แคะขี้หู จำเป็นหรือไม่จำเป็นกันแน่?
เราอาจจะเคยได้ยินคำแนะนำของแพทย์ที่บอกว่าเราไม่จำเป็นต้อง “แคะขี้หู” ก็ได้ แต่ด้วยความเป็นพ่อเป็นแม่ ถ้าเราเห็นว่าลูกมีขี้หูเราก็ย่อมรู้สึกอยากกำจัดความสกปรกนั้นให้พ้นไป จริงไหมคะ บางทีอาจเกิดความสับสนลังเลว่าจะเอายังไงดี แพทย์บอกว่าไม่ควรไปแคะ การมีขี้หูมันไม่ได้แย่ แต่ในโลกโซเชียลทุกวันนี้เราก็เห็นพ่อแม่พาลูกไปพบแพทย์เพื่อจัดการกับขี้หูกันมากมาย แล้วจะเอายังไงกับหูลูกรักของเราดีนะ
ขี้หูคืออะไร
ขี้หูคือสิ่งที่เกิดจากการรวมตัวของสารที่ขับออกมาจากต่อมไขมันในหูชั้นนอกของคนเรา รวมเข้ากับผิวหนังชั้นบนที่ลอกออกมา โดยจะมีสีที่แตกต่างกันออกไป เช่น สีเหลือง สีน้ำตาล หรือสีแดง ซึ่งการสะสมของขี้หูนั้นสามารถหลุดออกมาเองได้ และไม่สามารถเคลื่อนตัวเข้ารูหูไปลึกกว่าเดิมได้เอง ดังนั้นแพทย์จึงให้ความเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องแคะหู สำหรับเด็กเล็กถึงเด็กอายุ 6 ปี ขี้หูยังมีประโยชน์สำหรับพวกเขา ที่จะช่วยป้องกันผิวหนังของรูหูจากสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเหงื่อ น้ำ หรือฝุ่นละลอง
ทำไมถึงไม่ควรแคะหูลูก?
- การใช้คัตตอนบัดที่มีขนาดใหญ่เท่ารูหู เข้าไปปั่นหรือแคะในรูหู เท่ากับเป็นการดันให้ขี้หูเดินตัวลึกเข้าไปจากจุดเดิมอีก ทำให้เกิดปัญหาของขี้หูอุดตันตามมา ส่งผลให้ได้ยินเสียงไม่ชัดเจน ก็จะต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการดูดขี้หูออกหรือให้ยาละลายขี้หู
- หากคัตตอนบัดที่นำมาใช้ไม่สะอาดพอ จะทำให้เกิดอันตรายในขณะแคะหู และติดเชื้อจากคัตตอนบัดที่ไม่สะอาด ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และถ้าแคะลึกเกินไปก็จะกระทบกระเทือนถึงแก้วหูได้ บางรายถึงกับแก้วหูทะลุ
- การทำความสะอาดรูหูโดยการใช้คัตตอนบัดจุ่มแอลกอฮอล์แล้วเอาเข้าไปเช็ดในรูหูเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากแอกอฮอล์จะฆ่าเชื้อโรคแล้ว มันยังทำให้ผิวแห้งด้วย หากแอลกอฮอล์ไหลเข้าไปถึงหูชั้นกลางที่มีแผลถลอกอยู่ก่อนแล้ว ก็จะเกิดอาการอักเสบและระคายเคืองตามมา และอาจลามไปเป็นหูน้ำหนวกได้
- ถ้าลูกยังเล็ก พ่อแม่ไม่ควรใช้คัตตอนบัดทำความสะอาดรูหูของเด็ก เพราะรูหูของเด็กยังตื้นอยู่ ถ้ากลัวว่าน้ำจะเข้าหูก็ให้ใช้สำลีก้อนอุดหูก่อนจะอาบน้ำ
- สำหรับเด็กโตหน่อย หลายคนอาจแอบใช้วัสดุที่ไม่เหมาะสมในการแคะหูเอง เช่น กิ๊บดำ ปลายดินสอ หรือของปลายแหลมอื่นๆที่พอจะสอดเข้ารูหูได้ ต้องคอยระวังอยู่เสมอไม่ให้เขาแอบแคะขี้หูเอง
การทำความสะอาดหูแบบถูกวิธี
- ทำความสะอาดแค่บริเวณใบหูและปากรูหู โดยใช้สำลีก้อนหรือผ้าขนหนูนุ่มๆ ชุบน้ำและเช็ดเบาๆบริเวณใบหูหลังอาบน้ำและสระผม
- ระวังอย่าให้น้ำเข้ารูหู หากพบว่าน้ำเข้ารูหูบ่อย ให้ใช้สำลีก้อนอุดรูหูไว้เพื่อป้องกันน้ำเข้าหูก่อนอาบน้ำสระผม
ความผิดปกติของหูที่พบได้ในเด็ก
- ขี้หูอุดตัน (Impacted cerument) ในบางครั้งขี้หูจะจับตัวกันแน่นเกินไป จนเกิดขี้หูอุดตัน ทำให้ลูกได้ยินไม่ถนัด ซึ่งไม่ควรพยายามแคะเองเป็นอย่างยิ่งเพราะจะทำให้ลูกเจ็บมากและหูจะอักเสบ ควรไปพบแพทย์เพื่อให้ดูดขี้หูออก หรือหยอดยาละลายขี้หูให้มันละลายไหลออกมาได้เอง
- หูชั้นนอกอักเสบ (Otitis external) เกิดจากการที่หูได้รับการกระทบกระเทือนจากการกระทำต่างๆ เช่น การแคะหู น้ำเข้าหูบ่อยๆทำให้เกิดความชื้นขึ้น ทำให้เชื้อราและแบคทีเรียเติบโต ลูกจะมีอาการปวดหูมาก หากเป็นมากก็จะมีน้ำหนองไหลออกมา สำหรับอาการเช่นนี้ต้องทำให้รูหูแห้ง โดยเช็ดรอบๆหู ในรูหู แต่ห้ามเช็ดลึกมากเกินไป หรือใช้ยาหยอดหูที่ต้านการอักเสบและฆ่าเชื้อ
- หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis media) เป็นการอักเสบบริเวณระหว่างแก้วหูกับหูชั้นใน มักเกิดหลังเป็นหวัด ทำให้เกิดของเหลวขึ้นที่หูชั้นกลาง ซึ่งปกติจะเป็นโพรงอากาศ แต่เมื่อลูกจามหรือสั่งน้ำมูกแรงๆ เชื้อโรคจะแพร่เข้าไปถึงหูชั้นกลาง และเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัสได้ อาการนี้มักเกิดในเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี เพราะในเด็กวัยนี้ความลาดชันในรูหูของเขายังน้อย เชื้อโรคจึงแพร่กระจายไปได้ง่ายขึ้น ลูกจะมีอาการปวดหู หูอื้อ มีไข้ ร้อโยเย และไม่ค่อยได้ยินเสียง
เบื้องต้นแล้วคุณพ่อคุณแม่ทำความสะอาดหูให้ลูกแค่เพียงด้านนอกก็พอ ถ้าหากกังวลว่าขี้หูของลูกจะเกิดการอุดตันก็ควรไปปรึกษาแพทย์จะดีกว่า ไม่ควรพยายามแคะขี้หูเองโดยเด็ดขาด ให้แพทย์ดูดขี้หูให้หรือสั่งยาประเภทต่างๆมาให้ใช้ตามอาการจะปลอดภัยกับสุขภาพหูของลูกที่สุด
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th