แพ้นมวัว ลูกของคุณกำลังเผชิญปัญหานี้อยู่หรือเปล่า
เราจะพบได้ว่าเด็กหลายคนมีอาการ “แพ้นมวัว” ซึ่งนี่เป็นปัญหาใหญ่ที่คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลกันมากทีเดียว เพราะความที่ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงอาการที่ลูกแสดง กว่าจะพาลูกเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็กินเวลาไปหลายวัน ดังนั้นเรามาเตรียมข้อมูลให้พร้อมกันดีกว่านะคะ
อะไรคือการแพ้นมวัว
เด็กที่แพ้นมวัวนั้น ร่างกายของพวกเขาจะไม่สามารถย่อยโปรตีนที่อยู่ในนมวัวได้ ร่างกายจะคิดว่าโปรตีนนั้นเป็นสิ่งมีพิษ ต้องป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย ร่างกายจึงไปกระตุ้นการผลิตสารแอนติบอดี้เพื่อมาป้องกัน เมื่อเด็กดื่มนมอีก แอนติบอดี้ที่สร้างไว้ก็จะส่งสัญญาณไปที่ระบบบภูมิคุ้มกันให้ปล่อยสารฮิสตามีนออกมาจนเกิดเป็นอาการแพ้
โปรตีนในนมวัวที่ทำให้เกิดอาการแพ้ในเด็กมีอยู่ 2 ชนิดหลัก คือ โปรตีนเคซีนที่พบได้ในส่วนที่เป็นไขนมข้นแข็ง และโปรตีนเวย์ทีพบได้ในส่วนที่เป็นของเหลวหลังจากนมจับตัวเป็นไขแล้ว อัตราของเด็กที่มีอาการแพ้นี้มีอยู่ราว 0.3-7.5%
เด็กจะมีอาการอย่างไร
อาการแพ้สามารถแสดงออกมาได้หลายระบบของร่างกาย โดยอาการทั่วไปคือ ท้องอืด อาเจียนทุกครั้งหลังดื่มนม ท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกเลือด การหายใจผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุให้มีอาการไอ คันจมูก หายใจลำบาก มีเสียงครืดคราด และอาจเกิดอาการทางผิวหนัง โดยจะมีลักษณะแบบรังผึ้ง บวม แดง และคัน บางรายจะพบว่ามีผื่นแดงขึ้นตามปากและคาง อาการจะปรากฎให้เห็นภายใน 30 นาทีหลังดื่มนม แต่กับเด็กบางคนก็ใช้เวลานานกว่านั้น นอกจากนี้หากมีอาการแพ้รุนแรงก็จะแสดงออกในระบบหัวใจและหลอดเลือด คือ ความดันต่ำ ช็อค และถึงกับหมดสติได้
วินิจฉัยอาการแพ้นมวัว
คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการของลูกน้อยจากเขาดื่มนมเสร็จ ต้องคอยดูว่ามีอาการตามรายละเอียดข้างต้นหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว จากนั้นแพทย์จะสอบถามประวัติว่าอาการที่เกิดขึ้นกับลูกสัมพันธ์กับการดื่มนมวัวหรือไม่ แล้วจึงทำการตรวจร่างกายตามระบบต่างๆที่แสดงอาการ และอาการภูมิแพ้อื่นๆ เช่น ผื่น หรือโรคหืด แพทย์อาจจะให้มีการตรวจในห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อที่จะยืนการผลการวินิจฉัย โดยการทดสอบทางผิวหนังหรือการเจาะเลือด
การแพ้นมวัวต่างจากการแพ้แลคโตสอย่างไร
ค่อนข้างเป็นการยากที่จะบอกว่าสาเหตุที่เป็นมาจากการแพ้นมวัวหรือแพ้แลคโตสในนมกันแน่ เพราะเด็กบางคนอาจจะแพ้ทั้งสองอย่าง แต่การแพ้นมวัวจะทำให้ลำไส้มีประสิทธิภาพในการดูดซึมน้ำตาลแลคโตสลดลง จึงต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ตรวจสอบว่าลูกมีอาการแพ้สิ่งใดกันแน่
แม่หรือพ่อแพ้นมวัว ลูกจะมีอาการด้วยหรือไม่
ถ้าเด็กมีพ่อแม่หรือญาติใกล้ชิดในครอบครัวที่มีอาการนี้ เด็กก็จะมีโอกาสมีอาการได้เช่นเดียวกัน การเลี้ยงทารกด้วยนมวัวแต่แรกอาจจะเพิ่มความเสี่ยงให้เขามากยิ่งขึ้น หากมีสมาชิกในครอบครัวที่มีประวัติการแพ้อยู่ก่อนแล้ว
มีวิธีการดูแลรักษาอย่างไร
สำหรับเด็กรายที่มีอาการแพ้เฉียบพลัน แพทย์จะให้ยาเอปริเนฟีน (Epinephrine) ในแบบฉีด และจะต้องคอยดูและเรื่องระบบหายใจและหัวใจสักพักนึง และต่อไปเด็กที่มีอาการแบบเฉียบพลันเช่นนี้อีกจะต้องพกยาพ่นติดตัวไว้ เผื่อจะได้รับอาหารที่มีส่วนประกอบของนมวัวโดยไม่ตั้งใจ
คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกหลีกเลี่ยงการดื่มนมวัวหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนมวัว เช่น ขนมเค้ก ไอศกรีม หากคุณแม่สามารถให้นมลูกได้ตามปกติ คุณแม่เองก็จะต้องงดดื่มนมวัวด้วยนะคะ เพราะมันอาจจะดูดซึมและส่งผ่านไปยังลูกได้ เราเรียกกันว่าอาการแพ้นมวัวผ่านนมแม่ ซึ่งการที่คุณแม่ไม่สามารถดื่มนมวัวเพื่อเสริมแคลเซียมได้ จึงควรหาอาหารอื่นมารับประทานเสริม ให้ได้ครบทั้งแคลเซียม วิตามินดี และวิตามินบี 2
ส่วนคุณแม่บางท่านที่มีข้อจำกัด จึงทำให้ไม่สามารถให้นมลูกได้ด้วยตัวเอง ก็ควรให้ลูกได้ดื่มนมสำหรับคนแพ้นมวัว เช่น นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ หรือนมสูตรย่อยโปรตีนอย่างละเอียดที่ทำการย่อยโปรตีนในนมวัวจนเล็กละเอียดมาก และต้องติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิดเพื่อจะได้ให้อาการทดแทนที่เหมาะสมแก่ลูก เขาจะได้ไม่ขาดสารอาหาร
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th