ปี
ไตของทารกแรกเกิดยังไม่สามารถขับถ่ายยูเรียและฟอสฟอรัสทางปัสสาวะได้ดี ดังนั้นถ้าทารกได้รับอาหารที่มีโปรตีนสูงมากเกินไป จะทำให้เกิดภาวะยูเนียในเลือดสูง (Uremia) และเลือดเป็นกรดได้
ความพร้อมของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ
ทารกที่เริ่มมีความพร้อมในการกินอาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลว จะต้องเป็นทารกที่สามารถควบคุมการทรงตัวของศีรษะและลำตัวได้ดี เริ่มใช้มือคว้าของเข้าปากได้ Extrusion reflex ของลิ้นลดลง แสดงกิริยายอมรับอาหารเมื่อหิวหรือปฏิเสธอาหารเมื่ออิ่มได้ จึงช่วยป้องกันการให้อาการมากเกินไปจนทำให้เกิดโรคอ้วน
เมื่อพิจารณาเห็นถึงความพร้อมต่างๆของทารกแล้ว จึงควรเริ่มให้อาหารตามวัยเมื่อทารกมีอายุได้ 6 เดือน เพื่อฝึกให้เขารู้จักกับอาหารอื่นนอกจากนม และฝึกทักษะในการกลืนอาหาร
เด็กอายุ 6 เดือน
ในช่วงแรกของการกินอาหารที่นอกเหนือไปจากนมแม่นี้ ต้องให้ลูกฝึกการบดเคี้ยวก่อนด้วยอาหารเหลวแบบข้น จะเป็นจำพวกผัก อย่าง ตำลึง ฟักทอง หัวผักกาด และมันฝรั่งก็ได้ หรือจะเป็นไข่แดง กล้วย ส้ม และแอปเปิ้ล ที่นำมาต้มจนเปื่อยแล้วบดกับข้าวจนละเอียดก็ดี ควรป้อนให้ลูก 1-2 ช้อนชาก่อนเพื่อดูว่าลูกกินได้ไหม มีอาการแพ้หรือไม่ และควรทำเมนูเดิมติดต่อกันประมาณ 5-7 วันเพื่อสังเกตอาการแพ้ก่อนเปลี่ยนเป็นเมนูอื่น เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน
ตัวอย่างเมนู
1. ซุปครีมแครอท
เริ่มจากปอกเปลือกแครอทและซอยเป็นแว่น นำแครอทไปต้มในน้ำจนสุกและเนื้อนิ่ม จากนั้นบดแครอทในถ้วยบดจนละเอียดเป็นเนื้อเนียน
2. ข้าวบดผักรวม
ให้นำผักตำลึงและผักโขมไปต้มและบดจนละเอียด จากนั้นผสมข้าวบดกับนมแม่เข้าด้วยกัน และนำผักต้ม ข้าวบด และนมผสมเข้าด้วยกันจนเนื้อเนียน
3. ข้าวบดฟักทอง
นึ่งและบดฟักทองจนเนื้อนุ่มละเอียด จากนั้นผสมข้าวบดกับนมเข้าด้วยกัน และนำข้าวบด นม และฟักทองผสมเข้าด้วยกันจนเนื้อเนียนละเอียด
เด็กอายุ 7-9 เดือน
เด็กวัยนี้เริ่มทานอาหารได้หลากหลายขึ้น อาจเพิ่มเนื้อสัตว์จำพวกเนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อหมู หรือผักชนิดอื่นๆ เช่น ถั่วลันเตา แครอท เห็ด หอมใหญ่ บล็อกโคลี บีทรูท บดแบบหยาบเพื่อให้ลูกได้ใช้เหงือกหรือฟันเคี้ยวอาหารและลิ้มรสชาติอาหารอย่างเต็มที่ แต่ไม่ควรใส่เกลือ น้ำตาล หรือน้ำผึ้งเพื่อปรุงรส เพราะอาจทำให้เด็กติดรสชาติอาหารนั้นๆจนส่งผลเสียได้
ตัวอย่างเมนู
1. ซุปปลาผักรวม
หั่นแครอท ถั่ว และมันฝรั่งให้มีขนาดเล็กพอดีคำ แล้วต้มผักทั้งหมดให้สุกจนนิ่ม จากนั้นต้มเนื้อปลาจนสุก แล้วยีเนื้อปลาเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมเนื้อปลากับผักเข้าด้วยกัน
2. ข้าวบดไข่ใส่ฟักทอง
เริ่มจากต้มข้าวบดจนนิ่ม จากนั้นหั่นฟักทองและเต้าหู้ไข่ขนาดเล็กพอดีคำลูก ยีไข่แดงผสมกับฟักทอง และผสมไข่แดงที่ยีรวมกับฟักทอง เต้าหู้ไข่ และข้าวบดเข้าด้วยกัน
3. ข้าวกล้องผักไข่แดง
หั่นฟักทองและแครอทเป็นชิ้นพอดีคำ นำไปต้มจนนิ่ม จากนั้นยีไข่แดงต้มสุก นำไปคลุกกับข้าวกล้อง บี้เล็กน้อยให้เข้ากัน ใส่ผักและน้ำซุปลงไปผสมให้เข้ากัน
เด็กอายุ 10-12 เดือน
เด็กวัยนี้เริ่มเคี้ยวอาหารอ่อนนุ่มได้บ้าง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมอาหารชิ้นเล็กพอดีคำและเคี้ยวง่ายให้กับลูก เน้นโปรตีนเป็นหลัก และอาจเพิ่มมะม่วงสุก สับปะรด มะเขือเทศ หรือเต้าหู้ เสริมเข้ามาด้วย ทั้งนี้ควรจัดให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม คือ 1 ถ้วยเล็ก เพื่อไม่ให้ลูกอิ่มเกินไปจนท้องอืด
ตัวอย่างเมนู
1. ไข่ตุ๋น
ผสมน้ำซุปกับไข่ไก่เข้าด้วยกัน ใส่เห็ดและเนื้ออกไก่ที่ต้มจนสุกลงไปก้นถ้วยที่เตรียมไว้ เทไข่ไก่ที่ผสมซุปใส่ถ้วยผ่านกระชอน ให้เนื้อเนียนสวย และนำไปนึ่งจนสุก
2. ข้าวต้มฟักทอง
ต้มนมจนเดือด แล้วใส่ฟักทองที่ต้มจนนิ่มและข้าวหุงสุกลงไป เคี่ยวไปเรื่อยๆจนข้าวต้มข้นเข้ากัน
3. ซุปมักกะโรนี
เริ่มจากต้มมักกะโรนีไว้ก่อน จากนั้นต้มน้ำซุปจนเดือดและใส่แครอทลงไป ใส่มักกะโรนีที่ต้มไว้ตามลงไป และต้มต่อไปจนได้ที่
และเมื่อลูกน้อยเริ่มนั่งกินอาหารเองได้ ควรพาเขามาร่วมนั่งร่วมโต๊ะอาหารกับครอบครัวด้วย เพื่อให้เขาเกิดความเคยชิน และได้ใช้ช่วงเวลานี้ซึมซับความรักความอบอุ่นจากทุกคนในครอบครัว
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th