อาหารโซเดียมสูง กินเค็มมากไปเสี่ยงไตพัง
ในช่วงนี้เชื่อว่าหลายบ้านกักตุนอาหารกันไว้พอสมควร ซึ่งอาหารสำเร็จรูปประเภทต่าง ๆ ก็เป็นที่นิยมมากเพราะเก็บได้นาน แต่มันเป็น “อาหารโซเดียม” สูง ที่จัดว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเราเช่นกัน คนทั่วโลกทุกวันนี้บริโภคโซเดียมต่อวันมากเกินไปโดยที่ไม่รู้ตัว วันนี้ Motherhood เลยจะพาคุณไปรู้จักกับอาหารโซเดียมสูงประเภทต่าง ๆ และอันตรายของการรับประทานอาหารจำพวกนี้มากเกินไปค่ะ
โซเดียมคืออะไร?
โซเดียมเป็นสารอาหารที่สำคัญในตระกูลเกลือแร่ จัดอยู่ในกลุ่มอีเลคโทรไลต์ เมื่อละลายน้ำจะแยกตัวออกเป็นไอออนที่มีประจุไฟฟ้าบวก โซเดียมมีมากที่สุดที่น้ำนอกเซลล์ โดยจะคอยควบคุมความดันออสโมติกเพื่อรักษาปริมาณของน้ำนอกเซลล์ โซเดียมจะถูกดูดซึมได้ตลอดทางเดินอาหาร ถูกดูดซึมน้อยที่สุดที่กระเพาะอาหาร แต่จะถูกดูดซึมได้มากที่สุดที่ลำไส้เล็กส่วนกลาง โซเดียมช่วยรักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่ปกติ ช่วยในการทำงานของประสาท และกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังช่วยดูดซึมสารอาหารบางอย่างในไตและลำไส้เล็กอีกด้วย ความเป็นกรดและด่างของร่างกาย รวมถึงช่วยนำซูโครสและกรดอะมิโนไปเลี้ยงร่างกาย
ร่ายกายต้องการโซเดียมมากน้อยแค่ไหน?
องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน เทียบเท่าปริมาณเกลือไม่เกิน 5 กรัม หรือเพียง 1 ช้อนชา โดยปกติเราได้โซเดียมจากอาหารรวมกับคลอไรด์ ในรูปของโซเดียมคลอไรด์ที่เรียกว่าเกลือแกง นอกจากนี้จะได้โซเดียมจากเครื่องปรุงรสทุกชนิด ที่มีเกลือแกงเป็นองค์ประกอบ แต่จากการศึกษาพบว่า ในซุปก้อน 10 กรัม มีปริมาณโซเดียมสูงถึง 1,760 มิลลิกรัม หากรวมถึงขนมขบเคี้ยวหลากหลายประเภทที่เด็ก ๆ ชื่นชอบ ก็พบว่ามีปริมาณโซเดียมสูงไม่ต่างกัน
โซเดียมสัมพันธ์กับไตอย่างไร?
ก่อนอื่นต้องดูหน้าที่ของไตว่าทำอะไรให้กับร่างกายบ้าง
- ไตมีหน้าที่ขจัดของเสีย ยา สารพิษที่ละลายในน้ำออกทางปัสสาวะ
- ดูดซึมและเก็บสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
- รักษาปริมาณน้ำในร่างกาย โดยสงวนเก็บน้ำไว้ระบายน้ำส่วนที่ร่างกาย ไม่ต้องการออกจากร่างกาย
- รักษาปริมาณของโซเดียมในยามที่ร่างกายขาดโซเดียม ระบายโซเดียมที่มากเกินต้องการออกทางปัสสาวะ ในกรณีที่ได้รับโซเดียมมากเกินไป
ดังนั้น ถ้าไตทำงานได้ตามปกติก็จะไม่มีอันตรายจากโซเดียมที่คั่งค้าง เนื่องจากไตมีหน้าที่ขับโซเดียมส่วนเกินออกจากร่างกาย โซเดียมจะถูกขับถ่ายออกทางปัสสาวะ บางส่วนจะออกมาทางอุจจาระและเหงื่อ และเมื่อสมรรถภาพของไตเสื่อมลง การคั่งของของเสียจะเกิดขึ้น รวมทั้งไตไม่สามารถขับโซเดียมส่วนเกินออกได้ ทำให้โซเดียมคั่งอยู่ในเลือด ทำให้ผู้ป่วยโรคไตจำเป็นต้องลดการบริโภคอาหารที่มีเกลือโซเดียมน้อยลง
7 อาหารโซเดียมสูงที่ควรระวัง
- ซอสและเครื่องปรุงอาหารที่มีรสเค็ม – น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสหอยนางรม ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก น้ำจิ้มสุกี้ เกลืองแกง ซุปก้อน ซุปผง เต้าหูยี้ น้ำปลาร้า
- อาหารตากแห้ง – กุ้งแห้ง ปลาสลิดตากแห้ง ปลาหมึกตากแห้ง หมูแดดเดียว เนื้อแดดเดียว
- อาหารหมักดอง – ผักดอง ปลาร้า เต้าเจี้ยว
- ขนมขบเคี้ยว – มันฝรั่งทอดกรอบ สาหร่ายอบกรอบ ปลาเส้น ข้าวโพดอบกรอบ ธัญพืชอบกรอบ
- อาหารแปรรูป – ไส้กรอก เบคอน แฮม หมูหยอง หมูยอ แหนม ลูกชิ้น อาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กหรือข้าวต้มสำเร็จรูป
- อาหารที่มีผงฟู – เค้ก ขนมปัง คุกกี้ แพนเค้ก ซาลาเปา
- เครื่องดื่มเกลือแร่ – เครื่องดื่มเกลือแร่ส่วนมากมักใส่โซเดียม เพื่อทดแทนเกลือแร่จากการสูญเสียเหงื่อเป็นจำนวนมาก
คงเป็นไปไม่ได้ถ้าหากเราจะงดรับประทานอาหารที่กล่าวมานี้ไปเลย สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้คือลดการบริโภคโซเดียมภายในครอบครัว โดยการหลีกเลี่ยงการปรุงรสอาหารเพิ่มหรือหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ระบุชัดเจนว่าโซเดียมต่ำ หลีกเลี่ยงขนมกรุบกรอบและอาหารแปรรูปที่โซเดียมสูง เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง นอกจากนี้ควรอ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนซื้อ เลือกอาหารที่มีโซเดียมต่ำ นอกจากนี้จำเป็นต้องส่งเสริมให้ลูกรับประทานผักผลและไม้เป็นประจำ รวมทั้งดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ
หากคุณพ่อคุณแม่และทุกคนในครอบครัวปลูกฝังพฤติกรรมการกินที่เหมาะสมให้กับลูกตั้งแต่เด็ก ลดการรับประทานหวาน มัน เค็ม เน้นไปที่การรับประทานผักและผลไม้ ก็จะเป็นผลดีต่อสุขภาพของเด็กในระยะยาว เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นจะส่งผลให้รูปแบบการกินอาหารติดตัวเขาไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ได้ค่ะ
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th