เด็กสายตาสั้น คุณพ่อคุณแม่ป้องกันได้
เด็กสายตาสั้น จะมีปัญหาสายตาทีบางทีพวกเขาเองก็ไม่รู้ตัว คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องใช้การสังเกตกันเยอะนิดนึงถึงจะทราบได้ว่าลูกรักของคุณมีปัญหาทางสายตาหรือไม่ เช่น เวลามองโทรทัศน์จะต้องหยีตา หรือเวลาเขียนหนังสือก็ต้อก้มลงจนหน้าเกือบติดกับสมุด แต่ต้องทำยังไงบ้างหากพบว่าลูกสายตาสั้น หรือจะป้องกันไม่ให้ลูกสายตาสั้นตั้งแต่ยังเล็กได้อย่างไร ติดตามบทความนี้เลยค่ะ
อาการสายตาสั้นคืออะไร
สายตาสั้น (Myopia) คือภาวะที่ภาพจากวัตถุตกอยู่ด้านหน้าขอจอรับภาพ แทนที่จะไปตกที่จออย่างพอดี ทำให้ต้องใช้เลนส์ชนิดเว้า (concave lens) ใส่เพื่อถ่างแสงให้ภาพไปตกพอดีที่จอรับภาพ สามารถพบได้ในคนอายุน้อย วัยรุ่น หรือวัยที่เพิ่งจะเริ่มต้นทำงาน
ปัญหาสายตาสั้นในเด็ก
เด็กทารกแรกเกิดส่วนมากจะมีสายตายาว แต่ก็มีบางส่วนที่มีสายตาสั้น แม้ภาวะสายตาสั้นจะไม่ส่งผลกระทบในเด็กเล็กมาเท่าไหร่ แต่เด็กคนไหนที่สายตาสั้นมากเป็นพัน (-10.0 diopters) ก็อาจมีความเสี่ยงโรคตาอื่นๆได้ โดยเฉพาะโรคจอประสาทตาเสื่อม วุ้นในตาเสื่อม จอประสาทตาลอก หรือต้อหิน แม้แต่เด็กที่อายุต่ำกว่า 1 เดือนก็สามารถพบปัญหาสายตาสั้นได้ หรือในกรณีเด็กคลอดก่อนกำหนดแล้วมีน้ำหนักแรกคลอดต่ำเป็นพิเศษ มักมีจอประสาทตาเสื่อมจากการคลอดก่อนกำหนด หรือจอประสาทตาเสื่อมจนมองเห็นไม่ชัดในเวลากลางคืน
สายเหตุของสายตาสั้น
- สายตาสั้นจากกรรมพันธุ์ ถ้าพ่อแม่คนใดคนหนึ่งมีสายตาสั้น ลูกที่เกิดมามักจะมีโอกาสสายตาสั้นมากกว่าคนทั่วไปประมาณ 25% หากพ่อแม่มีสายตาสั้นทั้งคู่ ลูกก็มีโอกาสสายตาสั้นมากถึง 50%
- สายตาสั้นจากสิ่งแวดล้อม เราจะพบเด็กสายตาสั้นได้บ่อยจากกลุ่มที่เรียนหนังสือมาก ดูโทรทัศน์ เล่นเกม และใช้คอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ทมาก เพราะต้องใช้สายตาเพ่งมองมากและเพ่งใกล้ๆ
จุดสังเกตอาการเด็กสายตาสั้น
- ขยี้ตาบ่อยๆ
- เวลาโยนรับส่งลูกบอลมักจะรับพลาด
- ปวดหัวเป็นประจำ
- เวลาดูโทรทัศน์มักจะเพ่งมากและหยีตา
- ไม่สามารถดูภาพยนต์สามมิติได้
- ก้มหน้าจนเกือบติดมสมุดเวลาเขียนหนังสือ
การวัดสายตาในเด็ก
เด็กมีธรรมชาติที่ชอบเพ่งสายตา ทำให้เวลาตรวจวัดค่าสายตาอาจจะผิดเพี้ยนได้ เด็กสายตาสั้นก็จะได้ค่าที่มากกว่าความเป็นจริง ส่วนเด็กที่สายตายาวก็จะได้ค่าที่น้อยกว่าความเป็นจริง ดังนั้นแพทย์จะต้องแก้ปัญหานี้โดยให้ยาหยอดที่ช่วยลดการเพ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี จากนั้นจึงทำการวัดสายตาก็จะได้ทราบค่าสายตาที่แท้จริง
หลังจากตรวจวัดค่าสายตาเสร็จ จักษุแพทย์จะทำการสั่งแว่นตาตามความเหมาะสม และจะมีการนัดมาตรวจเป็นระยะเพราะค่าสายตาของเด็กจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอด จนกระทั่งอายุประมาณ 11-12 ปี ก็จะสามารถวัดสายตาได้แบบเดียวกับผู้ใหญ่
การเตรียมตัวให้เด็กก่อนไปวัดสายตา
- ควรไปวัดสายตาในวันที่ไม่มีไข้ ร่างกายปกติดี ไม่มีการสอบหรือการเรียนที่ต้องใช้สายตามากในวันรุ่งขึ้น เพราะยาที่ใช้หยดจะทำให้มองระยะใกล้ไม่ชัดไป 1 วัน
- เตรียมแว่นตาดำและหมวกมาด้วย เพราะหลังการตรวจม่านตาของเด็กจะขยายเล็กน้อย ทำให้ไวต่อแสงมาก เกิดอาการแพ้แสงได้ แต่ 1 วันก็จะหาย
- จะมีการหยอดยาเพื่อวัดสายตาในทุก 5 ถึง 10 นาที ทำ 2-3 ครั้งกับตาทั้งสองข้าง หลังจากนั้นรอประมาณ 30 นาทีจึงจะรับการตรวจวัดได้ แต่เด็กเล็กอาจจะงอแงเพราะยาค่อนข้างแสบ
- หลังจากตรวจวัดค่าสายตา จุกษุแพทย์จะทำการตรวจจอประสาทตาต่อ เพราะม่านตากำลังขยายอยู่
- หลังจากตรวจเรียบร้อยควรให้เด็กงดกิจกรรมกลางแจ้ง พักผ่อนอยู่แต่ในบ้าน งดกิจกรรมที่ต้องใช้แสงไฟสว่างมากๆ
ปัญหาของเด็กสายตาสั้นย่อมส่งผลกระทบต่อตัวเขา ทั้งในเรื่องการเรียนและการใช้ชีวิต คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตสุขภาพสายตาของลูกน้อย และช่วยป้องกันอาการโดยไม่ให้เขาใช้งานโทรศัพท์มือถือ คอมพิเตอร์ หรือแท็บเล็ทมากเกินไป การติดแผ่นกรองแสงที่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือให้เด็กสวมแว่นตากรองแสงสีฟ้าก็ช่วยป้องกันได้ในระดับหนึ่ง หากเมื่อไหร่ที่คุณพ่อคุณแม่พบว่าเขามีอาการคล้ายจะสายตาสั้น ให้รีบพาไปพบจักษุแพทย์เพื่อทำการตรวจสุขภาพตาทันที แล้วจะได้แก้ไขปัญหากันต่อไป
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th