เรียนพิเศษ จำเป็นกับลูกแค่ไหน ดีจริงหรือค่านิยม
ในยุคปัจจุบันนี้ ดูเหมือนว่าไม่มีเด็กคนไหนที่ไม่ “เรียนพิเศษ” ทำให้ธุรกิจการสอนพิเศษเฟื่องฟูขึ้นมาก สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะพ่อแม่มีค่านิยมให้ลูกเรียนพิเศษหรือกวดวิชากันมากขึ้น บางคอร์สถึงขนาดจองคิวกันข้ามปีก็มี และยังเริ่มเรียนกันตั้งแต่เด็กยังเล็กๆด้วยซ้ำ บางคนอยู่ชั้นอนุบาลก็ไปติวเข้า ป.1 เพื่อให้ได้เข้าโรงเรียนดีๆ พอเข้าเรียนได้ก็ต้องเรียนพิเศษแบบติวเพิ่มเกรดเพื่อให้มีผลการเรียนที่ดี เมื่อเรียนถึงชั้นโต ก็ต้องไปกวดวิชาเพื่อเข้ามัธยมปลายที่ดังๆหรือเพื่อสอบเข้าระดับอุดมศึกษาอีก ยิ่งในเด็กชั้นโตที่ไม่เรียนพิเศษ ไม่รู้ว่าเรียนพิเศษที่ไหนดี ก็จะเหมือนคุยกับเพื่อนไม่รู้เรื่องอยู่หน่อยๆ เพราะใครๆเขาก็เรียนพิเศษกันทั้งนั้น (ประสบการณ์ตรงของผู้เขียนเอง) เราจะเห็นว่านอกจากการเรียนที่โรงเรียนแล้ว เด็กไทยต้องเรียนพิเศษควบคู่ไปด้วยแทบจะตลอดชีวิตการเรียนเลย แบบนี้จะทำให้เด็กเครียดเกินไปหรือเปล่า?
รู้จักกับ Hurried Child Syndrome
เด็กที่ถูกเร่งรัดหรือให้ทำอะไรที่เกินกว่าวัยในหลายๆเรื่อง มีศัพท์ที่ใช้เรียกกันได้ว่า Hurried Child Syndrome การที่พ่อแม่ผู้ปกครองให้เด็กเรียนพิเศษตั้งแต่ยังอยู่ชั้นเล็ก ในช่วงแรกเด็กอาจตั้งใจเรียนดีและไม่มีปัญหา เพราะเขาอยากทำให้พ่อแม่ภาคภูมิใจ แต่หากต้องใช้ชีวิตลักษณะนี้ไปนานๆ อาจทำให้เด็กมีความรู้สึกเฉื่อยชา ไม่มีความสุข ไม่รู้สึกอยากเรียนเหมือนเคย ผลการเรียนตกลง และเด็กจะรู้สึกผิดที่ไม่สามารถทำให้พ่อแม่ภูมิใจได้เหมือนเดิม ถ้าเกิดขึ้นเร็วในวัยเด็กเล็ก เด็กก็อาจจะไม่อยากไปโรงเรียน และถ้าต้องอยู่ในสภาวะแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าวัยเด็กโต เด็กอาจเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเป็นคนละคน เนื่องจากขาดทักษะในการปรับตัวและต้องใช้ชีวิตอยู่กับความคาดหวังด้านผลการเรียนมาตลอด
การยัดเยียดให้ลูกเรียน ส่งผลเสียต่อเด็กจริงหรือ?
ปัจจุบันพ่อแม่นิยมส่งเสริมความฉลาดทางไอคิวจนลืมส่งเสริมความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิวให้ลูก พอลูกเรียนมากไปก็จะกลายเป็นปัญหาทางอารมณ์ ผู้ป่วยเด็กที่มาหาจิตแพทย์หลายคนเป็นเด็กที่ถูกพ่อแม่ยัดเยียดให้เรียนหนังสือมากเกินไป ด้วยความกลัวว่าลูกจะเรียนไม่เก่ง เด็กกลุ่มนี้มีอาการซึมเศร้า เครียดง่าย งอแง ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย ร้องไห้ไม่มีสาเหตุ นอนไม่หลับ เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้จะพบมากในเด็กที่เรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล อายุ 4-5 ขวบ ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเด็กที่เครียดมากๆ สมองจะหลั่งสารบางอย่างออกมา ทำให้เซลล์สมองฝ่อ ไม่เจริญเติบโต แทนที่ให้ลูกเรียนมากจะยิ่งฉลาดขึ้น บางทีอาจให้ผลตรงข้ามก็ได้เพราะทำลูกเครียดมากเกินไป
การที่พ่อแม่หวังดีและมอบแต่สิ่งดีๆให้ลูกเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ในบางครั้งพ่อแม่ก็ควรตระหนักถึงวัยและความเหมาะสมของลูกๆด้วย เพราะลูกยังเป็นเด็ก พวกเขามีสิทธิ์ที่จะเรียนรู้สิ่งรอบข้างที่เป็นความรู้นอกห้องเรียน เพื่อให้เขาเติบโตมาฉลาดอย่างสมวัย มากกว่าใช้ชีวิตวัยเด็กแบบเครียดๆ เพื่อให้มีชีวิตที่ประสบความสำเร็จตามความฝันของพ่อแม่ หากจะให้ลูกพัฒนาในเรื่องการเรียน พ่อแม่ควรทำแต่พอดี ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นพ่อแม่รังแกฉันได้
เลี้ยงลูกให้มีความสุขสมวัยดีกว่า
ก่อนที่จะคิดถึงเรื่องการเรียนพิเศษเพื่อสอบแข่งขันต่างๆ พ่อแม่ควรพัฒนาลูกด้วยความเข้าใจ ส่งเสริมพัฒนาการเด็กและเลี้ยงลูกให้มีความสุขสมวัย โดยพัฒนาการเด็กเล็กนั้นมีอยู่ 4 ด้านสำคัญคือ ด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว ด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กที่เกี่ยวข้องกับข้อต่อต่างๆ ด้านภาษา ซึ่งเป็นความเข้าใจภาษาและการใช้ภาษา สุดท้ายคือ การช่วยเหลือตนเองและสังคม จะเห็นได้ว่าการยัดเยียดความรู้และการพัฒนาก่อนวัยนั้นไม่ใช่เรื่องที่ควรส่งเสริม เพราะนอกจากไม่ดีต่อลูกแล้วยังกลับยังสร้างความเครียดให้เด็กด้วย
การเรียนพิเศษก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
การเรียนพิเศษนั้นเปิดโอกาสให้เด็กได้ทบทวนบทเรียนตลอดเวลาเพื่อให้พร้อมก่อนสอบ หลายสถาบันก็มีเทคนิคการสอนที่เข้าใจง่าย หรือเป็นเทคนิควิธีการจำเนื้อหาที่ยากๆ เช่น ท่องเป็นเพลง ใช้คำคล้องจอง จำด้วยภาพ เรียกว่าเป็นการสร้างความมั่นใจและความพร้อมในการสอบให้กับเด็ก นอกจากนี้เด็กยังมีโอกาสได้รู้จักเพื่อนใหม่ เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมทั้งมีสังคมที่กว้างขึ้นกว่าการคบเพื่อนแค่ในโรงเรียนด้วย แต่พ่อแม่บางคนอาจใช้ที่เรียนพิเศษเป็นที่ฝากลูกเพราะตัวเองไม่มีเวลา รวมถึงมีพ่อแม่บางคนที่ให้ลูกไปเรียนพิเศษเพราะไม่อยากให้ลูกอยู่บ้านเล่นเกมหรือใช้เวลาว่างในแบบที่ตัวเองมองว่าไร้สาระ
แต่การเรียนพิเศษนั้นก็มีข้อควรระวังอยู่เหมือนกัน เช่น เมื่อเด็กเรียนพิเศษก็มีโอกาสที่จะทำให้เขาไม่สนใจการเรียนแบบปกติในห้องเรียนได้ เพราะคิดว่าไม่รู้เรื่องอย่างไรเดี๋ยวก็ไปเรียนพิเศษเอาได้ รวมถึงความอยากเรียนรู้ด้วยตัวเองก็จะน้อยลง เพราะคิดเหมือนกันว่าเดี๋ยวไปเรียนพิเศษครูก็สอนเอง หรือมีอะไรก็ถามครูก็ได้ สิ่งนี้จะทำให้ขบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเองของเด็กต้องเสียไป ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ก็เป็นอีกสิ่งที่พ่อแม่ต้องคำนึงถึง เพราะนอกจากค่าคอร์สที่ลงเรียนแล้วนั้น ยังจะต้องมีค่าเดินทาง และค่ากินอยู่ในช่วงที่เรียนพิเศษอีก
เด็กที่เรียนพิเศษมีผลการเรียนดีหรือสอบติดมากกว่าจริงไหม?
ข้ออาจไม่จริงเสียทีเดียว เพราะบางคนไม่เรียนพิเศษก็สอบติดมหาวิทยาลัยหรือสอบเข้าโรงเรียนดังได้เยอะแยะไป แถมบางคนคะแนนแอดมิชชั่นยังติดอันดับต้นๆของประเทศอีกต่างหาก ถ้าหากเราได้ติดตามข่าวของเด็กๆเหล่านี้ ส่วนมากเด็กจะพูดตรงกันว่าส่วนใหญ่ตั้งใจเรียนในห้องเป็นหลัก บางคนแทบไม่เคยเรียนพิเศษ นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าถ้าเด็กตั้งใจเรียนในห้อง หมั่นทบทวนเนื้อหาบ่อยๆ เรียนพิเศษอาจไม่จำเป็นเลยก็ได้ แต่พ่อแม่และเด็กเองก็ควรจะสำรวจตัวเองกันนิดหนึ่งก่อน เพราะสำหรับเด็กบางคนถ้าไม่เรียนพิเศษคงไม่รอดแน่ๆ ดังนั้น ก็ต้องพยายามมากกว่าคนอื่น ส่วนเด็กคนไหนที่ทุ่มเทอย่างเต็มที่ในห้องเรียนแล้ว แต่พ่อแม่และตัวเด็กเองอยากสร้างความมั่นใจเพิ่มขึ้นอีกหน่อย จะลงเรียนพิเศษเพิ่มในบางวิชาก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ถือเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด เพื่อที่จะได้สู้รบปรบมือกับข้อสอบได้เต็มที่ แต่ก็ต้องไม่ลืมจัดตารางเวลาด้วย เพื่อที่ลูกจะได้มีเวลาพักผ่อนและไม่เครียดจนเกินไป
สำหรับประเด็นเรื่องเรียนพิเศษที่หยิบยกมาวันนี้ ไม่ได้จะบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าต้องเรียนหรือไม่ต้องเรียนพิเศษนะคะ เพียงแต่ชี้ให้เห็นข้อดี ข้อเสีย และประเด็นที่ควรรู้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของคุณพ่อคุณแม่ และเพื่อไม่ให้ลูกรักต้องเครียดเกินไปจนส่งผลต่อสุขภาพจิตค่ะ
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th