Site icon Motherhood.co.th Blog

แนวทางสำหรับจัดการกับ “เงินค่าขนมลูก”

การให้เงินค่าขนมลูก

เคล็ดลับสำหรับจัดการกับเงินค่าขนมของลูกคุณ

แนวทางสำหรับจัดการกับ “เงินค่าขนมลูก”

ให้ลูก ๆ ของคุณได้เรียนรู้ชีวิตจากมูลค่าของเงินทุกบาททุกสตางค์ โดยการบริหารการเงินของตัวเอง และนี่คือแนวทางที่คุณจะจัดการกับ “เงินค่าขนมลูก” รวมทั้งการสอนให้เขารับมือกับการตัดสินใจใช้เงินอย่างหุนหันพลันแล่นด้วย

เมื่อพูดถึงการสอนเด็ก ๆ เกี่ยวกับการจัดทำงบบัญชี การประหยัดอดออมเพื่อเป้าหมาย และการชะลอการใช้เงินเพื่อสนองความพึงพอใจ คุณสามารถเริ่มต้นได้จากการให้ค่าขนมแก่ลูกของคุณ เงินที่เราใช้จ่ายและอดออมนั้นเป็นตัวบ่งชี้ได้เลยว่าอะไรที่สำคัญกับเราในฐานะครอบครัว นี่เป็นโอกาสที่คุณจะฝึกให้เด็ก ๆ ของคุณกลายเป็นคนที่ถ่อมเนื้อถ่อมตัว มีความอดทน และมีน้ำใจ อย่างที่เราอยากให้เป็น

ยิ่งคุณเริ่มต้นได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เด็ก ๆ พร้อมที่จะรับมือกับการมีเงินค่าขนมเมื่อพวกเขาเรียนรู้ที่จะนับเลข นับเหรียญ และขอขนมหรือของเล่นบางอย่างเป็นประจำ โดยปกติแล้วจะเป็นช่วงที่เด็กมีอายุ 5-8 ขวบ เราได้นำเคล็ดลับจากผู้เชี่ยวชาญทางการเงินและพ่อแม่ผู้ปกครองเพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดในการให้เงินค่าขนม เพื่อปลูกฝังความฉลาดในการใช้เงินให้กับเจ้าตัวน้อยของคุณ

เงินค่าขนมเป็นตัวช่วยฝึกการบริหารการเงินอย่างดี

ขั้นที่ 1: ตัดสินใจว่าจะให้เท่าไหร่

แนะนำให้เริ่มที่เงิน 10 บาทต่ออายุ 1 ปี และให้เป็นรายสัปดาห์ ดังนั้น ลูกวัย 5 ขวบของคุณก็จะได้ค่าขนมสัปดาห์ละ 50 บาท ลูกวัย 7 ขวบก็จะได้สัปดาห์ละ 70 บาท ซึ่งคุณสามารถประเมินสูตรการให้เงินนี้ใหม่ได้เมื่อคุณพบว่าลูกของคุณกำลังย่างเข้าวัยรุ่นและมีความต้องการต่อค่าใช้จ่ายที่แตกต่างออกไป

ขั้นที่ 2: ตั้งกฎ

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินหลายคนแนะนำให้เผื่อค่าขนมไว้เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่ไม่ต้องผูกมัด คุณไม่ได้แจกเงินให้ลูก ๆ ของคุณโดยไม่หวังผลตอบแทน คุณกำลังช่วยให้พวกเขาเรียนรู้การออมเงินผ่านการใช้จ่ายและการลงทุน

อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (AICPA) พบว่า 4 ใน 5 คนของผู้ปกครองที่ให้ค่าขนมลูกนั้นผูกการให้เงินไว้กับงานบ้าน การผูกเงินค่าขนมไว้กับงานบ้านจะสอนเขาเรื่องความรับผิดชอบ เด็ก ๆ ต้องรู้จักการทำงานเพื่อหารายได้

ในขณะที่วิธีนี้เป็นที่นิยมสำหรับการที่จะให้เด็ก ๆ มีส่วนร่วมในครัวเรือน แต่ก็มีข้อเสีย ค่าขนมที่ขึ้นอยู่กับงานบ้าน (หรือเกรด) เป็นการส่งข้อความบอกเด็ก ๆ ว่าเขาสมควรได้รับเงินจากการจัดเตียงตัวเองเท่านั้น นอกจากนี้คุณยังต้องติดตามว่าเด็ก ๆ ทำอะไรและไม่ทำอะไร รวมทั้งหาวิธีตอบสนองหากพวกเขาบอกคุณว่าไม่ต้องการเก็บจานออกจากชั้นวางและให้คุณเก็บเงินของคุณไว้ แนวคิดที่ยืดหยุ่นมากขึ้นก็คือ ให้เผื่อค่าขนมเป็นรายสัปดาห์ แต่เสนอเงินพิเศษสำหรับงานบ้านระดับถัดไป เช่น การกำจัดวัชพืชในสวน หรือจัดลิ้นชักเก็บทัปเปอร์แวร์ซึ่งเด็กเล็กก็สามารถทำได้ทั้งสองอย่าง

ขั้นที่ 3: ลงรายละเอียด

ให้มีการลงนามในสัญญาสำหรับเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป สิ่งนี้ทำให้เกิดความคาดหวังที่ชัดเจนและช่วยให้มั่นใจว่ารายละเอียดทุกอย่างสอดคล้องกัน รายละเอียดให้ระบุถึงจำนวนเงินที่จะได้รับต่อสัปดาห์และวันที่จะได้รับมัน จากนั้นให้คุณตัดสินใจว่าคุณคาดหวังจะให้ลูกใช้จ่ายเงิน ออมเงิน และบริจาค ในอันตราส่วนเท่าใด สำหรับช่วงเริ่มต้น ให้เริ่มที่ 1 ใน 3 ของแต่ละหมวดหมู่ก็พอ หรือจะเก็บไว้ใช้ 80 เปอร์เซ็นต์ บริจาค 10 เปอร์เซ็นต์ และออมเงินอีก 10 เปอร์เซ็นต์ ก็ได้ วิธีนี้จะได้ผลหากเป้าหมายหลักของคุณคือการสอนว่าเงินใดที่สามารถใช้ซื้ออะไรได้หรือไม่ได้

เพื่ออธิบายกับเด็ก ๆ ว่าพวกเขาจะต้องจ่ายอะไรบ้าง แนะนำให้คุณพูดตามสคริปท์นี้ “พ่อกับแม่จะะซื้อทุกอย่างที่ลูกต้องการให้ เช่น อาหารและของใช้ไปโรงเรียน และในวันเกิดของหนูกับวันหยุดเทศกาล เราจะก็ซื้อของขวัญให้หนูตามที่หนูต้องการ ค่าขนมของหนูเป็นเงินไว้ใช้จ่ายกับของอย่างอื่นที่หนูต้องการ ในระหว่างปีที่พ่อกับแม่จะไม่ได้ซื้อให้”

การใช้เงินสดเป็นวิธีที่ดีที่สุด เด็ก ๆ ส่วนใหญ่เรียนรู้ผ่านการมองเห็น และได้รับประโยชน์จากการเห็นเงินสดที่เพิ่มพูนขึ้นยามเขาเก็บออม ตลอดจนการแงะกระปุกออมสินเพื่อไปซื้ออะไรบางอย่างที่เขาต้องการ

ให้เขาแบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วน เพื่อใช้เอง เก็บออม และบริจาค

ขั้นที่ 4: สร้างช่วงเวลาพูดคุยเรื่องการเงิน

ความมหัศจรรย์ของค่าขนมเกิดขึ้นเมื่อมันกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการพูดคุยกันเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณและมูลค่าของสิ่งต่าง ๆ

ส่งเสริมการแบ่งปัน

ให้ลูกของคุณเลือกผู้รับบริจาคเพื่อสานต่อแนวคิดที่พวกเขาได้เรียนรู้มาแล้วจากที่โรงเรียน นี่เป็นการทำให้พวกเขามีความเอื้ออาทร และคุณยังสามารถพูดถึงสถาบันต่าง ๆ ที่มีความหมายต่อครอบครัวของคุณ

ยืนกรานว่าต้องประหยัด

โดยทั่วไปเด็กเล็กจะไม่สามารถมองเห็นภาะได้ไกลกว่าหนึ่งหรือสองปี ดังนั้น ควรช่วยให้พวกเขาเลือกเป้าหมายที่สามารถทำได้ในกรอบเวลานั้น ของเล่นก็เป็นตัวเลือกที่ดี แต่คุณยังสามารถกระตุ้นให้พวกเขาประหยัดเพื่อประสบการณ์อื่น ๆ ได้อีก เช่น ตั๋วเพื่อไปยังสถานที่ต่าง ๆ หรือกิจกรรมโปรด แทนที่จะเป็นสิ่งของ เพราะประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับประสบการณ์มักจะแสดงให้เห็นว่ามันนำความสุขมาให้เรามาก

ให้เขาเรียนรู้ที่จะเก็บออมเพื่อของที่อยากได้

ดูพวกเขาเรียนรู้จากการใช้จ่าย

มันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปล่อยให้บุตรหลานของคุณเลือกสิ่งที่พวกเขาต้องการใช้จ่าย แม้ว่ามันจะดูเหมือนขยะสำหรับคุณก็ตาม การ์ดโปเกมอนอีกสักหนึ่งชุดอาจทำให้พวกเขามีความสุขเพิ่มขึ้นอีกนิด ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น ความรู้สึกผิดของผู้ซื้อที่เกิดขึ้นกับเขาจะเป็นเรื่องดีที่สุดที่เขาจะได้เรียนรู้ตั้งแต่วัยเด็ก คุณไม่ต้องการให้พวกเขามีอายุ 20 ปีเสียก่อนถึงจะเรียนรู้ว่าทรัพยากรนั้นมีจำกัด

เราไม่ได้บอกคุณว่าคุณไม่สามารถปรนเปรอเขาด้วยของกินที่ชอบหรือเซอร์ไพรส์เขาด้วยของเล่นสุดเจ๋ง เพราะนั่นล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้การเลี้ยงดูกเป็นไปอย่างสนุก แต่ในฐานะนายแบงค์ของบ้าน คุณต้องมั่นคงเมื่อลูกวัยป.1 มารบเร้าขอของเล่นราคาแพง ย้ำเตือนพวกเขาว่า “ค่าขนมมีไว้เพื่อสิ่งนี้ละ” ด้วยวิธีนี้ ตัวเลือกระหว่างการใช้จ่ายเงินที่มีเสียเลยหรือเก็บออมไว้เพื่อของที่อยากได้ ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเด็ก ๆ เองแล้ว

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th