ทำความรู้จักกับ “เด็กพิเศษ”
ในสมัยนี้คำว่า “เด็กพิเศษ” เป็นอีกคำจำกัดความที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่น้อยคนที่จะทราบว่าความหมายของมันรวมถึงเด็กที่มีความต้องการทางด้านใดเป็นพิเศษบ้าง Motherhood จึงได้รวบรวมข้อมูลมาว่าทางการแพทย์ได้มีการจำแนกประเภทไว้อย่างไร รวมทั้งวิธีสังเกตอาการของลูกน้อยสำหรับคุณพ่อคุณแม่ เพื่อที่จะได้จัดเตรียมทุกสิ่งที่ทุกอย่างให้สอดคล้องกับความต้องการของลูก เมื่อคุณพบว่าลูกของคุณก็เป็นหนึ่งในเด็กพิเศษ
เด็กพิเศษ หมายถึง เด็กที่มีความต้องการพิเศษที่จะได้รับการดูแลและส่งเสริมในด้านต่างๆ มากกว่าเด็กปกติทั่วไป พ่อแม่และโรงเรียนจำเป็นต้องจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับความพิเศษของเขา เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสและพื้นที่ในการแสดงความสามารถ เพราะเด็กกลุ่มนี้ต้องการการยอมรับ รวมทั้งต้องการความเข้าใจจากคนรอบข้างมากพอที่จะหยิบยื่นความช่วยเหลือให้แก่เขาได้อย่างถูกต้อง
เด็กพิเศษมีกี่ประเภท ?
เด็กที่มีความสามารถพิเศษ
เด็กพิเศษประเภทนี้เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่าเด็กอัจฉริยะ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะมีความสามารถด้านต่าง ๆ สูงกว่าเด็กทั่วไป พวกเขามักจะเป็นเด็กที่มีความฉลาดหรือระดับสติปัญญา (IQ) สูงกว่าเกณฑ์ปกติ (มากกว่า 130 ขึ้นไป) และมีความคิดสร้างสรรค์สูง หรือมีความสามารถทางด้านกีฬา ดนตรี เป็นเลิศ โดยปกติแล้วพ่อแม่หรือครูจะเห็นจุดเด่นเหล่านี้ของเด็กได้ชันเจน
เด็กพิเศษกลุ่มนี้ต้องการการส่งเสริมที่ต่างไปจากเด็กปกติ เพราะพวกเขาสามารถเรียนรู้ได้เร็วกว่าเด็กปกติมาก อาจส่งผลให้เกิดความแตกต่างในชั้นเรียน หรือได้รับการเรียนการสอนที่ไม่เหมาะสมกับระดับความสามารถที่เขามี
เด็กที่มีความบกพร่อง
เด็กพิเศษกลุ่มนี้จะมีปัญหาด้านต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลให้การเรียนรู้เป็นไปได้ช้า หรือตัวเด็กมีพัฒนาการบางด้านที่ไม่เท่าเด็กปกติที่อยู่ในช่วงวัยเดียวกัน ดังนั้น เด็กกลุ่มนี้จึงต้องการความช่วยเหลือและวิธีการดูแลที่แตกต่างจากเด็กปกติทั่วไป เราสามารถแบ่งเด็กกลุ่มนี้ออกเป็น 9 ประเภท ดังนี้
1. เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา (Children with mental retardation)
เด็กพิเศษกลุ่มนี้จะมีความบกพร่องในการทำงานของกระบวนการทางปัญญา และมีปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมการปรับตัวตั้งแต่ 2 ประการขึ้นไป โดยระดับสติปัญญาจะต่ำกว่า 70 และอาการจะต้องปรากฏให้เห็นก่อนอายุ 18 ปี ตัวอย่างของความบกพร่องทางสติปัญญา ได้แก่
- กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม
- กลุ่มอาการเวโลคาร์ดิโอเฟเชียล
- กลุ่มอาการของทารกที่ถือกำเนิดจากมารดาที่ดื่มแอลกอฮอล์
- โรคท้าวแสนปม
- ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด
- กลุ่มอาการวิลเลี่ยม
- กลุ่มอาการฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria)
- กลุ่มอาการพราเดอร์-วิลลี (Prader-Willi Syndrome: PWS)
2. เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน (Children with hearing impaired)
เด็กพิเศษกลุ่มนี้จะมีความบกพร่องหรือสูญเสียการได้ยิน ทำให้รับฟังเสียงได้ไม่ชัดเจน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เด็กหูตึง และเด็กหูหนวก พ่อแม่สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้จากการไม่ตอบสนองเมื่อเรียก พูดไม่ชัด หรือชอบทำเสียงแปลกผิดปกติ นอกจากนี้เด็กยังมักแสดงท่าทางมากกว่าพูด ไม่สามารถทำตามคำสั่งได้ ในเด็กบางรายอาจมีพฤติกรรมซนและสมาธิสั้นร่วมด้วย
3. เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น (Children with visual impairments)
เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น คือ เด็กที่มองไม่เห็นหรือมีการมองเห็นแบบเลือนลาง และมีความบกพร่องทางสายตาทั้งสองข้าง โดยเด็กอาจแสดงอาการได้หลากหลาย เช่น ปวดศีรษะ เคืองตา ขยี้ตาบ่อย เพ่งอ่านหนังสือใกล้มาก มีปัญหาในการแยกตัวอักษรหรือรูปทรงต่าง ๆ ชอบเหม่อลอย ไม่มีสมาธิ ไม่ค่อยสนใจเรียน เดินซุ่มซ่าม ชนสิ่งของบ่อย ๆ
4. เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ (Children with physical and health impairments)
เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ คือ เด็กที่มีอวัยวะไม่สมส่วน อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกายหรือหลายส่วนหายไป กระดูกและกล้ามเนื้อพิการ มีความเจ็บป่วยเรื้อรัง รุนแรง หรือเฉียบพลัน บางรายอาจพิการทางระบบประสาทสมอง ทำให้มีความลำบากในการเคลื่อนไหวจนเป็นอุปสรรคต่อการเรียนและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
5. เด็กที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา (Children with speech and language disorders)
เด็กที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา คือ เด็กที่พูดไม่ชัด มีลีลาหรือจังหวะการพูดผิดปกติ ออกเสียงผิดเพี้ยน อวัยวะที่ใช้ในการพูดไม่สามารถพัฒนาแบบเป็นไปตามลำดับขั้น การใช้อวัยวะในการพูดไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ทำให้เวลาต้องพูดคำที่ออกเสียงยาก มีความซับซ้อน หรือเป็นคำยาว จะพบปัญหามาก
6. เด็กที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ (Children with behaviorally and emotional disorders)
เด็กที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ คือ เด็กที่ควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในสภาพปกติแบบเด็กปกตินาน ๆ ไม่ได้ หรือควบคุมพฤติกรรมบางอย่างของตนเองไม่ได้ ซึ่งพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกมานั้นมักไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม เป็นพฤติกรรมที่สร้างความไม่พอใจให้กับผู้อื่น ส่งผลให้เด็กพิเศษกลุ่มนี้ไม่สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างดีเท่าไรนัก
7. เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ (Children with learning disabilities)
เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ คือ เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้เฉพาะอย่าง โดยมีความบกพร่องเพียงหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งอย่างขึ้นไป ทำให้เด็กพิเศษเหล่านี้มีปัญหาทางการใช้ภาษา การพูด และการเขียน เช่น ภาวะดิสเล็กเซีย (Dyslexia)
8. เด็กออทิสติก (Autistic)
เด็กออทิสติก คือ เด็กที่มีความบกพร่องอย่างรุนแรงในการสื่อความหมาย พฤติกรรมในสังคม และความสามารถทางสติปัญญา ซึ่งการรับรู้ของเด็กและอาการบ่งชี้ต่าง ๆ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นระยะ เด็กออทิสติกแต่ละคนจะมีเอกลักษณ์ของตนเอง แตกต่างไปจากเด็กคนอื่นที่เป็นเด็กออทิสติกเหมือนกัน ทั้งนี้ เป็นเพราะเด็กออทิสติกจะแสดงอาการความรุนแรงออกมามากน้อยต่างกันนั่นเอง นอกจากนี้ยังเป็นเพราะเด็กแต่ละคนต่างก็มีบุคลิกภาพของตัวเอง ทำให้ต้องจัดวิธีการดูแลเฉพาะตัว พ่อแม่จึงควรเข้ารับคำปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งอาการออทิสติกนั้นจะติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต ไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่พ่อแม่และครูสามารถสอนให้เขาดูแลตัวเองขั้นพื้นฐานได้ เช่น การรับประทานอาหาร การดูแลตัวเอง สามารถทำงานฝึมือเพื่อใช้ประกอบอาชีพได้
9. เด็กพิการซ้ำซ้อน (Children with multiple handicaps)
เด็กพิเศษกลุ่มนี้จะมีความบกพร่องในร่างกายมากกว่าหนึ่งอย่าง เป็นเหตุให้เกิดปัญหาในการเรียนรู้อย่างมาก เช่น ปัญญาอ่อน-ตาบอด ปัญญาอ่อน-ร่างกายพิการ หูหนวก-ตาบอด เป็นต้น
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีความสงสัยในพัฒนาการของลูกไม่ว่าในด้านใด ก็ให้รีบปรึกษาแพทย์เสียตั้งแต่เนิ่น ๆ ได้เลยค่ะ เพื่อที่จะได้วินิจฉัยและแก้ไขอาการได้อย่างทันท่วงที อย่างไรแล้ว Motherhood ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ที่มีน้องเป็นเด็กพิเศษไม่ว่าจะในประเภทใดก็ตามนะคะ
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th