รู้เท่าทันปัญหา เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
หนึ่งในปัญหาที่ส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากนั้น ก็มีภาวะ “เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่” รวมอยู่ในนั้นด้วย แต่ผู้หญิงจะทราบได้อย่างไรว่าตัวเองมีภาวะนี้อยู่ มีอาการใดบ้างที่เป็นสัญญาณบ่งบอก วันนี้ Motherhood นำเรื่องราวเกี่ยวกับภาวะนี้มาฝาก เพื่อให้รับมือกับอาการได้ทันท่วงที
รู้จักกับภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) คือภาวะที่เยื่อบุผนังมดลูกเจริญภายนอกมดลูก ทำให้เกิดเยื่อบุหนาที่สลายตัวกลายเป็นเลือดประจำเดือนไปเรื่อย ๆ จนร่างกายขับออกมาได้ไม่หมด ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงที่มีรอบเดือน รวมทั้งอาจส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากตามมา เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่มักเกิดขึ้นบริเวณรังไข่ ท่อนำไข่ เนื้อเยื่อที่ยึดมดลูก หรือเนื้อเยื่อที่อยู่รอบมดลูก และมีโอกาสเกิดขึ้นบริเวณลำไส้ตรง กระเพาะปัสสาวะ ปากมดลูก หรือช่องคลอดได้เช่นกัน แม้แต่ส่วนอื่นของร่างกายที่พบได้น้อย เช่น ผิวหนัง ปอด และสมอง เป็นต้น
อาการของเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
ผู้ป่วยภาวะ Endometriosis จะมีอาการของโรคแตกต่างกันไป พบได้ตั้งแต่ระดับไม่รุนแรงไปจนถึงขั้นรุนแรง อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของอาการไม่ใช่ตัวบ่งบอกความรุนแรงของโรคเสมอไป บางรายมีอาการน้อยแต่อาจมีอาการปวดรุนแรง ในขณะที่บางรายเป็นหนักแต่ไม่รู้สึกปวดหรือปวดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อาการของ Endometriosis ที่สังเกตได้โดยทั่วไปมีดังนี้
- ปวดท้องน้อย มักเกิดขึ้นในช่วงก่อนมีประจำเดือนและปวดบีบมากในช่วงที่มีรอบเดือน
- ปวดอุ้งเชิงกราน รู้สึกปวดอุ้งเชิงกรานตลอดเวลา และจะรู้สึกปวดยิ่งขึ้นเมื่อประจำเดือนใกล้มาและในช่วงที่มีรอบเดือน
- เจ็บข่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์ มีอาการเจ็บลึกลงไปภายในช่องคลอดระหว่างหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งมีความแตกต่างจากความรู้สึกเจ็บเมื่อมีการสอดใส่ครั้งแรก
- เจ็บท้องขณะขับถ่าย รู้สึกเจ็บท้องส่วนล่างเมื่อถ่ายหนักหรือปัสสาวะ บางรายอาจมีเลือดปนมากับอุจจาระและปัสสาวะด้วย แต่พบได้น้อย
- เลือดออกทางช่องคลอด อาจมีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติในช่วงที่ไม่มีรอบเดือนหรือประจำเดือนมามากผิดปกติ
- มีปัญหาในการย่อยอาหาร เช่น อาการท้องผูก ท้องเสีย ท้องอืด หรือรู้สึกคลื่นไส้ โดยเฉพาะช่วงที่มีรอบเดือน
- ประสบกับภาวะมีบุตรยาก อาจทำให้มีลูกยากหรือตั้งครรภ์ไม่ได้ เนื่องจากเกิดเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญขึ้นมาเรื่อย ๆ จนไปอุดตันรังไข่ ส่งผลให้ไข่ไม่สามารถออกมารับการปฏิสนธิกับอสุจิที่ท่อนำไข่
ตำแหน่งที่พบได้บ่อย
บริเวณที่มักพบเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ได้แก่
- รังไข่
หรือที่เรียกว่าช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst) มีสาเหตุจากเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกและประจำเดือนไหลย้อนกลับไปสะสมในรังไข่ มีลักษณะเป็นถุงน้ำในรังไข่ที่บรรจุของเหลวคล้ายช็อกโกแลต ซึ่งถุงน้ำจะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จากการถูกเติมเต็มในรอบเดือนแต่ละเดือน แต่จะใหญ่เร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล และยังทำให้เกิดพังผืดหนาขึ้นเรื่อย ๆ
- กล้ามเนื้อมดลูก
เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกแทรกเข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูก ทำให้เกิดพังผืดหรือก้อนในกล้ามเนื้อมดลูก ซึ่งภาวะนี้เรียกว่าโรคที่เกิดจากการที่มีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญอยู่ในกล้ามเนื้อมดลูก (Adenomyosis) ซึ่งมี 2 แบบคือ ชนิดที่อยู่เฉพาะชั้นกล้ามเนื้อมดลูกและชนิดที่กระจายในชั้นกล้ามเนื้อมดลูกทั่วไป
นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ในบริเวณเส้นเอ็นยึดมดลูกด้านหลัง (Uterosacral Ligament) บริเวณรอยต่อมดลูกกับกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Reflection) อีกด้วย
สาเหตุของโรค
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของภาวะ Endometriosis ที่ชัดเจน แต่มีการตั้งข้อสันนิษฐานขึ้นมาหลายประการ และเชื่อกันว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่อาจทำให้เกิดภาวะนี้ได้ ดังนี้
- ประจำเดือนไหลย้อน เลือดประจำเดือนของคนเรานั้นมีเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกปะปนอยู่ หากเกิดภาวะนี้เลือดประจำเดือนจะไหลย้อนผ่านท่อนำไข่เข้าไปในอุ้งเชิงกราน ส่งผลให้เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเกาะอยู่ตามผนังอุ้งเชิงกรานและรอบ ๆ อวัยวะอื่นภายในอุ้งเชิงกรานจนหนาขึ้นเรื่อย ๆ และสลายเป็นเลือดออกมาทางช่องคลอดตามช่วงของรอบเดือน
- การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในเยื่อบุช่องท้อง ปัจจัยทางด้านฮอร์โมนอาจส่งผลให้เซลล์ในเยื่อบุช่องท้องเปลี่ยนแปลงและทำหน้าที่คล้ายเป็นเซลล์ของเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้มีการสลายตัวออกมาเป็นเลือดประจำเดือน
- การลำเลียงเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูก อาจมีสาเหตุมากจากเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกไหลไปตามหลอดเลือดหรือระบบน้ำเหลือง ส่งผลให้มีเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเกาะตามอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ก่อให้เกิดเป็นภาวะเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ตามมา
- โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันเป็นอีกปัจจัยหนึ่งเช่นกัน เนื่องจากร่างกายไม่สามารถกำจัดเยื่อบุที่เจริญภายนอกมดลูกได้ตามปกติ
- แผลผ่าตัด ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดมดลูกหรือผ่าคลอดอาจมีความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกอาจไปติดตามบริเวณแผลผ่าตัด
ใครคือผู้ที่มีความเสี่ยง
ผู้ที่มีภาวะต่อไปนี้อาจเสี่ยงเกิดภาวะ Endometriosis ได้มากกว่าคนทั่วไป
- เริ่มมีประจำเดือนเร็วกว่าปกติ
- เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนช้ากว่าปกติ
- มีช่วงรอบเดือนสั้น
- ประจำเดือนมามาก
- ค่าดัชนีมวลกายต่ำ (BMI)
- มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป
- ไม่เคยตั้งครรภ์
- มีบุคคลในครอบครัวหรือญาติป่วยเป็นโรคนี้
- มีปัญหาสุขภาพที่ส่งผลให้ประจำเดือนไม่ไหลออกมาตามปกติ
- มีความผิดปกติเกี่ยวกับมดลูก
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การวินิจฉัยโรค
ผู้ป่วยภาวะ Endometriosis จะมีอาการคล้ายกับโรคอื่น เช่น ซีสต์ในรังไข่ ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ เป็นต้น แพทย์จึงต้องตรวจอย่างละเอียด โดยจะซักอาการและประวัติการรักษาของผู้ป่วยและบุคคลในครอบครัว เพื่อวินิจฉัยภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
- ตรวจภายในและตรวจในห้องปฏิบัติการ
- ตรวจอัลตราซาวนด์ ช่วยให้สูตินรีแพทย์เห็นรอยของโรคได้ชัดเจน
- ตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หากไม่สามารถตรวจด้วยวิธีอื่น
วิธีการรักษา
ผู้ป่วยภาวะ Endometriosis ที่มีอาการไม่รุนแรงหรือไม่มีปัญหามีลูกยากอาจไม่ต้องเข้ารับการรักษา โดยเฉลี่ยแล้วผู้ป่วยจำนวน 3 ใน 10 ราย จะหายดีได้เอง แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรือเกิดปัญหามีลูกยาก แพทย์จะเลือกใช้วิธีรักษาโดยพิจารณาจากระดับความรุนแรงของอาการและความต้องการมีลูกของผู้ป่วย ดังนี้
- การใช้ยา แพทย์จะสั่งจ่ายยาแก้ปวดกลุ่มที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบแบบไม่มีสเตียรอยด์เพื่อลดอาการปวดประจำเดือนและปวดท้องน้อย
- ฮอร์โมนบำบัด มีทั้งยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด และห่วงฮอร์โมนที่ใส่ในโพรงมดลูก เพื่อลดการมีเลือดประจำเดือนมากหรือปวดประจำเดือน
- การผ่าตัด ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดในกรณีที่วางแผนมีบุตร หรือรักษาด้วยวิธีฮอร์โมนบำบัดแล้วไม่ได้ผล เนื่องจากวิธีนี้จะช่วยกำจัดเยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญผิดที่โดยไม่เกิดผลกระทบต่ออวัยวะสืบพันธุ์ แต่ยังมีโอกาสกลับมาป่วยได้อีก
นอกจากนี้ตัวผู้ป่วยควรดูแลตัวเองควบคู่ไปด้วย โดยรับประทานยาแก้ปวดตามแพทย์สั่งเพื่อบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งหมั่นประคบถุงน้ำร้อนเพื่อลดอาการปวดบีบที่ท้อง และยังช่วยให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานคลายตัวมากขึ้น
การป้องกันภาวะ Endometriosis
ภาวะ Endometriosis เป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่มีวิธีป้องกัน เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดภาวะนี้อย่างแน่ชัด แต่มีงานวิจัยบางชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่าการใช้ยาคุมกำเนิด การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุยังน้อยมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงและช่วยลดความรุนแรงของอาการเมื่อเกิดภาวะนี้
หากคุณกำลังเตรียมตัวที่จะมีลูก ต้องสังเกตสุขภาพของตัวเองที่เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ให้ดีนะคะ หากมีปัญหาอะไรอย่างได้นิ่งนอนใจ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรีบแก้ไขปัญหาให้ทันท่วงทีจะดีที่สุดค่ะ
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th