เลี้ยงลูกแบบเพื่อน ดีหรือไม่ ควรทำอย่างไร
พ่อแม่ที่อบอุ่นและเป็นมิตรนั้นทำให้เด็กรู้สึกสนุกสนานและยอมให้เด็กทำอะไรสนุก ๆ ไม่หยุดหย่อน แต่การ “เลี้ยงลูกแบบเพื่อน” ในบางครั้งก็อาจจะเป็นวิธีการที่หละหลวมมากเกินไป มาลองทำความรู้จักกับข้อดีและข้อเสียหากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากจะเลี้ยงลูกแบบเพื่อน แต่ไม่อยากให้อะไร ๆ มันหย่อนจนเกินไป คุณควรจัดการอย่างไรดี
คุณหลีกเลี่ยงการพูดว่า “ไม่” กับลูก ๆ ของคุณหรือเปล่า คุณหลีกเลี่ยงเรื่องวินัยทั้งหลายเพราะคุณต้องการรักษาสถานะเพื่อนที่ดีที่สุดของลูกให้คงอยู่ไปนาน ๆหรือไม่ คุณมีแนวโน้มที่จะยืนดูอยู่ห่าง ๆ และปล่อยให้ลูก ๆ ตัดสินใจเองว่าพวกเขาต้องการจะใช้ชีวิตแบบไหนหรือเปล่า
ถ้าเป็นเช่นนั้น คุณกำลังเป็นคนหนึ่งที่เลี้ยงลูกเหมือนเป็นเพื่อนจนมากเกินไป
อะไรคือการเลี้ยงลูกแบบเพื่อน ?
การเลี้ยงดูลูกแบบเป็นเพื่อนนั้นเป็นหนึ่งในสามประเภทของการอบรมเลี้ยงดูลูกที่ Diana Baumrind กำหนดไว้ในปี 1960 การเลี้ยงลูกวิธีนี้มีความโดดเด่นด้วยการขาดโครงสร้าง ขาดความความสอดคล้อง และไม่มีข้อจำกัด เมื่อพูดถึงเรื่องวินัย และพ่อแม่ก็จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือขัดขวางอะไรลูกน้อยมาก ผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่มีการเลี้ยงดูลูกแบบนี้มักจะเป็นคนใจดีและมีความรักต่อเด็ก ๆ ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมาก
แต่เมื่อเวลาผ่านไปการขาดขอบเขตและข้อจำกัด อาจส่งผลที่คุณไม่ได้ตั้งใจจะให้มันเกิด เพราะเรื่องของกฎและความเคารพนั้นมีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด ไม่มีสิ่งใดอยู่ได้โดยปราศจากอีกสิ่งหนึ่ง พ่อแม่ที่ล้มเหลวในการใช้ข้อจำกัดบางอย่างก็ไม่สามารถสอนลูก ๆ ให้เคารพตัวเองและคนอื่น ๆ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อวิธีที่พวกเขาโต้ตอบกับครู เพื่อน และผู้ที่เหนือกว่าเขาได้
ลักษณะของพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกอย่างเพื่อน
- ออกกฎน้อยและ / หรือไม่สอดคล้องกัน
- ชอบเป็นเพื่อนกับลูกมากกว่าที่จะวางอำนาจเหนือลูก
- พิจารณาความคิดเห็นของลูกในการตัดสินใจครั้งใหญ่ในครอบครัว
- เน้นเสรีภาพมากกว่าความรับผิดชอบ
- ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติแทนที่จะกำหนดผลลัพธ์
- ไม่ค่อยกังวลมากนักเกี่ยวกับความปลอดภัย มองเห็นสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงเป็นโอกาสในการเรียนรู้
ข้อดีของการเลี้ยงลูกแบบเป็นเพื่อน
เมื่อพูดถึงการเลี้ยงลูกแบบเป็นเพื่อน แน่นอนว่าไม่ได้มีแต่เรื่องร้าย ๆ ไปเสียทั้งหมด ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รูปแบบการเลี้ยงดูลูกเช่นนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก หลักการเลี้ยงดูแบบอิสระนี้ รวมถึงการปล่อยตามธรรมชาติและความอิสระในการเรียนรู้ และแม้ว่าจะไม่ได้เหมือนกันมากนัก แต่พ่อแม่สามารถนำเอาสไตล์การเลี้ยงที่ใกล้เคียงมาปรับใช้อย่างรอบคอบและเหมาะสมกับเด็ก เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในเชิงบวก ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่สไตล์การเลี้ยงลูกที่ได้รับความนิยมมากนักในบ้านเรา แต่มันก็มีข้อดีของมันอยู่
- ความแน่นอนในตนเอง เมื่อเด็กได้รับการกระตุ้นให้แสดงออกอย่างอิสระ พวกเขาจะมีความมั่นใจและเต็มใจที่จะลองสิ่งใหม่ ๆ โดยไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมา ความรักที่ไม่มีเงื่อนไขคือกุญแจสำคัญในการเลี้ยงลูกที่ให้คุณค่ากับตัวเขา
- การสำรวจ การเลี้ยงดูแบบเพื่อนทำให้เด็กมีอิสระมากขึ้ นจึงเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาเริ่มการผจญภัยครั้งใหม่ด้วยความมั่นใจ
- ความคิดสร้างสรรค์ เมื่อมีข้อจำกัดน้อยกว่า เด็ก ๆ สามารถทดลองกับความสนใจและงานอดิเรกได้ทุกประเภท เด็ก ๆ ที่เติบโตขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมที่เข้มงวดน้อยกว่า จะมีช่วงเวลาที่ง่ายขึ้นในการสร้างสรรค์ตามธรรมชาติของพวกเขา
ข้อเสียของการเลี้ยงลูกแบบเป็นเพื่อน
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีข้อเสียบางอย่างที่ควรระวังก่อนที่คุณจะพยายามทำตัวเป็นคู่ซี้กับลูก ในขณะที่สิ่งนี้อาจดูเหมือนขัดกับความเป็นจริง แต่จงรู้ไว้ว่ากฎและขอบเขตบางอย่างช่วยให้เด็กรู้สึกสบายและปลอดภัย
หากไม่มีขอบเขตที่แน่นอนเด็ก ๆ ก็จะไม่รู้สึกว่าอะไรถูกหรือผิด เป็นผลให้พวกเขามักจะหยั่งเชิงพ่อแม่เพื่อวัดว่าพ่อแม่ของพวกเขาจะตอบสนองอย่างไร บางครั้งก็เป็นการทำไปเพราะเรียกร้องความสนใจ พฤติกรรมการเรียกร้องความสนใจนี้สามารถเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับผลกระทบเชิงลบอื่น ๆ ของการเลี้ยงดูลูกอย่างเพื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสิ่งที่สุดขั้วมาก ๆ ข้อเสียของการเลี้ยงดูลูกแบบนี้มีดังนี้
- ตกอยู่ในความสุ่มเสี่ยงทางอารมณ์ หากไม่มีขอบเขตที่เหมาะสมเด็ก ๆ จะต้องดูแลตัวเองและอาจเข้าใกล้สถานการณ์บางอย่างโดยไม่มีความหวาดกลัว ซึ่งสามารถเพิ่มโอกาสในการมีส่วนร่วมในพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การใช้สารเสพติด
- การยับยั้งพฤติกรรม การศึกษาบางชิ้นได้แสดงให้เห็นว่าเด็กที่เลี้ยงดูโดยพ่อแม่ที่วางตัวแบบเพื่อนนั้น มีแนวโน้มที่จะวิตกกังวลและซึมเศร้า ในหลายกรณีเด็กเหล่านี้ได้รับการสอนให้เผชิญปัญหาด้วยตัวเอง
- ความขบถ เด็ก ๆ ที่ได้รับอนุญาตให้ “ปกครองตนเอง” เชื่อว่าพวกเขาสามารถใช้พฤติกรรมประเภทนี้นอกบ้านได้ซึ่งนำไปสู่ทัศนคติที่ท้าทายและกบฏต่อผู้อื่น
ตัวอย่างการเลี้ยงลูกแบบเป็นเพื่อน
จากสิ่งที่ได้อธิบายไว้ข้างต้นเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกแบบเพื่อน นี่เป็นบางสถานการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าพ่อแม่ที่อยากจะเลี้ยงลูกด้วยวิธีนี้จะสามารถจัดการกับสถานการณ์ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร
- เวลาหน้าจอ: เด็ก ๆ ของผู้ปกครองที่เลี้ยงอย่างเพื่อนอาจเพลิดเพลินกับการเข้าถึงความสนุกหน้าจอโดยไม่จำกัด แทนที่จะมีการกำหนดเวลาประจำวันหรือประจำสัปดาห์
- อาหารและขนม: พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยวิธีนี้มีแนวโน้มที่จะทำครัวของตัวเองให้มีสถานะ “เปิดตลอดเวลา” โดยปล่อยให้เด็กกินอะไรและเมื่อใดก็ตามที่พวกเขาต้องการ
เราคงไม่สามารถที่จะฟันธงได้ว่าแนวทางการเลี้ยงลูกแบบไหนจะดีที่สุดสำหรับแต่ละครอบครัว แต่จะเป็นการดีหากคุณพ่อคุณแม่นำเอาข้อดีของการเลี้ยงลูกแต่ละสไตล์มาปรับใช้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ลูกของคุณได้รับความอบอุ่นและความสุขอย่างมากที่สุด
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th