เชื้อไวรัสโคโรนา อยู่ในอุจจาระนานกว่าเนื้อเยื่อทางเดินหายใจ
ขณะนี้แต่ละประเทศยังคงทำการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับ “เชื้อไวรัสโคโรนา” กันอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งผลการวิจัยผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในจีนฉบับใหม่ ได้ค้นพบข้อมูลที่น่าตกใจหลายอย่าง จะเป็นอะไรบ้าง เรามาติดตามไปด้วยกันเลยค่ะ
การทดสอบก่อนหน้านี้พบว่าไวรัสโคโรนาสามารถปรากฏในอุจจาระได้ แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าไวรัสน่าจะแพร่กระจายไปยังบุคคลอื่นได้หรือไม่ ดังนั้นกลุ่มนักวิจัยจากหลายพื้นที่จึงวิเคราะห์ตัวอย่างอุจจาระจากผู้ป่วยที่มีเป็นโรคโควิด-19 พวกเขาแยกไวรรัสจากผู้ป่วยรายหนึ่งที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง และตรวจไวรัสภายใต้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน และพบว่าไวรัสนั้นมีศักยภาพมาก หมายความว่าตัวอย่างอุจจาระอาจปนเปื้อนมือ อาหาร น้ำ ฯลฯ คนที่ใช้ห้องน้ำแล้วไม่ล้างมือสามารถแพร่เชื้อไวรัสสู่ผู้อื่นได้
คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงได้ทำการประเมินปริมาณไวรัสโคโรนา ที่อยู่ในตัวอย่างจากระบบทางเดินหายใจ อุจจาระ น้ำเหลือง และปัสสาวะของผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวน 96 ราย ระหว่างวันที่ 19 มกราคม ถึง 20 มีนาคม 2563 โดยที่ผู้ป่วยทั้งหมดได้รับการยืนยันผลว่าป่วยเป็นโรคโควิด-19 หลังผ่านการทดสอบตัวอย่างเสมหะและน้ำลาย โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง 22 ราย และผู้ป่วยอาการรุนแรงอีก 74 ราย
ผลการวิจัยครั้งนี้ได้ถูกเผยแพร่ผ่านวารสารบริติช เมดิคัล (British Medical) ระบุว่ามีการตรวจพบไวรัสโคโรนาในอุจจาระของผู้ป่วย 55 ราย พบในน้ำเหลือง 39 ราย และพบในปัสสาวะเพียง 1 รายเท่านั้น และที่ยิ่งน่าตกใจไปกว่านั้นก็คือ ไวรัสโคโรนาสามารถฝังแน่นอยู่ในอุจจาระได้นานกว่าในเนื้อเยื่อระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วย
ค่ากลางของระยะเวลาที่ไวรัสโคโรนาอยู่ในอุจจาระอยู่ที่ 22 วัน ซึ่งนานกว่าค่ากลางของระยะเวลาเดียวกันในเนื้อเยื่อระบบทางเดินหายใจ ที่ 18 วัน และในน้ำเหลือง ที่ 16 วัน ซึ่งปริมาณของไวรัสที่พบนั้นแตกต่างกันไปตามประเภทของตัวอย่าง โดยเนื้อเยื่อระบบทางเดินหายใจมีปริมาณไวรัสสูงที่สุด ตามด้วยตัวอย่างอุจจาระ ส่วนตัวอย่างน้ำเหลืองมีปริมาณไวรัสต่ำที่สุด
คณะนักวิจัยยังพบว่า ค่ากลางของระยะเวลาที่ไวรัสโคโรนาอยู่ในตัวอย่างจากระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยอาการรุนแรงอยู่ที่ 21 วัน ซึ่งนานกว่าค่ากลางของระยะเวลาเดียวกันในผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง คือ 14 วัน แต่ไม่พบว่ามีความแตกต่างอันมีนัยสำคัญของปริมาณไวรัสในตัวอย่างอุจจาระและน้ำเหลือง ที่เก็บจากผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงและอาการรุนแรง
ปริมาณไวรัสในผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงแตะจุดสูงสุดในเนื้อเยื่อระบบทางเดินหายใจในสัปดาห์ที่ 2 นับจากตอนเริ่มต้นเจ็บป่วย ขณะที่ปริมาณไวรัสในผู้ป่วยอาการรุนแรงยังคงมีอยู่ในระดับสูงระหว่างสัปดาห์ที่ 3 ของการเจ็บป่วย คณะนักวิจัยยังพบว่าผู้ป่วยเพศชายที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีระยะเวลาที่ไวรัสอยู่ในร่างกายนานกว่าอีกด้วย
คณะนักวิจัยสรุปว่า ทีมงานจะต้องกระชับขั้นตอนของการจัดการตัวอย่างอุจจาระที่มีไวรัสโคโรนา และการจัดการผู้ป่วยอาการรุนแรงระดับต่าง ๆ อย่างเข้มงวด เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ และสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที และเพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนอุจจาระ แนะนำให้ล้างมือบ่อย ๆฆ่าเชื้อบนพื้นผิวในบ้าน หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบ ต้มน้ำให้เดือดก่อนดื่ม และฆ่าเชื้อภายในโรงพยาบาล
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th