รวม “เพลงกล่อมเด็ก” และที่มา
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอ่อนหรือเจ้าตัวเล็กในวัยที่ยังงอแงในช่วงนอน การร้อง “เพลงกล่อมเด็ก” ให้เขาฟังก็ดูจะเป็นทางออกที่ดีนะคะ วันนี้ Motherhood เลยจะรวบรวมเอาเพลงกล่อมเด็กสุดฮิตของไทย รวมทั้งเพลงกล่อมเด็กประจำภาคต่างๆของไทย ที่ใช้ภาษาถิ่นในการร้อง รวมทั้งเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเพลกล่อมเด็กมาฝากกันค่ะ
ทำความรู้จักกับเพลงกล่อมเด็ก
เพลงกล่อมเด็ก คือ เพลงพื้นบ้านประเภทหนึ่ง จัดว่าเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะ ที่ชาวบ้านแต่ละท้องถิ่นจดจำสืบทอดกันมาแบบปากเปล่าโดยไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร บทร้องถูกแต่งขึ้นด้วยถ้อยคำง่ายๆ มีสัมผัสคล้องจอง ทำนองเพลงช้า มีการเอื้อนเสียง เพื่อใช้เห่กล่อมให้เด็กนอนหลับ เนื้อหาของเพลงมักถ่ายทอดความรัก ความเอ็นดู แสดงความอ่อนโยนและห่วงใยที่มีให้กับเด็ก ทำให้เด็กเคลิ้มหลับสนิทได้อย่างอบอุ่นใจ
เมื่อมีเด็กเกิดใหม่ในบ้าน พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และญาติๆ ก็จะช่วยกันเลี้ยงดูและเห่กล่อมให้เด็กนอนหลับพักผ่อน บางครั้งก็อาจเป็นการปลอบเพื่อให้เด็กหยุดร้องไห้ เนื่องจากเพลงกล่อมเด็กเกิดขึ้นมาจากความรักความผูกพันและการเลี้ยงดูเด็กที่ดำเนินควบคู่ไปพร้อมกับวิถีชีวิตของทุกครอบครัว ทำให้บทเพลงกล่อมเด็กมีอยู่ในทุกชาติทุกภาษาทั่วโลก สังคมไทยเราก็มีเพลงกล่อมเด็กที่จดจำสืบต่อกันมาจากรุ่นพ่อแม่จนถึงรุ่นลูกหลาน ซึ่งยังไม่มีผู้ใดทำการรวบรวมจดบันทึกเป็นหนังสือหรือตำรา จึงไม่ปรากฏหลักฐานที่บ่งบอกว่าเพลงกล่อมเด็กเพลงแรกของไทยเกิดขึ้นเมื่อใด หรือใครเป็นผู้แต่งเพลงกล่อมเด็กบทใด
สันนิษฐานกันว่าการเห่กล่อมเด็กน่าจะเริ่มต้นจากการเปล่งเสียงเอื้อนยาวซ้ำๆ เช่น เอ่…เอ๊…อื่อ…อื๊อ ขณะที่ผู้ใหญ่ไกวเปลให้เด็กนอนหรืออุ้มเด็กแนบไว้กับอกพร้อมโยกตัวไปด้วย โดยมีการออกเสียงเอื้อนกล่อมไปพร้อมกับลูบหลังหรือตบก้นเด็กเบาๆ เพื่อให้เด็กฟังเพลินจนหลับหรือหยุดร้องไห้ ต่อมาได้มีการแต่งถ้อยคำบทสั้นๆเพิ่มเป็นหลายบท จนในที่สุดก็มีเพลงกล่อมเด็กแบบร้อยกรองเป็นบทเห่กล่อมที่ยาวขึ้นอีกหลายเพลง เนื้อเพลงที่แต่งขึ้นนั้นเกิดจากประสบการณ์ของผู้ร้อง โดยเริ่มจากถ้อยคำที่ถ่ายทอดความรัก ความห่วงใย ความเอ็นดู บางบทเป็นการหยอกล้อ ปลอบ หรือขู่ เพลงกล่อมเด็กในบางท้องถิ่นมีเนื้อหาเชิงสั่งสอนอบรมเด็กให้มีความประพฤติดี บทเห่กล่อมเด็กหลายเพลงหยิบยกธรรมชาติและชีวิตสัตว์มาผูกเรื่องเล่าเป็นนิทาน บางเพลงได้นำเรื่องราวจากนิทานพื้นบ้านหรือตำนานของท้องถิ่นมาแต่งขึ้น
เพลงกล่อมเด็กประจำภาค
เพลงกล่อมเด็กชาวบ้านถือเป็นส่วนหนึ่งของเพลงพื้นบ้าน เนื้อหา ทำนอง และคำร้อง จึงมีความหลากหลายแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละท้องถิ่น คือ สภาพแวดล้อม สังคม ความเชื่อ ประเพณี รวมทั้งภาษาถิ่น ดังนั้น การเรียกชื่อเพลงกล่อมเด็กจึงแตกต่างกัน ดังนี้
- ภาคกลาง เรียกว่า เพลงกล่อมเด็ก หรือ เพลงกล่อมลูก
- ภาคเหนือ เรียกว่า เพลงอื่อ เพลงอื่อลูก เพลงอื่อ จา จา เพลงสิกก้องก๋อ เพลงสิกจุ่งจา
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่า เพลงก่อมลูก เพลงนอนสาหล่า เพลงนอนสาเยอ เพลงนอนสาเด้อ
- ภาคใต้ เรียกว่า เพลงร้องเรือ เพลงช้าเรือ เพลงชาเรือ เพลงชาน้อง เพลงช้าน้อง หรือเพลงน้องนอน
เพลงกล่อมเด็กภาคกลาง
บทเพลงกล่อมเด็กภาคกลางส่วนใหญ่เป็นเพลงสั้นๆ ใช้ถ้อยคำเรียบง่ายและคล้องจองกัน มุ่งเน้นการเห่กล่อมให้เด็กนอนหลับ ปลอบให้เด็กหยุดร้องไห้ บอกกล่าวถึงความรัก ความห่วงใย แสดงความเอ็นดู เพลงกล่อมเด็กภาคกลางไม่ได้เป็นเพียงบทร้องสั้นๆ ที่มีเนื้อหาเห่กล่อมเด็กเท่านั้น แต่ยังนำเรื่องราวจากธรรมชาติหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมขณะนั้นมาแต่งขึ้นเป็นเพลงใช้ร้องกล่อมเด็ก เพลงที่นิยมร้องแพร่หลายอยู่เกือบทุกจังหวัดในภาคกลาง
เพลงกล่อมเด็กภาคเหนือ
เรียกว่า เพลงอื่อ จา จา ตามเสียงที่เอื้อนออกมาตอนขึ้นต้นเพลง ด้วยการเปล่งเสียงหึ่งออกทางจมูกเพื่อให้เกิดความนุ่มนวล ชวนให้เด็กหลับไปได้ง่าย เนื้อเพลงมีลักษณะคำประพันธ์ไม่ตายตัว และจำนวนคำสัมผัสไม่เคร่งครัด เพลงกล่อมเด็กภาคเหนือนิยมร้องกันแพร่หลายมากในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และแม่ฮ่องสอน เนื้อหาของเพลงเน้นชักจูงให้เด็กนอนหลับ ใช้ถ้อยคำที่มีทั้งการปลอบประโลม ขู่ให้กลัว และติดสินบนให้ของกินแก่เด็ก
เพลงกล่อมเด็กภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีท่วงทำนองเรียบง่าย ใช้กลุ่มเสียงซ้ำๆ และแม้จะร้องด้วยจังหวะช้า แต่ก็แฝงน้ำเสียงที่สนุกสนาน จริงใจ เนื้อหาของเพลงถ่ายทอดความรัก ความห่วงใย โดยมีจุดมุ่งหมายหลัก คือ กล่อมให้เด็กนอนหลับหรือปลอบให้เด็กหยุดร้องไห้ โดยมักนำสภาพแวดล้อมและธรรมชาติต่างๆมาสอดแทรกไว้ในคำร้อง
เพลงกล่อมเด็กภาคใต้
สันนิษฐานว่า มาจากทำนองร้องที่เป็นไปอย่างช้าๆ เรื่อยๆ เหมือนเรือที่แล่นไปเอื่อยๆ ลักษณะคำประพันธ์เป็นกลอนชาวบ้าน โดยทั่วไป 1 บทมี 8 วรรค ในแต่ละวรรคมี 4-10 คำ ตามแต่เนื้อความ เนื้อหาเป็นการขับกล่อมให้เด็กนอนหลับเร็วๆ และหลับสนิท ด้วยความอบอุ่นทั้งกายและใจ และเมื่อเด็กยังไม่ยอมนอนหรือยังร้องไห้โยเย ก็ร้องบทที่ขู่ให้เด็กกลัว เพลงกล่อมเด็กภาคใต้ที่มีเนื้อร้องกล่อมให้เด็กนอนโดยตรงมีจำนวนไม่มากนัก ส่วนใหญ่มักแต่งบทร้องให้เป็นคำสอน การประพฤติปฏิบัติตน ปลูกฝังคุณธรรม และสะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคม
เพลงกล่อมเด็กช่วยบรรเทาความเจ็บปวด
นักดนตรีบำบัดจากโรงพยาบาลเกรท ออร์มอนด์ สตรีท ในประเทศอังกฤษ ทำการทดลองโดยร้องเพลงกล่อมลูก เช่น Five Little Ducks และ Twinkle Twinkle Little Star พร้อมกับเล่นกีตาร์ไปด้วยในตึกผู้ป่วยเด็ก และเปรียบเทียบกับเด็กอีกสองกลุ่มคือ กลุ่มที่ได้ฟังนิทาน และอีกกลุ่มคือไม่ได้ฟังเพลงกล่อมลูกหรือนิทานเลย ผลปรากฏว่าดนตรีช่วยลดความเจ็บปวด ลดความเร็วของอัตราการเต้นของหัวใจ และทำให้เด็กมีความสุขและอารมณ์ดีอีกด้วย
นักวิจัยแนะนำว่าเพลงกล่อมลูกที่ดีควรเป็นเพลงที่ร้องร้องเองสดๆ เสียงที่ร้องเองนี้จะได้ผลดีกว่าเพลงที่มีเครื่องดนตรีหรือเพลงที่ผ่านการบันทึกเสียง และหากเพลงนั้นมีเครื่องดนตรีหลายชนิดเกินไปก็อาจทำให้เด็กสับสนได้ นอกจากนี้สีหน้าขณะร้องเพลงกล่อมลูกของพ่อแม่ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะจะช่วยส่งอารมณ์ผ่อนคลายผ่านเสียงที่คุ้นเคยไปยังเด็ก
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th