Site icon Motherhood.co.th Blog

ปิดเทอมนี้ ถึงเวลาพาลูก “เที่ยววัด”

พาลูกเที่ยววัด

เที่ยววัดในมุมมองที่ต่างไปจากเดิมในสไตล์ walking tour

ปิดเทอมนี้ ถึงเวลาพาลูก “เที่ยววัด”

เรื่องของศาสนานั้นกลมกลืนไปกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยมาช้านานนะคะ ในช่วงปิดเทอมอย่างนี้ อยากแนะนำให้ลองพาลูก “เที่ยววัด” กันดูบ้าง ซึ่งโปรแกรมการเที่ยวชมศาสนสถานที่เราจะจัดให้นี้ รับรองว่าจะไม่ใช่การไปวัดในรูปแบบที่เด็กๆคุ้นเคยกันอย่างแน่นอนค่ะ เพราะเป็นการเดินชมเมืองในรูปแบบ walking tour แต่จะมีความแตกต่างในจุดไหนอีกนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องติดตามอ่านนะคะ รับรองว่าได้ทั้งความตื่นตาตื่นใจ และได้อิ่มอร่อยไปในตัวแน่นอน

01 – อาสนวิหารอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ

Image: Bangprikphoto / Shutterstock.com

จุดหมายแรกของเราอยู่ใจกลางย่านธุรกิจของชาวกรุงเทพฯนี่เอง เพราะอาสนวิหารอัสสัมชัญ ตั้งอยู่ในย่านบางรัก ภายในพื้นที่โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ และโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา ที่นี่เป็นอาสนวิหารประจำมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกเพื่อถวายเกียรติแด่พระแม่มารีย์ในโอกาสถูกรับขึ้นสวรรค์ และมีอายุเก่าแก่กว่า 200 ปี เลยทีเดียว

อาคารหลังปัจจุบันมีรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในอิตาลี มีหอคอยขนาบข้างซุ้มประตูทางเข้าทั้ง 2 ด้าน ด้านในตกแต่งอย่างสวยงามด้วยจิตรกรรมแบบเฟรสโก ซึ่งเป็นเทคนิคการเขียนสีลงบนปูนขณะที่ปูนยังไม่แห้ง ตัวเพดานทรงโค้งยกสูง บรรยากาศโปร่ง บริเวณแท่นบูชาก็ตกแต่งด้วยหินอ่อนอย่างหรูหรา และยังมีกระจกสีจากฝรั่งเศสและอิตาลี จึงทำให้ที่นี่กลายเป็นอาสนวิหารที่สวยงามติดอันดับต้นๆของไทยเรา

รับรองว่าเด็กๆจะต้องตื่นตาตื่นใจไปกับความสวยงามที่ประดับประดาอยู่ภายในอาสนวิหารอย่างแน่นอน รวมทั้งจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับพิธีมิสซาที่คริสตศาสนิกชนให้ความสำคัญในการปฏิบัติศาสนกิจด้วย

ที่ตั้ง: 23 ซอยเจริญกรุง 40 ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพฯ

เวลาเปิด-ปิด: เที่ยวชมภายนอกได้ทุกวัน ส่วนด้านในจะเปิดเฉพาะช่วงวันและเวลาที่มีพิธีมิสซาเท่านั้น วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 06.00 น. และ 17.15 น. วันศุกร์ต้นเดือน เวลา 19.00 น. วันเสาร์ เวลา 06.00 น. และ 17.00 น. วันอาทิตย์ เวลา 07.00 น., 08.30 น., 10.00 น. และ 17.00 น.

02 – ประจักษ์เป็ดย่าง

หลังจากที่พาเด็กๆไปชมความงามของอาสนวิหารอัสสัมชัญไปแล้ว ก็ถึงเวลาอิ่มอร่อยกันในช่วงเช้าที่ประจักษ์เป็ดย่าง ร้านอาหารเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ในย่านบางรักตั้งแตพ.ศ. 2452 ร้านบะหมี่เป็ดย่างขนาด 1 คูหานี้เป็นกิจการครอบครัวที่เปิดดำเนินการมาจนถึงรุ่นที่ 4 มีประวัติความเป็นมายาวนานถึง 108 ปี และจำนวนลูกค้าทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่แน่นขนัดตลอดทั้งวันก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์ความอร่อยได้เป็นอย่างดี

เป็ดย่างของที่นี่หอมมาก เนื้อเป็ดนุ่ม หนังกรอบไร้มัน น้ำซอสก็รสดี เคล็ดลับอยู่ที่การเลือกเป็ดคัดเกรด การหมักด้วยเครื่องเทศและเครื่องปรุงรส แล้วราดด้วยน้ำผึ้งก่อนจะนำไปย่าง (ราคาเริ่มต้นที่จานละ 100 บาท) อีกเมนูที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาถึงคือขาหมูยัดไส้ ที่เป็นการนำเอาเนื้อหมูส่วนขาหน้ามาหมักกับเครื่องเคราต่างๆจนได้ที่ จากนั้นยัดกลับเข้าไปในขาหมูแล้วนำไปนึ่งจนสุก ทำให้ได้รสสัมผัสนุ่มแต่ก็กรุบกรอบผสมกันไป

นอกจากเมนูเด็ดที่ได้แนะนำไป ร้านประจักษ์ยังมีเมนูอร่อยน่าลองประดับร้านอยู่อีกมากมาย อย่างเช่น ข้าวเฉโป บะหมี่เฉโป ปีก ขา และลิ้น เป็ดพะโล้ ติ่มซำ และอาหารตามสั่งอื่นๆอีกหลายรายการ

ที่ตั้ง: 1415 ถนนเจริญกรุง แขวงสีลม บางรัก กรุงเทพฯ

เวลาเปิด-ปิด: ทุกวัน 8.00-20.30 น.

03 – ตึกศุลกสถาน

หลังจากเติมพลังช่วงเช้าด้วยเป็ดย่างแสนอร่อยกันแล้ว ก็พาเด็กๆข้ามฝั่งกลับมายังถนนเจริญกรุง เพื่อมุ่งตรงไปยังศุลกสถาน อาคารเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในซอยเจริญกรุง 36 ศุลกสถานหรือที่คนสมัยก่อนเรียกกันว่า “โรงภาษีร้อยชักสาม” เรียกสั้นๆว่า “โรงภาษี” เป็นอาคารสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2429 ถึง พ.ศ. 2431 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาคารหลังนี้ได้รับการออกแบบจากโยอาคิม แกรซี สถาปนิกชาวอิตาลี โดยเป็นอาคารปูนสไตล์นีโอคลาสสิคสูง 3 ชั้น มีมุขกลางสูง 4 ชั้น ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมพาลลาเดียน ซึ่งมีลักษณะผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางตัวขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีลักษณะเด่นอยู่ที่มุขกลางที่ประดับด้วยนาฬิกาและระเบียงด้านหน้าซึ่งปรากฏซุ้มหน้าต่างตลอดแนวอาคาร นอกจากนี้ศุลกสถานยังเคยเป็นสถานที่จัดเลี้ยงและเต้นรำของเชื้อพระวงศ์และชาวต่างชาติในสมัยนั้นอีกด้วย

อาคารศุลกสถานเป็นที่ทำการของกรมศุลกากรจนกระทั่งมีการย้ายกรมฯ ไปแถบท่าเรือคลองเตยในปี พ.ศ. 2497 จากนั้นตัวอาคารถึงถูกเปลี่ยนให้เป็นที่ทำการของสถานีตำรวจดับเพลิงบางรักในปี พ.ศ. 2502 และอยู่ที่นี่เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 60 ปี ก่อนจะย้ายออกไป ในปัจจุบันตึกเก่าอาคารศุลกสถานถูกปล่อยทิ้งร้างจึงดูทรุดโทรมลงไปมาก หากแต่ยังหลงเหลือไว้ซึ่งร่องรอยและกลิ่นอายของความเจริญรุ่งเรืองของย่านการค้าหลักแห่งกรุงรัตนโกสินทร์อย่างถนนเจริญกรุง รวมทั้งการผสมผสานของวัฒนธรรมที่หลากหลายของผู้คนในพื้นที่

เรียกว่าเป็นอีกจุดหมายหนึ่งที่คนรักประวัติศาสตร์และหลงใหลการถ่ายภาพชอบมาเที่ยวกัน หากคุณพ่อบ้านไหนบ้ากล้องแล้วละก็ รับรองว่าจะต้องได้ภาพเด็ดๆไปเพียบแน่นอน

ที่ตั้ง:

เวลาเปิด-ปิด: ตัวอาคารถูกทิ้งร้างและปิดตาย ถ่ายรูปได้แค่บริเวณโดยรอบ

04 – สถาบันศิลปะอิสลามแห่งประเทศไทย

Image: Institute of Islamic art Thailand

อิ่มเอมกับการชมร่องรอยแห่งความรุ่งเรืองของย่านการค้าในอดีตมาแล้ว ก็เดินย้อนกลับมาทางถนนเจริญกรุง เพื่อเข้าเยี่ยมชมสถาบันศิลปะอิสลามแห่งประเทศไทย ณ บ้านเขียวอันยุมัน สถาบันศิลปะอิสลามแห่งประเทศไทยก่อตั้งขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับศิลปะอิสลาม โดยเฉพาะศิลปะอิสลามในประเทศไทย

ที่นี่เป็นห้องสมุดและแกลเลอรี่เล็กๆ ที่มีไว้ให้ผู้สนใจเรื่องศาสนาอิสลาม ศิลปะอิสลาม สถาปัตยกรรมอิสลาม วัฒนธรรมอิสลาม มาเรียนรู้ และมีการจัดกิจกรรมเป็นประจำโดยให้นักวิชาการและคนทั่วไปมาเข้าร่วมด้วย บางครั้งจะมีอาจารย์ผู้เขียนอักษรอาหรับประดิษฐ์มาประจำในบ้านเขียวด้วย โดยจะจัดแสดงการเขียนอักษรอาหรับอย่างวิจิตรบรรจงให้ผู้เข้าชมได้ดูกัน

ที่ตั้ง: 29 ซอยเจริญกรุง 36 แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพฯ

เวลาเปิด-ปิด: 10.00 – 18.00 น.

05 – มัสยิดฮารูณ

Image: sarakadee.com

หลังจากที่ได้เรียนรู้ศิลปะอิสลามกันมาแล้ว ก็ต้องมาแวะมัสยิดกันบ้าง ในสมัยก่อนมัสยิดแห่งนี้เรียกว่า “มัสยิดวัดม่วงแค” ตั้งชื่อง่ายๆตามวัดไทยที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน แต่เดิมก่อสร้างด้วยไม้ทั้งหลังและอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริให้ตั้งโรงภาษีริมน้ำเพื่อความสะดวกต่อการค้าขาย จึงทรงแลกที่ดินกับชุมชนด้านใน และพระราชทานเงินเพื่อสร้างมัสยิดใหม่ใน พ.ศ. 2441 หลังจากนั้นมีกฎหมายให้จดทะเบียนมัสยิดเป็นนิติบุคคล จึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็นมัสยิดฮารูณ ตามชื่อของโต๊ะฮารูณ อิหม่ามชาวชวาเชื้อสายเยเมน ผู้นำในการสร้างมัสยิดแห่งนี้

ความพิเศษทางศิลปะของมัสยิดฮารูณอยู่ที่ลวดลายประดับห้องละหมาด ซึ่งเป็นสไตล์ “มูซันนา” อักษรอาหรับประดิษฐ์ที่เขียนสะท้อนสองด้านอย่างสมมาตรกัน เนื่องจากภาษาอาหรับอ่านจากขวาไปซ้าย ด้านที่อ่านตามปกติจึงอยู่ทางด้านซ้าย เป็นผลงานสร้างสรรค์โดยช่างฝีมือชาวชวา และด้วยความที่บริเวณนี้เป็นชุมชนที่อยู่ร่วมกันทั้งคนไทยและคนต่างชาติ ทำให้ที่นี่เป็นมัสยิดแห่งเดียวในไทยที่เทศน์วันศุกร์ 3 ภาษา รอบแรกเป็นภาษาไทยและอาหรับเหมือนมัสยิดแห่งอื่นๆ ส่วนรอบที่สองอิหม่ามจะเทศน์เป็นภาษาอังกฤษซ้ำอีกรอบ

ที่ตั้ง: 25 ซอยเจริญกรุง 36 แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพฯ (ตรงข้ามสถานทูตฝรั่งเศส)

เวลาเปิด-ปิด: เยี่ยมชมได้ในช่วงกลางวัน

06 – ร้านมุสลิม เจริญกรุง

Image: adaymagazine.com

เดินเที่ยวกันมาตลอดทั้งเช้า เรามาตบท้ายที่อาหารกลางวันร้านเด็ดประจำย่านเจริญกรุงกันดีกว่า ร้านอาหารร้านนี้เกิดขึ้นมาร่วม 70 ปี จนถึงตอนนี้ก็อยู่ในความดูแลของทายาทรุ่นที่ 3 เป็นที่เรียบร้อย

“ข้าวหมกแพะ” ของที่นี่อยากให้ทุกคนได้ลิ้มลองกัน เพราะของเขาไม่มีกลิ่นสาบหลงเหลือเลย ตามปกติแล้วเนื้อแพะจะมีกลิ่นสาบเฉพาะตัว แต่ของที่นี่ใช้กระเทียมกับขิงหมักเนื้อลดกลิ่นก่อน แล้วค่อยเอามาเคี่ยวกับเครื่องเทศจนเนื้อเปื่อยนุ่มด้วยเตาฟืนช้าๆ พอได้ที่ถึงเอาไปหุงกับข้าวหมกอีกที โดยใช้ข้าวคลุมทับเนื้อสัตว์ลงไป อีกจานเด็ดที่เสิร์ฟมาคู่กับข้าวหมกแพะก็คือ “แกงมะเขือยาว” สูตรของทางร้านเอง ที่กินคู่กับข้าวหมกเพื่อตัดเลี่ยนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ซุปไก่และสะเต๊ะเนื้อของร้านอาหารมุสลิมก็นับเป็นจานที่น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเนื้อสะเต๊ะที่ย่างทีละชุดอย่างพิถีพิถัน

ถือเป็นการแนะนำให้เด็กๆรู้จักกับรสชาติอาหารที่ต่างออกไป หากได้มากินอาหารกลางวันที่ร้านแห่งนี้ เด็กๆก็จะได้ทำความคุ้นเคยกับกลิ่นและรสชาติเฉพาะตัวของเครื่องเทศ เขาจะได้กินอาหารได้หลากหลายมากขึ้นด้วย

หวังว่าการเที่ยววัดในรูปแบบใหม่นี้จะทำให้ทั้งคุณพ่อคุณแม่และเด็กๆได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างไม่มากก็น้อยนะคะ การให้ลูกได้เรียนรู้วิธีชีวิตของผู้คนที่แตกต่างออกไปเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นการปูพื้นฐานให้เขาเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่เคารพในความแตกต่างของผู้คนรอบข้างและรู้จักปรับตัวได้เป็นอย่างดี

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th