Site icon Motherhood.co.th Blog

“แอนติบอดี” จากตัวลามา ใช้เป็นต้นแบบผลิตวัคซีนไวรัสโคโรนาได้

แอนติบอดีจากลามา

แอนติบอดีจากตัวลามา อาจะใช้ผลิตวัคซีนยับยั้ง Covid-19 ได้

“แอนติบอดี” จากตัวลามา ใช้เป็นต้นแบบผลิตวัคซีนไวรัสโคโรนาได้

ท่ามกลางความพยายามของนักวิจัยทั่วโลกที่จะคิดค้นวัคซีนออกมายับยั้งไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ ล่าสุดพบว่า “แอนติบอดี” หรือสารภูมิคุ้มกันที่อยู่ในตัวลามา สามารถใช้เป็นต้นแบบในการผลิตวัคซีนและลบล้างฤทธิ์ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ ความเคลื่อนไหวของการค้นพบใหม่นี้จะมีรายละเอียดเป็นอย่างไร ติดตามกันได้ในบทความนี้เลยค่ะ

ลามา (Llama) เป็นสัตว์เลี้ยงในภูมิภาคอเมริกาใต้ หลายคนคงจะรู้จักความน่ารักของมันจากขนตาที่งอนเป็นเอกลักษณ์ และขนของมันที่นำมาทอเป็นเครื่องนุ่งห่มเพื่อให้ความอบอุ่นได้ แต่ตอนนี้เราได้ค้นพบว่าในเลือดของมันมีแอนติบอดีหรือสารภูมิต้านทานชนิดพิเศษ ที่มนุษย์สามารถนำมาเป็นต้นแบบเพื่อสังเคราะห์วัคซีนและยายับยั้งฤทธิ์ไวรัสได้หลายชนิด ซึ่งล่าสุดพบว่าสามารถใช้รักษาและป้องกันโรค Covid-19 ได้ด้วย

ลามา เป็นสัตว์ที่มีชื่อเสียงในความน่ารักและขนที่ให้ความอบอุ่นได้ดี

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ซึ่งนำโดยมหาวิทยาลัยเกนต์ของเบลเยียม และสถาบันวิจัยอีกหลายแห่งในสหรัฐฯ ตีพิมพ์ผลการค้นพบล่าสุดในวารสาร Cell โดยระบุว่าแอนติบอดีของลามา ซึ่งในอดีตถูกนำไปใช้ยับยั้งการก่อโรคและลบล้างฤทธิ์ของไวรัสได้ผลมาแล้วหลายชนิด ทั้งกับไวรัสโรคไข้หวัดใหญ่ โรคซาร์ส (SARS) และโรคเมอร์ส (MERS) มีประสิทธิภาพแบบเดียวกันในการป้องกันและกำจัดไวรัสซาร์สซีโอวีทู (SARS-CoV-2) ที่ก่อโรค Covid-19 ด้วย

การค้นพบอันน่าตื่นเต้นนี้ได้รับการต่อยอดมาจากงานวิจัยเมื่อ 4 ปีก่อน โดยทีมวิจัยจากเบลเยียมพบว่าแอนติบอดีจากลูกลามาตัวหนึ่งที่มีวัย 4 เดือนในขณะนั้น สามารถสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสโรคซาร์สและโรคเมอร์สให้กับเซลล์ของมนุษย์ที่เพาะเลี้ยงในจานทดลองได้เป็นเวลานานถึง 6 สัปดาห์ และในครั้งนี้แอนติบอดีจากลามาตัวเดิมก็สามารถยับยั้งไวรัสโรค Covid-19 ในห้องปฏิบัติการได้เช่นกัน

“ในขณะที่เรากำลังทำการวิจัย ไวรัสซาร์สซีโอวีทู (SARS-CoV-2) ก็ปรากฏตัวขึ้น และตัวรับหนามของมันก็เหมือนกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคซาร์ส (SARS)” เจสัน แมคเลอแลน รองศาสตราจารย์ด้านชีวโมเลกุลของมหาวิทยาลัยเทกซัส วิทยาเขตออสติน กล่าวไว้

ด้วยเหตุว่าแอนติบอดีของลามามีขนาดที่เล็กกว่าของมนุษย์มาก มันจึงสามารถเข้าจับกับตัวรับบนหนามของไวรัสโคโรนาได้อย่างละเอียดและทั่วถึง ส่งผลให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้สูงกว่า

แดเนียล แรปป์ นักศึกษาวิจัยระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเทกซัส วิทยาเขตออสติน หนึ่งในทีมผู้วิจัยบอกว่า “ฉลามก็มีแอนติบอดีแบบนี้เหมือนกัน แต่เราคงจะทำการทดลองกับมันได้ยากกว่า เทียบกันแล้วลามาเป็นสัตว์ที่ว่าง่ายและน่ารักน่ากอดกว่าเยอะ หากมันไม่ชอบใคร มันก็แค่ถ่มน้ำลายใส่คนนั้น”

วัคซีนที่สังเคราะห์มาจากการใช้แอนติบอดีของลามาเป็นต้นแบบ สามารถทำให้เกิดภูมิคุ้มกันขึ้นในร่างกายมนุษย์ได้ทันที ซึ่งต่างกับการใช้วัคซีนทั่วไปที่ต้องรอไปอีกประมาณ 1-2 เดือน นอกจากนี้ ยังอาจให้แอนติบอดีตัวดังกล่าวแก่ผู้ป่วยโรค Covid-19 เพื่อลดความรุนแรงของอาการลงได้เช่นกัน การรักษาที่มีศักยภาพโดยใช้แอนติบอดีจากลามาสามารถให้ความคุ้มครองอย่างรวดเร็วสำหรับประชากรที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ และเจ้าหน้าที่ดูแลสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม วัคซีนนี้จะมีฤทธิ์ป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เพียงชั่วคราว ประมาณ 1-2 เดือนหลังได้รับวัคซีนเท่านั้น นั่นหมายความว่าผู้ป่วยจำเป็นจะต้องได้รับการฉีดซ้ำ

ดร. ซาเวียร์ แซเลนส์ นักไวรัสวิทยาโมเลกุลจากมหาวิทยาลัยเกนต์ของเบลเยียมบอกว่า “ยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน กว่าจะทำการทดสอบแอนติบอดีของลามาไปจนถึงขั้นทดลองในมนุษย์ได้”

แต่ไม่จำเป็นต้องสังเวยชีวิตเจ้าลามา หากจำเป็นจ้องใช้แอนติบอดี้มากขึ้น

หากการทดลองถึงจุดที่จำเป็นต้องทำการฉีดในปริมาณมาก นักวิทยาศาสตร์สามารถเพิ่มจำนวนและสร้างแอนติบอดีในสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุม ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีการเสียสละชีวิตของลามาสำหรับการเก็บแอนติบอดี้

ขณะทั่วโลกมีทีมนักวิจัยหลายคนกำลังพยายามหาวิธีรักษาโรคโคโรนาไวรัสที่มีประสิทธิภาพ รายงานของ The New York Times ระบุว่าทีมที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดหวังที่จะทดสอบวัคซีนกับผู้คนเป็นจำนวน 6,000 คนภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th