เลือก “เนอสเซอรี่” ยังไง ให้ลูกปลอดภัยและคุณภาพดี
คุณแม่สมัยนี้หลายๆคนไม่ได้เป็นคุณแม่เต็มเวลาอีกต่อไป ด้วยภาระหน้าที่อันจำเป็นทำให้ไม่สามารถเลี้ยงลูกเองได้ในช่วงกลางวัน “เนอสเซอรี่” จึงกลายเป็นที่พึ่งสำคัญของครอบครัวยุคใหม่ไปโดยปริยาย แต่ข่าวเด็กเล็กถูกทำร้ายที่เนอสเซอรี่ก็มีให้เราได้ยินได้ฟังบ่อยเหลือเกิน ตัวคุณพ่อคุณแม่เอง รวมทั้งผู้คนทั่วไปในสังคมก็คงไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นก่อนที่จะส่งลูกเข้าเนอสเซอรี่ เราต้องมั่นใจว่าเราจะไว้วางใจเขาให้ดูแลลูกเราได้จริงๆ
เนอสเซอรี่คืออะไร?
เนอสเซอรี่ เป็นสถานรับเลี้ยงเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กในวัยก่อนเข้าโรงเรียน เหมาะกับคุณพ่อคุณแม่ที่ทำงานประจำในช่วงกลางวัน จึงไม่มีเวลาดูแลลูกได้ด้วยตัวเองในช่วงนั้น หรือไม่มีญาติที่จะสามารถฝากลูกไว้ได้ การนำลูกไปฝากเลี้ยงที่เนอสเซอรี่อาจส่งผลถึงพัฒนาการของตัวลูกด้วยเช่นกัน ฉะนั้นแล้ว การเลือกเนอสเซอรี่ให้ดีจึงมีความจำเป็น เพราะที่นั่นเปรียบเหมือนบ้านหลังที่สองของลูกน้อย
ข้อควรพิจารณาในการเลือกเนอสเซอรี่
- ค่าใช้จ่าย – ดูให้เหมาะสมกับฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว
- ที่ตั้ง – เลือกทำเลที่ใกล้บ้านหรือที่ทำงานของคุณพ่อคุณแม่ เพื่อให้รับส่งและเดินทางทำได้อย่างสะดวก ลูกจะได้ไม่เหนื่อยเกินไป
- นโยบายการดูแลเด็ก – ควรมองหาที่มีนโยบายตรงกับความต้องการของพ่อแม่ เช่น สนับสนุนการให้นมแม่ หรือให้ผลไม้แทนขนมหวาน
- ความปลอดภัยของสถานที่ – ต้องไม่มีประตูที่เด็กจะเดินออกไปเองตามลำพังได้ มีทางหนีไฟและระบบตรวจจับควันไฟ การติดตั้งของเล่นขนาดใหญ่ต้องมั่นคงดีและไม่เสื่อมสภาพ มีที่จอดรถอยู่ห่างจากที่เล่นของเด็ก บรรยากาศไม่แออัด มีการระบายถ่ายเทอากาศดี หากเป็นห้องแอร์ควรมีเครื่องฟอกอากาศเพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่ลูกจะได้รับโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ และควรมีห้องแยกสำหรับเด็กป่วย มีของเล่นที่หลากหลายและเหมาะกับเด็กแต่ละวัย เพื่อช่วยเสริมพัฒนาการและมีจำนวนเพียงพอ ทางโรงเรียนควรมีกล้องวงจรปิดเพื่อคอยตรวจสอบและย้อนดูเหตุการณ์ได้ในกรณีที่เกิดเหตุไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นกับลูก และต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี
- บุคลากร – ควรมีอย่างเพียงพอกับจำนวนเด็ก จะได้ดูแลเด็กอย่างทั่วถึง เรื่องนี้มีผลต่อการดูแลลูก เพราะหากพี่เลี้ยงหนึ่งคนต้องดูแลเด็กมากกว่า 2-3 คน ถือว่าเยอะพอสมควร บุคลากรต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคติดต่อ ไม่มีประวัติอาชญากรรม เป็นคนรักเด็ก ใจเย็น มีความรู้ความชำนาญในการดูแลเด็ก ผ่านการอบรมหลักสูตรการช่วยชีวิตและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น มีโปรแกรมฝึกพัฒนาการที่แน่นอนสำหรับเด็กแต่ละช่วงอายุ และจะยิ่งดีมากถ้าได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานประกอบการ นอกจากจะต้องแน่ใจว่ามีใบรับรองแล้ว ต้องเช็คด้วยว่ามีการต่ออายุทุกปีหรือไม่
- การดูแลสุขภาพเด็ก – เน้นเรื่องการล้างมือบ่อยๆ มีแนวทางปฏิบัติเพื่อความสะอาดที่ดีสำหรับบุคลากรก่อนจะเตรียมอาหารให้เด็ก หลังเปลี่ยนผ้าอ้อม เช็ดน้ำมูก น้ำลาย หรืออาเจียนของเด็ก เพื่อป้องกันการแพร่ของเชื้อโรค มีห้องแยกเด็กป่วย หรือไม่ให้มาเรียนจนกว่าจะพ้นระยะแพร่เชื้อ มีการสังเกตอาการเจ็บป่วยของเด็ก เพื่อที่จะได้รีบแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโรค และรีบโทรศัพท์แจ้งให้ผู้ปกครองมารับเด็กกลับบ้านหรือพาไปตรวจที่โรงพยาบาล ในกรณีที่เด็กป่วยแบบเฉียบพลันและจำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษาทันที ทางโรงเรียนควรมีระบบการนำส่งเด็กให้ได้รับการตรวจได้ทันทีโดยไม่ต้องรอผู้ปกครอง เพราะอาจไม่ทันเวลา
- อาหารถูกสุขลักษณะ – มีห้องเตรียมอาหารที่ถูกสุขลักษณะ จัดอาหารและของว่างถูกต้องตามหลักโภชนาการและน่ารับประทาน
สิ่งที่ควรถามเพิ่มเติมจากเนอสเซอรี่
หากคุณพ่อคุณแม่มีตัวเลือกเนอสเซอรี่ไว้ในใจแล้ว ควรหาโอกาสไปเยี่ยมชมเนอสเซอรี่ที่สนใจด้วย และลองถามคำถามเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ดู จะได้ตัดสินใจถูกว่าเนอสเซอรี่ที่เล็งไว้นี้เหมาะกับลูกของเรามากน้อยแค่ไหน
1. หลักสูตรและกิจกรรม
มีหลักสูตรและจัดกิจกรรมให้เด็กแบบไหน เน้นประเภทสอนร้องเพลง หรือมีกิจกรรมที่สอนให้เด็กเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นหรือไม่
2. เป้าที่กำหนดให้เด็กเรียนรู้
แนะนำว่าหลีกเลี่ยงเนอสเซอรี่ที่เข้มงวดกับเรื่องการเรียนรู้มากจนเกินไป เช่น มีการตั้งเป้าในการนับเลขให้ได้ตามกำหนดระยะเวลา ควรเลือกที่เน้นเรื่องทักษะการเข้าสังคมให้เด็กมากกว่า
3. กิจกรรมประจำวัน
ในแต่ละวันมีตารางกิจกรรมเป็นแบบแผนมากน้อยแค่ไหน การให้เด็กได้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นเรื่องที่ดี แต่เด็กยังเล็กมาก ควรให้เขาได้เล่นตามใจชอบด้วยเช่นกัน
ทำอย่างไรถ้าลูกร้องไห้ทุกวันเมื่อเข้าเนอสเซอรี่
การร้องไห้ของเด็กถือเป็นเรื่องปกติในระยะแรก เด็กต้องอาศัยการปรับตัวเมื่อเริ่มต้นเข้าเนอสเซอรี่ เพราะความไม่คุ้นเคยกับสถานที่และคนแปลกหน้า โดยเฉพาะยิ่งเด็กที่อายุเกิน 2 ขวบ จะปรับตัวได้ยากกว่าเด็กเล็กๆ อย่างไรก็ตามช่วงเวลาปรับตัวของเด็กส่วนมากจะใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ หรือสามารถปรับตัวดีขึ้นได้ในวันที่ 2 และวันที่ 3
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำในช่วงแรกๆที่ให้ลูกเข้าเนอสเซอรี่คือการมารับลูกให้ตรงเวลาเสมอ ไม่เกิน 5 – 6 โมงเย็น และไม่ควรปล่อยให้ลูกอยู่รอพ่อแม่รับกลับบ้านเป็นคนสุดท้าย เพราะจะทำให้เด็กเกิดความกลัว รู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคง
นอกจากนี้พ่อแม่ควรพูดถึงเนอสเซอรี่ในแง่บวกเสมอ ไม่ใช้เนอสเซอรี่ในการขู่ลูกหรือเป็นการทำโทษ เช่น ถ้าหนูงอแงจะพาไปอยู่เนอสเซอรี่ หรือถ้าพูดไม่รู้เรื่องจะทิ้งไว้ที่เนอสเซอรี่ หรือจะส่งให้ครูตี เป็นต้น เพราะจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกที่เป็นลบต่ออการมาเนอสเซอรี่ และอาจมีต่อเนื่องถึงการไปโรงเรียนก็เป็นได้
สัญญาณบ่งบอกว่าลูกถูกทำร้าย
แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับเด็กๆ และนี่คือสัญญาณเตือนที่คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตให้เป็น หากลูกถูกทำร้ายจะได้รีบแก้ไขปัญหาได้ทัน
- โหยหาพ่อแม่ ถ้าปกติลูกไม่เคยโผเข้ากอดพ่อแม่หลังไปรับ แต่จู่ๆลูกวิ่งเข้าหาพ่อแม่แบบโหยหา หรือร้องไห้ใส่ทันทีที่เห็นหน้า ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าอาจมีเหตุไม่ปกติเกิดขึ้นกับลูก หรือมาร้องไห้ทันทีที่ถึงบ้านเพราะอยู่ต่อหน้าครูที่โรงเรียนแล้วไม่กล้าร้อง
- มีความหวาดกลัว ไม่อยากไปเนอสเซอรี่ ยิ่งถ้าปกติลูกเป็นเด็กร่าเริงแล้วอยู่ๆกลายเป็นไม่พูด เงียบ ไม่ร่าเริงเหมือนเก่า งอแง และร้องไห้ไม่ยอมไปเรียน ให้ถามลูกได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น
- พัฒนาการช้า ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยกว่าที่ควรเป็นตามวัย งอแง ขี้ตกใจ
- พบรอยเขียวช้ำตามตัว ควรสังเกตตามตัวลูกว่ามีรอยแผลเขียวช้ำหรือเปล่า โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นเป็นประจำ และควรเช็คในบริเวณร่มผ้าด้วย เพราะส่วนใหญ่พี่เลี้ยงมักทำร้ายในที่ที่มองเผินๆไม่เห็น
ถ้าลูกถูกทำร้ายจากเนอสเซอรี่ควรทำอย่างไร
- เมื่อสอบถามลูกแล้วพบว่าถูกทำร้าย ให้รีบพาลูกไปตรวจร่างกาย เพื่อให้แพทย์เช็คความผิดปกติ ถ่ายรูปร่องรอยที่ถูกทำร้ายและเก็บหลักฐานทางการแพทย์ไว้
- หากลูกไม่ได้รับบาดเจ็บร้ายแรงและไม่ได้มีอาการผิดปกติ ให้คุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีสืบจากเพื่อนในห้องหรือผู้ปกครองคนอื่นๆ ก่อน เพื่อหาพยานและหลักฐาน จากนั้นให้รีบแจ้งผู้บริหารเนอสเซอรี เพื่อขอเช็คกล้องวงจรปิด และขอแนวทางแก้ไข
- หากลูกบาดเจ็บหนัก ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและศูนย์ดำรงธรรมหรือมูลนิธิคุ้มครองเด็กให้เข้ามาดูแล
- ย้ายเนอสเซอรี่ทันที เพื่อป้องกันลูกถูกทำร้ายอีก
พอจะได้ไอเดียในการเลือกเนอสเซอรี่ให้ลูกน้อยกันแล้วใช่ไหมคะ อีกประเด็นที่ควรทราบไว้คือ นอกจากคุณพ่อคุณแม่จะเป็นผู้เลือกเนอสเซอรี่ให้ลูกแล้ว ก่อนพาลูกเข้าเนอสเซอรี่ คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องมั่นใจก่อนว่าลูกเรามีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ที่จะไปอยู่ในที่ที่ไม่มีพ่อกับแม่คอยดูแลตลอดเวลา ในช่วงแรกคุณแม่อาจรู้สึกแย่อยู่บ้างเวลาเห็นลูกร้องไห้ทุกเช้าเมื่อแยกจากแม่ แต่เด็กจะสามารถปรับตัวได้แน่นอนค่ะ จากนั้นเขาก็จะได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับเพื่อนๆ คุณพ่อคุณแม่เองก็มีคนช่วยดูแลลูกในเวลาที่ต้องทำงาน เพียงแต่เราต้องให้ความสำคัญกับการเลือกเฟ้นเนอสเซอรี่สักหน่อย เพื่อความสบายใจของเรา และเพื่อให้ลูกรักได้มีพัฒนาการที่ดี
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.thแ